ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ เขียนถึงหนัง ฟ้าต่ำแผ่นดินสูง : แผ่นดินของเรา vs พรมแดนของใคร

บทความพิเศษ/มติชนสุดสัปดาห์

ในประเทศที่ภาพยนตร์สารคดีเป็นของหายาก และยิ่งภาพยนตร์สารคดีแนวการเมืองก็ยิ่งหายากขึ้นไปอีกนั้น ปี 2556 เป็นปีที่ที่น่าจดจำ เพราะมีภาพยนตร์สารคดีแนวนี้ออกมาฉายในโรงแบบปกติถึงสองเรื่อง

ซ้ำยังเป็นสองเรื่องซึ่งทำสิ่งที่ภาพยนตร์สารคดีส่วนใหญ่หลีกเลี่ยง นั่นคือทำเรื่องซึ่งเป็นความขัดแย้งที่กำลังดำรงอยู่ในสังคมอย่างไม่มีแววจบ ง่ายๆ

ซึ่งหมายความว่าคนทำผลักตัวเองไปเผชิญกับเรื่องที่เล่ายาก หาข้อสรุปที่ทุกฝ่ายตกลงร่วมกันยังไม่ได้ และเสี่ยงที่จะได้รับปฏิกิริยาไม่พอใจจากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดในสังคมได้ตลอดเวลา

ภาพยนตร์สารดคีสองเรื่องนี้สร้างความเชื่อถือและปกป้องตัวเองอย่างไร? 

ใน กรณี ประชาธิป"ไทย คำตอบคือการอ้างว่าภาพยนตร์กำลังพูดถึง "สิ่งที่คนไทยควรรู้มากที่สุด แต่กล้บรู้น้อยที่สุด" ตัวหนังจึงทำงานผ่านการอนุมานว่าครอบครอง "ความจริง" รวมทั้งความสามารถในการถ่ายทอดความจริงจากกองทัพปัญญาชนที่ผู้กำกับย้ำหลาย ครั้งถึงความรู้ที่ได้รับขณะทำหนัง

ปัญญาชนจึงทำหน้าที่รับประกันความจริงในหนัง ส่วนผู้กำกับก็ถ่ายทอดความจริงจากปัญญาชนมาสู่โลกอีกที

ฟ้าต่ำแผ่นดินสูง หรือในชื่อภาษาอังกฤษคือ Boundary ทำทุกสิ่งที่ตรงกันข้ามกับ ประชาธิป"ไทย

ภาพยนตร์เรื่องนี้พูดเรื่องดินแดนแถบพระวิหารซึ่งเป็นชนวนของข้อขัดแย้งที่ กินเวลาเกินกว่าครึ่งศตวรรษระหว่างไทยกับเพื่อนบ้าน และระหว่างคนกลุ่มต่างๆ ในสังคมไทย

แต่เป็นการพูดโดยไม่อ้างว่าหนังเข้าถึงความจริงได้มากที่สุด ยิ่งกว่านั้นคือไม่อ้างว่าผู้กำกับถ่ายทอดความจริงอย่างที่ไม่มีใครทำได้มา ก่อนอีกด้วย 

พูดอีกแง่คือฟ้าต่ำแผ่นดินสูงเป็นหนังที่ประกาศตัวเองเป็นเรื่องเล่าผ่านเลนส์และมุมมองของผู้กำกับตลอดเวลา 

น่าสนใจว่าขณะที่ ประชาธิป"ไทย สร้าง "ความจริง" โดยซ่อนผู้กำกับไว้หลังโครงเรื่องและการตัดต่อเพื่อถ่ายทอดสารทางการ เมืองอย่างสลับซับซ้อน

ฟ้าต่ำแผ่นดินสูงกลับเปิดให้เห็นการมีอยู่ของผู้กำกับตลอดเวลา ด้วยการใช้เสียงผู้กำกับบรรยายเรื่อง ด้วยการปล่อยเสียงของบทสนทนาระหว่างผู้กำกับกับตัวละครโดยไม่ปกปิดอคติทาง การเมืองแม้แต่น้อย ด้วยการปรับโฟกัสภาพไปมา ด้วยการใช้มุมกล้องแสดงสายตาของการสำรวจภูมิประเทศจากระยะไกล ด้วยการให้ตัวละครเตือนผู้กำกับให้ถือกล้องให้นิ่ง ฯลฯ

