ภราดร-ทวีชื่นมื่น เจรจามาราธอน ร่วมโต๊ะกินมื้อค่ำ
เลขาฯสมช.-ศอ.บต.นำถกลับ 5 แกนนำบีอาร์เอ็น-พูโล บนโต๊ะเจรจาประวัติศาสตร์ครั้งที่ 2 บรรยากาศเป็นกันเองมีพักกินมื้อค่ำสร้างความสัมพันธ์ด้วย ท่ามกลางการรักษาความปลอดภัยเข้มงวดสูงสุดของทางการมาเลย์ ในฐานะผู้อำนวยความสะดวก ปกปิดทั้งเวลาและสถานที่ ท่ามกลางสื่อมวลชนสำนักใหญ่จากทั่วโลกตามเกาะติดสถานการณ์
เมื่อเวลา 07.00 น. วันที่ 28 มี.ค. ร.ต.ต. สมพร สุขอนันต์ ร้อยเวรสภ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส รับแจ้งมีเหตุระเบิดทหารพรานบนถนนเลียบทางรถไฟสายเจาะไอร้อง-บูกิต บ้านเจาะเกราะ ม.1 ต.บูกิต ห่างจากสภ.เจาะไอร้อง ประมาณ 900 เมตร รุดไปตรวจสอบพร้อมด้วย พ.ต.อ.สุชาติ สะอิ ผกก.สภ.เจาะไอร้อง พ.ท.อิศรา จันทะกระยอม รองผบ.กรมทหารพรานที่ 48 พบเสาไฟฟ้าริมถนนหักโค่นขวางถนน ทหารเสียชีวิต 2 นาย คือ อส.ทพ.ธีระฉัตร สีน้ำเงิน อส.ทพ.พรชัย โพธิ์เงิน ถูกสะเก็ดระเบิดพรุนทั้งร่าง ในที่เกิดเหตุพบเศษชิ้นส่วนระเบิดแสวงเครื่องประกอบในถังแก๊สปิคนิคหนัก 25 ก.ก. จุดชนวนด้วยวิทยุสื่อสาร กระจายเกลื่อน ส่วนทหารพรานที่บาดเจ็บอีก 5 นายถูกนำส่งร.พ.เจาะไอร้อง
ต่อมาเจ้าหน้าที่เสียชีวิตเพิ่มเติมอีก 1 นายที่ร.พ. คือ อส.ทพ.สังคม เมืองฮุง สำหรับรายชื่อผู้บาดเจ็บมีดังนี้ อส.ทพ.สุนันต์ ศรีสุข อส.ทพ.กิตติ โกมาลย์ อส.ทพ.บูรพา เนินทราย อส.ทพ.บุง วงศ์ใหญ่ และส.ท.ธวัชชัย ขำเหนียว หัวหน้าชุด ทั้งหมดถูกส่งไปรักษาต่อที่ร.พ.นราธิวาสราชนครินทร์
สอบสวนส.ท.ธวัชชัยทราบว่า ก่อนเกิดเหตุคืนที่ผ่านมานำกำลัง 12 นาย ออกจากฐานในวัดเจาะไอร้องไปคุ้มครองหมู่บ้าน เมื่อถึงที่เกิดเหตุซึ่งเป็นบ้านเกิดของนายมะแซ อุเซ็ง แกนนำสำคัญของกลุ่มก่อความไม่สงบผู้ต้องหาบุกปล้นปืนค่ายทหารเมื่อปี 2547 คนร้ายไม่ทราบจำนวนแฝงตัวในป่าสวนยางพารารกทึบ ใช้วิทยุสื่อสารจุดชนวนระเบิดถังแก๊สปิคนิคใต้โคนเสาไฟฟ้าริมทาง เป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ที่เดินเท้าลาดตระเวนเสียชีวิตและบาดเจ็บ
วันเดียวกันผู้สื่อข่าว "ข่าวสด" รายงานจากประเทศมาเลเซียว่า เวลา 08.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น ที่ห้องประชุมเล็ก โรงแรม เจดับบลิว แมริออต กรุงกัวลาลัมเปอร์ คณะ ผู้แทนเจรจาด้านสันติภาพฝ่ายไทยประชุมกันเป็นการภายใน เพื่อเตรียมความพร้อมและกำหนดประเด็นการเจรจากับแกนนำกลุ่ม บีอาร์เอ็น ในเวลา 10.00 น. ประกอบด้วย พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสมช. พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศอ.บต. พล.อ. นิพัทธ์ ทองเล็ก รองปลัดกระทรวงกลาโหม นายอภินันท์ ซื่อธานุวงศ์ ผวจ.นราธิวาส พล.ต.ท.สฤษฎ์ชัย เอนกเวียง ผบช.สันติบาล พล.ต.นักรบ บุญบัวทอง รองผอ.ศูนย์ประสานงานที่ 5 กอ.รมน. พล.อ.สำเร็จ ศรีหร่าย ที่ปรึกษารมว.กลาโหม นายอาซิส เบ็ญหาวัน ประธานสภาที่ปรึกษาศอ.บต. นายศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผอ.ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
