อย่าเปรียบฉันเป็น "เลดี้กาก้าของพม่า"

"พิว พิว จ่อ เต็ง" ถูกเรียกว่า "เลดี้กาก้า แห่งพม่า" เพราะการแต่งตัวที่โดดเด่นและการแสดงบนเวทีที่แปลกแตกต่างไปจากคนอื่น

นักร้องสาววัย 31 ที่อยู่ในธุรกิจดนตรีมายาวนานเกือบทศวรรษคนนี้มีดีกรีเป็นถึงแพทย์หญิง และถ้านั่นยังไม่น่าทึ่งพอก็อยากจะบอกว่า นอกจากปริญญาแพทยศาสตร์แล้ว เธอยังเป็นเลขาธิการสมาคมดนตรีแห่งพม่า และเป็นตัวแทนทูตองค์กรการกุศลของอังกฤษเพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์อีกด้วย

อัลบั้มล่าสุดของเธอ "A Girl is Broken-hearted" ขึ้นชาร์ตเพลงอันดับหนึ่งในพม่า และติดท็อปเทนอย่างนั้นอยู่นานถึง 3 เดือน

และนี่คือบทสัมภาษณ์ของ พิว พิว จ่อ เต็ง ที่ให้กับ จอ เพียว ตา นักข่าวจาก "สำนักข่าวอิระวดี"

"คุณชอบบทบาทไหนมากกว่ากัน การเป็นหมอหรือการเป็นนักร้อง?"

"การจะเป็นหมอคุณต้องเฉลียวฉลาดและทำงานอย่างหนัก แต่การเป็นศิลปินคุณต้องมีพรสวรรค์และไหวพริบ คนส่วนใหญ่คิดว่า 2 อย่างนี้มันตรงกันข้ามกัน มันเป็นการผสมผสานที่ยากนะ และฉันก็ภูมิใจที่ฉันเป็นคนหนึ่งในน้อยคนที่มี 2 อย่างนั้นอยู่ในตัว แต่สำหรับตอนนี้แล้วฉันคิดว่าฉันเป็นนักร้องมีอาชีพมากกว่า"

"ถ้างั้นคุณไม่คิดหรือว่าเวลาที่คุณใช้เรียนแพทย์มันสูญเปล่า?"

"ไม่หรอก! มันไม่เหมือนกับว่าฉันใช้เวลา 6-7 ปี กับการติดบาร์หรือไปปาร์ตี้หรอกนะ และหากใครคิดว่าการเป็นหมอที่หันมาเป็นนักร้องคือการสูญเสียทรัพยากรมนุษย์แล้วล่ะก็ เขาควรไปพูดกับกระทรวงสาธารณสุข"

"คุณคิดยังไงกับการถูกเรียกว่า "เลดี้กาก้า แห่งพม่า"?"

"อืมม...มันก็รู้สึกดีอยู่หรอกที่ถูกเปรียบเทียบกับนักร้องดังระดับโลก แต่เธอกับฉันมาจากโลกที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง อีกอย่างฉันเป็นที่รู้จักจากการแสดงที่ไม่ธรรมดาของฉัน ตั้งแต่ฉันเริ่มแสดงเมื่อปี 2546 ในตอนที่พม่ายังคงปิดประเทศอยู่ด้วยซ้ำ และนั่นก็นานก่อนที่เลดี้กาก้าจะโด่งดังอย่างทุกวันนี้"

"ทำไมคุณถึงใส่เสื้อผ้าที่ตกแต่งมากมายขนาดนั้น?"

"เพราะฉันชอบมัน พี่สาวของฉันเป็นดีไซเนอร์ และในวัฒนธรรมพม่าเราก็เต็มไปด้วยสีสันและรูปแบบมากมาย มันไม่ใช่อะไรใหม่เลย เพราะว่าชุดของการแสดงพื้นเมืองแบบนี้ก็มีมานานแล้ว เราแค่ปรับให้มันเข้ากับแฟชั่นในวันนี้เท่านั้นเอง แต่ฉันชอบแต่งตัวให้ผสมกลมกลืนไปกับวัฒนธรรมนะ เพียงแต่มันดูไม่ค่อยชัดเจนเท่าใดนัก"

"ถ้าให้คุณวิจารณ์การแสดงสดของคุณ คุณจะพูดว่ายังไง?"

