หัวใจเต้นผิดจังหวะ สัญญาณโรค"ใหลตาย"

 

อัตราการเต้นของหัวใจคนปกติ 60-100 ครั้งต่อนาที หากเมื่อใดที่ร่างกายส่งสัญญาณเตือนถึงความผิดปกติของหัวใจ จำเป็นต้องปรึกษาแพทย์เพื่อหาแนวทางรักษา
 
นพ.สัชชนะ พุ่มพฤกษ์ แพทย์ผู้เชี่ยว ชาญโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ ศูนย์หัวใจ ร.พ.ศิริราชปิยมหาราชการุณย์ หรือ SiPH อธิบายว่า โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ แบ่งเป็น 2 กลุ่มหลัก คือ 
 
กลุ่มแรก ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดเต้นเร็ว โดยเฉพาะที่เกิดกับผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจ จะเกิดวงจรไฟฟ้าของหัวใจผิดปกติ หรือ "ไฟฟ้าลัดวงจร" หรือโรคหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว มักพบในกลุ่มคนสูงอายุ หัวใจเต้นเร็วมาก 400-500 ครั้งต่อนาที ทำให้หัวใจช่องบนไม่บีบตัว เป็นอัมพฤกษ์หรืออัมพาตได้
 
ส่วนผู้ที่มีหัวใจปกติ อาจพบความผิดปกติของระบบไฟฟ้าลัดวงจร หรือมีจุดกำเนิดไฟฟ้าที่ผิดปกติ กลุ่มนี้พบประมาณ ร้อยละ 20-30 อาจทำให้มีอาการถึงขั้นเป็นลมหมดสติ 
 
กลุ่มที่สอง คือ ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดเต้นช้า มักพบในผู้สูงอายุ เกิดจากความเสื่อมของตัวกำหนดจังหวะ หรือสายนำไฟฟ้าในหัวใจ สัญญาณอันตราย คือ อาการวูบหมดสติ แน่นหน้าอก
 
วิธีการตรวจเช็กภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ได้แก่ การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ การตรวจและวัดอัตราการเต้นของหัวใจต่อเนื่อง 24 หรือ 48 ชั่วโมง การตรวจด้วยการบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจด้วยการกดปุ่ม เป็นต้น
 
แนวทางการรักษา ผู้ป่วยหัวใจเต้นผิดจังหวะที่มีโรคหัวใจอื่นร่วมด้วย หลักการ คือ การรักษาที่โรคต้นเหตุ ถ้าผู้ป่วยหัวใจเต้นผิดจังหวะที่มีปัญหาระบบไฟฟ้าอย่างเดียว มีโอกาสรักษาให้หายขาดได้ เริ่มจากรับประทานยาหรือการจี้ด้วยไฟฟ้าผ่านคลื่นเสียงความถี่สูง 90-95 เปอร์เซ็นต์ 
 
ในกรณีที่ผู้ป่วยโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดร้ายแรง เสี่ยงสูงที่จะเสียชีวิตฉับพลัน แพทย์จะแนะนำให้ผ่าตัดใส่เครื่องชอร์ตไฟฟ้าหัวใจอัตโนมัติ ช่วยหัวใจที่เต้นผิดจังหวะกลับมาเป็นปกติในทันที กรณีผู้ป่วยหัวใจเต้นช้า จะใช้เครื่องกระตุ้นหัวใจชนิดถาวร 
 
การป้องกันภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ คือ หลีกเลี่ยงการดื่มกาแฟ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ 
 
ขณะที่ผู้ป่วย โรค Brugada syndrome ซึ่งมักเกิดกับเพศชาย หรือโรคใหลตาย ก็เป็นโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะอย่างรุนแรงชนิดหนึ่ง โรคนี้รักษาไม่หายขาดแต่ป้องกันได้ด้วยการใส่เครื่องกระตุกหัวใจด้วยไฟฟ้า 
 
ศูนย์หัวใจ SiPH มีความพร้อมทั้งทีมแพทย์ และอุปกรณ์ที่ทันสมัย อาทิ เครื่องเช็กหัวใจที่มีความละเอียดสูงในการสร้างภาพสามมิติ ค้นหาตำแหน่งของการเกิดวงจรไฟฟ้าภายในหัวใจ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาผู้ป่วยชนิดซับซ้อน 
3 ก.ย. 56 เวลา 10:45 4,297
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...