ระวัง! อาหารที่ทำให้ขาดออกซิเจน

เป็นที่รู้กันว่าปอดและหัวใจทำหน้าที่เกี่ยวกับการไหลเวียนของเลือดและการแลกเปลี่ยนก๊าซของมนุษย์ ทำให้คนเรามีชีวิตอยู่ได้ ไม่ขาดออกซิเจน เมื่อไรที่คนเราเป็นโรคปอดหรือโรคหัวใจก็คาดเดาได้ว่าผู้นั้นอาจจะมีภาวะตัวเขียว หายใจลำบาก

เชื่อหรือไม่ว่ายังมีภัยร้ายจากอาหารและสารพิษใกล้ตัวที่ทำให้มนุษย์เราขาดออกซิเจนและอาจถึงแก่ชีวิต ภาวะนี้เรียกว่า Methemoglobinemia

ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินีได้ช่วยเหลือเด็กที่มีอาการขาดออกซิเจนเฉียบพลันที่ไม่ธรรมดาเหล่านี้นับสิบราย แม้คนไข้จะไม่มากมาย แต่หากเด็กคนหนึ่งจะเสียชีวิตเพราะขาดออกซิเจนจากสาเหตุที่ป้องกันได้นับว่าน่าเสียดายไม่น้อย

Methemoglobinemia เป็นโรคที่เกิดจากการรับประ ทานอาหารบางประเภทในขนาดที่สูงและก่อให้เกิดพิษต่อร่างกายมากเกินกว่าที่ร่างกายจะกำจัดได้ อาการที่เกิดจะรุนแรงตามระดับสารพิษที่เกิดขึ้น เริ่มตั้งแต่อ่อนเพลีย มึนงง เวียนศีรษะ ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน หัวใจเต้นแรง หอบ หายใจเร็ว หัวใจเต้นเร็ว เต้นผิดจังหวะ การหายใจถูกกด ชัก ช็อก ซึม หมดสติ และมีอาการเขียวอย่างรุนแรงจนถึงแก่ชีวิตได้

โดยสารพิษที่เกิดขึ้นนั้นไปเปลี่ยนสภาพเม็ดเลือดแดง ทำให้เม็ดเลือดแดงไม่สามารถปล่อยก๊าซออกซิเจนไปส่งตามเนื้อเยื่อต่างๆ ทั่วร่างกายได้ทั้งที่ภายในเลือดมีออกซิเจนอยู่

ดังนั้น หากรักษาไม่ถูกทาง ไม่ว่าจะพยายามให้ออกซิเจนไปมากเท่าไรก็ไม่สามารถช่วยชีวิตเด็กได้ การรักษาที่ถูกต้องต้องรีบลดสารพิษในร่างกายและให้ยาต้านพิษที่เฉพาะเพื่อเร่งการกำจัดสารพิษ หลังให้ยาวิเศษนี้เข้าทางเส้นเลือด เด็กจะมีอาการดีขึ้นภายใน 1 ชั่วโมง

อาหารที่ต้องระวัง คือ อาหารประเภทที่มีสารไนไตรท์ (ดินประสิว) ซึ่งเป็นสารที่ใช้เป็นวัตถุเจือปนอาหาร ทำให้สีของเนื้อสัตว์เป็นสีแดงชมพูสวยน่ารับประทาน เช่น ในไส้กรอก เบคอน แฮม แหนม กุนเชียง เนื้อเค็ม นอกจากนี้ยังใช้เป็นสารกันบูดในอาหารหลากหลายชนิด

ผู้ปกครองควรแนะนำให้เด็กหลีกเลี่ยงอาหารดังกล่าว เลือกผลิตภัณฑ์อาหารที่มีคุณภาพ ได้รับการรับรองจากองค์การอาหารและยา เพราะนอกจากจะทำให้เด็กสะสมพิษร้ายในร่างกายจนอาจถึงแก่ชีวิตแล้ว สารดังกล่าวยังไปแปรเปลี่ยนสภาพร่างกายภายในก่อให้เกิดมะเร็งได้

15 ต.ค. 56 เวลา 15:02 1,147 60
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...