"ทวีศักดิ์ ตู้จินดา" ไขปริศนา อะไรเอ่ย..ข่าวใหญ่ พุธ 20 มีนาคม

 

เมื่อวันที่ 15 มีนาคม พล.ต.ท.ทวีศักดิ์ ตู้จินดา ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำกรุงเทพมหานคร(กกต.กทม.) ให้สัมภาษณ์ “มติชน” กรณีการพิจารณาคำร้องผลการเลือกตั้งผู้ว่า กทม. ซึ่ง พล.ต.ท.ทวีศักดิ์ ออกมาระบุว่าวันที่ 20 มีนาคม จะเชิญทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องพร้อมสื่อสวนชนเข้ามาให้ข้อมูลและวันดังกล่าวจะมีข่าวใหญ่พาดหัวหนังสือพิมพ์ทุกฉบับ

 


- อะไรคือข่าวใหญ่ในวันที่ 20 มีนาคม

 


เราจะมีการประชุมสรุปรวมเรื่องร้องเรียนที่ทั้งหมดเกี่ยวข้องกับ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้สมัครผู้ว่า กทม.พรรคประชาธิปัตย์ ที่ได้คะแนนเสียงมาเป็นอันดับ 1 จำนวน 9 เรื่อง เป็นคำร้องทั้งก่อนและหลังการเลือกตั้ง ซึ่งผ่านไปแล้ว 4 เรื่อง และอีก 5 เรื่องคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในวันที่ 20 มีนาคม การสรุปคำร้องต่างๆนั้นจะทำให้รู้ทิศทางและสามารถประเมินได้ว่าอนาคตของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ จะเป็นอย่างไร เป็นทิศทางที่ กกต.กลางจะสามารถรับรอง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ได้หรือไม่

 

สำหรับแนวทางการสรุปคำร้องเรียนมีอยู่ว่า กฎหมายว่าอย่างไร องค์ประกอบเป็นอย่างไร คำร้องมีอะไรบ้างก็ว่าไปตามนั้น นอกจากนี้ยังต้องดูหลักฐานประกอบคำร้องด้วย ซึ่งต้องดูหลายๆอย่างมาประกอบกัน เช่น  หลักฐานมีความความสอดคล้องกับคำร้องด้วยหรือไม่ ในวันที่ 20 มีนาคม ก็จะได้รู้กัน

 


- มีคำร้องใดบ้างที่อาจเป็นภัยต่อ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์

 


มีอยู่ 2 คำร้อง คือ 1. เป็นคำร้องจากผู้ที่อ้างตัวว่าเป็นผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง ซึ่งเราทราบว่าอยู่ฝ่ายไหน เขาร้องกรณีการหาเสียงของพรรคประชาธิปัตย์ ที่มีการใส่ร้ายป้ายสีฝ่ายตรงข้าม นั้นก็คือทางพรรคเพื่อไทย 2. คำร้องจากนายเรืองไกร ลีกิวรรณะ อดีต สว.สรรหา ที่ขอให้ตรวจสอบใน 3 ประเด็น คือ 1. การที่นายศิริโชค โสภา ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ภาพและข้อความผ่านเฟซบุ๊คเกี่ยวกับการเผาบ้านเผาเมือง 2. การที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ปราศรัยว่า “อภิสิทธิ์เบอร์อะไร... (16) ประชาธิปัตย์เบอร์อะไร... (16)” และ 3. การที่นายเสรี วงศ์มณฑา โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กว่า “ใครก็ตามที่ไม่ต้องการให้เพื่อไทยยึดครองกรุงเทพ ปราการด่านสุดท้ายที่เหลืออยู่ เราต้องถามตัวเองว่าจะลงคะแนนให้ใครที่จะทำให้พงศพัศไม่ได้เป็นผู้ว่า คำตอบก็คือคุณชายสุขุมพันธุ์หมายเลข 16” อย่างไรก็ตามทั้ง 2 คำร้องดังกล่าว กกต.กทม.ต้องดูให้ละเอียดและมีความรอบคอบก่อนที่จะสรุปออกมา

 


- เปิดเผยได้หรือไม่ว่าฝ่ายที่เกี่ยวข้องที่จะเข้ามาให้ข้อมูลประกอบด้วยใครบ้าง

 


