สำรวจวิวาทะ "บัณฑิตอาสาสมัคร" ม.ธรรมศาสตร์ ว่าด้วยวิทยากรเสื้อแดง

 

หมายเหตุ : หลังจากกำหนดการเสวนาสาธารณะหัวข้อคนรุ่นใหม่กับการสร้างสังคมที่เป็นธรรม ที่จะมีขึ้นในวันที่ 13 มี.ค. นี้ จัดโดยเพื่อนพ้องบัณฑิตอาสาสมัคร และสำนักบัณฑิตอาสาสมัคร หรือ ส.บอ. ที่ห้องประชุมห้องบุญชู โรจนเสถียร ชั้น 3 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ออกเผยแพร่ในพื้นที่ออนไลน์ หรือโซเชี่ยลมิเดีย จึงเกิดวิวาทะเผ็ดร้อนตามมาต่อมุมมองการเลือกวิทยากร อาทิ นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ น.ส.เพียงคำ ประดับความ นายอุเชนทร์ เชียงเสน และ น.ส.ณาตยา แวววีรคุปต์ 
 
 มีผู้แสดงความเห็นใช้ชื่อเฟสบุ๊กว่า Varong Rungrujipaisarn หรือ วรงค์ รุ่งรุจิไพศาล บัณฑิตอาสาสมัครรุ่น 8 ที่ปรึกษามูลนิธิรากแก้ว บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย วิจารณ์วิทยากรทั้ง 3 คนแรก ว่าเป็นคนเสื้อแดง และรู้สึกหนักใจในการเชิญทั้ง 3 คนนี้มาอภิปราย
 
 “ข่าวสดออนไลน์” เห็นหลายประเด็นในวิวาทะน่าสนใจและสะท้อนให้เห็นถึงความขัดแย้งทางการเมืองที่ขยายไปทุกหย่อมหญ้า จึงหยิบยกมาเผยแพร่ต่อดังนี้
 
-----------------
 
 วรงค์ รุ่งรุจิไพศาล : นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ อาสาสมัครคณะรณรงค์แก้ไขมาตรา 112 ครก.กล่าวว่า กลุ่มนี้ได้ก่อตั้งอย่างเป็นทางการเมื่อช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมา เพื่อล่ารายชื่อในการยกเลิกมาตรา 112 ซึ่งขณะนี้ก็ได้รายชื่อพอสมควร และคาดว่าจะต้องรายชื่อ 1 หมื่นรายชื่อ ภายในเวลา 112 วัน มีหลายกลุ่มที่ยังคงไม่เห็นด้วยในการที่จะยกเลิกมาตรา 112 ซึ่งบางคนเห็นว่าทางกลุ่มของพวกตนนั้นไม่เคารพสถาบันพระมหากษัตริย์นั้น ไม่เป็นความจริง เพราะเป็นเพียงการเสนอความคิด และหากใครไม่เห็นด้วยอย่างไรก็นำเหตุผลมาคุยกันได้
 
 อุเชนทร์ เชียงเสน ได้เขียนบันทึก บันทึกเมษา-พฤษภา 53 สำหรับการเคลื่อนไหวของ “คนเสื้อแดง”นั้น ผู้เขียนได้เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องในหลายฐานะ คือ 1) ในฐานะของนักศึกษาขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม ที่พยายามติดตามและศึกษาขบวนการเคลื่อนไหว-ไม่เฉพาะการเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดงเท่านั้น-ในมิติต่างๆ รวมทั้งประเด็นข้อเถียงที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากเห็นว่า ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม-ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่ก็ตาม-เป็นปรากฎการณ์ที่สะท้อนปัญหาและเป็นพลังที่สำคัญที่จะผลักดันสังคมการเมืองไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่ง2)ในฐานะผู้สนับสนุนและเห็นอกเห็นใจคนเสื้อแดง
 
 กวีคนสวย เพียงคำ ประดับความ กำลังเปิดวิวาทะกับท่านเนาวรัตน์พงษ์ไพบูลด้วยบทกวีต่อไปนี้
 
