คราบน้ำมันยังตกค้างอ่าวพร้าวสูงกว่าหาดปกติ 15 เท่า จากเหตุน้ำมันรั่ว


เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

          น้ำมันรั่ว เกาะเสม็ด จ.ระยอง ล่าสุดยังมีคราบน้ำมันที่ผิวหน้าทรายและในผิวทรายบนชายหาดอ่าวพร้าว ปริมาณมากกว่าหาดทรายปกติ (อ่าวหวาย) ถึง 15 เท่า และถึงแม้สิ่งมีชีวิตจะอาศัยอยู่ได้ตามปกติ แต่ก็พบปริมาณลดลงอย่างเห็นได้ชัด

          สืบเนื่องจากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2556 ท่ออ่อนส่งน้ำมันดิบขนาด 16 นิ้ว ของบริษัทพีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากชายฝั่งมาบตาพุด จ.ระยอง ไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 20 กิโลเมตร เกิดการรั่วไหล ส่งผลให้น้ำมันดิบปริมาณกว่า 50,000 ลิตร เคลื่อนตัวไปยังชายหาดอ่าวพร้าวและอ่าวบ้านเพ เกาะเสม็ดนั้น

          ความคืบหน้าล่าสุด เมื่อวานนี้ (21 กุมภาพันธ์ 2557) สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (สสท.) จัดประชุมคณะกรรมการแก้ปัญหาเหตุการณ์น้ำมันรั่วใกล้ชายฝั่งมาบตาพุด โดย ดร.สมภพ รุ่งสุภา จากสถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยความคืบหน้าการเก็บตัวอย่างน้ำทะเล ตะกอนดิน และสัตว์หน้าดินขนาดใหญ่ เพื่อตรวจสอบปริมาณปิโตรเลียมไฮโดรคาร์บอน

          โดยผลการสำรวจพบว่า อุณหภูมิน้ำทะเล ความเค็ม ปริมาณออกซิเจนละลายในน้ำ ค่าความเป็นกรดด่าง ลักษณะตะกอนดิน รวมถึงปริมาณปิโตรเลียมไฮโดรคาร์บอนในน้ำทะเล ส่วนใหญ่มีค่าเฉลี่ยอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน แต่การศึกษาตะกอนดินบริเวณหาด 3 แห่ง คือ อ่าวน้อยหน่า อ่าวพร้าว และอ่าวหวาย พบว่า ชั้นดินบริเวณอ่าวพร้าวที่ขุดลงไป 0-3 เซนติเมตร มีค่าปิโตรเลียมไฮโดรคาร์บอนต่ำกว่าชั้นลึกลงไป ซึ่งอาจสัมพันธ์กับการแก้ปัญหาด้วยวิธีพลิกกลับพื้นทราย ขณะเดียวกันบริเวณผิวหน้าทรายและในผิวทรายยังพบคราบน้ำมันในปริมาณมากกว่าหาดทรายปกติ (อ่าวหวาย) ถึง 15 เท่า

          ส่วนการสำรวจการเปลี่ยนแปลงประชากรปลาทะเล ดร.ภาสิณี วรชนะนันท์ อาจารย์ประจำภาควิชาเทคโนโลยีและการจัดการสิ่งแวดล้อม คณะสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ระบุว่า บริเวณอ่าวลุงดำ อ่าววงเดือน อ่าวพร้าว แหลมเรือแตก และอ่าวลูกโยน พบปริมาณปลาผีเสื้อแปดขีดและปลาผีเสื้อปากยาว ที่เป็นตัวบ่งชี้ความสมบูรณ์ไม่มากนัก  คาดว่า อาจจะอพยพหนีไปเมื่อเจอคราบน้ำมัน เช่นเดียวกับ ปูทหาร ซึ่งเป็นปูขนาดเล็ก ที่หากินด้วยการกรองอาหารจำพวกซากพืชหรือซากสัตว์หรือแพลงก์ตอนในทรายบริเวณอ่าวพร้าว ที่มีปริมาณน้อยลงเช่นกัน


อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก

กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...