มองผ่านเลนส์"นักอาชญาวิทยา" กรณีปอท.ตรวจสอบ"LINE" กม.ให้อำนาจแต่ห้ามละเมิดสิทธิ

กลายเป็นประเด็นทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์ สำหรับการใช้งาน แอพพลิเคชั่น "ไลน์" (LINE) ที่สามารถส่งข้อความสั้น รวมถึงการส่งรูปภาพ คลิปวิดีโอและรูปสติ๊กเกอร์การ์ตูน ระหว่างคน 2 คน หรือเพื่อนในกลุ่มผ่านทางโทรศัพท์มือถือ เมื่อ พล.ต.ต.พิสิษฐ์ เปาอินทร์ ผู้บังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ผบก.ปอท.) เปิดเผยว่า ส่งทีมไปประสานงานกับผู้ดูแลเซิร์ฟเวอร์ของบริษัทไลน์ คอร์เปอเรชั่น เพื่อประสานความร่วมมือในการตรวจสอบการสนทนาทางแอพพลิเคชั่น "ไลน์" โดยอ้างเหตุเรื่องความมั่นคง จนถูกบรรดาผู้ใช้ "ไลน์" ซึ่งในประเทศไทยมีจำนวนมากถึง 15 ล้านคน รุมต้าน โดยยกเหตุเรื่องการคุกคามสิทธิส่วนบุคคล 

อย่างไรก็ตาม พล.ต.ต.พิสิษฐ์แจงในเวลาต่อมาว่า จะตรวจสอบเฉพาะบุคคลที่กระทำความผิดเท่านั้น เพื่อดูแค่แอคเคานต์ว่าคนนั้นคือใคร มาจากไหน เพื่อนำข้อมูลมาสืบสวนจับกุมต่อไป 

"หากมีการกระทำผิดตำรวจมีอำนาจในการตรวจสอบตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 18 ที่ให้อำนาจเจ้าพนักงานในกรณีที่เชื่อว่ามีการกระทำความผิด มีอำนาจในการร้องขอคำสั่งศาลในการเข้าถึงระบบคอมพิวเตอร์ได้...ตำรวจทำโดยลำพังไม่ได้ จำเป็นต้องเอาหมายศาลไปให้ผู้ให้บริการเพื่อดำเนินการตามคำสั่งศาล" ผบก.ปอท.ระบุ 

ผบก.ปอท.เปรียบเทียบให้เห็นภาพชัดเจนว่า การตรวจสอบ "ไลน์" ของ บก.ปอท.ก็เหมือนกับถนนไฮเวย์ มีรถวิ่งเต็มไปหมด เป็นพันคันหมื่นคันต่อวัน แล้วมีรถคันหนึ่งเป็นโจร ตำรวจคงไปดักจับรถคันนั้นคันเดียว ไม่ได้ไปดักจับรถเป็นหมื่นเป็นพันคัน รถคันอื่นก็ใช้ถนนเสรีไป เราไม่ไปยุ่ง จะโฟกัสแค่รถผู้ร้ายเท่านั้น

เปิดกฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 หมวดที่ 2 ว่าด้วยพนักงานเจ้าหน้าที่ มาตรา 18 ระบุว่า เพื่อประโยชน์ในการสืบสวนและสอบสวนในกรณีที่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ามีการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.นี้ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้ เฉพาะที่จำเป็นเพื่อประโยชน์ในการใช้เป็นหลักฐานเกี่ยวกับการกระทำความผิดและหาตัวผู้กระทำความผิด (1) มีหนังสือสอบถามหรือเรียกบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.นี้มาเพื่อให้ถ้อยคำ ส่งคำชี้แจงเป็นหนังสือ หรือส่งเอกสาร ข้อมูล หรือหลักฐานอื่นใดที่อยู่ในรูปแบบที่สามารถเข้าใจได้ 

(2) เรียกข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์จากผู้ให้บริการเกี่ยวกับการติดต่อสื่อสารผ่านระบบคอมพิวเตอร์หรือจากบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้อง (3) สั่งให้ผู้ให้บริการส่งมอบข้อมูลเกี่ยวกับผู้ใช้บริการที่ต้องเก็บ หรือที่อยู่ในความครอบครองหรือควบคุมของผู้ให้บริการให้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ (4) ทำสำเนาข้อมูลคอมพิวเตอร์ ข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ จากระบบคอมพิวเตอร์ มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ามีการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.นี้ ในกรณีที่ระบบคอมพิวเตอร์นั้นยังได้อยู่ในความครอบครองของพนักงานเจ้าหน้าที่ 