@แม้มาสายเขาว่าซ้ายไร้เดียงสา
ก็รู้ว่าควรหยัดยืนขึ้นตัวตั้ง
ซ้ายเลียตีนศักดินานั้นน่าชัง
ชรากลับคลั่งฝ่ายขวาน่าเศร้าใจ
@เมื่อหนุ่มสาวมีหัวใจให้คนยาก
รับรู้รส ความลำบาก ไม่หวั่นไหว
เมื่อแก่ตัว ร่ายกวี แล้งน้ำใจ
ศพคนตาย เกลื่อนถนน ไม่ยลยิน
@เพลงขลุ่ยผิว เหนือทุ่งข้าว นั้นเศร้านัก
ลืมทุกข์ยาก ชาวนาไร่ ไปหมดสิ้น
กวีใหญ่ อหังการ เขียนแผ่นดิน
แต่บอดใบ้ ไม่ได้ยิน เสียงปืนดัง!!!
 
บทกวีของ@เจ็ดซ้าย@โดย เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์
ที่เพียงคำ ออกมาตอบโต้
@ หนึ่งคือซ้ายดัดจริตไร้เดียงสา
อหังการ์เป็นใหญ่ก็ซ้ายได้
สองคือซ้ายซ่าระเบิดเถิดเทิงไป
ได้บาทใหญ่อย่างไม่ได้เคยเป็น
@สามคือซ้ายมาสายเพิ่งได้รู้
การต่อสู้เพื่อคนผู้ทุกข์เข็ญ
สี่คือซ้ายตกขอบชอบคั้นเค้น
ชูประเด็นทฤษฎีบทชี้นำ
@ห้าคือซ้ายกลไกแบบไขลาน
เป็นหุ่นยนต์บริการวันยังค่ำ
หกคือซ้ายเจ้าเล่ห์สาริยำ
ทำเพื่อทำประโยชน์ได้แต่ฝ่ายตัว
@เจ็ดคือซ้ายสามานย์ก่อการร้าย
จนเป็นซ้ายทรราชอุบาทว์ชั่ว
ทั้งเจ็ดซ้ายเจ็ดอสัตย์กัดกันนัว
ล้วนน่ากลัวเพราะเป็นซ้ายที่ไม่จริง
@ผู้รู้ว่าหนุ่มสาวทันสมัย
ไม่เป็นซ้ายก็ไร้ใจเป็นที่ยิ่ง
แต่แก่แล้วยังเป็นซ้ายไม่ประวิง
ก็เป็นสิ่งไร้สมอง...พึงตรองดู!
 
เนาวรัตน์พงษ์ไพบูลย์
พฤ ๑๔/๖/๕๕
 
 วันที่วิทยากรคนรุ่นใหม่หัวใจสีแดงทั้ง3 คนนี้ขึ้นเวที ที่ธรรมศาสตร์ คือวันที่ผมขอประกาศอำลาและ ล้างมือจากความเกี่ยวข้องกับเครือข่ายเพื่อนพ้องบัณฑิตอาสมัคร มธ.ทั้งสิ้นทั้งปวง
 
 ตลอดเวลา5-6 ปี ที่ได้เข้ามาทำงานกับสำนัก พี่ไม่เคยแบ่งสี ร่วมทำงานกับทุกๆคนที่สำนักด้วยดีมาตลอดทั้งที่หลายๆคนที่สำนักก็เป็นสีแดง แต่เราต่างมีมารยาทให้เกียรติซึ่งกันและกัน ไม่นำเอากิจกรรมที่ส่งเสริมแต่ละสีเข้ามาในการทำงาน และพี่ก็ตั้งใจว่า ในการเข้ามาทำงานตรงนี้จะต้องปลอดจากสีต่างๆ ทุกคนเป็น บอ.และมีจุดมุ่งหมายในการทำงานเพื่อสังคม ดังนั้นแม้ว่าพี่ๆหลายคนที่สนิทกันและเป็นสีแดง เราก็ร่วมมือกันได้อย่าสนิทใจ และงานก็ก้าวไปด้วยดี ภูมิทัศน์ใหม่ของสำนัก พี่ก็ประสานหา บอ.เก่าขอให้มาช่วยออกแบโดยที่เขาไม่คิดเงินแม้แต่บาทเดียว และจากที่ได้เชิญศิษย์เก่า มธ.ที่สนิทกันมาเป็นบอร์ด สบอ.และเขาเป็นกรรมการในสมาคมธรรมศาสตร์ ก็ได้พยายามผลักดันให้ สมาคมเข้ามาช่วยในการก่อสร้างครั้งนี้ และงานอื่นๆมากมายที่พี่ทำแต่ไม่เคยหวังผลตอบแทน 
 
