ซีเอ็นเอ็นวิเคราะห์ มอง′รบ.ยิ่งลักษณ์′ใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินอย่าง′แตกต่าง′

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ซีเอ็นเอ็นได้วิเคราะห์และจับตาการใช้มาตรการ พ.ร.ก.ฉุกเฉินของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ของไทย โดยระบุว่า แม้มาตรการดังกล่าวจะถูกเคยใช้มาแล้วในอดีต แต่รัฐบาลดังกล่าวได้ใช้มาตรการนี้ในลักษณะที่แตกต่างกัน


ซีเอ็นเอ็นอ้างนักวิเคราะห์ว่า มาตการดังกล่าวไม่ต่างจากที่กรณีที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำ กปปส.ซึ่งเคยเป็นอดีตรองนายกฯเคยนำมาใช้กับกลุ่มม็อบเสื้อแดง เมื่อปี 2010 ซึ่งนำไปสู่ความรุนแรง หลังการประท้วงในกรุงเทพฯที่ดำเนินมาหลายเดือน แต่ครั้งนี้ รัฐบาลยิ่งลักษณ์ใช้ พ.ร.ก.นี้โดยไม่มีแผนจะปราบปรามผู้ประท้วงที่ปฏิบัติการชัตดาวน์กรุงเทพมาแล้วหลายสัปดาห์


รายงานระบุว่า จากการอ้างของร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รัฐมนตรีกระทรวงแรงงาน ระบุว่า รัฐบาลจะไม่ใช้อาวุธและจะไม่พยายามสลายผู้ชุมนุมในตอนกลางคืน ขณะที่กลุ่มพิทักษ์สิทธิมนุษยชนวิตกว่า การใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินนี้อาจกระตุ้นให้กลุ่มผู้ชุมนุม กปปส.ที่มุ่งจะขัดขวางการเลือกตั้งในวันที่ 2 ก.พ.และต้องการต้้งสภาประชาชน เพิ่มแรงกดดันต่อรัฐบาลมากขึ้นไปอีก โดยบางรายบอกว่า การใช้กฎหมายนี้จะทำให้นายกฯยิ่งลักษณ์มีอำนาจอย่างไม่จำกัด ซึ่งแม้ว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์จะบอกว่า จะไม่ใช้อำนาจดังกล่าวในขณะนี้ แต่ทุกสิ่งทุกอย่างจะขึ้นกับสถานการณ์ข้างหน้า โดยหาก น.ส.ยิ่งลักษณ์รู้สึกว่ากลุ่ม กปปส.กำลังยั่วยุให้เกิดความรุนแรงเพื่อหยุดยั้งการเลือกตั้ง เธอก็อาจพร้อมใช้ พ.ร.ก.นี้ด้วยอำนาจเด็ดขาดได้

 

 


นักวิเคราะห์ระบุด้วยว่า การใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินนี้อาจถูกมองได้สองแง่ ด้านหนึ่ง คือจะถูกกลุ่ม กปปส.มองว่าเป็นเครื่องกระตุ้นยั่วยุกลุ่ม อีกด้านคือ รัฐบาลยิ่งลักษณ์ก็มีหน้าที่จะต้องรับผิดชอบที่จะรักษากฎและหลักการแห่งความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองไว้ และตราบใดที่ พ.ร.ก.นี้ยังไม่ถูกใช้อย่างรุนแรง คนไทยก็จะไม่แสดงปฏิกิริยาไม่พอใจ เพราะทุกอย่างขึ้นกับสถานการณ์ข้างหน้ามากกว่า


ซีเอ็นเอ็นระบุว่า ในขณะที่ไทยอ้างว่าเศรษฐกิจประเทศยังคงเปิดกว้างสำหรับการธุรกิจและการลงทุนท่ามกลางกระแสม็อบประท้วง และ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่กระทรวงต่างประเทศสหรัฐ ก็ได้ออกคำเตือนต่อนักท่องเที่ยวในช่วงสัปดาห์นี้ ระบุเตือนให้พลเมืองชาวอเมริกัน ระมัดระวังกิจกรรมชุมนุมยืดเยื้อและความเคลื่อนไหวที่ไม่คาดฝันก่อนการเลือกตั้ง ขณะที่กระทรวงการท่องเที่ยวฯไทยบอกว่า ขณะนี้ มี 34 ประเทศได้ออกคำเตือนต่อนักท่องเที่ยวของแต่ละประเทศแล้ว รวมทั้ง จีน ฝรั่งเศส ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น


นอกจากนี้ ซีเอ็นเอ็นระบุว่า ขณะนี้การประท้วงได้เริ่มส่งผลกระทบต่อนักลงทุนรายใหญ่ในเมืองไทยแล้ว โดยล่าสุด โตโยต้าแถลงว่า อาจพิจารณาระงับแผนลงทุนในไทยมูลค่า 20,000 ล้านบาท รวมทั้งการตัดลดหน่วยภาคผลิตในเมืองไทยด้วย หากสถานการณ์การชุมนุมประท้วงยังคงยืดเยื้อ โดยที่ผ่านมา ไทยถือเป็นตลาดผลิตรถยนต์ใหญ่ของอาเซียน และเป็นแหล่งการผลิตและการส่งออกของบริษัทรถยนต์รายใหญ่ของโลก รวมทั้งฮอนด้า และฟอร์ดด้วย

 

กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...