พล.ท.ภราดร หัวหน้าตัวแทนฝ่ายไทยกล่าวว่า กรอบการพูดคุยครั้งนี้อยู่ที่ประเด็นหาวิธีลดเหตุความรุนแรง เน้นรับฟังความเห็นของฝ่ายบีอาร์เอ็นมากกว่าที่ฝ่ายเราจะเป็น ผู้เสนอมาตรการอะไร เพื่อให้เกิดความไว้วางใจซึ่งกันและกันเป็นสำคัญ ส่วนฝ่ายบีอาร์เอ็นจะขึ้นโต๊ะเจรจากี่คนยังไม่ทราบแน่ชัด แต่ตอนแรกวางไว้ 15 คน ฝ่ายเรามา 9 คน แต่พอจะทราบมาว่าฝ่ายบีอาร์เอ็นจะมาทั้งหมด 5 คน โดยนายฮัสซัน ตอยิบ แกนนำกลุ่มบีอาร์เอ็น โคออร์ดิเนต พร้อมแกนนำกลุ่มอีก 2 คน และกลุ่มพูโล อีก 2 คน รวมเป็น 5 คน ถ้าเป็นอย่างนี้ฝ่ายเราก็จะขึ้นโต๊ะเจรจา 5 คนเท่ากัน
ผู้สื่อข่าวถามว่ากังวลหรือไม่หากบีอาร์เอ็นยื่นข้อเสนอที่อ่อนไหว เลขาธิการสมช.กล่าวว่า ไม่กังวล เพราะการลงนามครั้งแรกเมื่อ 28 ก.พ.ที่ผ่านมา ได้ลงนามภายใต้รัฐธรรมนูญไทยแล้ว สัญญาณดีอย่างหนึ่งคือฝ่ายบีอาร์เอ็นทำให้เห็นว่าพวกเขาหารือกันภายในมาแล้ว ถึงส่งตัวแทนมาพูดคุยต่อครั้งนี้ ส่วนที่ยังมีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นในพื้นที่นั้น เป็นเรื่องธรรมดาระหว่างการดำเนินกระบวนการสันติภาพ เพราะเหตุรุนแรงมีทั้งที่เกิดจากบีอาร์เอ็นและกลุ่มอื่นที่พยายามสร้างสถานการณ์ เป็นเรื่องธรรมดา แต่ยืนยันว่าในฐานะหัวหน้าคณะยังไม่เคยได้รับข้อมูลเกี่ยวกับข้อเรียกร้องใดๆ เลย
"ถ้าการพูดคุยครั้งนี้ ผ่านความไว้วางใจต่อกันไปได้ จะเป็นก้าวแรกของการหาวิธีลดเหตุความรุนแรง ประเด็นสำคัญอื่นๆ จะตามมา ทั้งเรื่องการศึกษา หรือเศรษฐกิจ ส่วนตัวเชื่อว่าจะนำไปสู่การได้พบและพูดคุยกับแกนนำระดับสูงของกลุ่มขบวนการได้ หากการเจรจามีความเข้าใจในประเด็นที่วางไว้ร่วมกัน ฝ่ายนโยบายอย่างผมคงไม่จำเป็นต้องมาเจรจาเอง บ่อยๆ ฝ่ายปฏิบัติการในพื้นที่ก็สามารถทำงานเองได้" เลขาฯ สมช.กล่าว
ด้านนายอาซิสกล่าวว่า ในฐานะตัวแทนร่วมเจรจา สิ่งที่คาดหวัง คือ อยากเห็นข้อเรียกร้องของฝ่ายบีอาร์เอ็นว่าต้องการอะไร มีเรื่องไหนที่สร้างความไม่พอใจ ให้ชี้แจงมาว่ารัฐไทยได้กระทำอะไรกับเขาไว้บ้าง หลังจากนั้นอาจจะแลกเปลี่ยนว่าทางการไทยสามารถลดการใช้อำนาจรัฐต่างๆ ในพื้นที่ได้บ้างหรือไม่
ขณะที่นายศรีสมภพกล่าวว่า ทราบว่าการเจรจาครั้งนี้มีกลุ่มขบวนการอื่นๆ นอกจาก บีอาร์เอ็นและพูโล อยากเข้าร่วมเจรจาด้วย เราหวังว่าหากความไว้วางใจเกิดขึ้นในครั้งนี้ จะเป็นก้าวแรกที่สังคมจะเห็นความชัดเจนของกลุ่มต่างๆ มากขึ้น และเห็นได้ว่าช่วงนี้เหตุรุนแรงขนาดใหญ่ในพื้นที่เกิดขึ้นน้อยลง โดยเฉพาะเหตุรุนแรงในลักษณะหลายสิบจุดพร้อมๆ กัน แต่ระยะหลังกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงเน้นก่อวินาศกรรมเขตเมือง เข้าใจว่าเป็นยุทธวิธีที่ทำได้ง่ายและส่งผลทางจิตวิทยาสูง หลังจากนี้อยากเสนอให้ตั้งผู้แทนของทั้ง 2 ฝ่าย ทั้งรัฐบาลไทย และกลุ่มผู้เห็นต่าง ได้ตรวจสอบเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นร่วมกัน