 2.พวกนิยมแดง ย่อมหนีไม่พ้น คือ พวกทักษิณ นายกโง่ เฉลิม ไอ้ตู่ ไอ้คางคก ธิดาแดง ขวัญชัย คณะราษฎร์ และพวกป่วนเมืองเผาเมืองที้งหลาย รวมทั้งประธานสภที่ชั่วร้ายคนนั้น 
 
 3.ในความตั้งใจของพี่อยากให้พื้นที่ตรงนี้ปลอดสีแต่หนนี้มันกลายเป็นเวทีของเสื้อแดงไปเต็มๆพี่รับไม่ได้ ก็จบกัน ถ้าน้องเขามีมารยาทก็น่าจะมาถามไกันก่อน ว่าวิทยากรที่เปลี่ยนใหม่โอเคกันหรือไม่ แต่นี่ประประกาศตูมมาเลย มันก็จบกัน ถ้าจะทบทวน อย่ามาเรียกร้องให้พี่ทบทวน ต้องให้สำนักทบทวน ว่าเหมาะสมหรือไม่ และน้องโบ ต้องทบทวนไม่ใช่พี่ เพราะพี่คือปลายเหตุ คงเข้าใจนะครับ พี่ไม่อยากให้ สำนักเป็นเวทีของพวกเสื้อแดง แต่เป็นเวทีของการปลอดสี ไม่ใช่ใช้เป็นที่การเผยแพร่ความคิดที่เป็นของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมากเกินไป
 
 ขอบอกให้ชัดเจนอีกครั้งว่าผมไม่ต้องการให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือสีใดสีหนึ่ง มายึดพื้นที่ตรงนี้เพื่อประโยชน์ของฝ่ายนั้นๆ คำว่า ประชาธิปไตย ประชาชน ฟังดูสวยหรู แต่จะเหมาะกับใครนั้น ต้องให้ประชนจริงๆตัดสิน ไม่ใช่มาแอบอ้างให้ดูดี เมื่อผมมีส่วนร่วมในการปลุกปั้นเครือข่ายขึ้นมา เพื่อหวังว่า นี่คือ ศูนย์รวมของ บอ. ทุกคนต้องให้เกียรติกัน เคารพกัน ไม่ใช่เข้ามาเพื่อใช้พื้นที่นี้ ใช้ประโยชน์เพื่อฝ่ายตัวเองเท่านั้น โดยไม่แคร์ความรู้สึกของฝ่ายอื่นๆเมื่อเป็นเช่นนี้มันก็ผิดวัตถุประสงค์ของพี่ที่อยากเห็น พี่ไม่อยากไปว่าใคร พี่ก็จัดการตัวเอง โดยงดการเข้าร่วมกิจกรรมของเครือข่าย ก็เท่านั้นเอง พี่ไม่เคยไปป่าวร้องว่าทำประโชน์อะไรมากมาย 6 ปีที่ผ่านมาน้องๆที่สำนักคงรู้แก่ใจว่า 
 
คนอย่างพี่ทำอะไรแค่ไหน มันเจ็บปวดที่เราต้องละทิ้งสิ่งที่ตั้งใจมากๆว่า บั้นปลายของชีวิตอยากทำประโยช์น กับงานที่อ.ป๋วยรักมากที่สุด หวังว่า เมื่อครบ100ปีอจ. วันนั้นพวกเรา บอ.คงได้มาชุมนุมรำลึกถึงท่านอย่างพร้อมเพรียง และหากฝันเป็นจริง ภูมิทัศน์ใหม่ของสบอ.ที่ออกแบบโดย บอ.14(นี่เขาก็ไม่ชอบสีแดง แต่เขาก็ยินดีทำโดยไม่คิดค่าเหนื่อยแม้แต่บาทเดียว)..และวันนี้ฝันนั้นได้สลายไปแล้ว ด้วยการกระทำอย่างเล็กๆ ของบางคน แต่มันบาดร้าวลึกลงไปในใจของผม จนเหลือจะทนในความไม่มีมารยาท(เพราะรายชื่อวิทยาการชุดหลังนี้ไม่ได้มีการหารือในตัวแทนเครือทั้งหมดเลย)..มันก็จบและขอบอกว่าผมไม่ทบทวน เพราะผู้ที่ควรทบทวนไม่ใช่ผม หากเป็น สบอ.และคณะจัดเสวนา
 