"ฉันคิดว่าถ้าเทียบกับมาตรฐานในระดับนานาชาติแล้วมันก็ไม่ได้พิเศษมากสักเท่าไหร่ แต่พม่าเป็นประเทศปิดมานาน และผู้คนก็ยังคงปิดความคิดของพวกเขาด้วย คุณต้องยอมรับว่าคุณจะถูกวิพากษ์วิจารณ์ถ้าคุณพยายามจะสร้างสรรค์ความแตกต่าง แต่จริงๆ แล้วนั่นก็เป็นเพียงไม่กี่คนเท่านั้น เพราะถึงแม้ว่าพม่าจะถูกปิดกั้นจากโลกภายนอกหลายสิบปี แต่ชาวพม่าส่วนใหญ่ยังคงสามารถชื่นชมคุณค่าของศิลปะได้"

"ในความเห็นของคุณการสิ้นสุดระบบการเซ็นเซอร์จะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ไหม?"

"ฉันมีประสบการณ์แย่ๆ กับการเซ็นเซอร์หลายครั้ง ดังนั้น ฉันคิดว่ามันคงจะดีมากหากเราไม่ต้องเผชิญหน้ากับการกำหนดขอบเขตแบบนั้น แต่ตัวศิลปินเองก็ต้องมีความรับผิดชอบด้วย"

"ในฐานะของเลขาธิการสมาคมดนตรีของพม่า คุณมีความคิดเห็นอย่างไรกับการละเมิดลิขสิทธิ์อย่างรุนแรงในประเทศนี้?"

"นี่คือความแตกต่างอันยิ่งใหญ่ระหว่างเลดี้กาก้าในประเทศพัฒนาแล้วกับ พิว พิว จ่อ เต็ง ในประเทศด้อยพัฒนา ในพม่าคนมองการละเมิดลิขสิทธิ์เป็นเพียงหนทางหนึ่งในการประกอบอาชีพ สมาคมดนตรีแห่งพม่าพยายามให้การศึกษากับผู้คนว่าการละเมิดลิขสิทธิ์คืออาชญากรรม ที่จะได้รับโทษเป็นการจำคุกระยะสั้น หรือเสียค่าปรับสูงถึง 500,000 จ๊าด (ราว 625 เหรียญสหรัฐ หรือเกือบ 20,000 บาท) เป้าหมายของเราคือการแก้ไขกฎหมายและทำให้มันมีผลบังคับใช้ เจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายต้องซื่อสัตย์และโปร่งใส ในระยะสั้นนี้สิ่งที่เราต้องการคือหลักนิติธรรม"

"ช่วยบอกเราเกี่ยวกับสิ่งที่คุณทำใน MTV EXIT และการรณรงค์ขององค์กรการกุศลของอังกฤษเพื่อกระตุ้นความตระหนักในเรื่องการค้ามนุษย์หน่อยได้ไหม?"

"ฉันอยู่ในกลุ่มตัวแทนทูตของบุคคลที่มีชื่อเสียงของพม่าในการรณรงค์นี้มาตั้งแต่ปี 2551 ฉันเป็นพิธีกรในสารคดีภาษาพม่าชื่อ Traffic และในปีเดียวกันนั้น ฉันก็เป็นส่วนหนึ่งในคอนเสิร์ต MTV EXIT ในกรุงเทพฯ เพื่อสร้างความตระหนักถึงการค้ามนุษย์ และฉันก็กำลังจะเข้าร่วมอีกหนึ่งคอนเสิร์ตในปีนี้"

"คงเห็นแล้วว่าผู้หญิงคนนี้ต่างกับ "เลดี้กาก้า" ที่เธอถูกนำไปเปรียบเห็นๆ"

 

22 ม.ค. 56 เวลา 12:14 11,445 1 90
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...