"สุกรี อีแต" นักเตะดังโวยถูกโยงแนวร่วมโจรใต้ - บิ๊กจิ๋วหนุนเจรจาบีอาร์เอ็น

 

วันที่ 9 มี.ค. นายอรรณพ สิงห์โตทอง รองประธานสโมสรชลบุรี เอฟซี กล่าวถึงกระแสข่าวของนสพ.บางฉบับ ที่ระบุว่านายสุกรี อีแต นักฟุตบอลของสโมสร ซึ่งเป็นชาวจ.นราธิวาส เป็นแกนนำในกลุ่มก่อความไม่สงบ ว่า น่าเป็นเรื่องเข้าใจผิด เพราะจากการตรวจสอบจากทะเบียนราษฎร์ มีคนใช้ชื่อนี้ 3 คน จึงอยากชี้แจงว่านายสุกรีที่เป็นนักฟุตบอลของเราไม่เกี่ยวข้อง ซึ่งได้กำชับให้ลูกทีมมีสมาธิกับการฝึกซ้อม 

 ด้านนายสุกรี กล่าวว่า ช็อกกับข่าวที่ออกมาเป็นอย่างมาก และเครียดจนกินอะไรไม่ได้ ทำอะไรไม่ถูก ตนยังไม่ได้บอกที่บ้าน เนื่องจากแม่ไม่ค่อยสบาย เกรงว่าข่าวนี้จะกระทบต่อสุขภาพ ที่สำคัญตนไม่เคยยุ่งเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้เลย แต่จู่ๆ มีชื่อและนามสกุลของตนออกผ่านหน้าสื่อ เรื่องนี้ร้ายแรงมากมีผลต่อชีวิตนักเตะของตนเลยทีเดียว และทำให้ชีวิตตนมีปัญหา อย่างในวันที่ 14 มี.ค.ที่มีแผนจะไปร่วมงานแต่งงานเพื่อน ที่จ.นราธิวาสต้องยกเลิก 

 เวลา 10.00 น. ที่อาคารหอประชุมบรมราชกุมารี สำนักงานคณะกรรมการอิสลาม ประจำจังหวัดนราธิวาส ตัวแทนพลังมวลชน ในพื้นที่ทั้ง 13 อำเภอ ของ จ.นราธิวาส กว่า 1,000 คน รวมตัวกันถือธงชาติและป้ายผ้าเขียนข้อความเป็นภาษาไทย ในการเดินรณรงค์เพื่อต่อต้านความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ จ.นราธิวาส เพื่อกระตุ้นให้พี่น้องประชาชนร่วมมือกับทางการ ในการแก้ไขปัญหาความไม่สงบ ซึ่งสร้างความสูญเสียตลอด 9 ปี แล้วกว่า 5,500 คน บาดเจ็บกว่า 8,900 คน โดยมีนายสามารถ วราดิศัย รอง ผวจ.นราธิวาส พล.ต.ต.วิชัย เกษมวงศ์ ผบก.ภ.จ.นราธิวาส พล.ต.พิสิทธิ์ สิทธิสาร ผบ.ฉก.นราธิวาส น.อ.สมเกียรติ ผลประยูร ผบ.ฉก.นย.ภาคใต้และนายซาฟาอี เจ๊ะเลาะ ปธ.คณะกรรมการอิสลาม จ.นราธิวาส ร่วมกันเป็นสักขีพยาน

 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การรวมตัวของพลังมวลชนครั้งนี้ มีการสอบถามถึงการลงนามข้อตกลงที่จะพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อนำไปสู่สันติสุข ระหว่าง พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาสมช. กับนายฮัสซัน ตอยิบ หรือ นายอาแซ เจ๊ะหลง รอง เลขาธิการกลุ่มบีอาร์เอ็นแล้ว แต่เหตุการณ์ภาคใต้ยังไม่สงบ ซึ่งเจ้าหน้าที่ชี้แจงว่าเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ที่ทุกฝ่ายต้องหาข้อยุติ จะให้สงบโดยเร็วคงเป็นไปไม่ได้ 

