อวลเสน่ห์ตลาดย้อนยุค บนเส้นทางความสุขในเมืองมรดกโลก “สุโขทัย-กำแพงเพชร”

วัดมหาธาตุ อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ได้รับยกย่องเป็นมรดกโลก         ในปีนี้ “การท่องเที่ยววิถีไทย” กำลังเป็นเทรนด์ท่องเที่ยวที่ “เก๋ไก๋ไม่เหมือนใคร” โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กำลังส่งเสริมให้ทั้งชาวไทยและต่างชาติหันมาเห็นความสุขและความสนุกแบบไทยๆ ผ่านแหล่งท่องเที่ยว วิถีชีวิต วัฒนธรรมและประเพณีของไทย ซึ่ง “ตะลอนเที่ยว” เห็นว่า เสน่ห์ของแหล่งท่องเที่ยวไทยนั้นมีมากมายอยู่แล้ว ยิ่งถ้านักท่องเที่ยวได้มาเจอความน่ารักมีน้ำใจของคนไทย ความอร่อยของอาหารไทย ก็ยิ่งต้องหลงรักเมืองไทยมากขึ้นไปอีก
       
       เหมือนอย่างวันนี้ที่ “ตะลอนเที่ยว” ได้มาหลงเสน่ห์ของสองเมืองแห่งภาคเหนือตอนล่าง “สุโขทัย-กำแพงเพชร” ที่อาจจะดูเป็นเมืองเงียบๆ เรียบง่าย เน้นการท่องเที่ยวแบบ Slow Life ไม่หวือหวา แต่นั่นยิ่งทำให้เราสัมผัสกับบรรยากาศของเมืองได้มากขึ้น อีกทั้งจุดมุ่งหมายของ “ตะลอนเที่ยว” ในครั้งนี้คือการมาเที่ยวชมและชิมสารพัดของอร่อยที่ตลาดโบราณย้อนยุค มาเดินเล่นชมบรรยากาศเมืองเก่า ไหว้พระสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในเมืองมรดกโลก ซึ่งถือเป็นจุดเด่นของทั้งสองเมืองนี้และมีเส้นทางท่องเที่ยวเชื่อมโยงกันได้อย่างลงตัว 
  สะพานทอดข้ามไปสู่วัดมหาธาตุ         
  พระอาทิตย์ตกดินเบื้องหลังองค์เจดีย์         “สุโขทัย-ศรีสัชนาลัย มรดกไทย มรดกโลก”
       
       ความเก่าแก่ไม่ได้หมายถึงความเสื่อมหรือด้อยค่าเสมอไป...“ตะลอนเที่ยว” คิดเมื่อได้เดินทางมาเยือนที่ “อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย” ใน อ.เมืองสุโขทัย อาณาจักรโบราณของไทยที่แม้จะเหลือเพียงซากโบราณสถาน แต่กลับมีเสน่ห์แฝงไปด้วยเรื่องราวความรุ่งเรืองในอดีต ความเก่าแก่ของเมืองสุโขทัยเต็มไปด้วยคุณค่าทางประวัติศาสตร์และศิลปวัฒนธรรม จนได้รับยกย่องจากยูเนสโกให้เป็น “มรดกโลก” คู่กับอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย และอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร
       
       

       
       