 จากนั้นมีผู้ใช้ชื่อในเฟสบุ๊กว่า Komluck Chaiya หนึ่งในทีมงานจัดเสวนา ได้ชี้แจงว่า
 
 ในการกำหนดตัววิทยากร เราได้คำนึงถึงเรื่องตัวบุคคลพอสมควร เพื่อให้เกิดความสมดุลย์บนเวที แต่ขณะเดียวกันก็ต้องเป็นวิทยากรรุ่นใหม่ที่มีความน่าสนใจดึงดูดคนฟังได้พอควร เพราะเราคิดว่าการจัดเสวนาส่วนหนึ่งก็เพื่อประชาสัมพันธ์งานของสำนักฯ 
 
 ดังนั้นในเริ่มแรกจึงวางตัวไว้ในกำหนดการที่ส่งให้พิจารณาตามอีเมลครั้งแรกและมีการถกเถียงเปลี่ยนแปลงตัววิทยากรตามความคิดเห็นของรุ่นพี่ครั้งนั้นเราได้ตัด "ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ" ออก ซึ่งไม่ว่าเขาจะเคยทำประโยชน์ให้สังคมมาหรือไม่ก็ตาม แต่เราก็ตัดชื่อเขาออกเพราะว่าเขามี "นามสกุล" เดียวกับนักการเมือง เกรงว่าจะสร้างความกระวนกระจายใจมากเกินไป
 
 ในรายชื่อครั้งแรกนั้นมีชื่อ "เพียงคำ ประดับความ" อยู่ตั้งแต่แรกในการพิจารณาแล้ว แต่ก็ไม่เห็นมีคอมเม็นต์อะไร และทางทีมงาน มีวิจารณญาณในการเลือกคุณ "เพียงคำ" ส่วนหนึ่งเพราะเธอมีคุณสมบัติพร้อมน่าสนใจ 
 
 เธอเป็น "บัณฑิตอาสาสมัคร" เก่ารุ่น 32 เป็นนักเรียนทุนอ.ป๋วย โครงการช้างเผือกของ ม.ธรรมศาสตร์ ปัจจุบันเป็นนักศึกษาป.โท ด้านสิทธิมนุษยชน ม.มหิดล และแน่นอนเธอเป็นนักเขียน กวี และแนวร่วมในเสื้อแดง สิ่งที่น่าสนใจ คือ เธอทำงานให้กับ "ศปช." ช่วงหนึ่ง และทำงานเขียนเก็บข้อมูล "ศพคนตาย 91 ศพ" ให้กับสำนักพิมพ์แห่งหนึ่ง ... ผมคิดว่าการที่มีบ.อ.เก่า เข้าไปทำงานกับคนระดับล่าง และได้สัมผัสข้อมูล ในเรื่อง "เคสเหยื่อ" ผู้ตายในกรณีการเมือง น่าจะตรงกับ "หัวข้อการสร้างสังคมที่เป็นธรรม" ของเราครับ 
 
 บนเวทีเราสร้างสมดุล โดยมีชื่อของ "วรรณสิงห์" และ "ณาตยา" อยู่บนเวทีด้วย หากจัดเฉดความคิดของสองคนนี้ ไม่แดงแน่ๆ บางคนเห็นว่าพวกเขาเหลือง หรือไม่ก็สลิ่มด้วยซ้ำไป แต่เราก็เห็นว่าเหมาะสมดีถ้าพวกเขา "รับ" จะมาร่วมเวที 
 