ถ้ายอมรับว่าอรรรถรสของ ประชาธิป"ไทย อยู่ที่การฟัง "ความจริง" จากปากคำของกองทัพปัญญาชนที่ดาหน้าปาฐกถาไปตลอดเรื่อง

อรรถรสของฟ้าต่ำแผ่นดินสูงก็อยู่ที่การทัศนายุทธวิธีเล่าเรื่องที่ทำให้ความ จริงกลายเป็นความเห็นเชิงอัตวิสัยซึ่งถูกถ่ายทอดด้วยภาพ ดนตรี บทสนทนา ความเงียบ ฯลฯ ที่ผสมผสานผ่านการตัดต่อและลำดับภาพซึ่งทำให้องค์ประกอบทั้งหมดมีทั้งที่ไป ด้วยกันและที่ขัดกันเองตามแบบยุคโพสต์อภิชาตพงศ์ 

ควรระบุด้วยว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ใช้การสร้างความไม่ลงตัวระหว่างพื้นที่ใน ฉากของหนัง (cinematic space) กับการเล่าเรื่อง (narration) เพื่อแสดงให้เห็นถึงมิติด้านเวลาที่แตกต่างกันสองแบบ ซึ่งอีกนัยก็คือการตอกย้ำความไม่จริงของหนังและการมีอยู่ของผู้กำกับให้ผู้ ชมเห็นตลอดเวลา

ผู้กำกับเป็นตัวละครสำคัญของหนังเรื่องนี้ ถึงแม้เราจะไม่เห็นเขาในฉากไหนเลยก็ตาม

ฟ้า ต่ำแผ่นดินสูงกลับตาลปัตรความเข้าใจที่เชื่อกันโดยทั่วไปว่าสารคดีต้องนำ เสนอความจริงของประเด็นต่างๆ คุณลักษณะของฟ้าต่ำแผ่นดินสูงได้แก่การพยายามสร้างแนวป้องกันไม่ให้ผู้ชม เตลิดเปิดเปิงไปกับโรคคลั่งไคล้หาความจริงให้มากที่สุด

นี่จึงเป็นหนังที่ตั้งโจทย์ยากและแสนทะเยอทะยาน 

แต่ก็เป็นโจทย์ที่ท้าทาย

นั่นคือจะเล่าเรื่องโดยไม่อวดอ้างความจริงและยอมรับการมีอยู่ของอคติจากมุมมองของผู้กำกับอย่างไร?

หนังเรื่องนี้ออกแบบให้ตัวละครแทบทุกตัวมีหลายอัตลักษณ์ในเวลาเดียวกัน

ผู้กำกับเป็นคนกรุงเทพฯ ที่เห็นใจเสื้อแดง แต่มีความสัมพันธ์ฉันมิตรกับทหารผู้น้อย

ตัวละครหลักคือหนุ่มอีสานชื่ออ๊อดซึ่งถูกเกณฑ์ทหารแล้วส่งไปปัตตานีและ ปฏิบัติภารกิจสลายการชุมนุมของคนเสื้อแดงในวันที่ 10 เมษายน 2553 ซึ่งจำนวนไม่น้อยคือคนอีสานเหมือนอ๊อด

คนกรุงเทพฯ เชื้อสายจีนตั้งม็อบพันธมิตรเรียกร้องให้รัฐบาลทำสงครามเพื่อแสดงความรัก ชาติ ส่วนแม่ค้าที่ศรีสะเกษพูดถึงแต่มิตรภาพระหว่างคนไทยกับคนเขมรในพื้นที่ชาย แดน 

นอกจากตัวละครจะมีหลายอัตลักษณ์ในเวลาเดียวกัน ตัวละครยังมีชีวิตท่ามกลางรอยต่อของพื้นที่ทางสังคมจนเกิดอัตลักษณ์ที่คลุม เครือและสลับไปมาได้ตลอดเวลาด้วย

ตัวอย่างคือชาวบ้านฝั่งไทยพูดกันด้วยภาษาเขมรแต่ไม่พอใจที่เขมรเคลื่อนย้าย หลักเขตแดนของไทย แม่ค้าคนหนึ่งพูดไทยแต่ก็เข้าใจว่าทำไมเขมรถึงเกลียดคนไทยด้วย 