 นายกอรี เปาะดิง ผญบ. ม.7 บ้านกูแบบาเดาะ ต.มะรือโบออก อ.ระแงะ  จ.นราธิวาส กล่าวถึงการจัดกิจกรรม ว่า รู้สึกดีที่มีการจัดกิจกรรมนี้ขึ้นมา เพราะถือเป็นการเปิดโอกาสให้พลังมวลชนส่วนใหญ่ได้แสดงออก เพราะจากความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในพื้นที่นั้นส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับการกระทำของกลุ่มผู้ไม่หวังดี และอยากเรียกร้องให้ยุดการกระทำที่ทำร้ายผู้อื่น  นอกจากนี้อยากเรียกร้องให้มีการออกมาแสดงตัวเพื่อที่จะเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมกันด้วย

  ที่จ.สงขลา พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลพยายามพูดคุยเจรจาสันติภาพกับกลุ่มบีอาร์เอ็น ว่า ถือเป็นก้าวแรกและจุดเริ่มต้นในการสร้างความเข้าใจ และความไว้วางใจซึ่งกันและกัน โดยค่อยๆพูดคุยกันกับขบวนการแต่ละกลุ่ม แต่ละพวก สุดท้ายจะต้องไปสู่เป้าหมายเดียวกัน ขอเพียงหาจุดเริ่มต้นในการเจรจาให้ได้เท่านั้นเอง โดยในวันที่ 28 มี.ค.ที่จะมีการเจรจา และลงนามสันติภาพร่วมกันนั้น ขอให้ทุกคนมองในแง่มุมดี และช่วยกันเป็นกำลังใจให้ทุกอย่างสำเร็จลุล่วง ซึ่งนายฮัสซัน ตอยิบ เป็นผู้นำอาวุโสและเป็นคนที่มีบาทบาท และยังมีความสำคัญของขบวนการ ส่วนกระแสข่าวที่จะตั้งตนเป็นที่ปรึกษาด้านความมั่นคง ยังไม่ได้รับการติดต่อใดๆจากรัฐบาล

  ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศอ.บต. เป็นประธานรับฟังความคิดเห็นในการจัดตั้งองค์กรมหาชนเพื่อรับผิดชอบด้านการส่งเสริมการฟื้นฟูชุมชนท้องถิ่นในการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีเครือข่ายภาคประชาสังคม กว่า 120 คนร่วมรับฟังความคิดเห็น 

 พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า เวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งนี้ มีภาคประชาสังคมหลายภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหาร และกำหนดทิศทางการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างเป็นเอกภาพ ซึ่งแสดงถึงความร่วมมือร่วมใจในการแก้ไขปัญหา โดยอาศัยกระบวนการพัฒนาที่กำหนดให้ภาคประชาชนเป็นตัวนำมีภาครัฐ ภาคเอกชน หน่วยงานราชการให้การสนับสนุน ซึ่งศอ.บต.มีหน้าที่ในการเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรม จารีตประเพณี เพื่อสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างภายในและภายนอกประเทศ ประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ต้องได้รับการพัฒนาทางด้านการศึกษา การพัฒนาทางด้านเฉพาะกิจ การบริหารพื้นที่ครอบคลุมทางด้านการเมือง สังคม เศรษฐกิจ สาธารณสุข จิตวิทยา เทคโนโลยี และในด้านอื่นๆ โดยเน้นย้ำความสำคัญของการให้ประชาชนทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดตั้งพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะถือว่าประชาชนในฐานะเจ้าของพื้นที่จะต้องมีส่วนร่วมในการออกแบบกระบวนการ แนวทางการพัฒนาพื้นที่ของตนเอง ซึ่งการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากในการจัดตั้งองค์กรมหาชนเพื่อรับผิดชอบด้านการส่งเสริมการฟื้นฟูชุมชนท้องถิ่นในการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ในครั้งนี้เป็นการดำเนินการมีความสำคัญอย่างยิ่งในการสนองตอบต่อการส่งเสริมและสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนที่เป็นรูปธรรมอย่างแท้จริง ผ่านกระบวนการจัดตั้งสถาบันหรือองค์การภาคประชาชนที่ให้ทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมกันบริหาร ร่วมกันจัดการ และร่วมกันกำหนดทิศทางการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...