คณาจารย์-นศ.มอ.ปัตตานี แถลงไม่เห็นด้วยม็อบยึดบัตรเลือกตั้ง ชี้ไม่เคารพสิทธิการเมือง - จี้ปชป.หนุนโหวต

เวลา 17.30 น. วันที่ 30 ม.ค.  ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายเอกรินทร์ ต่วนศิริ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้ตนได้ประสานกับคณาจารย์ใน ม.อ.ปัตตานี เพื่อประชุมหารือกัน เนื่องจากในวันนี้มีกลุ่มมวลชนจำนวนหนึ่งได้ไปปิดล้อมที่ทำการไปรษณีย์หาดใหญ่ จ.สงขลา เพื่อไม่ให้นำบัตรเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ออกมาใช้ในพื้นที่ จึงทำให้มีกลุ่มมวลชนอีกจำนวนมาในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ไปชุมนุมกันที่ศูนย์จำหน่ายสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ริมทางหลวงหมายเลข 43 (หาดใหญ่-ปัตตานี) อ.หนองจิก จ.ปัตตานี เพื่อแสดงความไม่เห็นด้วยกับการยึดบัตรเลือกตั้งดังกล่าว
 
“สถานการณ์เช่นนี้มีความเป็นห่วงมากโดยในนามนักวิชาการมหาวิทยาลัย เห็นว่าการยึดบัตรเลือกตั้งดังกล่าว เป็นการไม่เคารพสิทธิเสรีภาพทางการเมือง เราจึงรวมตัวกันเพื่อเตรียมออกแถลงการณ์ต่อกรณีนี้ เนื่องจากอยากเห็นนักวิชาการออกมาแสดงจุดยืนเพื่อยืนยันว่าทุกคนมีสิทธิเสรีภาพตามกฎหมาย และไม่ต้องการให้สถานการณ์บานปลาย เพราะการชุมนุมดังกล่าวอาจทำให้สถานการณ์แย่ลง เพราะที่ผ่านเราเห็นว่าปัญหาความรุนแรงในพื้นที่และปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองในส่วนกลางได้ยืดเยื้อมานานแล้วเพราะฉะนั้นเราต้องการให้มีการเปิดพื้นที่กลางหรือพื้นที่สาธารณะเพื่อให้ทุกคนมีสิทธิได้แสดงความเห็นอย่างเสรีโดยไม่ถูกละเมิด” นายเอกรินทร์ กล่าว
 
 ต่อมา เวลา 18.30 น.คณาจารย์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) นำโดย ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี จากคณะรัฐศาสตร์ รศ.ดร.ดวงมน จิตจำนง ข้าราชการบำนาญ ร่วมอ่านแถลงการณ์คณาจารย์ นักศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์และประชาชนผู้สนับสนุนประชาธิปไตย ณ บ้านพักรับรอง ม.อ.ปัตตานี แถลงการณ์มีทั้งหมด 5 ข้อ และมีรายชื่อผู้ร่วมออกแถลงการณ์ทั้งหมด 41 คน ระบุเนื้อหาดังนี้
 
แถลงการณ์คณาจารย์ นักศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และประชาชนผู้สนับสนุนประชาธิปไตย 
 
1. ขอประกาศเจตนารมณ์สนับสนุนการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557 ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ 
1) การเลือกตั้งเป็นสิทธิของพลเมืองที่ได้รับการปกป้องตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
2) การเลือกตั้งเป็นขั้นตอนพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตยที่ขาดเสียมิได้
3) การเลือกตั้งจะนำไปสู่พื้นที่ที่เปิดโอกาสให้ผู้ที่คิดต่างเข้ามาร่วมต่อรองอย่างเปิดเผยและเสมอภาค โดยเฉพาะประเด็นเรื่องการปฏิรูป ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
4) ระบอบรัฐสภาเป็นกระบวนการคลี่คลายความรุนแรงและลดความขัดแย้ง
5) นานาอารยประเทศล้วนแต่สนับสนุนการเลือกตั้งและจับตามองสถานการณ์ในประเทศไทยด้วยความวิตกกังวลและห่วงใย
2. ขอเรียกร้องต่อพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะที่เคยแสดงเจตนารมณ์เชื่อมั่นในระบอบรัฐสภาให้สนับสนุนการเลือกตั้งอย่างจริงใจ
3. ขอเรียกร้องต่อ กกต. ให้ดำเนินการจัดการเลือกตั้งอย่างเต็มศักยภาพ โดยคำนึงถึงเจตจำนงของประชาชน
4. ขอเรียกร้องต่อ กปปส. ในฐานะที่ กปปส. อ้างความชอบธรรมในการคัดค้านการเลือกตั้ง ขอให้ทบทวนการแสดงออกที่เป็นการขัดขวางและละเมิดสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ตลอดจนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของประชาชน
5. ขอให้รัฐบาลไม่ใช้ความรุนแรงในการปฏิบัติต่อประชาชนทุกฝ่ายอย่างเสมอภาคเท่าเทียมกันตามหลักนิติธรรม และยืนหยัดปกป้องประชาชนผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง
 
ด้วยเชื่อมั่นในประชาธิปไตยและสันติภาพ
30 มกราคม 2557
 
รายนาม
1. ดวงมน จิตจำนงค์
2. อาหวัง ล่านุ้ย 
3. วรวิทย์ บารู
4. ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี
5. วันเนาว์ ยูเด็น 
6. มะเนาะ ยูเด็น 
7. สามารถ ทองเฝือ
8. เอกรินทร์ ต่วนศิริ
9. ฮารา ชินทาโร
10. สมัชชา นิลปัทม์
11. สนั่น เพ็งเหมือน
12. สมเกียรติ สุขนันตพงศ์
13. แววตา สุขนันตพงศ์
14. นพพร เหรียญทอง
15. ณภัค เสรีรักษ์
16. กุสุมา กูใหญ่ 
17. บัณฑิต ไกรวิจิตร
18. ปิยะวรรณ ปิยะกาญจน์
19. ฮาดีย์ หะมิดง
20. พุทธพล มงคลวรวรรณ
21. อันธิฌา แสงชัย
22. ซากีย์ พิทักษ์คุมพล
23. ชยุตพงศ์ โสภีวรรณ์
24. ฮาริส รุ่งเรือง
25. ทวีศักดิ์ ปิ
26. สะรอนี ดือเระ
27. นรพนธ์ คชสิทธิ์
28. สุทธิชัย งามชื่นสุวรรณ
29. แวรอมลี แวบูละ
30. หนึ่งกมล พิพิธพันธ์
31. อภิชญา โออินทร์
32. วันพิชิต ศรีสุข
33. ภักดิ์กมล ศิริวัฒน์
34. แวยูโซ๊ะ แวหะยี 
35. บดินทร์ แวลาเตะ 
36. ดาราณี ทองศิริ 
37. ปิง วิชัยดิษฐ
38. อับดุลการิม อัสมาแอ
39. อับดุลนาเซร์ หะแย
40. ฮาซัน หะยีมะเย็ง
41. ศราวุธ เจ๊ะโซะ
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...