“แอ่วม่วนใจ๋ ไม่เอาถ่าน” กับ “น่าน” เมืองเก่าที่มีชีวิต เมืองที่เป็นมิตรกับจักรยาน

วิหารวัดภูมินทร์วิหารวัดภูมินทร์         เมื่อพูดถึงเมืองท่องเที่ยวอย่าง “น่าน” ในชั่วโมงนี้คงไม่ใครไม่รู้จัก ด้วยเมืองเล็กๆ ที่แฝงไปด้วยสิ่งต่างๆ มากมาย ทั้งวัดวาอาราม ผู้คน รวมถึงการใช้ชีวิตแบบเรียบง่าย เป็นไปอย่างช้าๆ จึงทำให้เมือง “น่าน” เป็นเมืองที่ยังคงความคลาสสิกอยู่เสมอ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้น่าน จัดอยู่ในเมืองเล็กประเภท “Small is Beautiful” 
  กระบวนการทำตุงก้าคิง         การมาเยือน “น่าน” ของเราในครั้งนี้ ต่างจากการมาเยือนในครั้งก่อนๆ ตรงที่ว่า ครั้งนี้เราจะมาเที่ยวเมืองน่านกันแบบ “ไม่เอาถ่าน” หรือที่เรียกในภาษาอังกฤษว่า “Low Carbon Tourism” ที่เป็นหนึ่งในโครงการขององค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. ที่จัดทำขึ้นมาเพื่อให้เราได้ไปท่องเที่ยวกันแบบช้าๆ อย่างยั่งยืน 
  ตุงก้าคิงผืนใหญ่เท่าตัวคน         แต่ก่อนที่เราจะไปเที่ยวแบบไม่เอาถ่านนั้น ก็ต้องมาทำความเข้าใจการเที่ยวแบบไม่เอาถ่านเสียก่อน การเที่ยวแบบไม่เอาถ่านหรือ Low Carbon ของเรานั้น เป็นการท่องเที่ยวที่ช่วยลดโลกร้อน เป็นการเที่ยวแบบช้าๆ โดยการเลือกปั่นจักรยานหรือนั่งสามล้อถีบแอ่วเมืองน่าน แทนการใช้รถยนต์หรือมอเตอร์ไซค์ เลือกกินอาหารพื้นถิ่นที่ใช้วัตถุดิบในเมืองน่าน ไม่ต้องเสียเวลาและเสียเชื้อเพลิงจากการขนส่งมาจากที่ไกลๆ และยังเลือกพักโรงแรมที่ใส่ใจและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น ไม่เปลี่ยนผ้าปูที่นอน ปลอกหมอน ผ้าห่ม ผ้าเช็ดตัว ฯลฯ (เป็นการช่วยลดการใช้น้ำ) แต่มีการทำความสะอาดห้องพักตามปกติ ในกรณีที่พัก 2 คืนขึ้นไป 
  แบงค์เก่าใน “พิพิธภัณฑ์ชุมชนบ้านพระเกิด”         เมื่อทราบถึงการเที่ยวแบบไม่เอาถ่านกันไปแล้ว ก็ถึงเวลาที่จะออกเดินทางแอ่วเมืองน่านกันเสียที เราเอาฤกษ์เอาชัยด้วยการมาทำพิธีสืบชะตา สะเดาะเคราะห์ตามแบบฉบับล้านนา เพื่อเสริมความเป็นสิริมงคล กับกิจกรรมทำ “ตุงก้าคิง” ที่ “วัดพระเกิด” (ต.ในเวียง) ตามความเชื่อแบบล้านนา ทันทีที่มาถึงจะได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากเหล่าพ่ออุ๊ยแม่อุ๊ย ที่จะมาคอยช่วยแนะนำการทำตุงก้าคิงอย่างเปี่ยมมิตรไมตรี 
  ภายในโฮงเจ้าฟองคำ         “ตุงก้าคิง” เป็นพิธีกรรมแบบชาวล้านนา โดยจะมีการทำตุง ซึ่งเป็นการจำลองรูปแบบของคนมา มีปีนักษัตร มีหน้า ตา คิ้ว จมูกปาก และมีความสูงเท่ากับความสูงของผู้ทำตุง ใช้เพื่อสะเดาะเคราะห์และสืบชะตา โดยในการทำตุงพ่ออุ๊ยแม่อุ๊ยจะเป็นผู้เตรียมตุงให้กับเรา เมื่อมาถึงเราก็นำตุงที่พ่ออุ๊ยแม่อุ๊ยเตรียมไว้ ติดหน้าบนตุงของตัวเอง จากนั้นจึงนำไปทำพิธี ก็เป็นอันเสร็จสิ้น 