หรือแม้แต่ผู้กำกับที่เป็นคนกรุงเทพฯ ซึ่งพยายามวิ่งออกจากความเป็นกรุงเทพฯ ของตัวเองตลอดเวลา

อ๊อด เป็นตัวละครที่ซับซ้อนที่สุดในหนัง ในด้านหนึ่งคือเขาเป็นทหารผู้น้อยที่เห็นใจเสื้อแดง แต่ก็ปกป้องว่ากองทัพไม่ได้ฆ่าประชาชนแน่ๆ 

ในอีกด้านคือเขาเป็นฝ่ายสลายการชุมนุมวันที่ 10 เมษา ที่เชื่อว่าเสื้อแดงมีระเบิดมีอาวุธ แต่กลับไม่ได้พูดถึงปฏิบัติการของทหารด้วยน้ำเสียงกระเหี้ยนกระหือ

ส่วนในอีกด้านคือเขาเป็นทหารผู้ปฏิบัติงานในชายแดนใต้ที่เห็นใจคนมุสลิมซึ่ง ถูกห้ามไม่ให้แต่งกายตามประเพณีศาสนา แต่ก็รับไม่ได้ที่คนพวกนั้นสอนหลักศาสนาตลอดเวลา 

น่าสังเกตว่าอัตลักษณ์ที่คลุมเครือของอ๊อดนั้นครอบคลุมรสนิยมการแต่งตัวของ เขาด้วย อ๊อดปรากฏตัวในเสื้อทหารพร้อมกางเกงและตุ้มหูจนไม่รู้เขาเป็นอะไรระหว่าง ทหารกับเด็กแว้นที่เป็นอันตรายต่อสังคม 

ข้อควรระบุคือหนึ่งในฉากที่สนุกที่สุดของหนังนั้นบันทึกการสนทนาของชาวบ้านกับผู้กำกับฯ ที่พยายาม "อวย" ทุกอย่างที่ชาวบ้านพูด

แต่ท้ายที่สุดก็ถูกชี้หน้าว่าเป็นพวกเดียวกับคนกรุงเทพฯ ที่สนับสนุนอภิสิทธิ์จนทำให้ชีวิตชาวบ้านวุ่นวาย 

ส่วนฉากที่ทรงพลังด้านภาพที่สุดนั้นบันทึกภาพเณรหลายสิบคนเล่นน้ำในแก่งที่ ดูประหลาดและลึกลับเหนือจริงจนไม่รู้ว่าจะเห็นพวกเขาอย่างไรดีระหว่างว่าที่ นักบวชกับเด็กเล็กธรรมดาๆ 

สองฉากนี้เหมือนกันคือสื่อว่าแม้อัตลักษณ์เกิดจากการนิยามตัวเอง แต่ก็ขึ้นอยู่กับคนอื่นว่าจะเห็นเราอย่างไร

ฟ้า ต่ำแผ่นดินสูง ฉายภาพตัวละครที่มีอัตลักษณ์หลายแบบทับซ้อนในเวลาเดียวกัน ความผันผวนของอัตลักษณ์จึงเป็นเรื่องปกติ และอัตลักษณ์เปลี่ยนได้ตามพื้นที่ทางสังคมที่เปลี่ยนไป การตอกย้ำความเลื่อนไหลระหว่างอัตลักษณ์ที่ดูเป็นขั้วตรงข้ามอย่าง ทหาร/พลเรือน, ฝ่ายปราบ/ฝ่ายผู้ชุมนุม, คนกรุงเทพฯ/คนชายแดน, คนเขมร/คนไทย ทำให้มีทหารที่เป็นเสื้อแดง มีคนกรุงเทพฯ ที่คิดแบบคนชายแดน มีคนไทยที่เข้าใจเขมร ฯลฯ จนในที่สุดความจริงเป็นเรื่องไร้ความหมาย เพราะทุกอย่างเป็นมุมมองที่ผันแปรได้ตามตำแหน่งแห่งที่ในสังคมของบุคคล

ในฉากการสนทนาของชาวบ้านฝั่งไทย ปัญหาเขตแดนเกิดขึ้นเพราะกองทัพเขมรลอบส่งทหารมาย้ายหลักเขตแดนให้รุกล้ำ เข้ามาฝั่งไทย ไทยจึงเป็นฝ่ายถูกรังแกจน "เสียดินแดน" ให้เขมรไปเพราะเหตุนี้

