“วัดช้างเผือก-แก้วพิจิตร” งามวิจิตร วัด 2 พี่น้อง แห่ง “พระตะบอง-ปราจีนฯ”/ปิ่น บุตรี

วัดแก้วพิจิตร อีกหนึ่งมรดกทางวัฒนธรรมแห่งเจ้าพระยาอภัยภูเบศร         ...“ที่สำคัญที่สุดความยิ่งใหญ่ของท่านคือความรักชาติ รักแผ่นดิน ท่านเลือกความลำบากและยอมพลัดจากบ้านเกิดเมืองนอนและยศถาบรรดาศักดิ์ที่มีอำนาจล้นฟ้า ฉากอพยพของท่านที่ฝ่าฝนข้ามน้ำ ข้ามเขาทุกลักทุเลกว่าจะถึงเมืองไทย เป็นตำนาน เป็นเรื่องเล่าที่คนรุ่นเก่าเล่าให้ฟังได้ไม่รู้เบื่อ”...
       
       นั่นคือส่วนหนึ่งของข้อความที่ ภญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร หัวหน้ากลุ่มงานเภสัชกรรม รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร ได้เขียนสดุดีท่านเจ้าพระยาอภัยภูเบศร(ชุ่ม) เอาไว้ในคำนิยมของหนังสือ “เจ้าพระยาอภัยภูเบศร(ชุ่ม) เจ้าเมืองพระตะบองคนสุดท้าย ใต้ปกครองสยาม” ซึ่งสำหรับเจ้าพระยาอภัยภูเบศร(ชุ่ม อภัยวงศ์) หรือ“เจ้าคุณชุ่ม”แล้ว ท่านขึ้นชื่อในความจงรักภักดีเป็นยิ่งนัก 
  รูปเหมือนเจ้าพระยาในโบสถ์วัดแก้วพิจิตร         เจ้าเมืองพระตะบองคนสุดท้าย ใต้ปกครองสยาม
       
       ท่านเจ้าพระยาอภัยภูเบศร(ชุ่ม) เกิดเมื่อวันที่ 29 ก.ค. 2404 ในจังหวัด“พระตะบอง” ที่ตอนนั้นยังอยู่ภายใต้การปกครองของสยาม โดยท่านได้รับตำแหน่งเจ้าเมืองพระตะบองสืบต่อจากบิดา ซึ่งต้นตระกูลของท่านได้ปกครองเมืองพระตะบอง เสียมราฐ ศรีโสภณ มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1
       
       กระทั่งเมื่อฝรั่งเศสเข้ามายึดครองดินแดนในแถบอินโดจีน ทำให้ในปี 2450 สยามต้องเสียดินแดน พระตะบอง เสียมราฐ ศรีโสภณ ให้กับเขมรภายใต้การกุมบังเหียนของฝรั่งเศส โดยฝรั่งเศสยังคงต้องการให้ท่านเจ้าคุณชุ่ม(ที่ตอนนั้นดำรงตำแหน่งเจ้าพระยาคทาธรธรณินทร์)เป็นเจ้าเมืองปกครองพระตะบองต่อ เพื่อประโยชน์ทางการเมือง เพราะท่านชุ่มยังเป็นที่เคารพของประชาชน อีกทั้งสายสกุลอภัยภูเบศรที่ปกครองพระตะบองมานับร้อยปียังคงเปี่ยมไปด้วยบารมีที่เป็นประโยชน์ต่อการบริหารของฝรั่งเศส 
  “ตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร” หนึ่งในมรดกทางวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าแห่งเจ้าพระยาอภัยภูเบศร         แต่ด้วยความจงรักภักดีต่อชาติ ต่อแผ่นดินสยาม และต่อพระมหากษัตริย์ไทยอย่างล้นเหลือ เจ้าคุณชุ่ม ไม่ยอมไปเป็นข้าแผ่นดินอื่น ท่านยอมสละอำนาจ ยศถาบรรดาศักดิ์ ชีวิตที่สุขสบาย และทรัพย์สินเงินทองจำนวนมาก เดินทางจากบ้านเกิดเมืองนอนมาเป็นข้าในพระมหากษัตริย์บนแผ่นดินสยามประเทศ ทำมาหากิน ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่จังหวัดปราจีนบุรี 
       