       
       โบราณสถานในอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย มีทั้งในกำแพงเมืองและนอกกำแพงเมือง รวมทั้งหมดไม่ต่ำกว่า 200 แห่ง โดยมี “วัดมหาธาตุ” เป็นวัดขนาดใหญ่และสำคัญที่สุด ตั้งอยู่กลางเมืองสุโขทัย สิ่งสำคัญในวัดคือพระเจดีย์มหาธาตุรูปดอกบัวตูมหรือทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ซึ่งถือเป็นสถาปัตยกรรมที่แสดงถึงเอกลักษณ์ของศิลปะสุโขทัยโดยแท้ 
  แสงสีชมพูอมส้มอาบทั่วอุทยานฯ         
  พระอจนะแห่งวัดศรีชุม         นอกจากนั้นก็ยังมี “วัดศรีสวาย” ที่โดดเด่นด้วยพระปรางค์ 3 องค์ ศิลปะแบบลพบุรี “วัดสระศรี” งดงามด้วยเจดีย์ทรงลังกาซึ่งตั้งอยู่กลางสระตระพังตระกวน โดยนักท่องเที่ยวนิยมเข้ามาชมภายในอุทยานฯ กันในช่วงบ่าย และเที่ยวอยู่ภายในอุทยานฯ จนถึงตอนเย็นเพื่อจะได้ชมภาพอันงดงามของพระอาทิตย์ตกเบื้องหลังโบราณสถาน ที่ดูแล้วทั้งสงบ สวยงาม และขรึมขลังไปในเวลาเดียวกัน โดยจุดชมพระอาทิตย์ตกที่สวยงามเป็นที่นิยมมีอยู่สองแห่งด้วยกัน คือบริเวณด้านหน้าวัดพระมหาธาตุ และบริเวณด้านหน้าสระตระพังตระกวน (วัดสระศรี)
       
       ส่วน “วัดศรีชุม” เป็นอีกหนึ่งวัดนอกกำแพงเมืองที่ไม่ควรพลาดชมภายในวิหารวัดศรีชุมประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัยองค์ใหญ่ นามว่า “พระอจนะ” ซึ่งมีความหมายว่า ผู้ไม่หวั่นไหว และไม่ไกลกันคือ “วัดพระพายหลวง” ซึ่งโดดเด่นด้วยองค์ปรางค์ศิลาแลง 3 องค์ เป็นศิลปะในยุคเดียวกับศิลปะเขมรแบบบายน สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ส่วนด้านหน้าของวัดเป็นอาคารที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้น 4 อิริยาบถ คือนั่ง นอน ยืน เดิน 
  พระวิหารประดิษฐานพระอจนะ         
  กราบพระพุทธสิริมารวิชัย         บริเวณฝั่งตรงข้ามกับวัดพระพายหลวง เป็นที่ตั้งของ “หอพระพุทธสิริมารวิชัย” ภายในประดิษฐาน "พระพุทธสิริมารวิชัย" พระพุทธรูปสำริดปางมารวิชัยสมัยสุโขทัยองค์เก่าแก่ที่แต่เดิมได้หักพังเสียหายหลังจากเกิดเพลิงไหม้ครั้งใหญ่ขึ้นในเมืองสุโขทัยเมื่อปี 2511 แต่ต่อมามีการบูรณะซ่อมแซมองค์พระขึ้นใหม่ รวมทั้งสร้างหอพระที่ประดิษฐานให้แก่พระพุทธรูปเพื่อน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสทรงเจริญพระชนมายุครบ 60 ชันษา
       
       นอกจากจะได้มากราบหลวงพ่ออันงดงามแล้ว ก็ยังจะได้ชื่นชมสถาปัตยกรรมอันงดงามของหอพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นตามแบบสุโขทัย และภาพจิตรกรรมฝาผนังฝีมือเยี่ยมเป็นภาพเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ในสมัยสุโขทัย รวมถึงภาพพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในการอนุรักษ์พระพุทธสิริมารวิชัยอีกด้วย 
  นักท่องเที่ยวเลือกนั่งเกวียนมาเที่ยววัดศรีชุม         
  วัดช้างล้อมแห่งอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย         ส่วนมากแล้วนักท่องเที่ยวมักเลือกใช้วิธีเช่าจักรยานปั่นเพื่อชมโบราณสถาน แต่ “ตะลอนเที่ยว” ได้เห็นอีกหนึ่งวิธีเที่ยวชมวัดที่ได้บรรยากาศสุดๆ และเป็นที่ชื่นชอบของนักท่องเที่ยวต่างชาติกันมาก นั่นก็คือการนั่งเกวียนเทียมวัวจากหอพระพุทธสิริมารวิชัยเพื่อไปชมวัดศรีชุมหรือวัดในบริเวณใกล้เคียง โดยจะมีจุดขึ้นเกวียนอยู่ที่ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวข้างๆ หอพระสนนราคาก็ไม่แพงเลย 300 บาท/เกวียน นั่งได้ 6 คน เห็นนักท่องเที่ยวต่างชาติสวมงอบนั่งเกวียนถ่ายรูปสนุกสนานกันใหญ่
       
