อเล็กซานเดอร์ มหาราชมาซีโดเนีย

เช้าวันหนึ่งของเดือน สิงหาคม ปีที่ 338 ก่อนคริสตกาล ณ.ทุ่งราบบีโอเชีย เชิงเขาปาร์นาสซัส ทางตะวันตกเฉียงเหนือของเอเธนส์ นักรบกรีกในชุดเกราะบรอนส์นับหมื่นคนจากหัวเมืองต่าง ๆ ตั้งกองทัพเรียงรายตลอดท้องทุ่ง

 เวลาเดียวกันที่อีก ฟากหนึ่ง กองทัพมาซีโดเนียนแห่งดินแดนกันดารทางเหนือเคลื่อนพลเข้ามาอย่างช้า ๆ พร้อมด้วยอาวุธที่น่าสะพรึงกลัว นั่นคือแหลนยาว 5 เมตรในมือของทหารแต่ละคน แม่ทัพชาวเอเธนส์ชักดาบออกจากฝักเป็นสัญญาณเข้าโจมตี

ฉับพลันทหารกรีกนับ หมื่นก็ดาหน้าเข้าหาข้าศึก ฝ่ายตรงข้ามหยุดขบวนและจัดแถว พวกเขาพร้อมที่จะพิสูจน์ความน่ากลัวของอาวุธและยุทธวิธีใหม่ของพวกเขาแล้ว

แหลนในมือถูกวางตรงไป ด้านหน้าจากนั้นก็เคลื่อนทัพเข้าหาข้าศึกทันที ในที่สุดการประจัญบานก็เริ่มขึ้น ทหารกรีกถูกโจมตีจนเสียรูปขบวน และถูกแหลนของข้าศึกสังหารลงนับพันและในเวลานั้นเองทหารม้ารักษาพระองค์มาซี โดเนียน ภายใต้การบังคับบัญชาของเจ้าชายอเล็กซานเดอร์วัย 18 พรรษา ก็แยกกำลังบุกเข้าโจมตีปีกซ้ายขวาของทัพกรีกอย่างดุเดือด อเล็กซานเดอร์ในชุดเกราะสวมหมวกเหล็กติดขนนกสีขาวตีฝ่าเข้ากลางทัพข้าศึกและ ได้แยกทัพศัตรูออกเป็นสองส่วน ก่อนจะตีโอบเข้าล้อมสังหาร การรบดำเนินจนถึงตอนเย็นและจบลงด้วยความพ่ายแพ้ของทัพพันธมิตรกรีก ซากศพนักรบกรีกนับหมื่นกองทับถมกันทั่วท้องทุ่งแห่งนั้น เป็นดุจเครื่องหมายประกาศว่า บัดนี้ดินแดนกรีกทั้งหมดตกเป็นของมาซีโดเนียแล้ว

สงครามที่บีโอเชีย คือ สมรภูมิใหญ่ครั้งแรกของเจ้าชายอเล็กซานเดอร์ แม้ว่าความเก่งกล้าของพระองค์จะเป็นที่ประจักษ์ในการรบครั้งนี้ แต่ก็ไม่มีใครที่จะรู้ได้ว่าจากนี้ไปอีกไม่นานพระองค์จะได้กลายเป็นผู้สร้าง จักรวรรดิอันยิ่งใหญ่เท่าที่โลกเคยรู้จักมา และเปลี่ยนโฉมหน้าประวัติศาสตร์โลกโบราณ

(พระเจ้าฟิลิป)

พระเจ้าอเล็กซานเดอร์ ที่สามทรงเป็นพระราชโอรสของพระเจ้าฟิลิปแห่งมาซิโดเนียกับพระนางโอลิมเปีย สเจ้าหญิงแห่งอิพิรุส  พระองค์ประสูติที่กรุงเบลลา เมืองหลวงของมาซิโดเนีย ในวันที่ 20 กรกฎาคม ปีที่ 356 ก่อนคริสตกาล พระองค์ทรงมีพระอนุชาต่างมารดาหนึ่งพระองค์คือเจ้าชายฟิลิปโดย ในครั้งนั้นมาซิโดเนียเป็นเพียงแคว้นเล็ก ๆ ทางตอนเหนือที่ถูกชาวกรีกมองว่าล้าหลังและป่าเถื่อน

(พระนางโอลิมเปียส)