แต่ในการสนทนาของชาวบ้านฝั่งเขมร ปัญหาเขตแดนเกิดเพราะกองทัพไทยย้ายหลักเขตแดนรุกล้ำเขมร เขมรต่างหากที่ "เสียดินแดน" ส่วนกองทัพไทยก็เป็นฝ่ายที่โหดเหี้ยมถึงขนาดเจอเมื่อไรก็มีแต่คนเขมรถูกยิง ตาย

คนในพื้นที่เดียวกันเล่าเรื่องเดียวแต่สรุปไปคนละอย่าง 

คำถามคือเรื่องไหนจริง?

เรื่องไหนเท็จ?

ฤาทั้งสองเรื่องต่างมีส่วนที่จริงและเท็จพอๆ กัน?

เป็นไปได้ไหมว่าทุกคนต่างเล่าเรื่องจริงตามที่ตัวเองเชื่อจากประสบการณ์และความรับรู้ของตัวเอง?

หรือที่สุดคืออย่าไปสนว่าอะไรคือความจริง เพราะทุกอย่างล้วนลวงด้วยกันทั้งนั้น? 

แม้ ชื่อภาษาอังกฤษของฟ้าต่ำแผ่นดินสูงคือ Boundary หรือพรมแดน แต่หนังเรื่องนี้กลับชี้ชวนให้ผู้ชมเห็นโลกที่พรมแดนไร้ความหมายผ่านตัวละคร ที่เดินข้ามพรมแดนระหว่างพื้นที่ทางสังคมซึ่งแตกต่างกันตลอดเวลา 

สารของหนังเรื่องนี้จึงยิ่งใหญ่ เพราะมีศักยภาพพาผู้ชมไปคิดถึงปัญหาว่าทำไมคนเราต้องเป็นศัตรูหรือเข่นฆ่า กันจากการยึดติดกับพรมแดนซึ่งไม่มีอยู่จริงอย่างเส้นเขตแดน ศาสนา หรือความคิดทางการเมือง

แน่นอนว่าฟ้าต่ำแผ่นดินสูงประสบความสำเร็จในแง่ที่ทำให้ผู้ชมรู้สึกว่าพรมแดนและการยึดติดกับอัตลักษณ์ที่ตายตัวนั้นคือปัญหา 

แต่คำถามคือแล้วตัวละครในฟ้าต่ำแผ่นดินสูงประสบความสำเร็จแค่ไหนในการออกไป จากโลกที่ยึดติดกับเรื่องพรมแดนและอัตลักษณ์อย่างหยุดนิ่งตายตัว?

ได้กล่าวไว้แล้วว่าบทบาทของผู้กำกับฯ ในภาพยนตร์เรื่องฟ้าต่ำแผ่นดินสูงนั้นไม่ได้เป็นแค่ผู้เล่าเรื่อง แต่ยังเป็นตัวแสดงสำคัญ 

ในแง่นี้แล้ว ภาพยนตร์เรื่องนี้พูดถึงการเดินทางของชายหนุ่มผู้พยายามออกจากพรมแดนของโลก ที่เขาอยู่ตั้งแต่ความเป็นคนกรุงเทพฯ ความเป็นคนไทย ความเป็นคนใช้ภาษาไทย ความเป็นพลเรือนที่ไม่พอใจการสลายการชุมนุมของทหาร ฯลฯ ไปสู่โลกใหม่นอกพรมแดนที่เคยอยู่แต่เดิม

โดยเฉพาะโลกของคนอีสาน โลกของคนชายแดน โลกของคนเขมร โลกของคนที่ไม่ใช้ภาษาไทย โลกของทหารที่อยู่ฝ่ายสลายการชุมนุม 

นับตั้งแต่วินาทีแรกจนวินาทีสุดท้าย ผู้กำกับบันทึกภาพโลกใหม่ด้วยสายตาและเลนส์ที่เห็นเฉพาะความลึกลับแต่มีเสน่ห์จนน่าตื่นตาตื่นใจ 

