"ทิ้งเด็กแรกเกิด" ละเมิดสิทธิเด็กตั้งแต่เพิ่งจะลืมตาดูโลก!

 “สกู๊ปหน้า 1 เดลินิวส์” ค้นย้อนข่าวเก่าของ “เดลินิวส์” ในปี 2552 กรณี “ทิ้งเด็กแรกเกิด-ละเมิดสิทธิเด็กตั้งแต่เพิ่งจะลืมตาดูโลก” และนำเสนอตัวอย่างอันน่าสลดใจไปแล้ว ซึ่งกับประเด็นสิทธิเด็ก ตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ที่ประเทศไทยเป็นรัฐภาคีด้วย ในข้อที่ระบุว่า... “รัฐภาคียอมรับว่า เด็กทุกคนมีสิทธิติดตัวที่จะมีชีวิต รัฐภาคีจะประกันอย่างเต็มที่เท่าที่จะทำได้ ให้มีการอยู่รอด และการพัฒนาของเด็ก” เหตุใดประเทศไทยยังล้มเหลวในข้อนี้ ?? และเหตุใดแม้แต่คนใกล้ตัวเด็กเองก็ยังกระทำการโหดร้ายต่อเด็ก ?? .....
   
คำตอบนี้อาจจะจุกติดอยู่ในลำคอผู้คนมากมาย
   
แต่กับผู้ที่ทำงานด้านสิทธิเด็กอาจจะตอบได้.....
   
สุดารัตน์ เสรีวัฒน์ ผู้อำนวยการมูลนิธิพัฒนาการคุ้มครองเด็ก (F.A.C.E.) และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในกรรมการคุ้มครองเด็กแห่งชาติ ระบุว่า... ปัญหาทิ้งเด็กไม่น่าจะเกิดขึ้นให้เห็นแล้วในประเทศไทย เพราะไทยได้ลงสัตยาบันอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กตั้งแต่ปี 2535 แต่ปัจจุบันก็ยังมีข่าวให้เห็นตามหน้าหนังสือพิมพ์แทบทุกวัน


“สิทธิที่เด็กจะมีชีวิตรอด เป็นสิทธิสำคัญก้าวแรก” แต่ในไทยยังมีเด็กถูกทิ้งเสียชีวิตให้เห็นบ่อย ๆ ซึ่งมองในแง่สิทธิขั้นพื้นฐานแล้ว ถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิเด็ก และหากมองให้ลึกลงไปอีก ปัญหาอยู่ที่พ่อ-แม่ที่เป็นผู้ทำให้เด็กเกิด ซึ่งยังเป็นวัยรุ่น หรือเป็น “เด็กหญิงแม่-เด็กชายพ่อ” ซึ่งยังไม่รู้เรื่องเกี่ยวกับสิทธิเด็ก ยังเป็นเรื่องไกลตัว ยังไม่ทราบในสิทธินี้ และส่วนตัวเองก็อาจจะไม่มีโมเดลของพ่อ-แม่ที่ดี  ให้เห็น ทั้งนี้ ผอ.สุดารัตน์ชี้ด้วยว่า.....  
   
“เด็กที่ถูกทิ้งส่วนมากมีสาเหตุมาจากพ่อแม่มีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร เมื่อท้องก็ไม่พร้อมจะมีลูก จึงเกิดเหตุการณ์น่าสลดใจขึ้น เป็นการละเมิดโดยที่ผู้ละเมิดเองก็ยังไม่มีความรู้เรื่องสิทธิเด็ก”

   
ต่อด้วยมุมมองของ รศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาเด็กที่มีความต้องการพิเศษ คณะครุศาสตร์ จุฬา ลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่บอกว่า... กรณีเด็กทารกถูกทิ้ง หรือเด็กถูกทุบตีทำร้าย-ใช้ความรุนแรง หากมองในแง่ของสิทธิขั้นพื้นฐานแล้วก็ถือเป็นเรื่องที่เด็กถูกกระทำหรือถูกละเมิดอย่างหนึ่ง ในแง่ของสิทธิที่จะมีชีวิตรอด และ/หรือสิทธิที่จะได้รับความคุ้มครอง ซึ่งตามหลักสิทธิมนุษยชน “คนทุกคนเกิดมาพร้อมกับสิทธิ”

   
เรื่องสิทธิเด็กนั้น ประเทศไทยลงนามให้สัตยาบันหลายปี    มาแล้ว แต่ยังไปไม่ถึงไหน เพราะว่าเรื่องสิทธิเด็กถูกมองแยกออก ประกอบกับระบบโครงสร้างพื้นฐานของครอบครัวไทยที่อ่อนแอ ตามระบบสังคมที่เปลี่ยนไป แม้ว่าจะมีพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กก็ตาม แต่โครงสร้างก็อ่อนแอเช่นกัน รวมไปถึงระบบการศึกษาด้วย
   