เมื่อครั้งทรงพระ เยาว์ พระเจ้าฟิลิปได้เชิญนักปราชญ์นาม อริสโตเติล (Aristotle) ผู้เป็นศิษย์ของปรัชญาเมธีเพลโต มาเป็นพระอาจารย์ให้พระโอรส  เจ้าชายอเล็กซานเดอร์ทรงเป็นเด็กฉลาด ใฝ่รู้  จากหลักฐานที่ค้นพบ บอกให้ทราบว่าพระองค์ทรงมีพระวรกายค่อนข้างเตี้ย คืออาจสูงราว 150 เซนติเมตรเท่านั้น พระวรกายค่อนข้างเล็กแต่ล่ำสัน พระพักตร์เกลี้ยงเกลา ดูอ่อนวัยและสง่างาม พระเจ้าอเล็กซานเดอร์ทรงใช้ชีวิตคลุกคลีกับเหล่าทหารตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ พระองค์ทรงสปฎิบัติพระองค์เยี่ยงทหารสามัญโดยไม่ถือพระองค์ว่าเป็นราชโอรส ทำให้ไพร่พลทั้งรักและเคารพพระองค์  ถึงแม้ว่าท่าทางของพระองค์จะดูอ่อนโยนแต่พระองค์ก็ทรงมีทิฐิมานะสูงมาก พระองค์ชอบการเอาชนะมาตั้งแต่ยังเด็ก ครั้งหนึ่งเมื่อทรงเป็นวัยรุ่น พระองค์ได้ปราบพยศม้าดุร้ายที่ไม่มีใครเอาชนะได้สำเร็จ และใช้เป็นอาชาคู่พระทัย ชื่อว่า บูเซฟาลัส เมื่อพระเจ้าฟิลิปทราบเรื่อง ได้ตรัสว่า “ลูกข้า ดินแดนมาซิโดเนียนี้คงไม่กว้างใหญ่พอสำหรับเจ้าเสียแล้ว”

แม้พระเจ้าอเล็กซาน เดอร์ทรงรับถ่ายทอดความสามารถด้านการศึกและการปกครองมาจากพระราชบิดาอย่าง เต็มที่ แต่พระองค์ค่อนข้างใกล้ชิดกับพระมารดามากและรับเอานิสัยบางอย่างมาจากพระ มารดา พระนางโอลิมเปียสทรงเป็นหญิงที่มีความฉลาด ทระนง และทะเยอทะยาน นอกจากนี้พระนางยังมีความริษยาและพระทัยที่เหี้ยมโหดอีกด้วย พระนางไม่พอใจมากที่พระสวามีมีพระชายาเป็นจำนวนมาก มีบันทึกเล่าว่า หลังจากที่พระเจ้าฟิลิปสวรรคตแล้ว พระนางได้สั่งให้นำตัวพระชายาที่อายุน้อยที่สุดและเป็นคนโปรดของพระสวามีไป เผาทั้งเป็นเสีย

ในเวลานั้น พระเจ้าฟิลิปได้รวบรวมดินแดนทางตอนเหนือของกรีกและชนเผ่าต่าง ๆ เข้าด้วยกัน จากนั้นพระองค์ได้เคลื่อนทัพลงสู่ทางใต้ เพื่อพิชิตหัวเมืองต่างๆของกรีก ในเวลานั้นเจ้าชายอเล็กซานเดอร์ซึ่งเจริญพระชันษาแล้ว ทรงมีความปรารถนาจะเป็นผู้พิชิตในการศึกบ้าง โดยพระองค์เคยตรัสกับ เฮฟาอีสเทียน พระสหายสนิท  เมื่อทราบว่าพระบิดายึดนครข้าศึกได้อีกแห่งหนึ่งว่า “พระบิดาไม่ยอมเปิดโอกาสให้ข้าได้เป็นผู้พิชิตบ้างเลย” จวบจนกระทั่งสงครามครั้งสุดท้ายในปีที่ 338 ก่อนคริสตกาล ระหว่างเหล่าพันธมิตรกรีก กับกองทัพมาซิโดเนียที่ทุ่งบีโอเชีย เจ้าชายอเล็กซานเดอร์จึงได้มีโอกาสแสดงพระปรีชาสามารถในการศึกของพระองค์

ในปีที่ 336 ก่อนคริสตกาล พระเจ้าฟิลิปถูกลอบปลงพระชนม์โดยชายชื่อ เปาซาเนียส อดีตราชองครักษ์ของพระองค์และอาจเป็นคู่รักเก่าของพระองค์ด้วย (ในสมัยกรีกโบราณการมีรสนิยมแบบไบเซ็กช่วลถือเป็นเรื่องปกติ) ด้วยเหตุผลที่ไม่แน่ชัด แต่นักประวัติศาสตร์บางคนก็เชื่อว่าพระนางโอลิมเปียสเองเป็นผู้บงการเนื่อง จากทรงโกรธพระสวามีที่มีพระชายาหลายองค์และต้องการให้พระโอรสของพระนางขึ้น ครองราชย์โดยเร็ว