       

       
       

       
       อีกหนึ่งมรดกโลกอันเป็นที่ภาคภูมิใจของชาวสุโขทัยที่ “ตะลอนเที่ยว” ไม่พลาดไปเยือนก็คือ “อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย” ในอำเภอศรีสัชนาลัย ซึ่งในอดีตเป็นเมืองที่เกิดขึ้นก่อนที่พ่อขุนศรีอินทราทิตย์จะขึ้นครองกรุงสุโขทัย ชื่อว่าเมืองเชลียง ก่อนจะกลายเป็นเมืองศรีสัชนาลัย และเมืองสวรรคโลกในที่สุด 
  วัดเจดีย์เจ็ดแถว         สิ่งที่เป็นไฮไลต์โดดเด่นในอุทยานฯ ศรีสัชนาลัยก็คือ “วัดช้างล้อม” ที่มีโบราณสถานสำคัญคือเจดีย์ประธานทรงลังกา ซึ่งมีช้างปูนปั้นเต็มตัวประดับโดยรอบฐานทั้ง 4 ด้าน รวม 39 เชือก ส่วน “วัดเจดีย์เจ็ดแถว” ที่ตั้งอยู่ตรงกันข้าม ก็มีโบราณสถานสำคัญคือเจดีย์ประธานรูปดอกบัวตูม อีกทั้งยังมีเจดีย์ราย และอาคารขนาดเล็กแบบต่างๆ กันถึง 33 องค์ และ “วัดนางพญา” ที่อยู่ติดกันก็มีความโดดเด่นตรงลวดลายปูนปั้นด้านข้างวิหารอันงดงาม ทั้งรูปกึ่งวานรกำลังวิ่ง ลวดลายพรรณพฤกษา และรูปเทพพนม ซึ่งเป็นฝีมือชั้นครู รูปแบบศิลปะสมัยอยุธยาตอนต้น 
  บรรยากาศในตลาดปสาน (ภาพ : ททท.สุโขทัย)         
  บรรยากาศในการแสดงมินิไลต์แอนด์ซาวนด์ในอุทยานฯ (ภาพ : ททท.สุโขทัย)         “ชมฟรีมินิไลต์แอนด์ซาวนด์เดินเล่นตลาดเก่า ตลาดปสาน-ตลาดริมยม”
       
       สุโขทัยขึ้นชื่อว่าเป็นจังหวัดที่มีการจัดงานแสดงแสงสีเสียงที่อลังการมาแต่ไหนแต่ไร โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลลอยกระทง แต่ใครที่มาเที่ยวสุโขทัยในช่วงนี้ก็เป็นโอกาสดีที่จะได้ชมการแสดงแสงสีเสียงแบบย่อส่วน แต่ว่าสามารถชมกันได้ฟรี โดยเป็นการแสดงมินิไลต์แอนด์ซาวนด์ที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ณ อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยในทุกๆ วันศุกร์ที่ 2 ของเดือน ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์-กันยายน 2558 ตั้งแต่เวลา 19.00 น. เป็นต้นไป โดยจะเป็นเรื่องราว “เล่าเรื่องเมืองสุโขทัย” โดยจะจัดแสดงบริเวณวัดสระศรี ได้ชมบรรยากาศโบราณสถานยามค่ำคืนพร้อมทั้งได้ชมมินิไลต์แอนด์ซาวนด์กันแบบฟรีๆ ด้วย คุ้มสุดๆ
       