เราจะเห็นภาพของแก่งปริศนาที่ดูประหลาดจนไม่รู้ว่าอยู่ส่วนไหนของโลกมนุษย์

วิถีชาวบ้านที่แสนจำเจอย่างการพายเรือดักปลาถูกถ่ายทอดราวเส้นทางสู่นิพพานของอริยะ

บทสนทนาบนวงข้าวของแม่ค้าและชาวนาผู้ยากไร้เต็มไปด้วยคำถามที่ยังให้เกิด ปัญญา แม้กระทั่งฉากพื้นๆ อย่างการใช้แรงงานซ่อมแซมโรงเรียนก็อัดแน่นไปด้วยความหมายทางการเมือง

คำถามคือจริงหรือที่วิถีชาวบ้านในโลกใหม่มีแต่ด้านที่งดงามและมีอารยะ หรือตัวละครเห็นอย่างนี้เพราะเลือกเลนส์ที่ให้มุมมองไว้ก่อนแล้วว่าโลกใหม่ คือโลกที่ดีกว่าโลกเดิมอย่างสมบูรณ์?



น่าสังเกตว่าขณะที่ผู้ กำกับในฐานะตัวละครเริ่มเล่าเรื่องด้วยการแสดงความคับข้องใจต่อทหารในรูปการ พาดพิงถึงกรณี 10 เมษา และการสลายการชุมนุมในเดือนพฤษภาคม 2553 ซ้ำยังนำเสนอภาพทหารไทยเฉพาะในเครื่องแบบเต็มยศพร้อมอาวุธครบมือ หรือไม่ก็ในรูปการสู้รบด้วยอาวุธสงครามเต็มรูปแบบในกรณีปราสาทตาควาย

ภาพตัวแทนของทหารอีกฝ่ายกลับอยู่ในรูปทหารชาวบ้านแก่ๆ ที่ไม่มีเครื่องแบบและไม่มีแม้กระทั่งอาวุธ จนทำได้แค่เล่าความคับแค้นคราวถูกทหารไทยเหยียบย่ำรังแก

ขณะที่ฟ้าต่ำแผ่นดินสูงนำเสนอภาพทหารไทยโดยเน้นย้ำความเป็นทหาร ภาพทหารฝ่ายตรงข้ามก็ถูกนำเสนอโดยลดทอนความเป็นทหารตลอดเวลา

ผลก็คือตัวละครผู้เดินทางจากความไม่พอใจทหารในโลกเก่าพาตัวเองไปเห็นแต่แง่ งามของทหารในโลกใหม่ราวกับพวกเขาเป็นทหารที่ยิงใครไม่ได้ ฆ่าใครไม่เป็น เข้าใจประเทศเพื่อนบ้าน ถูกรังแกอยู่ข้างเดียว และไม่สมาทานการใช้ความรุนแรง 

ถ้าผลักประเด็นนี้ต่อไปอีกนิด หนังคงพูดต่อแล้วว่าเขมรไม่มีสิ่งที่เรียกว่าชาตินิยมหรือความคลั่งชาติอยู่ เลย โลกใหม่จึงดีกว่าโลกเก่าแน่ เพราะโลกเก่าฝั่งไทยเต็มไปด้วยคนชั้นกลางคลั่งชาติและกองทัพแสนชาตินิยม

ฟ้า ต่ำแผ่นดินสูง ประสบความสำเร็จในการทำให้คนดูฉุกคิดถึงความไร้เหตุผลของพรมแดน แต่การพรรณาแนวชายแดนด้วยสายตาแบบโรแมนติกเป็นสัญลักษณ์ว่าการออกไปจาก พรมแดนอย่างสิ้นเชิงคือเรื่องที่เป็นไปแทบไม่ได้

ผู้กำกับในฐานะตัวละครจึงเดินทางออกจากโลกเดิมไปสู่โลกใหม่เพื่อให้ผู้ชมพบ ว่าในที่สุดผู้กำกัฯ ก็อยู่ในพรมแดนใหม่ซึ่งผู้กำกับเลือกจะมองไม่เห็นอยู่ดี 

ในแง่นี้แล้ว ฟ้าต่ำแผ่นดินสูงเป็นหนังที่ยังไม่จบ 

สิ่งที่ผู้ชมต้องคิดและผู้กำกับต้องเดินทางต่อก็คือการตอบคำถามว่าจะอยู่ใน โลกที่พรมแดนเป็นเรื่องสมมติโดยไม่หลอกตัวเองว่าโลกที่ไร้พรมแดนเป็นโลกที่ เกิดได้ง่ายๆ ได้อย่างไร? 

กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...