       และด้วยคุณงามความดี วีรกรรมความกล้าหาญ ความจงรักภักดี ท่านเจ้าคุณชุ่มที่ตอนหลังดำรงตำแหน่ง“เจ้าพระยาอภัยภูเบศร” จึงได้รับการยกย่องให้เป็น “เจ้าเมืองพระตะบองคนสุดท้าย ใต้ปกครองสยาม” 
  วัดแก้วพิจิตร วัดที่มีความงดงามเป็นเอกลักษณ์แห่งปราจีนบุรี         วัดแก้วพิจิตร-ปราจีนบุรี 
       
       สำหรับหนึ่งในสิ่งที่เป็นดังมรดกทางวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าแห่งเจ้าพระยาอภัยภูเบศรที่ตกทอดมาถึงปัจจุบัน ก็คือ “ตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร” จ.ปราจีนบุรี ที่วันนี้นอกจากจะทำหน้าที่เป็น “พิพิธภัณฑ์การแพทย์แผนไทยอภัยภูเบศร” อันถือเป็นเป็นแหล่งท่องเที่ยวเรียนรู้สำคัญ ควบคู่ไปกับฐานะตึก(ใน)โรงพยาบาลที่สวยที่สุดในเมืองไทยแล้ว ตึกงามหลังนี้ยังแฝงไว้ด้วยจิตวิญญาณ วีรกรรม คุณงามความดี และความจงรักภักดีของท่านเจ้าพระยาอภัยภูเบศร(ชุ่ม)อย่างเต็มเปี่ยม
       
       นอกจากตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศรแล้ว อีกหนึ่งสิ่งที่เป็นดังมรดกทางวัฒนธรรมอันล้ำค่าแห่งเจ้าพระยาอภัยภูเบศรนั่นก็คือ “วัดแก้วพิจิตร” ที่งดงามไปด้วยงานพุทธศิลป์อันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว 
  บรรยากาศขรึมขลังภายในโบสถ์วัดแก้วพิจิตร         วัดแก้วพิจิตร ตั้งอยู่บนถนนแก้วพิจิตร ต.หน้าเมือง อ.เมือง จ.ปราจีนบุรี เป็นวัดประจำสกุล “อภัยวงศ์” วัดแห่งนี้เดิมสร้างขึ้นตั้งแต่ปี 2422 โดยนางประมูล โภคา และนางขจัด โจรกรรม จากนั้นเมื่อเจ้าพระยาอภัยภูเบศร(ชุ่ม)อพยพจากพระตะบองมาอยู่ที่ปราจีนฯ ท่านและลูกหลานตระกูลอภัยวงศ์ได้ทำการบูรณะปรับปรุงวัดแก้วพิจิตรในหลายๆด้านด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น โบสถ์หลังงามที่สร้างขึ้นแทนโบสถ์หลังเก่าดั้งเดิมที่ชำรุดทรุดโทรม 
  เสานางรายทรงโรมัน         โบสถ์หลังนี้เจ้าพระยาอภัยภูเบศรออกแบบเอง (ปี 2461) เป็นโบสถ์ที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นไม่เหมือนใคร เป็นการผสมผสานงานศิลปกรรม 4 ชาติ ได้แก่ ไทย จีน เขมร และยุโรป(อิทธิพลฝรั่งเศส) เข้าด้วยกันอย่างสวยงามกลมกลืน ไม่ว่าจะเป็น ช่อฟ้าใบระกาที่งดงามด้วยศิลปะไทย เสานางรายทรงโรมันแบบยุโรปและภาพวาดแบบฝรั่งเศส ภาพวาดอาแป๊ะสไตล์จีน และงานปูนปั้นลงสีอันสวยงามในรูปแบบศิลปะเขมร(พบที่พระตะบอง) 
  งานปูนปั้นหอนาฬิกาไม่เที่ยง         นอกจากงานศิลปกรรมและลวดลายประดับอันสวยงามทั้งภายนอกและภายในโบสถ์แล้ว ยังมีการสร้างปริศนาธรรมสอดแทรกไว้ตามจุดต่างๆให้ผู้ค้นพบได้ไปขบคิดตีความ โดยเฉพาะซุ้มประตูเรือนแก้วกับงานปูนปั้นหอนาฬิกาบอกเวลา“ไม่เที่ยง” ที่แสดงนัยยะทางธรรมให้เห็นอย่างชัดเจน 
  พระอภัยทาน ออกแบบโดยสมเด็จฯกรมพระยาดำรงฯ         ขณะที่ภายในโบสถ์นั้นก็เป็นอีกหนึ่งจุดไม่ควรพลาดสำหรับผู้มาเยือน เพราะที่นี่มีพระประธานหนึ่งเดียวในโลกกับ “พระอภัยทาน” หรือ “พระอภัยวงศ์” ที่เป็นพระพุทธรูปปางประทานอภัย ออกแบบโดย“สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ” ที่สร้างขึ้นในปี 2464 ให้กับเจ้าพระยาอภัยภูเบศร (ชุ่ม) ผู้ทำการบวงสรวงขอพร กับพร 3 ข้อ ที่นำมาเป็นหลักในการสร้างพระพุทธรูปองค์นี้ คือ
       