หลังจากขึ้นครองราชย์ แล้ว พระเจ้าอเล็กซานเดอร์ทรงปราบปรามหัวเมืองกรีกที่แข็งข้อจนราบคาบ จากนั้นพระองค์จึงวางแผนเตรียมทำศึกกับจักรวรรดิที่ยิ่งใหญ่ที่สุดขณะนั้น นั่นคือ จักรวรรดิเปอร์เซีย โดยในตอนนั้น จักรวรรดิเปอร์เซียครอบครองดินแดนเกือบทั้งหมดของเอเซียตะวันตกเฉียงใต้และ แอฟริกาเหนือ ในปีที่ 334 ก่อนคริสตกาล กษัตริย์หนุ่มอเล็กซานเดอร์ ทรงนำกองทัพมาซิโดเนียซึ่งประกอบด้วยทหารราบ 43,000 นาย และทหารม้าอีก 6,000 นาย เคลื่อนทัพข้ามช่องแคบเฮเลสปอนด์เข้าสู่พรมแดนจักรวรรดิเปอร์เซีย จากนั้นพระองค์ได้แวะที่ซากกรุงทรอย โดยพระองค์และเฮฟาอีสเทียน พระสหายที่ทรงสนิทและรักมากที่สุด ได้เข้าไปเคารพหลุมศพที่เชื่อว่าเป็นของ อาคิลลิส วีรบุรุษแห่งสงครามทรอย

ในเดือนพฤษภาคม ปีเดียวกันนั้น ฝ่ายเปอร์เซียได้ส่งกองทหารม้าจำนวน 16,000 นาย และทหารราบอีก 18,000 นาย มาตั้งรับที่ริมฝั่งแม่น้ำกรานิคัส ซึ่งเวลานั้นเป็นช่วงหน้าแล้งน้ำแห้ง อเล็กซานเดอร์สั่งให้ทหารบุกลงไปในแม่น้ำและไต่ขึ้นฝั่งตรงข้ามที่สูงชัน ขณะที่พวกเปอร์เซีย รออยู่ข้างบน แม้จะอยู่ในที่ตั้งที่เสียเปรียบ แต่แหลนยาว 5 เมตรของทหารมาซิโดเนียก็ช่วยป้องกันการโจมตีของข้าศึกได้  เมื่อขึ้นฝั่งแล้ว อเล็กซานเดอร์ก็ทรงม้าศึกบูเซฟาลัส นำหน้าทหารเข้าโจมตีทัพเปอร์เซีย จนแตกพ่ายไป

สำหรับกลยุทธในการใช้ กองทัพแหลนนั้น พระเจ้าฟิลิบได้ทรงคิดค้นขึ้น และเรียกกองทหารแบบนี้ว่า ฟาลังค์ (Phalanx) โดยทหารแต่ละคนจะมีแหลนไม้ยาว 5 เมตร เป็นอาวุธ ทั้งนี้แหลนดังกล่าวจะช่วยป้องกันข้าศึกเข้าถึงตัว และสามารถใช้ทำลายแนวข้าศึกได้เป็นอย่างดี  พระเจ้าอเล็กซานเดอร์ได้นำการใช้แหลนนี้มาประยุกต์ เข้ากับกองทหารม้าและพัฒนาเป็นทหารม้าหอกยาวซึ่งมีประสิทธิภาพในการโจมตีมาก ขึ้น

นอกจากนี้ ในการรบ พระเจ้าอเล็กซานเดอร์ จะออกนำหน้าไพร่พลในการรบทุกครั้ง หลังการศึกพระองค์จะเสด็จเยี่ยมทหารที่บาดเจ็บทุกคนอย่างใกล้ชิดและตรัสกับ พวกเขาเป็นรายตัว พระกรุณาของพระองค์ทำให้เหล่าทหารจงรักภักดีต่อพระองค์มาก

หลังจากชัยชนะที่กรา นิคัสพระองค์ได้บุกลึกเลียบชายฝั่งของจักรวรรดิทำสงครามย่อยกับกองทหารเปอร์ เซียที่ตั้งมั่นตามบริเวณนั้น และปลดปล่อยบรรดานครกรีกที่ถูกพวกเปอร์เซียยึดครองไว้ทั้งหมด โดยนครเหล่านั้นต้องยอมขึ้นแก่พระองค์ หลังจากนั้น พระองค์ได้ละทิ้งชายฝั่งและมุ่งหน้าเข้าไปในแผ่นดิน

เมื่อพระเจ้าดาริอุ สที่ 3 แห่งเปอร์เซีย ทราบเรื่อง จึงทรงระดมไพร่พล 80,000 นาย เพื่อทำศึกกับกองทัพมาซิโดเนีย ในฤดูใบไม้ร่วงของปีที่ 333 ก่อนคริสตกาล ทัพทั้งสองพบกันที่ อิสซัส (ปัจจุบันอยู่บริเวณพรมแดนตุรกีกับซีเรีย) โดยฝ่ายอเล็กซานเดอร์มีทหารไม่ถึง 50,000 คน เท่านั้น และเมื่อการรบเริ่มขึ้น กองทหารฟาลังค์ของมาซิโดเนียสามารถตรึงทัพเปอร์เซียเอาไว้ได้

