ไทยเตรียมแฉเวทีมรดกโลกที่กัมพูชากองกำลังต่างชาติลอบตัดไม้พะยูงใน "ดงพญาเย็น-เขาใหญ่"

 

จากกรณีที่ศูนย์มรดกโลก กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส มีหนังสือมาให้ประเทศไทยชี้แจงกรณีการลักลอบตัดไม้พะยูง และกรณีการลดลงของสัตว์ป่าที่เป็นตัวบ่งชี้ คือ จระเข้น้ำจืด วัวแดง และเสือ ในพื้นที่มรดกโลกดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ที่ประกอบด้วย อุทยานฯ เขาใหญ่ ทับลาน ปางสีดา ตาพระยา และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่ เพื่อประกอบการพิจารณาสถานภาพการอนุรักษ์พื้นที่มรดกโลกดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ในที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 37 ที่กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชาในระหว่างวันที่ 16-27 มิ.ย. นี้ เพิ่มเติมจากมติ 5 ข้อ เช่น กรณีการบุกรุกพื้นที่ กรณีผลกระทบการก่อสร้างเขื่อนห้วยโสมงฯ ที่ประเทศไทยได้ชี้แจงไปก่อนหน้านี้แล้วนั้น


ล่าสุดวันนี้ (7พ.ค.)ที่กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) มีการประชุมสำนักงานมรดกโลกทางธรรมชาติ โดยมีนายทรงธรรม สุขสว่าง ผอ.สถาบันนวัตกรรมอุทยานแห่งชาติและพื้นที่คุ้มครอง   กรมอุทยานฯ ในฐานะรองประธานสำนักงานมรดกโลกฯ   เป็นประธานการประชุม โดยมีหัวหน้าอุทยานฯ ในกลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่  รวมทั้งตัวแทนของกรมชลประทาน และสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เข้าร่วมประชุม  ซึ่งในที่ประชุมได้มีการพิจารณาประเด็นที่คณะกรรมการมรดกโลกแสดงความเป็นห่วงและกังวลเกี่ยวกับสถานภาพการอนุรักษ์ของกลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ โดยเฉพาะเรื่องกองกำลังติดอาวุธ ที่เข้ามาลักลอบตัดไม้พะยูงในพื้นที่ ซึ่งอาจทำให้มรดกโลกดงพญาเย็น-เขาใหญ่ถูกจัดเข้าบัญชีมรดกโลกในภาวะเสี่ยง 
 

 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในที่ประชุมหัวหน้าพื้นที่ในกลุ่ม่ป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ได้รายงานสถานการณ์การลักลอบตัดไม้พะยูงตรงกันว่ามีกองกำลังติดอาวุธเข้ามาลักลอบตัดไม้พะยูง เป็นจำนวนมากและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยนายเทวินทร์ มีทรัพย์ หัวหน้าอุทยานฯ ทับลาน กล่าวว่า สถานการณ์การตัดไม้พะยูงในพื้นที่อุทยานฯ ทับลานมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น เนื่องจากไม้พะยูงทางอีสานตอนใต้ถูกลักลอบตัดจนเกือบหมดแล้ว ขบวนการลักลอบตัดไม้พะยูงจึงพุ่งเป้ามาที่กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ เนื่องจากมีไม้พะยูงที่มีขนาดใหญ่ มีคุณภาพ โดยในพื้นที่อุทยานฯ ทับลานมีการลักลอบตัดมากที่สุดในพื้นที่ฝั่ง อ.เสิงสาง และครบุรี จ.นครราชสีมา โดยตั้งแต่เดือนม.ค.-มี.ค.2556 สามารถจับกุมได้แล้วจำนวน 27 คดี  มากกว่าตลอดปีงบประมาณ 2555 ที่ผ่านมา
 

