ใครสร้างระเบิดนิวเคลียร์ ?

  ในปี ค.ศ. ๑๙๐๕ ที่ไอน์สไตน์จุดประกายเรื่องควอนตัมนั้น ไอน์สไตน์ยังได้เขียนสูตรสั้นๆ ง่ายๆ ขึ้นมาอีกสูตรหนึ่งด้วย คือ E=mc2 เรียกว่า สมการมวล-พลังงานของไอน์สไตน์ ซึ่งสามารถตีความได้ว่า พลังงาน (E)กับมวล (m) เป็นของสิ่งเดียวกันที่แปลงกลับไปกลับมากันได้ สมการนี้ดูเผินๆ ก็ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับนิวเคลียร์เอาเลย แต่พอถึงช่วงปี ค.ศ. ๑๙๓๔-๓๙ ก็มีผู้ค้นพบการแบ่งแยกของนิวเคลียสหรือฟิชชัน (fission) ซึ่งเป็นปฏิกิริยานิวเคลียร์ที่นิวเคลียสแตกออกเป็นสองเสี่ยงขนาดใกล้เคียงกัน และมีมวลของนิวเคลียสหายไปเล็กน้อยกลายไปเป็นพลังงานมหาศาลตรงตามสมการของไอน์สไตน์ที่เขียนไว้ตั้งแต่ ๓๐ กว่าปีก่อน ในช่วงที่มีการค้นพบการแบ่งแยกนิวเคลียสนั้น พอดีกับเป็นช่วงที่กำลังเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ ความรู้นี้จึงถูกนำไปสร้างระเบิดนิวเคลียร์ พาให้อนุชนรุ่นหลังหลงคิดกันว่าไอน์สไตน์เป็นผู้คิดค้นและสร้างระเบิดนิวเคลียร์เอาไปทิ้งที่เมืองฮิโรชิมาและนางาซากิของประเทศญี่ปุ่นเมื่อเดือนสิงหาคม ค.ศ. ๑๙๔๕ ซึ่งความเข้าใจนี้ถูกต้องเพียงเสี้ยวเล็กๆ เสี้ยวเดียวเท่านั้น

      เนื่องจากว่าคนที่ค้นพบปฏิกิริยาแบ่งแยกนิวเคลียสเป็นชาวเยอรมันชื่อว่าอ๊อตโต ฮาห์น (Otto Hahn) กับฟริตซ์ ชตราสมันน์ (Fritz Strassmann) พวกนักนิวเคลียร์ฟิสิกส์เป็นโหลที่หนีภัยสงครามจากยุโรปมาพำนักอาศัยอยู่ในสหรัฐอเมริกาจึงกลัวกันว่าเยอรมันนาซีจะสร้างระเบิดนิวเคลียร์มาใช้ในสงคราม และพยายามโน้มน้าวให้สหรัฐอเมริกาเร่งค้นคว้าการสร้างระเบิดนิวเคลียร์ให้ได้ก่อนเยอรมัน โดยไปขอร้องให้ไอน์สไตน์ซึ่งเป็นผู้มีชื่อเสียง ให้ออกหน้าลงนามในจดหมายถึงประธานาธิบดีโรสเวลต์ (Roosevelt) ไอน์สไตน์คล้อยตามและยอมลงชื่อในจดหมายซึ่งมีผลเพียงประธานาธิบดีสั่งให้ตั้งคณะที่ปรึกษาขึ้นมาหนึ่งคณะเท่านั้น หลังจากนั้นไอน์สไตน์ก็ไม่เคยเข้าไปยุ่งเกี่ยวด้วยเลยกับการสร้างระเบิดนิวเคลียร์จนสำเร็จตลอดจนการนำไปทิ้งที่ประเทศญี่ปุ่น

      หลังสงครามโลกยุติลง ได้เกิดการแข่งขันกันสร้างแสนยานุภาพนิวเคลียร์ โดยเฉพาะระหว่างสหรัฐอเมริกากับสหภาพโซเวียตหรือรัสเซีย และไอน์สไตน์นี่แหละที่เป็นบุคคลในแถวหน้าที่ออกมาต่อต้านการแข่งขันกันสร้างอาวุธนิวเคลียร์ ทั้งโดยการออกทีวี วิทยุ และการเขียนบทความ ตลอดจนการสนับสนุนการสร้างสันติถาพขององค์การสหประชาชาติอย่างสุดตัว

      ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ จะเห็นได้ว่าไอน์สไตน์แทบไม่เคยลงไม้ลงมือเกี่ยวกับนิวเคลียร์จริงๆ เลย แต่ผลงานของเขากลับเกี่ยวโยงกับนิวเคลียร์อย่างแนบแน่นอย่างไม่น่าเชื่อทีเดียว จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่าชื่อของเขาจะได้รับเกียรตินำไปตั้งเป็นชื่อธาตุลำดับที่ ๙๙ ในตารางพีริออดิก มีชื่อธาตุว่า ไอน์สไตเนียม (einsteinium) ธาตุนี้ค้นพบโดยนักฟิสิกส์ชื่อ Ghiorso กับเพื่อนร่วมงาน ที่มหาวิทยาลัย Berkeley จากขยะที่เป็นเศษวัสดุหลงเหลือจากการทดลองระเบิดเทอร์โมนิวเคลียร์ (ระเบิดไฮโดรเจน) ลูกแรกของโลกที่เกาะปะการังชื่อว่า Eniwetok ในมหาสมุทรแปซิฟิกเมื่อเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๕๒

27 ก.ค. 52 เวลา 01:27 35,624 15 124
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...