       นอกจากนั้น เพื่อให้ครบรสชาติของการชมการแสดงยามค่ำคืน ก่อนการชมการแสดงนักท่องเที่ยวสามารถเดินชม “ตลาดปสาน” โดยให้นักท่องเที่ยวใช้พดด้วงแทนเงินสด ในการซื้อสินค้าภายในตลาดย้อนยุควิถีของคนสุโขทัย และแน่นอนว่าต้องมีอาหารสารพัดมาให้เราได้ชิมกัน โดยเป็นอาหารพื้นถิ่นน่าอร่อยมากมาย ทั้ง ข้าวเปิ๊บ ข้าวพัน แกงขี้เหล็ก ขนมกง ชะมดงาดำ ปลาเห็ด และข้าวแกงโบราณกินกันให้อิ่มหนำสำราญกันไปเลย 
  พ่อค้าแม่ขายในตลาดริมยม         
  มารำวงสนุกสนานกับเหล่านางรำที่ตลาดริมยม         พูดถึงตลาดโบราณที่สุโขทัย ถ้าอยากจะได้บรรยากาศตลาดเก่าของแท้ ก็ต้องมาที่ “ตลาดริมยม” ซึ่งอยู่ในอำเภอกงไกรลาศ และจะจัดขึ้นเป็นประจำทุกวันเสาร์แรกของเดือน ตลาดริมยมแต่เดิมเป็นตลาดใหญ่คึกคัก เป็นแหล่งชุมทางของบรรดาเรือที่ล่องขึ้นลงในแม่น้ำยม และยังเป็นตลาดปลาที่ใหญ่ที่สุดในสุโขทัย หรือเรียกได้ว่าเป็นตลาดปลาแห่งแรกในประเทศไทยด้วย โดยมีการซื้อขายปลากันอยู่บริเวณบ้านเรือนไม้เก่าริมแม่น้ำยม แต่ก็เหมือนกับตลาดโบราณริมน้ำหลายๆ แห่ง เมื่อการคมนาคมทางบกทันสมัยขึ้น ส่งผลให้การคมนาคมและการค้าขายทางน้ำซบเซาลงจนต้องปิดตัวไปในที่สุด
       
       แต่ภายหลังชาวบ้านและหน่วยงานหลายๆ ฝ่ายต่างก็ได้ร่วมกันฟื้นฟูความรุ่งเรืองและบรรยากาศเก่าๆ ในอดีตของตลาดริมยมกลับคืนมา จนปัจจุบันนี้ตลาดริมยมกลายเป็นตลาดโบราณน่ารักแห่งกงไกรลาศ ที่ในช่วงเย็นย่ำราวๆ 16.00 น. ชาวบ้านทั้งวัยรุ่น วัยทำงาน และวัยคุณลุงคุณป้าต่างก็จะแต่งตัวสวยด้วยชุดไทยออกมาเปิดร้านขายของกินสารพัดแบบ โดยจะเน้นเป็นของกินพื้นถิ่น เช่น ปลาแห้ง น้ำพริกปลาร้า ปลาเห็ด(ทอดมัน) ผัดไทย ก๋วยเตี๋ยว ฯลฯ ที่ใส่มาในกระทงใบตองสวยงามน่ากิน อีกทั้งทางตลาดได้จัดให้มีเก้าอี้นั่งสำหรับกินอาหาร กินไปชมบ้านเก่าสองข้างทางไป ได้ทั้งอิ่มท้องอิ่มใจ
       