       ข้อ 1.ถ้าเป็นผู้ที่ใจร้อน เมื่อได้นมัสการแล้วใจจะเย็นลง สงบขึ้น
       
       ข้อ 2.ถ้าเป็นผู้ที่คำพูดไม่มีความหมาย ไม่ประทับใจขวางหูผู้ฟัง เมื่อได้นมัสการแล้ว คำพูดของผู้นั้นจะประทับใจ ตรึงใจผู้ฟังและผู้ร่วมสนทนา
       
       ข้อ 3. ถ้าล่วงเกินใคร จะโดยรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม เมื่อได้นมัสการแล้ว จะได้รับอภัยเสมอ ไม่มีศัตรู 
  พระอภัยทาน พระพุทธรูปหนึ่งเดียวในโลก         พระอภัยวงศ์ หรือ พระอภัยทาน เป็นพระประธานที่สร้างขึ้นแทนพระประธานองค์เก่าที่เป็นพระพุทธรูปปางห้ามญาติ ซึ่งประดิษฐานประทับยืนอยู่ด้านหลังพระอภัยวงศ์
       
       พระอภัยวงศ์ พระพุทธรูปสีน้ำตาลเข้มอมดำ ประทับขัดสมาธิเพชร ยกพระหัตถ์ทั้งสองข้างขึ้น พระหัตถ์ขวาหงายออกในปางประทานอภัย พระหัตถ์ซ้ายหงายขึ้นและวางที่พระชานุ(หัวเข่า) ครองจีวรห่มเป็นริ้ว เหมือนจริง นับเป็นพระพุทธรูปที่มีหนึ่งเดียวในโลก เนื่องจากมีพุทธลักษณะผิดไปจากพุทธบัญญัติการสร้างพระที่มีทั้งหมด 90 ปาง (และสันนิษฐานว่าสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ น่าจะออกแบบให้สอดคล้องกับสกุลอภัยวงศ์ที่ท่านเจ้าพระยาอภัยภูเบศรเป็นต้นตระกูล) 
  อาคารศาลาอนุสรณ์เจ้าพระยาอภัยภูเบศร         นอกจากโบสถ์หลังงาม และพระอภัยวงศ์ อันน่าสนในยิ่งแล้ว วัดแก้วพิจิตรยังมีสิ่งน่าสนใจอื่นๆอีก อาทิ รูปเหมือนเจ้าพระยาอภัยภูเบศรในโบสถ์, ที่บรรจุอัฐิเจ้าพระยาอภันภูเบศรใต้ฐานองค์พระประธาน(พระอภัยวงศ์), หอไตรอันทรงเสน่ห์ด้วยสถาปัตยกรรมไทยผสมตะวันตก,หอระฆังอิทธิพลตะวันตก,ศาลาอนุสรณ์เจ้าพระยาอภัยภูเบศร,พิพิธภัณฑ์และอนุสรณ์สถานเจ้าพระยาอภัยภูเบศรที่ยืนเด่นคู่กับรูปปั้นไก่ชน กีฬาที่ท่านโปรดปราน ,พระพุทธรูปปัจฉิมพุทโธวาทปาฐะปางประทับนอนอันสวยงาม, พระรัตนสุวรรณ พระพุทธรูปทองคำทรงเครื่องประดับอัญมณีอันงดงาม และศาลาท่าน้ำที่มีแพให้ทำบุญให้อาหารปลา
       
