"วัฒน์ชัย" ไม่หวั่น ชัตดาวน์ กทม. ชี้ มีแผนรับความเสี่ยงตลอดเวลา ตั้งเป้ารายได้ปีนี้ 3 หมื่นล้านบาท ฟันกำไรกว่า 2 พันล้านบาท ชู กลุ่มธุรกิจขายมือถือ-กล่องรับสัญญาณทีวีดิจิทัล เป็นพระเอก เล็งทำมือถือดูทีวีดิจิทัลออกขายปลายปีนี้
นายวัฒน์ชัย วิไลลักษณ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สามารถคอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน) เล่าว่า ด้วยเทรนด์การใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่ โดยเฉพาะสมาร์ทโฟน ที่มีเพิ่มขึ้น และ 3จี 4 จี มีการเปลี่ยนแปลง จากการแข่งขันของค่ายมือถือทั้ง 3 ราย ที่มีการขยายโครงข่ายและแข่งขันที่รุนแรง จะเห็นได้ว่าการแข่งขันมีอยู่ตลอดเวลา
จะเห็นได้จาก สมัยก่อน ค่ายมือถือไม่ขายโทรศัพท์แต่ปัจจุบัน ต่างให้ความสำคัญโดยการขายเครื่องโทรศัพท์มือถือร่วมกับโปรโมชั่น ต่างจากโทรศัพท์ค่ายใหญ่ อย่าง โนเกีย และ แบล็คเบอร์รี่ ที่ไม่มีการปรับตัวกับเทคโนโลยีข้างหน้า ทำให้กลายเป็นบริษัทที่ติดหล่มจนในที่สุด
นายวัฒน์ชัย เล่าว่า กลุ่มสามารถได้ตั้งเป้ารายได้ปี 57 ไว้กว่า 3 หมื่นล้านบาท หรือโต 30% จากปี 56 ที่มีรายได้ราว 23,000 ล้านบาท ส่วนกำไรปี 57 คาดจะมีกำไรมากกว่า 2 พันล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 100% จากปีที่ผ่านมา ที่มีกำไรอยู่ที่ 1 พันล้านบาท
ส่วนการลงทุนปีนี้ จะลงทุนเพิ่มเติม 2-3 พันล้าน จะลงทุนหลักๆ บริษัทในเครือ ประกอบด้วย บริษัท สามารถ เทคคอม จำกัด(มหาชน) หรือ แซมเทล ที่อยู่ในกลุ่มสามารถ ซึ่งจะดำเนินงานด้านระบบโครงข่าย และ บริษัท สามารถ ไอ-โมบาย จำกัด(มหาชน) ที่จะมีการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อรองรับการใช้งานของลูกค้าอยู่เสมอ
สำหรับ ปัจจัยหลักในการสร้างรายได้ให้กลุ่มสามารถในปีนี้ มาจากการขายโทรศัพท์เคลื่อนที่ของ ไอ-โมบาย ที่ตั้งเป้ารวม 4 ล้านเครื่อง แบ่งเป็นสมาร์ทโฟน 70% ที่สร้างรายได้ ราว 13,000 ล้านบาท ปลายปีนี้ ไอ-โมบาย จะออกสมาร์ทโฟนรุ่นแรกที่รับชมทีวีดิจิทัลบนโทรศัพท์มือถือโดยไม่ต้องเชื่อมต่อระบบอินเทอร์เน็ตด้วย
สำหรับธุรกิจที่คาดว่าจะช่วยหนุนรายได้ให้เติบโตตามเป้าอีกกลุ่มคือ การจำหน่ายกล่องรับสัญญาณทีวีดิจิทัล และเสาอากาศทั้งในและนอกตัวอาคาร ที่ตั้งเป้าในปีนี้ จะจำหน่ายได้ประมาณ 2 ล้านเครื่อง มีรายได้ที่ราว 2 พันล้านบาท
อย่างไรก็ตาม จากกรณีที่ บริษัท ไอ-สปอร์ต มีเดีย จำกัด ซึ่ง กลุ่มสามารถ ร่วมกับ กลุ่มบริษัท สยามสปอร์ต ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) ไม่สามารถประมูลคลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิทัลประเภทบริการทางธุรกิจระดับชาติ หรือการประมูลทีวีดิจิทัลของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ (กสท.) เมื่อวันที่ 26-27 ธ.ค.56 ในกลุ่มช่องรายการข่าวไม่สำเร็จนั้น
ส่งผลให้ สามารถต้องผันตัวเองไปเป็นผู้ทำหน้าที่รับจ้างผลิตแทน โดยขณะนี้อยู่ในระหว่างการเจรจากับผู้ประกอบการทั้งที่ชนะการประมูลช่องรายการบนทีวีดิจิทัล และบนทีวีดาวเทียม เบื้องต้น เจรจาแล้วประมาณ 3-4 ราย
และธุรกิจกลุ่มที่ 3 คือการที่แซมเทล ที่สร้างรายได้จากการเข้าประมูลโครงการต่างๆ ซึ่งถือเป็นโครงการใหญ่ๆ ทั้งสิ้น ประกอบด้วย การวางระบบเช็คข้อมูลผู้โดยล่วงหน้า ให้แก่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) และการวางระบบติดตั้งอุปกรณ์การออกอากาศโทรทัศน์ให้แก่ผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาติให้เป็นผู้ให้บริการโครงข่ายทีวีดิจิทัล
ทั้งนี้ แซมเทล จะยื่นซองประมูลแก่ สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส เป็นรายแรก ภายในสัปดาห์นี้ ซึ่งความสนใจสนใจทั้ง 4 สถานี แต่หากได้สถานีใดสถานีหนึ่ง ถือว่ามีความพอใจในระดับหนุ่งแล้ว ทั้งนี้ คาดว่า ธุรกิจของแซมเทล จะทำรายได้ให้กลุ่มสามารถประมาณ11,000 ล้านบาท
นายวัฒน์ชัย เล่าถึงสถานการณ์และปัญหาทางการเมืองของประเทศไทยว่าแนวโน้มอาจจะยืดเยื้อในปีนี้ จะไม่ส่งผลกระทบต่อบริษัท เนื่องจากกลุ่มสามารถได้จัดทำแผนบริหารความเสี่ยงเป็นอย่างดี เพราะจากเดิมบริษัทมีรายได้จากกลุ่มธุรกิจภาครัฐถึง 70% แต่ปัจจุบัน ได้มีการปรับเปลี่ยนไปทำกับภาครัฐวิสาหากิจมากขึ้น จนส่งผลให้ปัจจุบันบริษัท มีสัดส่วนรายได้ เป็นเอกชน 50% และภาครัฐ 50%
หากดำเนินธุรกิจไม่ยึดติดกับ
พรรคการเมือง ถึงแม้ว่าการราบรื่นของงานบางครั้งจะไม่สะดวกเหมือนใคร แต่สิ่งไหนที่ได้มาง่ายๆ มักจะมีปัญหาตามมาเสมอ.
กัญณัฏฐ์ บุตรดี
Kanyanat25@gmail.com