อเล็กซานเดอร์ทรงนำ กองทหารม้าพุ่งเข้าโจมตีกองรถศึกที่ดาริอุสประทับอยู่ เมื่อเห็นข้าศึกตรงเข้ามา พระองค์จึงรีบเสด็จหนีทันที และในที่สุดทัพเปอร์เซียก็พ่ายแพ้ยับเยินอีกครั้ง ชัยชนะครั้งนี้ทำให้ชาวเปอร์เซียรู้แล้วว่า กษัตริย์หนุ่มวัย 23 พรรษาแห่งมาซิโดเนียผู้นี้ ได้กลายเป็นภัยคุกคามจักรวรรดิอย่างแท้จริง

หลังจากนั้นพระเจ้า อเล็กซานเดอร์ได้นำกองทัพลงใต้มุ่งสู่ชายฝั่งเมดิเตอร์เรเนียน บรรดานครพันธมิตรของเปอร์เซียต่างยอมจำนนแต่โดยดี เว้นแต่นครไทร์ ซึ่งเป็นฐานทัพเรือสำคัญของเปอร์เซีย พระองค์ได้สั่งกองทัพเข้าโจมตีนครไทร์ซึ่งเป็นเกาะที่ตั้งห่างจากชายฝั่งถึง 1 กิโลเมตร  พระเจ้าอเล็กซานเดอร์ได้มีพระบัญชาให้ไพร่พลถมดินทำเป็นถนนจนไปถึงเกาะซึ่ง ใช้เวลานานถึง 7 เดือน ในที่สุดทัพมาซิโดเนีย ก็เข้าเมืองได้ มีทหารข้าศึกถูกสังหารมากกว่า 7,000 คน ชายหนุ่ม 2,000 คน ถูกประหารโดยการตรึงกางเขน และอีก 30,000 คน ถูกขายเป็นทาส

Alexandria ในปัจุบัน

จนถึงปีที่ 331 ก่อนคริสตกาล กองทัพของพระองค์มาถึงอียิปต์และทำลายกองทัพเปอร์เซียที่นั่นจนย่อยยับ ชาวอียิปต์ซึ่งต่อต้านพวกเปอร์เซียยินดีกับการมาของพระองค์ พวกเขายกย่องให้พระองค์เป็นฟาโรห์ของอียิปต์ และอเล็กซานเดอร์ได้เข้าไปนมัสการวิหารของ สุริยเทพรา อีกด้วย กล่าวกันว่าพระองค์ทรงเชื่ออย่างแท้จริงว่า พระองค์สืบสายเลือดมาจากเทพเจ้ารา ก่อนออกจากอียิปต์  อเล็กซานเดอร์ได้สร้างเมืองท่าชื่ออเล็กซานเดรียทิ้งไว้ ปัจจุบันอเล็กซานเดรีย ยังคงเป็นเมืองท่าสำคัญบนฝั่งอาฟริกาเหนือ

ในเวลานั้นเอง ทางเปอร์เซียยื่นข้อเสนอขอสงบศึก โดยดาริอุสได้ส่งพระราชธิดามาถวาย แต่อเล็กซานเดอร์ทรงปฏิเสธ พระเจ้าดาริอุสจึงต้องทำสงครามอีกครั้ง โดยในครั้งนี้ พระองค์ได้ระดมทหารม้าถึง 50,000 นาย และทหารราบอีกมากกว่า 250,000 นาย พร้อมทั้งรถศึกนับพัน โดยพระองค์ได้ตั้งทัพรอที่ กัวกาเมลา (ปัจจุบันอยู่ในอิรัก) ขณะที่อเล็กซานเดอร์พร้อมกับทหารราบราว 50,000 นายและทหารม้าอีก 8,000 นาย กำลังจะไปถึง

กองทัพทั้งสองฝ่ายพบ กันในวันที่ 1ตุลาคม ของ ปีที่ 331 ก่อนคริสตกาล เมื่อเห็นกองทัพมหาศาลของข้าศึก พระเจ้าอเล็กซานเดอร์ทรงตกตะลึงไปชั่วขณะ ก่อจะสั่งให้รั้งทัพรอเข้าโจมตีในวันรุ่งขึ้น พระองค์ได้วางแผนการศึกกับเหล่าแม่ทัพและเข้าบรรทมทั้ง ๆ ที่ยังไม่ได้ข้อสรุป  เหล่าแม่ทัพแทบจะไม่มีใครหลับตาลงแม้แต่คนเดียว

ขณะเดียวกัน ทางฝ่ายเปอร์เซีย เมื่อทราบว่ากองทัพข้าศึกมาถึงแล้ว พระเจ้าดาริอุสและกองทัพของพระองค์ได้ เฝ้าระวังเตรียมรับการโจมตีตลอดทั้งคืน พระเจ้าดาริอุส ไม่กล้าเสี่ยงเข้าโจมตี แม้ว่าจะมีกำลังมากกว่า เพราะเกรงว่าอาจถูกกลลวงได้