 ด้านนายนุวรรต ลีลาพตะ หัวหน้าอุทยานฯ ปางสีดา จ.สระแก้ว กล่าวว่า การลักลอบตัดไม้พะยูงโดยกองกำลังติดอาวุธสงคราม มีแน่นอน โดยอุทยานฯ ปางสีดาพบกองกำลังเข้ามาชุดละ 15-30 คน พร้อมอาวุธ ครบมือ โดยที่จับได้เป็นชาวกัมพูชาเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งมีคนไทยเป็นหัวหน้าชุด ที่สำคัญอุปกรณ์ที่ใช้ในการจับไม้พะยูงจะมีวิทยุมือถือที่ทันสมัยมากที่จะสามารถเจาะข้อมูลของเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ได้  ขณะที่นายบุญเชิด เจริญสุข หัวหน้าอุทยานฯ ตาพระยา กล่าวว่า ในพื้นที่อุทยานฯ ตาพระยามีพื้นที่เชื่อมต่อกับพื้นที่ป่าของประเทศกัมพูชา และมีไม้พะยูงขนาดใหญ่เป็นจำนวนมาก ซึ่งกองกำลังที่เข้ามาเป็นกองกำลังทหารชัดเจน  มีอาวุธครบมือ มีการวางสายข่าวและติดตามการทำงานของเจ้าหน้าที่ มีการใช้โทรศัพท์ที่มีเครือข่ายครอบคลุมพื้นที่ในป่า ทำให้มีการหลบเลี่ยงเจ้าหน้าที่ได้ โดยกลุ่มติดอาวุธจะเชื่อมโยงกับกลุ่มคนที่มีอิทธิพลและนายทุนทั้งในและนอกประเทศ


นายชัยยุทธ คุณชมภู  ผอ.ฝ่ายอนุรักษ์ทรัพยากร สำนักอุทยานฯ อดีตหัวหน้าอุทยานฯ ปางสีดา  กล่าวว่า จากการสืบทราบในทางลับทราบว่าขบวนการลักลอบตัดไม้พะยูงในพื้นที่ดงพญาเย็น-เขาใหญ่ โดยเฉพาะในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์ดงใหญ อุทยานฯ ตาพระยา ปางสีดา ทับลาน เป็นพื้นที่สุดท้ายมีไม้พะยูงขนาดใหญ่หลงเหลือยู่ โดยกลุ่มขบวนการตั้งเป้าจะเอาไม้ออกไปให้หมดภายในระยะเวลา 5 ปี  โดยขณะนี้ไม้พะยูงมีราคาเพิ่มสูงมากจากปี 2548 ที่ราคา 2,000 บาทต่อท่อน มาเป็น 2 หมื่นบาทต่อท่อนในช่วงปี 2550  และล่าสุดไม้ขนาดความกว้าง 70 ซ.ม. ราคา 3.5 แสนบาท ถ้าหน้ากว้าง 1 เมตร ราคาจะอยู่ที่แผ่นละ 1.3 ล้านบาท  นอกจากนั้นยังมีการเคลื่อนไหวของกลุ่มนายทุนในลาว  กัมพูชา  เพื่อสนับสนุนขบวนการลักลอบนำไม้ออกนอกประเทศไทย โดยมีปลายทางอยูที่เมืองหนานหนิงของประเทศจีน
 