 คุณณาตยา ไม่มีปัญหา เธอรับปากว่าจะมาร่วมเวทีได้ แต่วรรณสิงห์ หลังจากที่ผมติดต่อไปครั้งแรกผ่าน "เลขา" ของเขา วรรณสิงห์อยู่บราซิลเข้าป่า ไม่สามารถติดต่อได้ ผมส่งเมลกำหนดการไปชิญเขาตามที่เลขาฯ ของเขาแนะนำ คาดว่าสองสามวันเขาออกมาน่าจะได้อ่านเมล แต่ก็ไม่มีสัญญาณติดต่อกลับ ผ่านไป 1 อาทิตย์จึงโทรไปหาเลขาฯ เขาอีก เธอบอกว่า วรรณสิงห์คงยังไม่สะดวก น่าจะกลับมาที่ไทยจึงจะตอบ ผมรอต่อไปอีกสองสามวัน เขากลับไทย โทรไปหาเขา เขาบอกว่า เพลียมาก ยังไม่ได้อ่านกำหนดการละเอียดขอเวลาต่ออีกวัน ...วันรุ่งขึ้นผมโทรไป เขาบอกว่าเมลเยอะมาก เลยไม่ได้อ่าน ให้ผมสรุปให้ฟัง ผมสรุปให้เขาฟัง แต่สรุปเขาบอกว่า "เขามาไม่ได้ติดงาน" ...นั่นเป็นเหตุผลให้เราต้องหาคนมาแทน
 
 หลังจากที่วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล ปฏิเสธ ทีมงานได้ประชุมกัน อย่างเร่งรีบ เพราะกลัวว่าเวลาประชาสัมพันธ์จะยิ่งน้อยลง เบื้องต้นเราตั้งใจติดต่อ "เพียงพร ดีเทศน์" ลูกสาวพี่แดงบอ.5 ซึ่งก็เป็นหนุ่มสาวรุ่นใหม่ที่น่าสนใจเช่นกัน ใช้เวลาติดต่ออยู่ระยะหนึ่ง เธอมีคิวในวันนั้น ไม่สามารถมาร่วมงานได้ จึงต้องคิดเปลี่ยนวิทยากรอีก 
 
 เราคุยกันเสนออย่างตีบตันลง แต่ก็อยากให้งานมันเสร็จ จึงได้ชื่อคุณ "ยิ่งชีพ อัชฌานนท์" มา 
 
 ผมไม่เคยรู้จักยิ่งชีพมาก่อน เห็นเขาครั้งแรกในงาน "จิตอาสากับอาสาสมัครสู่ประชาคมอาเซียน" (จำชื่อไม่ได้) ที่สำนักบัณฑิตฯ จัดที่ตึกนิติศาสตร์เมื่อต้นปี คุณยิ่งชีพเป็นวิทยากรคนหนึ่งที่มาพูดในเวทีวันนั้น ผมก็แปลกใจถ้าข้อหาว่าเขา "แดง" เป็นข้อหาที่มีเหตุผลเพียงพอ จนไม่ควรเชิญเขา ทำไมในการจัดงานของส.บอ.ครั้งนั้นจึงเชิญมาได้???
 อย่างไรก็ตาม ผมไม่คิดว่าเรื่อง "แดง" ไม่แดงเป็นประเด็นสำคัญเท่ากับว่า "คุณสมบัติ" ของวิทยากรของเราเป็นอย่างไร 
 
 ยิ่งชีพ เรียนจบนิติศาสตร์ธรรมศาสตร์ ระหว่างเรียนเขาเริ่มทำงานด้าน "จิตอาสา" ตั้งกลุ่มชื่อว่า "เพาะรัก" ขึ้นมา ซึ่งเป็นกลุ่มประสานงานจัดหาอาสาสมัครป้อนสู่โครงการจิตอาสาต่างๆอีกที ...เขายังทำกลุ่มนี้มาจนปัจจุบันแม้เรียนจบแล้ว รวมแล้วมีโครงการที่ทำเกือบร้อยโครงการไปแล้ว 
 
 ยิ่งชีพยังเคยเป็น "อาสาสมัครกฎหมาย" ของ ม.อ.ส. (มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม) ซึ่งเป็นองค์กรอาสาสมัครที่ใกล้ชิดกับเรา การที่เลือกเขาส่วนหนึ่งก็ด้วยเหตุผลนี้ เราควรนำคนจากองค์กรใกล้ชิดกับเรามาร่วมเวทีด้วยเพื่อสร้างพันธมิตรระหว่างกัน และมีคนฟังมากขึ้นได้แน่ๆ 
 
 แน่นอน ปัจจุบันยิ่งชีพทำงานกับองค์กร I.LAW อยู่ตึกเดียวกับม.อ.ส.นั่นแหละ เป็นองค์กรที่ "จอน อึ๊งภากรณ์" (ลูกชาย อ.ป๋วย นั่นแหละ) ก่อตั้ง เพื่อผลักดันต่อสู้ด้านกฎหมายต่างๆ เพื่อเปลี่ยนโครงสร้างสังคมให้มีความเป็นธรรมมากขึ้น
 