       สำหรับใครที่อาจเลือกมาเยือนกงไกรลาศไม่ตรงกับช่วงที่มีตลาด ก็ไม่ต้องเสียใจไป เพราะสามารถมาเดินชมบรรยากาศของตลาดเก่าได้ตลอดเวลา โดยบ้านไม้ริมน้ำยมก็ยังคงทำผลิตภัณฑ์จากปลา เช่น ปลาร้า น้ำปลา และปลาแห้ง ส่งขาย นอกจากนั้นก็ต้องไปชิม “ขนมผิงแง้มประตูขาย” โดยเป็นเจ้าเดียวที่ยังคงทำขนมผิงกับเตาถ่านแบบโบราณแท้ๆ รสชาติหอมหวานและขายดีจนต้อง "แง้มประตูขาย" ไม่อย่างนั้นของจะหมดเร็วมาก จริงเท็จอย่างไรต้องลองไปชิมและถามเจ้าของร้านดู 
  ชาวบ้านทุ่งหลวงกำลังปั้นหม้อจิ้มจุ่ม         “หม้อกรัน เครื่องปั้นดินเผา ของดีบ้านทุ่งหลวง สุโขทัย”
       
       ได้ชมมรดกโลกและตลาดโบราณของสุโขทัยกันไปแล้ว “ตะลอนเที่ยว” บ่ายหน้าลงใต้ไปตามทางหลวงหมายเลข 101 มุ่งหน้าไปเยือนกำแพงเพชรเป็นจุดมุ่งหมายต่อไป ระหว่างทางได้ผ่าน “บ้านทุ่งหลวง” ใน อ.คีรีมาศ จ.สุโขทัย เคยได้ยินมาว่าที่นี่เป็นแหล่งผลิตเครื่องปั้นดินเผาแหล่งใหญ่ส่งขายไปทั่วประเทศ เลยต้องขอแวะชมกันเสียหน่อย
       
       ชาวบ้านทุ่งหลวงแทบทุกครัวเรือนต่างผลิตเครื่องปั้นดินเผาสืบต่อกันมาหลายชั่วอายุคน โดยมีแหล่งดินอยู่ไม่ไกลจากหมู่บ้าน และนำดินเหล่านั้นมาปั้นขึ้นรูปกันบริเวณใต้ถุนบ้าน และเผาด้วยเตาเผาที่ทำขึ้นเอง โดยเป็นการผลิตเครื่องปั้นดินเผาแบบไม่เคลือบ และเผาด้วยอุณหภูมิที่ไม่สูงมากนัก 
  ปั้นหุ่นรูปเหมือน         
  ทำงานกันใต้ถุนบ้าน         สำหรับเครื่องปั้นดินเผาที่เป็นเอกลักษณ์ของบ้านทุ่งหลวงก็คือ “หม้อกรัน” ซึ่งเป็นหม้อน้ำในสมัยโบราณที่มีรูปแบบเฉพาะของบ้านทุ่งหลวง มีบันทึกไว้เมื่อปี 2444 ว่าหม้อกรันนี้เคยเป็นของถวายแด่สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ จึงทำให้ทราบว่าบ้านทุ่งหลวงได้ผลิตเครื่องปั้นดินเผาสืบต่อกันมานานนับร้อยปีแล้ว โดยหม้อกรันจะมีส่วนผสมของทรายมากกว่าปกติเพื่อช่วยในการคายน้ำ ดังนั้นน้ำในหม้อกรันบ้านทุ่งหลวงจึงมีความเย็นมากกว่าหม้อทั่วๆ ไป และหม้อนี้ยังใช้ในงานพิธีมงคลต่างๆ เช่น งานแต่งงาน โดยเชื่อว่าจะกันความชั่วร้ายและสิ่งไม่ดีออกไป
       
       ไม่เพียงหม้อกรันเท่านั้นที่เป็นสินค้าขายดีของบ้านทุ่งหลวง แต่ที่นี่ยังทำเครื่องปั้นดินเผาหลากหลายชนิด ตามความถนัดของแต่ละบ้าน โดยมีทั้งกาน้ำดินเผา หม้อดินจิ้มจุ่ม แจกัน ตะเกียง รวมไปถึงปั้นหุ่นรูปเหมือน ที่ชาวบ้านทุ่งหลวงทำได้เหมือนและฝีมือละเอียดมากทีเดียว 
  วัดช้างรอบ แห่งอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร         
  บรรยากาศของวัดช้างรอบ         “เยือนเมืองมรดกโลก ไหว้ 7 สิ่งศักดิ์สิทธิ์แห่งกำแพงเพชร”
       