จวบจนตอนสายของวัน รุ่งขึ้น อเล็กซานเดอร์ก็ทรงตื่นบรรทม และพบว่าแม่ทัพทุกคนมาเฝ้ารอรับเสด็จแต่เช้าแล้ว หลังจากแจกแจงแผนการศึก กองทัพมาซิโดเนียก็เคลื่อนพลทันที  ขณะที่ทหารเปอร์เซีย 300,000 คน เริ่มอ่อนล้าจากการระวังตัวมาทั้งคืน อเล็กซานเดอร์ทรงตัดสินใจเข้าโจมตีกลางทัพของเปอร์เซียซึ่งพระเจ้าดาริอุ สประทับอยู่ เมื่อเห็นข้าศึกรุกเข้ามา ดาริอุสจึงเคลื่อนย้ายรถศึกไปทางปีกซ้าย  ทัพมาซิโดเนียได้เคลื่อนกำลังเข้ามาตัดปีกซ้ายของทัพเปอร์เซีย ขาดจากกองทัพส่วนใหญ่ และก่อนที่กองหนุนจะมาถึง

กองทหารม้ามาซิโดเนีย ที่นำโดยอเล็กซานเดอร์ก็เข้าถึงกองรถศึกของดาริอุส และเมื่อเป็นเช่นนี้ พระเจ้าดาริอุสจึงตัดสินพระทัยเสด็จหนีอีกครั้ง เมื่อเจ้าอยู่หัวของตนหนีไป เหล่าแม่ทัพเปอร์เซียก็เสียขวัญและแตกทัพกระจัดกระจายไปในที่สุด โดยมีทหารเปอร์เซียจำนวนมหาศาล เสียชีวิตในการรบครั้งนี้

ชัยชนะครั้งยิ่งใหญ่ ที่กัวกาเมลา ทำให้ฝ่ายเปอร์เซียไม่คิดจะสู้กับพระองค์อีก อเล็กซานเดอร์นำกองทัพของพระองค์ไปถึงนครบาบิโลนและเคลื่อนทัพต่อจนถึงเปอร์ เซโปลิส เมืองหลวงของจักรวรรดิเปอร์เซีย เมื่อเข้าเมืองได้ พระองค์ปล่อยให้ไพร่พลปล้นชิงและเผาทำลายบ้านเมืองพร้อมทั้งสังหารพลเมือง อย่างเหี้ยมโหด ทั้งนี้อาจเพื่อเป็นการล้างแค้นที่เปอร์เซีย เคยยกทัพไปโจมตีกรีกมาก่อน จากนั้นพระองค์ได้ส่งกองทัพไล่ตามพระเจ้าดาริอุ สซึ่งยังเสด็จหนีอยู่ แต่ในเวลาต่อมาก็ถูก เบสซุส เจ้าผู้ครองแบคเตรียซึ่งเป็นแคว้นหนึ่งของเปอร์เซียจับตัวเอาไว้ จากนั้นเบสซุสได้ประกาศตนเป็นผู้ปกครองเปอร์เซียคนใหม่ อเล็กซานเดอร์นำทัพ เข้าโจมตีกองทัพแบคเตรียจนแตกพ่าย ทหารมาซิโดเนียพบพระเจ้าดาริอุสประชวร หนักใกล้สิ้นพระชนม์ ในเกวียนเก่าๆเล่มหนึ่ง อเล็กซานเดอร์จีงรีบเสด็จมา และพบว่าดาริอุสได้สิ้นพระชนม์แล้ว พระองค์ทรงแสดงความเสียพระทัยที่เห็นพระเจ้าดาริอุสสิ้นพระชนม์อย่างน่าอนาถ เยี่ยงนี้ บางทีพระองค์อาจจะทรงทำเพื่อซื้อน้ำใจชาวเปอร์เซียก็เป็นได้

อเล็กซานเดอร์ได้สั่ง ให้ทหารตามล่าตัวผูทรยศและในเวลาต่อมาเบสซุสก็ถูกจับตัวได้ พระองค์สั่งให้นำตัวไปเปลือยกายและแขวนประจานก่อนจะประหารชีวิตโดยการสับ เป็นท่อน ๆ แต่สงครามยังหาสงบไม่ เนื่องจากได้มีขุนนางแบคเตรีย อีกคนหนึ่งนามว่า สปิทาเมนิสได้ร่วมมือกับเหล่าชนเผ่าเร่ร่อนจากทุ่งหญ้าสเตปป์ เข้าลอบโจมตีกองทัพของพระองค์หลายครั้ง ตอนนี้ เหล่าทหารกรีกที่อ่อนล้าจากการทำศึกและจากบ้านมานานต่างทูลขอร้องให้พระองค์ ส่งตัวกลับบ้าน เมื่อกองทัพของพระองค์ลดจำนวนลงมาก อเล็กซานเดอร์จึงสั่งให้ เกณฑ์พลเพิ่มจากชนพื้นเมืองแบคเตรีย แต่แม้จะเป็นไพร่พลที่มาจากฝ่ายศัตรู แต่เหล่าทหารใหม่ก็จงรักภักดีต่อพระองค์มาก ซึ่งแสดงถึงพระอัจฉริยภาพในการปกครองของพระองค์