(5) สั่งให้บุคคลซึ่งครอบครองหรือควบคุมข้อมูลคอมพิวเตอร์ หรืออุปกรณ์ที่ใช้เก็บข้อมูลคอมพิวเตอร์ ส่งมอบข้อมูลคอมพิวเตอร์ หรืออุปกรณ์ดังกล่าวให้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ (6) ตรวจสอบหรือเข้าถึงระบบคอมพิวเตอร์ ข้อมูลคอมพิวเตอร์ ข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ หรืออุปกรณ์ที่ใช้เก็บข้อมูลคอมพิวเตอร์ของบุคคลใด อันเป็นหลักฐานหรืออาจใช้เป็นหลักฐานเกี่ยวกับการกระทำความผิด หรือเพื่อสืบสวนหาตัวผู้กระทำความผิดและสั่งให้บุคคลนั้นส่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ ที่เกี่ยวข้องเท่าที่จำเป็นให้ด้วยก็ได้

(7) ถอดรหัสของข้อมูลคอมพิวเตอร์ของบุคคลใด หรือสั่งให้บุคคลที่เกี่ยวข้องกับการเข้ารหัสลับของข้อมูลคอมพิวเตอร์ ทำการถอดรหัสลับ หรือให้ความร่วมมือกับพนักงานเจ้าหน้าที่ในการถอดรหัสลับ (8) ยึดหรืออายัดระบบคอมพิวเตอร์เท่าที่จำเป็นเฉพาะเพื่อประโยชน์ในการทราบรายละเอียดแห่งความผิดและผู้กระทำความผิดตาม พ.ร.บ.นี้

มาตรา 19 ระบุว่า การใช้อำนาจของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 17(4-8) ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ยื่นคำร้องต่อศาลที่มีเขตอำนาจเพื่อมีคำสั่งอนุญาตให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการตามคำร้อง ทั้งนี้คำร้องต้องระบุเหตุอันควรเชื่อได้ว่าบุคคลใดกระทำหรือกำลังจะกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดอันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.นี้ เหตุที่ต้องใช้อำนาจ ลักษณะของการกระทำความผิด รายละเอียดเกี่ยวกับอุปกรณ์ที่ใช้ในการกระทำความผิดและผู้กระทำความผิดเท่าที่สามารถจะระบุได้ประกอบคำร้องด้วย ในการพิจารณาคำร้องให้ศาลพิจารณาคำร้องดังกล่าวโดยเร็ว

เมื่อศาลมีคำสั่งอนุญาตแล้ว ก่อนดำเนินการตามคำสั่งของศาล ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ส่งสำเนาบันทึกเหตุอันควรเชื่อที่ทำให้ต้องใช้อำนาจตามมาตรา 18(4-8) มอบให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองระบบคอมพิวเตอร์นั้นไว้เป็นหลักฐาน แต่ถ้าไม่มีเจ้าของหรือผู้ครอบครองเครื่องคอมพิวเตอร์อยู่ ณ ที่นั้น ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ส่งมอบสำเนาบันทึกนั้นให้แก่เจ้าของหรือผู้ครอบครองดังกล่าวในทันทีกระทำได้

เท่ากับว่ากฎหมายมาตรา 18 และ 19 ให้อำนาจ บก.ปอท.ในการตรวจสอบและยื่นคำร้องต่อศาลให้มีอำนาจสั่งอนุญาตให้ตรวจสอบ กรณีมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ามีการกระทำความผิดเกิดขึ้นแล้ว

"มติชน" สัมภาษณ์นายนัทธี จิตสว่าง อดีตผู้ตรวจราชการ กระทรวงยุติธรรม ในฐานะนักอาชญาวิทยาถึงมุมมองความจำเป็นและขอบเขตในการตรวจสอบ "ไลน์" 

โดยนายนัทธีกล่าวว่า การตรวจสอบ "ไลน์" เป็นเรื่องคาบเกี่ยวระหว่างการเคารพสิทธิส่วนบุคคลกับเรื่องการป้องกันปราบปรามและควบคุมอาชญากรรม ในการตรวจสอบต้องขีดเส้นให้ชัดเจน หากเน้นเรื่องการปราบปรามอาชญากรรมหรือความมั่นคงมากเกินไป จะมีโอกาสละเมิดสิทธิส่วนบุคคลได้มาก