 งานที่เขาทำมีการผลักดันกฎหมายหลายฉบับแน่นอนม.112 ในกลุ่มครก.112 ก็เป็นหนึ่งในนั้น จะถกเถียงว่าควรแก้หรือไม่ นั่นอีกเรื่อง เถียงกันทางวิชาการกันได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าคนที่เขาเห็นว่าควรแก้ จะต้องถูกประณามเป็น "ผู้ร้าย" โฉดชั่วเสมอนะครับ
 
 ที่สำคัญงานของ I.LAW ทำกฎหมายหลายตัวเช่น พ.ร.บ.คู่สมรส ที่เพิ่มอำนาจให้กับกลุ่มชายรักชาย ,หญิงรักหญิง สามารถจดทะเบียนแต่งงานกันได้ , กฎหมายพรบ.คอมพิวเตอร์ ฯลฯ 
 
 ผมคิดว่า เขามีคุณสมบัติเพียงพอที่จะเป็นวิทยากรในงานนี้ได้แน่ๆ แต่ไม่รู้ทำไมจึงต้อง "โฟกัส" แต่เรื่อง "ครก.112" ถ้าจะโฟกัสเรื่องนี้ ผมว่าคนแรกที่ควรจะต้องหยุดทำงาน ก็คือ "ผม" เพราะผมก็ลงชื่อในค.ร.ก. 112 ตั้งแต่เช่นกัน
 
 การเปลี่ยน "ธนาธร" เราเติมชื่อ "อุเชนทร์ เชียงเสน" ไปแทน คำถามคือ เขามี "คุณสมบัติ" อะไร???? 
 
 อุเชนทร์เป็นนักกิจกรรมทางสังคมที่ใครๆในวงการนักกิจกรรมปัจจุบันก็รู้จักกันเป็นส่วนใหญ่เขาเป็นคนหนุ่มไฟแรงมีเครือข่ายความสัมพันธ์ในกลุ่มนักกิจกรรมและนักวิชาการจำนวนมาก
 
 สมัยเป็นนักศึกษาเขาร่วมงานกับกลุ่มสมัชชาคนจนฯเข้าร่วมการต่อสู้คัดค้านท่อก๊าซจะนะฯลฯ
 
 แต่ที่ทำให้อุเชนทร์ เป็นที่รู้จักมากขึ้นเพราะเขาก่อตั้ง "เครือข่าย 19 กันยาต้านรัฐประหาร" ขึ้นหลังการรัฐประหารปี 49 (การออกไปต้านรัฐประหาร ถือเป็นความผิดด้วยหรือ)
 
 หากดูรายละเอียด ใน "หลักการ" ของอุเชนทร์ ก็เหมือนกับผม หรือนักกิจกรรมรุ่นใหม่หลายคนที่สนใจการเมือง คือ เคยเป็น "พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย" มาก่อนทั้งสิ้น (เพียงคำ ประดับความ ก็เป็น พ.ธ.ม.มาก่อนนะครับ --ถ้าบางคนยังไม่เคยรู้ 555)
 
 แต่เมื่อพ.ธ.ม.นำโดยสนธิ ลิ้มทองกุล เคลือนไหวโดยการ "ขอนายกพระราชทาน" และพยายามเรียกร้องให้ "ทหาร" ออกมารัฐประหารตั้งแต่ช่วงปี 48 ....นักกิจกรรม/นักวิชาการจำนวนมาก จึง "ถอนตัว" ออกมาจากพันธมิตรฯ แล้วดำเนินการต่อต้านรัฐประหารอย่างจริงจัง

 อุเชนทร์ก็อยู่ในกลุ่มนั้น เป็นกลุ่มที่ในการรณรงค์ครั้งแรก "ไม่เอาทักษิณ" และ "ไม่เอารัฐประหาร" ซึ่งถูกเรียกว่าพวก "สองไม่เอา" 
 