ส่วนพล.อ.นิพัทธ์กล่าวว่า รูปแบบของการพูดคุยจะมีดะโต๊ะซัมซามีน อดีตผอ.สำนักข่าวกรองประเทศมาเลเซีย ที่ได้รับมอบหมายจากทางการมาเลเซีย ทำหน้าที่ผู้อำนวยความสะดวกในการพูดคุย จะนั่งตรงกลางของทั้งสองฝ่ายเจรจา คือ ฝ่ายรัฐบาลไทย กับฝ่ายขบวนการ ต้องเข้าใจบทบาทของเขาว่าต่างกับการเป็นแชร์แมน (ประธานหัวโต๊ะ) ประเด็นต่างๆ ไม่ว่าทั้ง 2 ฝ่ายจะตกลงกันได้หรือไม่ได้ ดะโต๊ะซัมซามีนไม่มีสิทธิชี้นำ เพราะถือเป็นเรื่องทวิภาคี
รองปลัดกระทรวงกลาโหมกล่าวต่อว่า ภายหลังการพูดคุยอย่างเป็นทางการ จะมีแถลงการณ์ออกมา 3 ภาษา คือ ภาษาไทย มลายู และอังกฤษ เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องตรงกัน สำหรับประเด็นหลักที่จะพูดคุย คือทำอย่างไรที่จะลดความรุนแรงในพื้นที่ลงให้ได้ จะคุยทั้งในแง่วิธีการและเป้าหมาย
ต่อมาเวลา 10.00 น. เจ้าหน้าที่สันติบาลมาเลเซีย เดินทางมารับคณะฝ่ายไทย 9 คน ไปที่โรงเรียนตำรวจ เพื่อพูดคุยกับฝ่ายขบวนการตามนัดหมาย ส่วนผู้ติดตามที่เหลือทางการมาเลเซียไม่อนุญาตให้ร่วมคณะไปด้วย ทั้งนี้หากการเจรจาไม่ยืดเยื้อ พล.ท. ภราดร และคณะจะกลับมาแถลงข่าวที่โรงแรมเวลา 16.00 น. ขณะที่บรรยากาศบริเวณโรงแรมมีสื่อมวลชนทั้งไทย มาเลเซีย และต่างชาติมารอทำข่าวจำนวนมาก อาทิ สำนักข่าวอัลจาซีรา และเอเอฟพี
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กำหนดเดิมการเจรจาจะเริ่มเวลา 10.00 น. แต่ได้ปรับเวลาใหม่เป็นช่วงบ่าย เนื่องจากสันติบาลมาเลเซียใช้มาตรการรักษาความปลอดภัยกับคู่เจรจาทั้งสองฝ่ายอย่างเข้มงวด โดยไม่เปิดเผยสถานที่และเวลาแน่ชัด ขณะที่สื่อมวลชนทั้งไทยและต่างประเทศต่างใช้ความพยายามตระเวนไปตามสถานที่สำคัญ ทั้งโรงเรียนฝึกตำรวจ กรมทหาร ทำเนียบรัฐบาลมาเลเซีย และอื่นๆ ทั่วกรุงกัวลาลัมเปอร์ เพื่อหาสถานที่ที่คาดว่าจะใช้เป็นที่เจรจาระหว่างฝ่ายไทยกับฝ่ายขบวนการแยกดินแดน แต่ไม่ประสบความสำเร็จ
อย่างไรก็ตามมีรายงานข่าวแจ้งว่า ช่วงเวลาประมาณ 18.00 น. คณะเจรจาทั้ง 2 ฝ่ายหยุดพักเพื่อรับประทานอาหารเย็นร่วมกัน เพื่อสร้างความผ่อนคลายและความไว้วางใจต่อกัน ก่อนหารือต่อในช่วงค่ำ โดยไม่มีกำหนดเวลาแน่ชัดว่าการพูดคุยในวันนี้จะจบลงเวลาใด
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า เวลาประมาณ 21.00 น. คณะเจรจาทั้งสองฝ่ายยังรับประทานอาหารร่วมกันภายในสถานที่ลับเฉพาะ รวมเวลาการพูดคุยล่วงเลยเกิน 6 ช.ม.