หลังจากนั้นอเล็กซาน เดอร์จึงยกทัพเข้าไปยังเขตเทือกเขาทางตอนเหนือ เพื่อตามล่าศัตรู ในช่วงนี้มีบันทึกว่าพระนิสัยของพระองค์เริ่มแปรเปลี่ยนโดยทรงมีพระอารมณ์ ร้ายและเหี้ยมโหดมากขึ้น พระองค์ทรงนำเครื่องแต่งกายแบบและขนบธรรมเนียมเปอร์เซียเข้ามาปรับใช้ ทำให้พวกทหารชาวกรีกและมาซิโดเนียเริ่มไม่พอใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่ทรงให้เหล่าทหารหมอบกรานเวลาเข้าเฝ้า เนื่องจากตามประเพณีกรีกนั้น การหมอบกรานจะใช้กับเทพเจ้าเท่านั้น นอกจากนี้ในเวลานั้นได้มีผู้นำขันทีรูปงามนามว่า บาโกอุสขึ้นถวายพระองค์ ซึ่งพระองค์ก็ทรงโปรดมาก แม้ว่ารสนิยมทางเพศเยี่ยงนี้จะเป้นของที่รับกันได้ในสังคมกรีกยุคนั้น แต่กิริยาของขันทีผู้นี้อาจไม่เป็นที่พอใจของเหล่านายทัพก็เป็นได้

สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้ พระเจ้าอเล็กซานเดอร์เริ่มระแวงเหล่าทหารที่ไม่พอใจว่าคิดกระด้างกระเดื่อง และได้ทรงประหารทหารจำนวนมากรวมทั้งพระสหายเก่าแก่กลุ่มหนึ่งด้วย สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้เหล่าไพร่พลชาวมาซิโดเนียและกรีกที่ตามเสด็จมาแต่เดิม เริ่มหมางเมินพระองค์ ต่อมาในช่วงต้นปีที่ 327 ก่อนคริสตกาล พันธมิตรของสปิทาเมนิสก็ตัดศรีษะของสปิทาเมอุสมาถวายพระองค์ พร้อมข้อเสนอยอมจำนน ในช่วงนั้นพระองค์ได้รับตัวพระธิดาของเจ้านครที่ยอมจำนนผู้หนึ่ง นามว่าเจ้าหญิงร็อกซาน่า มาเป็นชายา เพื่อป้องกันหัวเมืองเหล่านั้นแข็งข้อ กล่าวกันว่าพระองค์หลงไหลชายาองค์นี้มากและมีโอรสกับนางหนึ่งองค์ ซึ่งหลังจากการอภิเษกครั้งนี้ผ่านไปไม่นาน พระองค์ก็สามารถยุติสงครามในเอเชียกลางที่นานถึง 2 ปีลงได้สำเร็จ

ในตอนกลางปีที่ 327 ก่อนคริสตกาล กองทัพมาซิโดเนียยกมาถึงเทือกเขาฮินดุกุช ของแคว้นปัญจาบในปากีสถานปัจจุบัน ซึ่งในสมัยนั้นเรียกดินแดนแถบนั้นทั้งหมดว่า อินเดีย  พระเจ้าโพรุส กษัตริย์แห่งแคว้นปัญจาบได้เร่งระดมทัพของพระองค์และพันธมิตรเพื่อเตรียมรับ ศึก กองทัพอินเดียที่ประกอบด้วยทหารกว่า 50,000 นาย และช้างศึกอีก 500 ตัว ได้ตั้งมั่นรอทัพของมาซิโดเนีย ที่ริมฝั่งแม้น้ำเจลัม ขณะที่กองทัพมาซิโดเนียจำนวน 70,000 นาย กำลังยกใกล้เข้ามา อเล็กซานเดอร์สั่งให้กองทัพเคลื่อนพลข้ามน้ำ ในตอนกลางคืน ท่ามกลางสายฝนที่ตกกระหน่ำ เพื่อไม่ให้ข้าศึกรู้ตัว แนวป่าตามริมแม่น้ำช่วยกำบังทัพมาซิโดเนียได้เป็นอย่างดี และในตอนเช้ามืดก่อนฟ้าสาง ทัพมาซิโดเนียก็เข้าโจมตีทัพอินเดีย

แม้จะถูกโจมตี กะทันหัน แต่ช้างศึกของอินเดียก็ทำการรบได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในขณะที่ดินโคลนที่เกิดจากฝน ทำให้ทหารมาซิโดเนียขาดความคล่องตัวในการรบ อีกทั้งช้างศึกยังสร้างความหวาดกลัวให้เหล่าทหารและมาที่ไม่เคยเห็นช้างมา ก่อนด้วย ทำให้ทหารมาซิโดเนีย ตกใจจนคุมสติไม่อยู่ พวกเข้าทำร้ายทุกคนที่เข้าใกล้จนเกิดความปั่นป่วนทั้งแนวรบ