"อย่างไรก็ตามกรณี บก.ปอท.จะตรวจสอบ "ไลน์" นั้น มีกฎหมายกำหนดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 กำหนดไว้ แต่เป็นกรณีที่เกิดเหตุขึ้นแล้ว มีผู้ต้องสงสัย จึงจะขอเข้าไปตรวจสอบ โดยขออำนาจจากศาล แต่หากยังไม่มีการกระทำผิดกฎหมาย การตรวจสอบจะมีความสุ่มเสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิ" นายนัทธีกล่าว

นายนัทธีกล่าวถึงกรณีประสานผู้ดูแลเซิร์ฟเวอร์ "ไลน์" ในต่างประเทศเพื่อตรวจสอบ ว่า กรณีนี้ต้องผ่านกระบวนการความตกลงระหว่างประเทศ เป็นเรื่องความร่วมมือระหว่างประเทศ โดยประเทศนั้นๆอาจต้องร้องขอศาลหรืออัยการให้อนุมัติ ทำให้การตรวจสอบใช้เวลาค่อนข้างนาน

ต่อข้อถามถึงความจำเป็นในการตรวจสอบ "ไลน์" นายนัทธีกล่าวว่า ปอท.ในฐานะเจ้าพนักงานต้องดำเนินการตามหน้าที่ เพียงแต่ต้องผ่านกระบวนการทางกฎหมายที่ให้อำนาจ โดยการตรวจสอบ "ไลน์" นั้น เจ้าหน้าที่ต้องดำเนินการด้วยความระมัดระวัง

ด้าน พล.ต.ต.อดุลย์ ณรงค์ศักดิ์ รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (รอง ผบช.น.) จบปริญญาเอก ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (อาชญาวิทยา การบริหารงานยุติธรรมและสังคม) มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า กรณี บก.ปอท.ตรวจสอบการใช้ "ไลน์" ต้องดูเป็นกรณีๆ ไป ทั้งเรื่องการใส่ร้ายป้ายสี หมิ่นสถาบัน หรือการส่งภาพลามกอนาจารที่อาจผิดกฎหมาย หากไม่ได้ใช้ในทางที่ผิดก็ไม่ต้องกลัว แต่ขอให้ทำตามกฎหมายในการใช้งานให้ถูกต้อง

"ปัจจุบันไม่ใช่แค่แอพพลิเคชั่น "ไลน์" เท่านั้น แต่เฟซบุ๊กหรือโปรแกรมแชตอื่นๆ ก็สามารถกระทำผิดได้ ผู้ที่ใช้งานจึงต้องระมัดระวังเพราะอาจเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ได้" รอง ผบช.น.กล่าว

รอง ผบช.น.กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ใช้ "ไลน์" ในการทำงาน โดย พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) และ พล.ต.อ.ปานศิริ ประภาวัต รอง ผบ.ตร. มีคำสั่งให้ตำรวจทุกหน่วยตั้ง "ไลน์" เป็นของตัวเอง อย่างของ บช.น.มีการตั้ง "ไลน์" ขึ้นมา กรณีรายงานเหตุ ข่าวสารต่างๆ ที่ต้องการความรวดเร็ว เพราะถือเป็นช่องทางการสื่อสารยุคใหม่ โดย "ไลน์" มีข้อดีหลายอย่างทั้งประหยัดค่าใช้จ่าย สามารถโทรศัพท์ได้โดยไม่เสียเงิน โดยพบว่าตำรวจใช้กันจำนวนมาก

"ไลน์นอกจากส่งภาพและคลิปต่างๆ ได้แล้ว ยังสามารถใช้ในการประชุมได้ด้วย อย่างผมตั้งกลุ่มขึ้นมา แล้วสมาชิกในกลุ่มก็ประชุมกัน ผมก็ทำงานไปด้วย เมื่อถึงเวลาแสดงความเห็นก็ส่งข้อความไปถือว่าสะดวกดี ถือว่าไลน์มีประโยชน์ดี แต่อย่าไปใช้ในทางให้เกิดโทษ" โฆษก บช.น.ระบุ

เป็นมุมมองของนักอาชญาวิทยาที่เห็นว่าเจ้าพนักงานมีหน้าที่ในการตรวจสอบการใช้โซเชียลเน็ตเวิร์ก ซึ่งรวมถึง "ไลน์" ได้ตามอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายกำหนด โดยต้องระมัดระวังการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล

ดังนั้น ผู้ใช้บริการ "ไลน์" 15 ล้านคนในประเทศไทย สามารถแชต พูดคุย สื่อสารได้อย่างไร้กังวล ถ้าไม่ได้กระทำการละเมิดกฎหมาย!!

หน้า 8 มติชนรายวันฉบับวันอาทิตย์ที่ 18 สิงหาคม 2556 

กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...