 พวกเขายึด "หลักการ" มากกว่าคำประณามแบบไร้เดียงสาจะเข้าใจได้ครับ 
 
 ปัจจุบันอุเชนทร์เป็นนักศึกษาป.โทรัฐศาสตร์ม.ธรรมศาสตร์ มีอ.เกษียร เตชะพีระ และอ.ชัยวัฒน์ สถาอนันต์ เป็นที่ปรึกษา เขาเขียนบทความวิชาการเสนอในเวทีรัฐศาสตร์หลายครั้ง ผมคิดว่าเขามีคุณสมบัติเพียงพอยิ่งกว่าใครเลยครับ
 
 มันน่าเศร้านะครับ ที่ข้อกล่าวหาเพียงเพราะพวกเขามี "จุดยืนทางการเมือง" แบบหนึ่ง จึงไม่มีคุณสมบัติเพียงพอที่จะขึ้นเวทีนี้ ผมคิดว่าในปัจจุบัน นักกิจกรรมหรือคนทำงานทางสังคมส่วนใหญ่ "ไม่แดงก็เหลือง" ซึ่งมันไม่ใช่ประเด็นหรอกครับ แต่มันอยู่ที่ว่าเราจะ "โฟกัส" ไปจุดไหนต่างหาก การที่เขามีจุดยืนแบบหนึ่ง มันทำให้สิ่งที่เขาทำเพื่อสังคม สารพัดสารพัน ไม่ถูกนับ หรือได้ยินเลยเชียวหรือ???? 
 
 ผมเห็นบางคนบอกว่า "เอาเรื่องการเมือง" มาเกี่ยวข้อง ผมว่ามันเถียงกันได้ครับว่าอะไรคือ "การเมือง"??? 
 
 ในความที่กว้างทางสังคมศาสตร์ การเมือง คือ "ความสัมพันธ์เชิงอำนาจ" ทั้งสิ้น ไม่ว่าคุณจะมีเจตนาหรือไม่ การจัดเวทีเสวนาย่อมเป็นเรื่องการเมือง การพูดถึง "ป๋วย อึ๊งภากรณ์" ก็การเมือง , การจัดตั้ง ส.บอ. ก็การเมืองครับ ... เลิกคิดแบบแคบๆ ในความหมายการเมืองที่คับแคบเถอะครับ แต่ควรยอมรับความแตกต่ากหลายหลาย และเสรีภาพในความคิดที่แตกต่างไปเลย น่าจะเหมาะกับกิจกรรมทางวิชาการเพื่อเจริญสติปัญญามากกว่า
 
 ผมขอยืนยันว่าทีมงานคิดพิจารณาโดยตั้งอยู่บนฐานของความ "เกรงใจ" ประชาคมเครือข่ายบอ.อย่างดีแน่นอน ไม่อยากให้เกิดปัญหา จึงได้พยายามจัดการต่างๆ อย่างละมุมละม่อมที่สุด แต่ส่วนหนึ่งก็ด้วยเห็นว่า "เวลา" ที่ใกล้เข้ามา ควรต้องให้ได้ข้อสรุปโดยเร็ว ประกอบกับในการถกเถียงครั้งที่แล้ว ก็เห็นว่ารุ่นพี่หลายคน รวมทั้งพี่ตะวัน ได้เปิดเผยถึงความใจกว้างไว้ ในอีเมลที่ส่งมาว่า ให้ดำเนินการไปได้เลย ไม่งั้นงานจะไม่เกิด 
 
 ทางทีมงาน ก็เลยเข้าใจว่า คงจะอนุญาตให้ทีมงานทำงานได้โดยอิสระในความคิดเลย เมื่อได้วิทยากรครบ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ก็รออยู่แล้ว จึงได้ดำเนินการต่อเลย ... หากการกระทำดังกล่าวนี้ ไม่ถูกต้องในความเห็นของประชาคมบอ.ทั้งหลาย ก็ต้องขออภัยครับ
 
 ขณะที่ นายอุเชนทร์ เชียงเสน หนึ่งในวิทยากร ได้กล่าวผ่านเฟสบุ๊กส่วนตัว Uchane Cheangsan เพียงสั้นๆ ว่า
 
 ส่วนตัวผมก็ไม่ได้อะไรกับเรื่องพวกนี้มากนะ หมายถึง การอยากขึ้นเวที แต่ถ้ามีแบบนี้ ต้องไป ต่อให้ขอยกเลิกผม ผมก็จะไป มีทางเดียวครับ ที่จะไม่ให้ผมไป คือ ยกเลิกงาน

กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...