ทว่าขณะที่ทัพมาซิโด เนียกำลังจะปราชัย ช้างศึกของพระเจ้าโพรัส ก็ถูกแหลนของทหารมาซิโดเนียแทงได้รับบาดเจ็บสาหัสจนสลัดพระเจ้าโพรัสตกลงมา ได้รับบาดเจ็บ ทหารมาซิโดเนีย ตรงเข้าจับตัวพระองค์ไว้ และสถานการณ์ก็กลับเป็นทัพมาซิโดเนียได้รับชัยชนะอีกครั้งหนึ่ง  พระเจ้าอเล็กซานเดอร์ทรงไว้ชีวิตกษัตริย์โพรัสและให้ปกครองแคว้นปัญจาบต่อไป โดยมีกองทัพมาซิโดเนียคอยควบคุม

มาถึงเวลานี้ เหล่าทหารต่างต้องการจะกลับและยื่นคำขาดว่าจะไม่เคลื่อนทัพต่ออีกแล้ว อเล็กซานเดอร์ทรงพิโรธมาก แต่ในที่สุดก็ยอมถอนทัพกลับ  โดยพระองค์อ้างว่าเป็นเทวบัญชาจากเทพเจ้าเบื้องบน  โดยอเล็กซานเดอร์ได้สั่งให้ นายพลนีอาร์คุส พระสหายนำทหารส่วนหนึ่งไปทางเรือ ขณะที่พระองค์นำทัพ 85,000 นายเดินทางไปทางบก โดยระหว่างทางได้เข้าโจมตีหัวเมืองต่างๆตามรายทางที่ผ่าน แต่ทุกเมืองล้วนยอมจำนนแต่โดยดี  จนกระทั่งมาถึงเมืองเล็กๆแห่งหนึ่งที่ไม่ยอมจำนน พระองค์จึงสั่งให้โจมตีทันที แต่ระหว่างรอจัดทัพ พระองค์ทรงรำคาญพระทัยกองทัพใหญ่ที่ชักช้าจึงเข้าโจมตีเมืองพร้อมทหารรักษา พระองค์สามคน เมื่อกองทัพใหญ่ตามไปถึงก็เห็นพระองค์ฟุบอยู่ภายใต้ศพที่ทับถมกันของ องครักษ์ทั้งสามซึ่งมีลูกธนูปักเต็มร่าง แม้จะทรงปลอดภัย แต่การบาดเจ็บครั้งนี้ก็ทำให้สุขภาพของพระองค์แย่ลง

เมื่อกองทัพมาถึงทะเล ทรายเจโดรเซีย (อยู่บริเวณพรมแดนอิหร่านและปากีสถาน)  พระองค์ได้นำทัพข้ามทะเลทรายอันแห้งแล้ง ไพร่พลและสัตว์พาหนะขาดแคลนน้ำจนล้มตายลงเป็นอันมาก และระหว่างการเดินทัพครั้งนี้ได้มีทหารผู้หนึ่งไปหาน้ำมาได้และนำใส่หมวก เหล็กมาถวายพระองค์ พระเจ้าอเล็กซานเดอร์ ไม่ยอมดื่มน้ำนั้น เมื่อทหารต่างก็อดน้ำ  พระองค์ได้เทน้ำนั้นลงพื้นและประกาศว่า “ข้าจะร่วมในความกระหายกับพวกเจ้า” เมื่อเหล่าไพร่พลเห็นดังนั้นจึงมีกำลังใจกัดฟันเดินทางต่อจนพ้นเขตทะเลทราย อย่างไรก็ดีในการข้ามทะเลทราย ครั้งนี้พระเจ้าอเล็กซานเดอร์สูญเสียรี้พลไปถึง 60,000 คน

ในปีที่ 324 ก่อนคริสตกาล เมื่อเดินทางมาถึงเปอร์เซีย พระองค์ได้มีรับสั่งให้เกณฑ์ชายหนุ่มเชื้อสายขุนนางเปอร์เซียจำนวน 30,000 คน เข้ารับการฝึกยุทธวิธีรบแบบกรีก เพื่อมาทดแทนทหารมาซิโดเนียที่ล้มหายตายจากไป นอกจากนี้พระองค์ยังได้จัดให้มีการแต่งงานระหว่างทหารกรีก 10,000 คน กับหญิงสาวเปอร์เซีย 10,000 คน และนายทหารกับหญิงเปอร์เซียชั้นสูงอีก 80 คู่ ส่วนพระองค์เองก็ได้อภิเษกสมรสกับพระธิดาของกษัตริย์ดาริอุส นามว่า เจ้าหญิงบาร์สิน่าด้วย ทั้งนี้เพื่อผูกสัมพันธ์ระหว่างมาซิโดเนียกับเปอร์เซีย ในปีเดียวกันนั้นเอง เฮฟาอีสเทียนพระสหายสนิทได้ล้มป่วยและเสียชีวิตโดยไม่ทราบสาเหตุ อเล็กซานเดอร์ทรงโศกเศร้ามากและได้สั่งให้จับหมอผู้รักษาไปตรึงกางเขน ในช่วงนี้พระพลานามัยของพระองค์แย่ลงมากกว่าเดิม ทั้งอาการบาดเจ็บจากแผลธนูและพิษสุราเรื้อรัง อันเป็นผลมาจากการที่ทรงดื่มหนักมาตลอด นอกจากนี้พระอารมณ์ยังแปรปรวนและเหี้ยมโหดยิ่งขึ้น