  โชว์การทอผ้าที่โฮงเจ้าฟองคำ         นอกจากพิธีตุงก้าคิงแล้ว ภายในวัดพระเกิดยังเป็นที่ตั้งของ “พิพิธภัณฑ์ชุมชนบ้านพระเกิด” ด้วย ซึ่งพิพิธภัณฑ์แห่งนี้เกิดขึ้นด้วยวิสัยทัศน์ของพ่ออุ๊ยแม่อุ๊ยแห่งชุมชนวัดพระเกิดที่เล็งเห็นความสำคัญในการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม พวกท่านจึงได้ร่วมกันจัดตั้ง“พิพิธภัณฑ์ชุมชนบ้านพระเกิด”ขึ้นให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเรียนรู้คู่ชุมชนและคนภายนอกที่สนใจ ภายในจัดแสดงเป็น 2 ชั้น ด้านบนจัดแสดงเรื่องเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา มีพระพุทธรูปไม้ทรงเครื่อง และพระพุทธรูปไม้ 48 พระองค์ ฯลฯ ด้านล่างจัดแสดงเกี่ยวกับภูมิปัญญาท้องถิ่น วิถีชุมชน ตลอดถึงเงินยุคโบราณ ซึ่งนอกจากจะจัดแสดงศิลปวัตถุและข้าวของเครื่องใช้โบราณรวมทั้งหีบพระธรรมโบราณลงรักปิดทองจำนวนหลายใบอันน่าสนใจแล้ว ที่นี่ยังเป็นดั่งพิพิธภัณฑ์มีชีวิตจากปากคำการบอกเล่าให้ข้อมูลของผู้รู้และพ่ออุ๊ยแม่อุ๊ยผู้ใจดีอีกด้วย 
  นั่งรถถีบแอ่วเมืองน่าน         จากวัดพระเกิดห่างไปอีกไม่ไกล เป็นที่ตั้งของ “โฮงเจ้าฟองคำ” (โฮง หมายถึง คุ้ม หรือที่อยู่อาศัยของเจ้านายล้านนาไทย ชาวน่านจะเรียกบ้านหลังใหญ่ว่า โฮง ไม่เรียกว่า คุ้ม เหมือนชาวเชียงใหม่) เรือนล้านนาอันทรงเสน่ห์ที่เจ้าของเปิดเรือนให้นักท่องเที่ยวเข้าชมกันแบบฟรีๆ เมื่อเข้ามาจะสัมผัสได้ถึงความเก่าแก่ที่สวยงาม ภายในเรือนจัดแสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่แบบดั้งเดิม ด้านบนเรือน ถูกจัดแบ่งเป็นห้องๆ จัดแสดงข้าวของน่าสนใจ โดยมีไฮไลท์อยู่ที่เครื่องเงินและเงินตราสมัยโบราณ 
  พระพุทธรูปประธานสี่องค์ภายในวิหารวัดภูมินทร์         ส่วนบริเวณด้านล่างใต้ถุนเรือน เป็นจุดให้ข้อมูลความรู้เรื่องผ้า มีการโชว์การทอผ้าพื้นเมือง การสาธิตปั่นฝ้าย ให้ได้ชม รวมถึงมีผ้าทอสวยๆ งามๆ จำหน่าย ให้ผู้สนใจซื้อเป็นที่ระลึกติดไม้ติดมือกลับบ้านกลับบ้านกันได้อีกด้วย 
  ภาพกระซิบรักบรรลือโลก         จากนั้นไปต่อกันที่ “วัดภูมินทร์” วัดภูมินทร์เป็นที่มีความงดงามทางด้านพุทธศิลป์อันโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ มีพระวิหารและพระอุโบสถเป็นหลังเดียวกันสร้างทรงจัตุรมุข ดูคล้ายตั้งอยู่บนหลังพญานาค 2 ตัวที่ช่างโบราณได้สร้างสรรค์ขึ้นอย่างดงาม เมื่อเดินเข้ามาภายในพระอุโบสถ บริเวณใจกลางพระอุโบสถ จะพบกับความงดงามของ “พระประธานจตุรทิศ”เป็นพระประธานปางมารวิชัยศิลปะสุโขทัยองค์ใหญ่สีทองเหลืองอร่าม 4 องค์ ประทับนั่งบนฐานชุกชีเดียวกัน หันพระปฤษฎางค์ชนกัน(หันหลังชนกัน) หันพระพักตร์ไปทางทิศทั้ง 4 ถือว่าเป็นพระประธาน ที่มีเอกลักษณ์เป็นหนึ่งเดียว ที่ไม่ว่าจะมองจะทิศไหนก็จะสัมผัสได้ถึงความขรึมขลังขององค์พระ อันน่าเลื่อมใส 
  จิตรกรรมภายในวิหารวัดภูมินทร์         เมื่อเข้ามายังพระอุโบสถแล้วก็ต้องไม่พลาดที่จะต้องเดินชมภาพจิตกรรมฝาผนังที่มีความสวยงาม โดยเฉพาะภาพของ “ปู่ม่าน ย่าม่าน” ที่ได้ชื่อว่าเป็นภาพกระซิบรักบันลือโลก อันมีชื่อเสียงโด่งดังใครมาก็ต้องมาชมและขอถ่ายรูปเป็นที่ระลึก ถือเป็นไฮไลท์ที่ไม่ควรพลาดเมื่อมาแอ่วเมืองน่านแห่งนี้ 