นอกจากนี้ในที่ประชุมยังมีการหารือกันถึงสัตว์ป่าที่เป็นตัวชี้วัดในพื้นที่มรดกโลก เช่น จระเข้น้ำจืด วัวแดง และเสือ โดยนายทรงธรรม กล่าวว่า การที่ศูนย์มรดกโลกแจ้งในประเด็นเหล่านี้มา เพื่อให้เกิดความตระหนักในเรื่องเหล่านี้ แต่จากการติดตามข้อมูลของกรมอุทยานฯ พบว่าประชากรของสัตว์ป่าเหล่านี้มีจำนวนเพิ่มขึ้น แม้ในพื้นที่ก่อสร้างเขื่อนบริเวณน้ำท่วมถึง มีการตรวจพบร่องรอยของเสือโคร่ง และกระทิง ทั้งนี้หากมีการก่อสร้างเขื่อนแล้วเสร็จจะผนวกพื้นที่เพิ่มมาให้กรมอุทยานฯ 1.2 หมื่นไร่ จากที่เสียพื้นที่มรดกโลกไป 2,000 ไร่  ซึ่งทางกรมต้องมีมาตรการในการดูแลพื้นที่เพิ่มมากขึ้น  อย่างไรก็ตามในพื้นที่กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ยังมีข่าวดีคือทีมวิจัยของกรมอุทยานฯ พบวังจระเข้ประมาณ10 วัง  พร้อมรอยเท้า และมูลจระเข้ นอกจากนั้นในอนาคตทางกรมอุทยานฯ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีโครงการที่จะนำจระเข้น้ำจืดไปปล่อยเพิ่มเติมในพื้นที่ด้วย 


“ประเด็นหลักที่น่าเป็นห่วงที่สุดในขณะนี้ คือประเด็นการลักลอบตัดไม้พะยูงในพื้นที่  ที่อาจจะทำให้มรดกโลกดงพญาเย็น-เขาใหญ่ถูกจัดสถานะเข้าไปอยู่ในบัญชีภาวะเสี่ยงคุกคาม ซึ่งจากนี้กรมอุทยานฯ อาจจะต้องมียุทธการป้องกันและปราบปรามการลักลอบตัดไม้พะยูงในพื้นที่มรดกโลก  รวมทั้งสิ่งที่เราได้ดำเนินการไปแล้วซึ่งมีหลักฐานชัดเจนทั้งภาพถ่ายและวิดีโอว่ามีกองกำลังติดอาวุธเข้ามาลักลอบตัดไม้พะยูงในพื้นที่ของไทย ซึ่งจะส่งหลักฐานเหล่านี้ชี้แจงต่อคณะกรรมการมรดกโลกต่อไป   รวมทั้งจะต้องมีการหารือแนวทางการแก้ไขปัญหาร่วมกับประเทศสมาชิกอื่นๆ ทั้งลาว กัมพูชา และจีน เพื่อแก้ปัญหาเรื่องนี้ด้วย  โดยกรมอุทยานฯ ต้องรวบรวมข้อมูลทั้งหมดส่งกลับไปยัง สผ. เพื่อส่งรายงานไปยังศูนย์มรดกโลก ประเทศฝรั่งเศสภายในวันที่ 15 พ.ค.นี้   นอกจากนั้นหัวหน้าหน่วยงานภาคสนามทั้ง 5 พื้นที่ จะเดินทางไปร่วมประชุมคณะกรรมการมรดกโลกครั้งที่ 37 ที่ประเทศกัมพูชา เพื่อชี้แจงในประเด็นต่างๆ ด้วย ”นายทรงธรรม กล่าว


 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า  สำหรับการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกครั้งที่ 37 ที่ประเทศกัมพูชา จะมีการรายงานสถานะการอนุรักษ์มรดกโลกทางธรรมชาติ 32 แห่ง มรดกโลกทางธรรมชาติและวัฒนธรรม 3 แห่ง และมรดกโลกทางวัฒนธรรม 66 แห่งจากทั่วโลก  อย่างไรก็ตามสำหรับประเด็นที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทยคือการรายงานสถานะการอนุรักษ์พื้นที่มรดกโลกดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ส่วนประเด็นประสาทพระวิหารซึ่งกัมพูชาได้นำไปขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกก่อนหน้านี้ ทางกัมพูชาซึ่งเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกครั้งที่ 37 ยืนยันว่าจะไม่นำวาระเกี่ยวกับปราสาทพระวิหารเข้าพิจารณาในที่ประชุมครั้งนี้

กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...