       และนั่นก็คือเสน่ห์ความงามความโดดเด่นของวัดแก้วพิจิตร อีกหนึ่งมรดกทางวัฒนธรรมสำคัญแห่งเจ้าพระยาอภัยภเบศรเคียงคู่กับตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร นับเป็น 2 สถาปัตยกรรมอันงดงามคู่บ้านคู่เมืองปราจีนบุรีที่น่าสนใจยิ่ง 
  วัดดำเร็ยซอ วัดสำคัญแห่งเมืองพระตะบอง         วัดดำเร็ยซอ-พระตะบอง 
       
       ด้วยเสน่ห์ความงดงามและความสำคัญของวัดแก้วพิจิตร ปราจีนบุรี “ภญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร” อีกหนึ่งในบุคคลสำคัญที่มีส่วนในการก่อตั้ง“พิพิธภัณฑ์การแพทย์แผนไทยอภัยภูเบศร” ผู้ซึ่งทำการลงมือศึกษาประวัติ เรื่องราว ความเป็นมาของเจ้าพระยาอภัยภูเบศรอย่างจริงจัง ได้สืบค้นพบว่าท่านเจ้าพระยาอภัยภูเบศร นำต้นแบบการก่อสร้างวัดแก้วพิจิตรมาจาก“วัดดำเร็ยซอ” แห่งจังหวัดพระตะบอง ประเทศกัมพูชา
       
       โดย ภญ.ดร.สุภาภรณ์ได้จัดกิจกรรมตามรอยเจ้าพระยาภัยภูเบศรสู่เมืองพระตะบองขึ้น ซึ่งผมมีโอกาสได้ไปร่วมตามรอบสิ่งน่าสนใจมากมายในพระตะบองเกี่ยวกับเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ที่ยังคงหลงเหลือหลักฐานอันเด่นชัดให้เราได้ศึกษา เรียนรู้ 
  หลากสีสันภายในโบสถ์วัดดำเร็ยซอ         วัดดำเร็ยซอ หรือที่แปลเป็นไทยว่า “วัดช้างเผือก” สร้างขึ้นในปี 2447 โดยเจ้าพระยาอภัยภูเบศร(ชุ่ม) ซึ่งในตอนนั้นยังดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าพระยาคทาธรธรณินทร์ เจ้าเมืองพระตะบอง
       