  วัดมิ่งเมือง         ใกล้ๆ กันกับวัดภูมินทร์เป็นที่ตั้งของ “วัดมิ่งเมือง”(ถ.สุริยพงษ์) เป็นสถานที่ประดิษฐานเสาหลักเมืองน่าน ในบริเวณวัดน่าสนใจไปด้วยงานศิลปะปูนปั้นสีขาวลวดลายวิจิตรสวยงาม ดูเผินๆ อาจจะชวนให้นึกถึงวัดร่องขุ่น ของ อ.เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ แต่ถ้าเดินดูกันอย่างพิถีพิถันก็จะพบความงามที่ต่างกันออกไป ซึ่งนี่เป็นงานฝีมือของตระกูลช่างเมืองเชียงแสน ขณะที่ภายในโบสถ์ก็มีภาพจิตรกรรมฝาผนังแสดงถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนเมืองน่านอย่างน่าสนใจทีเดียว 
  ความงดงามของวัดมิ่งเมือง         ปิดท้ายด้วย “วัดพระธาตุแช่แห้ง” ตั้งอยู่ที่ ต.ม่วงตึ๊ด อ.ภูเพียง สำหรับวัดพระธาตุแช่แห้งนั้น มีข้อมูลระบุว่าพญาการเมืองโปรดทรงให้สร้างขึ้นเพื่อบรรจุพระธาตุที่ได้มาจากเมืองสุโขทัยระหว่าง พ.ศ.1891-1901 
  พระธาตุแช่แห้ง         วัดพระธาตุแช่แห้ง เป็นอีกหนึ่งวัดดัง วัดสำคัญคู่บ้านคู่เมืองน่านที่นักท่องเที่ยวไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง วัดพระธาตุแช่แห้ง มีองค์พระธาตุแช่แห้งเป็นพระธาตุคู่บ้านคู่เมืองน่าน เป็นพระธาตุประจำปีคนเกิดปีเถาะ(กระต่าย) ที่บุทองจังโก้ดูเหลืองอร่ามสมส่วนงดงาม ด้านข้างขององค์พระธาตุ(อยู่ทางขวาเมื่อเดินเข้าไป) เป็นที่ตั้งของวิหารหลวงที่ภายในประดิษฐาน “พระเจ้าล้านทอง” พระประธานที่มีพุทธลักษณะงดงามดูขรึมขลังเปี่ยมศรัทธา 
  ภายในพระวิหารหลวงมีพระเจ้าล้านทองเป็นพระประธาน         ส่วนที่ด้านหน้าวิหาร ตรงหัวบันไดทางเข้ามีรูปปั้นสิงห์ 2 ตัว ประดับยืนเฝ้าอยู่ ซึ่งรูปพญานาค 8 ตัว ปั้นเป็นพญานาคเกี่ยวกระหวัดกันเป็น 3 ชั้น ถือเป็นอีกหนึ่งงานศิลปกรรมสุดคลาสสิกของวัดแห่งนี้ เพราะนอกจากจะมีความงดงามสดส่วนแล้วยังแฝงปริศนาธรรมให้ขบคิดอีกด้วย ไม่เพียงเท่านั้น ในวัดพระธาตุแช่แห้งยังมี องค์พระนอน พระเจ้าทันใจ องค์เจดีย์สีขาวที่จำลองแบบมาจากเจดีย์ชเวดากองของพม่า รวมไปถึงบันไดนาคตัวยาวตรงปากทางขึ้น ที่ถือเป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์ของวัดแห่งนี้ เป็นสิ่งน่าสนใจให้ได้สัมผัสทัศนาในความงามกันอย่างจุใจ 
  องค์เจดีย์สีขาวที่จำลองแบบมาจากเจดีย์ชเวดากองของพม่า         และนี่ก็คือบางส่วนของเส้นทางปั่นเที่ยววัดในเมืองน่าน แม้ว่าน่านจะเป็นเมืองเล็กๆ แต่หากใครได้มาเยือนแล้ว อาจจะต้องตกหลุมรัก เมืองน่านแห่งนี้จนต้องมาเยือนเป็นครั้งที่ สอง สาม สี่ อย่างแน่นอน 
          * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
       
       สามารถสอบถามข้อมูลการท่องเที่ยวน่านตามแคมเปญเที่ยวแบบ “ไม่เอาถ่าน” (Low Carbon Tourism) ได้ที่องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท.น่าน โทร.0-5477-1077
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...