ในปีที่ 323 ก่อนคริสตกาล อเล็กซานเดอร์ได้เสด็จมายังนครบาบิโลน พระองค์สั่งให้ระดมพลโดยมีแผนการณ์จะทำสงครามกับพวกอาหรับและอาณาจักรคาเธจ แต่ทว่าอเล็กซานเดอร์ได้ทรงพระประชวรกะทันหัน พระอาการทรุดหนักลงอย่างรวดเร็ว ข่าวลือแพร่ไปทั่วกองทัพว่าเจ้าเหนือหัวจะสวรรคต ทำให้เหล่าทหารต่างตื่นตระหนก  แม้ว่าพระองค์จะทรงมีพระนิสัยที่แปรปรวนในระยะหลังบ้าง แต่เหล่าทหารจำนวนมากทั้งที่เป็นชาวมาซิโดเนียและชนชาติอื่นๆก็ยังรักและ เคารพพระองค์อยู่ บรรดาไพร่พลต่างขอเข้าเฝ้าเยี่ยมพระอาการ พระองค์ให้ทหารทุกคนเดินผ่านที่ประทับเข้ามาทำความเคารพ หัวใจของเหล่าทหาร ต่างโศกเศร้าเมื่อทราบข่าวร้าย แม้จะตรัสอันใดไม่ได้แต่พระเจ้าอเล็กซานเดอร์ก็พยายามแสดงให้เหล่าทหารทราบ ว่าพระองค์ยังจำพวกเขาได้ทุกคน และแล้วในวันที่ 10 มิถุนายน ปีที่ 323 ก่อนคริสตกาล อเล็กซานเดอร์ก็เสด็จสวรรคต

จักรวรรดิของพระองค์ ถูกแบ่งปันในหมู่แม่ทัพคนสำคัญ กล่าวคือ คาสซานเดอร์ปกครองมาซิโดเนีย ไลซิมาคัสปกครองกรีก ปโตเลมีปกครองอียิปต์ อันติโกนัสปกครองเอเชียไม เนอร์ ส่วนเซเลยูคัสปกครองซีเรียและเอเชียกลาง ทางด้านอินเดียนั้น พระเจ้าโพรัสนำกองทัพปัญจาบลุกฮือขับไล่ทัพกรีกออกไปได้สำเร็จ

ทางด้านมาซิโด เนีย เจ้าหญิงร็อกซาน่าพระชายาเอกของพระองค์ได้สังหารพระธิดาบาร์สิน่าของ กษัตริย์เปอร์เซียผู้เป็นพระชายารองของอเล็กซานเดอร์อย่างเหี้ยมโหด ก่อนจะพาพระโอรสหนีไปอยู่กับพระนางโอลิมเปียสพระมารดาของอเล็กซานเดอร์ ทั้งสองพระองค์พยายามเรียกร้องสิทธิในบัลลังก์และขัดแย้งกับนายพลคาสซาน เดอร์ แม่ทัพผู้ดูแลมาซิโดเนียจนกลายเป็นสงครามกลางเมืองและในที่สุด ทั้งพระนางโอลิมเปียส เจ้าหญิงร็อกซาน่าและพระโอรสก็ถูกปลงพระชนม์จนหมดสิ้น และเป็นอันสิ้นสุดราชวงศ์ของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ลง

แม้พระองค์จะทรงมีพระ ชนมายุสั้นเพียง 33 พรรษา และอาณาจักรของพระองค์แตกสลายในเวลาอันรวดเร็ว แต่พระนามของพระองค์ก็ได้รับการจารึกเอาไว้ในประวัติศาสตร์มาจนทุกวันนี้ การสงครามของพระองค์ส่งผลให้อารยธรรมกรีกแพร่มายังดินแดนตะวันออก ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในหลายด้าน ทั้งด้านศิลปะและปรัชญา พระเจ้าอเล็กซานเดอร์ทรงได้รับการยกย่องเยี่ง เทพเจ้าในตำนานโบราณ แต่พระองค์ก็คือมนุษย์ปุถุชนธรรมดาผู้หนึ่งที่มีทั้งด้านมืดและสว่าง เพียงแต่แสงสว่างของพระองค์ทรงเจิดจรัสมากกว่า และนั่นก็คือสาเหตุที่พระนามของพระองค์เกริกไกรมาจนทุกวันนี้

22 ธ.ค. 56 เวลา 23:56 1,837
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...