       สำหรับที่มาของการสร้างวัดแห่งนี้ เล่ากันว่า ช่วงที่“คุณหญิงสอิ้ง” ภรรยาเอกของท่านเจ้าคุณชุ่มล้มป่วย ได้ไปบนว่าถ้าหายป่วยแล้วจะสร้างวัด เมื่อท่านหายป่วยแล้วเจ้าคุณชุ่มและภรรยาเอกจึงสร้างวัดช้างเผือกขึ้น ซึ่งเมื่อคุณหญิงสะอิ้งเสียชีวิตได้นำอัฐิของท่านมาบรรจุในเจดีย์ที่วัดแห่งนี้ โดยมีช่างผู้ควบคุมการก่อสร้างชื่อ“เจียงโตว” 
  สัประยุทธ์ งานปูนปั้นอันสวยงามวิจิตแห่งวัดช้างเผือก         วัดช้างเผือกเป็นวัดสำคัญประจำเมือง ตัววัดมีไฮไลท์อยู่ที่โบสถ์อันโดดเด่นสง่าสมส่วน ทั้งภายนอกและภายในมีลวดลายปูนปั้นประดับไปตามทั่วบริเวณ ไม่ว่าจะเป็นที่หน้าบัน หัวเสา ซุ้มประตู หน้าต่าง หรือตามจุดอื่นๆ กับงานปูนปั้นลงสีฝีมือวิจิตรพิสดาร ทั้งงานประติมากรรมในแบบนูนต่ำ นูนสูง และลอยตัว โดยเฉพาะงานนูนสูงหลายนั้นนั้นปั้นได้อย่างมีมิติความลึก ลอยโดดเด่นออกมาจากผนังกึ่งประติมากรรมลอยตัวเลยทีเดียว 
  งานปูนปั้นครุฑลอยตัวเพรียวลมประดับหัวเสา         พูดถึงผลงานปูนปั้นที่เด่นๆของวัดช้างเผือกนี้ก็อย่างเช่น งานปูนปั้นนูนต่ำลวดลายดอกไม้ที่พระดับอยู่ที่ฐานวางพระพุทธรูป, งานปูนปั้นเรื่องรามเกียรตินูนสูงบริเวณระเบียงทางเดินด้านนอก(ด้านล่าง),งานปูนปั้นครุฑลอยตัวเพรียวลมประดับหัวเสาแต่ละต้นที่เป็นประติมากรรมลอยตัวปั้นได้อย่างละเอียดอ่อนช้อยยิ่งนัก,งานปูนปั้นพระเวสสันดรทรงช้างเผือกปัจจัยนาเคนทร์(พญาปัจจัยนาค) มีพราหมณ์เมืองคลิงคราชเข้ามากราบขอพญาช้างปัจจัยนาค 
  นอกจากช่างจะปั้นได้ละเอียดมีชีวิตชีวาแล้ว ยังสะท้อนอารมณ์ผ่านแววตาออกมาได้อย่างยอดเยี่ยม         และโดยเฉพาะอย่างยิ่งงานปูนปั้น ปูนปั้นเรื่องราวการสัประยุทธ์ระหว่างพระรามกับทศกัณฑ์บริเวณด้านหน้าพระอุโบสถและระหว่างพระลักษณ์กับอินทรชิตบริเวณด้านหลังโบสถ์ที่ปั้นได้อย่างสุดยอด วิจิตร อ่อนช้อยดูมีชีวิตชีวา แม้กระทั่งในแววตาก็ยังแสดงอารมณ์ออกมาให้เห็น ซึ่งเครดิตของงานปูนปั้นนี้ คงต้องยกให้กับ 2 ช่างปูนฝีมือเยี่ยมที่มีชื่อบันทึกเอาไว้นั่นก็คือ "เจียงเยือก"และ "เจียงเสือ" 
  ภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในโบสถ์วัดช้างเผือก         ขณะที่ภายในโบสถ์นอกจากจะมีลวดลายปูนปั้นประดับอันสวยงาม มีพระพุทธรูปประธานในบรรยากาศอันขรึมขลังแล้ว ยังโดดเด่นไปด้วยภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องราวพุทธประวัติในแบบมีความลึก(3 มิติ) อันสวยงาม โดยช่างวาดรูปฝีมือดีท่านนี้มีบันทึกระบุว่าชื่อ “เอ็น เปรย เจีย” ซึ่งเคยมาศึกษาเล่าเรียนวิชาเขียนรูปอยู่ที่เมืองไทย 
  ลวดลายดอกไม้ที่ฐานรองรับองค์พระประธาน         และนี่ก็คือมนต์เสน่ห์ความงามของวัดดำเร็ยซอหรือวัดช้างเผือกที่เป็นดังวัดพี่-น้องของวัดแก้วพิจิตร ที่มีความสำคัญเกี่ยวพันกับเจ้าพระยาอภัยภูเบศร เจ้าเมืองพระตะบองคนสุดท้าย ใต้ปกครองสยาม ที่แม้วันนี้ท่านเจ้าพระยาอภัยภูเบศรจะจากไปกว่า 90 ปีแล้ว แต่คุณงามความดีวีรกรรม ความกล้าหาญ และความจงรักภักดีอย่างสูงล้นของท่านยังคงอยู่ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาเรียนรู้ และยึดเป็นแนวทางสืบต่อไป 
  ลายปูนปั้นปะดับซุ้มประตูทางเข้าเขตโบสถ์ของวัดช้างเผือก         ***************************************** 
  วัดสำโรงในหรือวัดสำโรงคนง         หมายเหตุ : อภัยภูเบศร เป็นตำแหน่งไม่ใช่ชื่อคน 
       -ในเมืองพระตะบองยังมีสิ่งที่เกี่ยวพันกับเจ้าพระยาอภัยภูเบศร(ชุ่ม)และตระกูลของท่านอีกหลากหลาย ไมว่าจะเป็น วัดสำโรงในหรือวัดสำโรงคนง วัดปราบปัจจามิตรหรือวัดกระโดน วัดบาหลัด วัดสังแก รวมไปถึง“ตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร” เมืองพระตะบอง(ปัจจุบันเป็นที่ทำการของราชการ) ซึ่งถือเป็นต้นแบบของตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร จ.ปราจีนบุรี 
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...