“เรื่องสิทธิเด็กมักถูกพูดถึงแต่ในเวทีวิชาการ เวทีเสวนา ผู้ใหญ่ยังมองว่าเรื่องสิทธิเด็กเป็นเรื่องของการเรียกร้อง ไม่ใช่เรื่อง ที่ควรจะสนับสนุน การแก้ปัญหาต่าง ๆ จึงไปไม่ถึงไหน” ...รศ.ดร. สมพงษ์ชี้

   
ขณะที่ ศรีประภา เพชรมีศรี อาจารย์ประจำศูนย์สิทธิมนุษยชนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล และผู้แทนไทยในคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน บอกว่า... เรื่องเด็กถูกทุบตีทำร้าย หรือเด็กทารกถูกทิ้ง ตามที่มีข่าวให้เห็นเป็นประจำนั้น ในแง่ของ “สิทธิเด็ก” ถือว่าเด็กถูกละเมิด เด็กถูกกระทำ ซึ่งหากมองตามรายละเอียดของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ถือว่าเป็นภาระหน้าที่ของพ่อแม่ และต้องมีหลักประกันของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการที่เด็กจะต้องมีชีวิตรอด, การที่เด็กจะต้องได้รับความคุ้มครอง ฯลฯ
   
“แม้ว่าประเทศไทยจะรับรองหลักการด้านนี้มานานแล้ว และมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องหลายฉบับแล้ว แต่ก็ยังเกิดปัญหานี้อยู่ ซึ่งก็อาจไม่ใช่เรื่องแปลก หลายประเทศที่ให้สัตยาบันอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กก็มีปัญหานี้อยู่ ทั้งนี้ก็ ขึ้นอยู่กับว่าการปฏิบัติตามอนุสัญญาหรือการบังคับใช้กฎหมายเป็นอย่างไร ซึ่งการมองในหลักสิทธิเด็กนั้นต้องมองในองค์รวมให้ครบทุกข้อ เพราะมีความสัมพันธ์กันทั้งหมด ไม่ควรมองแยกเป็นเรื่อง ๆ” ...อ.ศรีประภาระบุ

   
ทางด้าน วัลลภ ตังคณานุรักษ์ หรือ “ครูหยุย” เลขาธิการมูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก ก็บอกกับ “สกู๊ปหน้า 1 เดลินิวส์” ว่า... การกระทำร้าย ๆ ต่อเด็ก ซึ่งมักปรากฏออกมาใน 4 รูปแบบ ได้แก่ การทิ้ง, การปล่อยปละละเลย, การทำร้ายทุบตี, การใช้เป็นเครื่องมือในการแสวงหาผลประโยชน์ ล้วนเป็นการ “ละเมิดสิทธิเด็ก” และผิดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กทั้งสิ้น !! ซึ่งหากมองไปที่ผู้กระทำซึ่งเป็นพ่อแม่เด็กเอง ก็มีเหตุปัจจัย
   
พอจะวิเคราะห์ได้ว่ามีเหตุมีปัจจัยต่าง ๆ หลายอย่างประกอบกัน เช่น... ความเครียดที่ต้องดิ้นรนทำมาหากิน อาจเนื่องมาจาก ความยากจน แต่ก็มีกรณีซึ่งทำให้เห็นว่าแม้ว่าเด็กจะมาจากครอบครัวระดับบนก็ตาม แต่หากมีประเด็นเรื่องปัญหาการทำมาหากินของผู้ปกครอง ก็อาจเกิดความรุนแรงในครอบครัวได้ และอีกปัจจัยคือ ตัวผู้ใหญ่ตกเป็นทาสอบายมุข สุรา ยาเสพติด การพนัน ซึ่งเป็นอีกเหตุสำคัญเช่นกันที่ทำให้เกิดการทำร้ายเด็ก

   
“และอีกข้อสังเกตคือ พ่อแม่รุ่นใหม่นั้นอายุน้อยลง ทำให้ปัญหาการทิ้งลูกตามมาจากความไม่พร้อมของการตั้งครอบครัว ซึ่งทำให้เกิดปัญหาได้ในทุกรูปแบบ ทางแก้คือการฟื้นฟูระบบครอบครัวขึ้นมาใหม่ มากกว่าคำว่าการต้องมีสวัสดิการจากรัฐที่คุ้มครองดูแล” ...ครูหยุยชี้อีกมูลเหตุ “ทิ้งลูก-ทำร้ายเด็ก”
   
คำตอบพอมีแล้ว...แต่ใครล่ะจะนำไปหยุดคำถาม ??.


ขอบคุณข้อมูลจาก

 

9 ก.พ. 53 เวลา 19:36 168,885 53 446
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...