จริงๆเรื่องนี้ผมก็อยากให้ข่าว เพียงแต่ว่าให้ไม่ได้จริงๆ ไม่ควรพูด เพราะหากพูดไปแล้วสื่อมวลชนเอาไปเดาต่อ ก็จะเกิดผลเสีย เอาเป็นว่าเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องในการหาเสียงของพรรคประชาธิปัตย์  หรือผู้ที่มีชื่อปรากฏอยู่ในคำร้องต่างๆ ส่วนคุณชายสุขุมพันธุ์นั้น ไม่จำเป็นต้องเชิญ เพราะท่านไม่ได้หาเสียงใส่ร้ายใคร อย่างไรก็ตามเราไม่ได้เชิญฝ่ายประชาธิปัตย์อย่างเดียว เพราะมีคำร้องเกี่ยวกับฝ่ายตรงข้ามด้วย ก็ต้องเชิญเขามาด้วย ทุกฝ่ายที่ดูแล้วอาจจะมีปัญหาเราก็เชิญหมด ซึ่งเรื่องนี้ผมกำชับเจ้าหน้าที่ไปตั้งแต่เมื่อวันที่ 14 มีนาคมแล้ว

 


- การเป็นตำรวจเหมือนกับ พล.ต.อ.พงศ์พัฒน์ พงศ์เจริญ ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย ทำให้หลายฝ่ายเป็นห่วงว่าจะเอนเอียง

 


  แสดงว่าเขาไม่รู้จัก“ทวีศักดิ์ ตู้จินดา” ผมไม่เข้าใครออกไปใครหรอก รักใครชอบใครได้ แต่การทำหน้าที่ต้องไร้อารมณ์ ถูกคือถูกผิดคือผิด ตั้งแต่ทำงานมาผมทะเลอะกับนายมาตลอด ไม่งั้นได้เป็นพลเอกนานแล้ว ผมยืนยันว่าเป็นกลางแน่นอน สามารถตรวจสอบได้ ไม่มีล้ำเส้นไปฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแน่

 


- อย่างทราบความเห็นส่วนตัวกรณีการหาเสียงของ ปชป.

 


 การหาเสียงเขามีกฎหมายบังคับไว้แล้ว มาตรา 57 ห้ามมิให้ผู้สมัครหรือ ผู้ใดกระทำการ เพื่อจูงใจผู้มีสิทธิเลือกตั้งให้ลงคะแนนเลือกตั้งให้แก่ตนเอง หรือผู้สมัครอื่น หรือให้งดเว้นการลงคะแนนเลือกตั้ง ให้แก่ผู้สมัครใดด้วยวิธีการ คือ (1) จัดทำ ให้ เสนอให้ สัญญาว่าจะให้ หรือจัดเตรียมเพื่อจะให้ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้แก่ผู้ใด (2) ให้ เสนอให้ หรือสัญญาว่าจะให้เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดไม่ว่าโดยทางตรง หรือทางอ้อมแก่ชุมชน สมาคม มูลนิธิ วัด สถาบันการศึกษา สถานสงเคราะห์ หรือสถาบันอื่นใดที่คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา (3) ทำการโฆษณาหาเสียงเลือกตั้งด้วยการจัดให้มีมหรสพหรือการรื่นเริงต่าง ๆ (4) เลี้ยงหรือรับจะจัดเลี้ยงผู้ใด (5) หลอกลวง บังคับ ขู่เข็ญ ใช้อิทธิพลคุกคาม ใส่ร้าย หรือจูงใจให้เข้าใจผิดในเรื่องใดอันเกี่ยวกับผู้สมัครใด

 กฎหมายระบุชัดเจนแล้ว ก็ไปดูเอาเองว่า การหาเสียงของ ปชป.ผิดกฎหมายหรือไม่  แม้ผู้สมัครจะไม่ได้ทำด้วยตัวเอง แต่หากได้รับผลประโยชน์ ก็ต้องรับโทษด้วย อย่างไรก็ตามกรณีการกล่าวปราศรัยโจมตีฝ่ายตรงข้ามในการเลือกตั้งนั้น มีกรณีเทียบเคียงด้วยเหมือนกัน แต่ผมไม่สามารถยกตัวอย่างได้ เพราะหากยกตัวอย่างขึ้นมาแล้ว ก็จะเกิดปัญหาทันที  แต่บอกกฎหมายไปแล้ว ก็ไปคิดเอาเอง เรียกตรงๆว่าผู้สมัครแม้ไม่ได้กระทำความผิดเอง  แต่ตัวเองได้รับประโยชน์ก็โดน แต่ทั้งหมดก็ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของ กกต.กลาง ว่าจะเข้าข่าย มาตรา 57 (5) หรือไม่

กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...