       หลังจากผ่านบ้านทุ่งหลวงมาไม่นาน เราก็เดินทางเข้าสู่เขตจังหวัดกำแพงเพชร โดย “ตะลอนเที่ยว” ขอไปเยือน “อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร” ก่อนเป็นแห่งแรก บรรยากาศของอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชรค่อนข้างเงียบและมีผู้คนบางตากว่าที่สุโขทัย แต่เรื่องความงามของศิลปะและสถาปัตยกรรมนั้นนับว่าไม่แพ้กัน โดยสร้างขึ้นภายใต้รูปแบบศิลปะสุโขทัยผสมผสานกับอิทธิพลของศิลปะแบบอยุธยาและล้านนา จนเกิดเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของสกุลช่างเมืองกำแพงเพชร
       
       การเที่ยวชมภายในโบราณสถานนั้นสามารถขับรถหรือเช่าจักรยานปั่นชมได้เอง และหากมากันเป็นหมู่คณะก็สามารถใช้บริการรถรางได้เช่นกัน โดยโบราณสถานในอุทยานประวัติศาสตร์เมืองกำแพงเพชรแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือโบราณสถานหรือกลุ่มวัดที่อยู่ภายในเขตกำแพง โดยมีโบราณสถานสำคัญคือ วัดพระแก้ว วัดพระธาตุ เขตวังโบราณ ศาลพระอิศวร ส่วนกลุ่มวัดที่อยู่นอกกำแพงเมือง หรือที่เรียกกันว่าเขตอรัญญิก มีโบราณสถานสำคัญที่ไม่ควรพลาดชมหลายแห่ง ได้แก่ “วัดช้างรอบ” ที่รับรูปแบบองค์เจดีย์มาจากเจดีย์ช้างล้อมในศิลปะสุโขทัย แตกต่างตรงที่เป็นช้างปูนปั้นครึ่งตัว จำนวน 68 เชือก หัวและสองขาหน้าที่โผล่พ้นจากผนังประดับลวดลายปูนปั้นที่แผงคอ กำไลโคนขาและข้อเท้า 
  ศิลาแลงขนาดใหญ่ที่วัดพระนอน         
  พระยืน แห่งวัดพระสี่อิริยาบถ         “วัดพระนอน” แม้จะเหลือเพียงแท่นประดิษฐานองค์พระนอนและเสาวิหารรองรับหลังคา แต่ก็ทำให้เราเห็นถึงความสามารถของช่างยุคเก่าที่ใช้วัสดุขนาดใหญ่ในการสร้างอาคาร เพราะเสาศิลาแลงที่รองรับหลังคาแต่ละต้นนั้นเป็นเสาสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่แท่งเดียวไม่มีรอยต่อ กว้างด้านละ 1 ม. สูง 4-5 ม. อีกทั้งยังแสดงให้เห็นถึงคุณภาพศิลาแลงเมืองกำแพงเพชรที่มีชื่อเสียง และยังเป็นที่มาของวลี “ศิลาแลงใหญ่” วรรคหนึ่งในคำขวัญจังหวัดกำแพงเพชรอีกด้วย
       
       “วัดพระสี่อิริยาบถ” อีกหนึ่งวัดที่ไม่ควรพลาด วัดแห่งนี้โดดเด่นด้วยมณฑปทรงจตุรมุขขนาดใหญ่ แต่ละด้านก่อผนังให้เว้าเข้าไปเพื่อประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้น 4 อิริยาบถ ได้แก่ พระพุทธรูปลีลา พระพุทธรูปนอน พระพุทธรูปนั่ง และพระพุทธรูปยืน ซึ่งเป็นองค์เดียวที่สภาพสมบูรณ์ที่สุด 
  รถรางพาชมเมืองกำแพงเพชร         
 
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...