ผอ.พระมงกุฎ เข้าแจงกมธ.กิจการสภาฯ เหตุช่างภาพเนชั่นวูบ

ผอ.โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า "พล.ต.ชุมพล เปี่ยมสมบูรณ์ "แจงกมธ.กิจการสภาฯ เหตุช่างภาพเนชั่นวูบ ปัดกรณี “ หมอ-พยาบาล”อ้างผู้ใหญ่สั่งห้ามใช้รถฉุกเฉินส่งรพ. พร้อมรับไปสอบข้อเท็จจริง เลขาสภาแจงตั้งอนุกก.สวัสดิการพร้อมเตรียมเยียวยาผู้ป่วย

วันนี้ (17 ม.ค.) ที่รัฐสภา ในการประชุมคณะกรรมาธิการกิจการสภาผู้แทนราษฎร(กมธ.) ที่มีนายไพจิต ศรีวรขาน ส.ส.นครพนม พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานกมธ.เป็นประธาน ได้พิจารณาประเด็นที่รถพยาบาลฉุกเฉินของโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ซึ่งประจำอยู่ในรัฐสภา ปฏิเสธที่จะนำตัวนายกล สนธิรัตน ช่างภาพเครือเนชั่น ซึ่งมีอาการป่วยด้วยเส้นเลือดในสมอง ส่งยังโรงพยาบาลเพื่อรับการรักษา รวมถึงปัญหาการให้บริการด้านรักษาพยาบาลบุคลากรสภาฯ และประชาชนทั่วไปในรัฐสภา  โดยมีนายสุวิจักขณ์ นาควัชระชัย เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, น.ส.สุนทร รักเมือง ผู้อำนวยการสำนักการคลังและงบประมาณ สำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, พล.ต.ชุมพล เปี่ยมสมบูรณ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า, นายฉลาด จันทร์เดช ประธานชมรมช่างภาพสื่อมวลชน และ นายสวัสดิ์ ปันยศ กรรมการชมรมช่างภาพสื่อมวลชนเข้าชี้แจง


โดย กมธ.กิจการสภาฯได้ซักถามในข้อเท็จจริง กรณีที่รถพยาบาลฉุกเฉินที่ประจำในรัฐสภา ปฏิเสธนำส่งตัวผู้ป่วยไปโรงพยาบาลอย่างเร่งด่วน และต้องรอให้รถพยาบาลฉุกเฉินจากภายนอกเข้ามารับตัว ทั้งนี้ทีมแพทย์ระบุว่าไม่สามารถนำรถคันที่ประจำในรัฐสภาออกไปส่งได้ เพราะกังวลว่าผู้ใหญ่จะตำหนิ  ซึ่ง พล.ต.ชุมพล ชี้แจงว่า โดยหลักการแพทย์มีสิทธิ์ที่จะสั่งให้รถพยาบาลฉุกเฉินออกไปส่งตัวผู้ป่วยได้ทันที หากประเมินแล้วพบว่าผู้ป่วยมีอาการที่เป็นอันตรายฉุกเฉิน  ส่วนกรณีที่ระบุว่าไม่สามารถนำรถพยาบาลออกไปส่งได้ เพราะมีผู้ใหญ่สั่ง ตามรายงานของแพทย์ที่ปฏิบัติงานวันดังกล่าวไม่มีและแพทย์ไม่ได้พูดตามที่สื่อมวลชนได้ยิน อย่างไรก็ตามประเด็นนี้อาจเป็นบุคคลอื่นซึ่งตนพร้อมรับไปตรวจสอบให้
 

“วันที่เกิดเหตุ หมอและพยาบาลเดินผ่านมายังจุดที่ช่างภาพเนชั่นป่วยพอดี จึงเข้าไปดูอาการ และเมื่อพบว่าต้องใช้เครื่องมือทางการแพทย์ ได้ให้พยาบาลไปนำเครื่องมือที่อยู่หน้าห้องประชุมมาตรวจ จากนั้นแพทย์ได้ประเมินอาการและความรู้สึกตัวของผู้ป่วย และเจาะระดับน้ำตาลในเลือด เพราะปกติคนที่เป็นลมมักจะเกิดจากความผิดปกติของระดับน้ำตาลในเลือด และระหว่างนั้นได้ให้พลขับ ประสานไปยังโรงพยาบาลให้นำรถฉุกเฉินจากภายนอกเข้ามารับตัวไปส่งที่โรงพยาบาลกลาง ทั้งนี้ยืนยันว่าทีมแพทย์ไม่ได้รอรถพยาบาลจากภายนอกมารับตัว แต่ระยะเวลาช่วงนั้นเป็นการประเมินอาการรู้สึกตัวของผู้ป่วย” พล.ต.ชุมพล ชี้แจง
 

ด้านนายฉลาด และนายสวัสดิ์ ตัวแทนสื่อมวลชน ได้โต้แย้งว่า มีพยานรับรู้และได้ยินว่าหมอบอกว่า นำรถออกไปไม่ได้ เพราะผู้ใหญ่จะตำหนิ ส่วนอาการป่วยของนายสกล เห็นชัดว่า หนัก เพราะนายสกลพูดตลอดว่า ไม่ไหวแล้ว ซ้ำอยู่หลายครั้ง ซึ่ง พล.ต.ชุมพล ระบุว่าจะรับไปตรวจสอบให้ และกล่าวว่า สำหรับเหตุที่เกิดขึ้นทางโรงพยาบาลได้แก้ไขปัญหา ด้วยการส่งรถพยาบาลมาประจำในรัฐสภา จำนวน2 คัน และเตรียมที่จะให้หมอ พยาบาล รวมถึงผู้ช่วย มีวิทยุติดตามตัวเพื่อไว้ประสานงาน ให้เกิดความรวดเร็วเมื่อเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน แต่ในประเด็นของช่างภาพเครือเนชั่นนั้น แพทย์ที่ประเมินอาการ พบว่า อัตราการหายใน 20 ครั้งต่อนาที, ปริมาณออกซิเจนในเลือดเท่ากับ 100 และชีพจรเต้น 80 ครั้งต่อนาที ถือว่าเป็นอาการป่วยที่ปกติ อย่างไรก็ตามแพทย์วินิจฉัยเบื้องต้นจากการซักถามอาการแล้วคาดว่าผู้ป่วยเป็นโรคเกี่ยวกับสมอง และเกี่ยวกับเส้นเลือด แต่แพทย์ไม่ทราบว่าเส้นเลือดนั้นตีบ หรือ แตก  จึงไม่ได้สั่งให้นำรถพยาบาลฉุกเฉินส่งตัวผู้ป่วยไปรักษา ในระหว่างที่ประเมินอาการนั้นรถพยาบาลฉุกเฉินซึ่งเรียกจากภายนอกมาถึง จึงได้ให้รถพยาบาลคันที่มาถึงนั้นเป็นผู้ส่งตัวไปโรงพยาบาลกลาง
 

ขณะที่นายสุวิจักษขณ์ ระบุว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตนเสียใจ อย่างไรก็ตามเพื่อป้องกันปัญหาเกิดซ้ำอีก ได้ออกคำสั่งให้ตั้งคณะอนุกรรมการด้านสวัสดิการ ทั้งนี้ในวันที่ 18 ม.ค. จะมีการประชุมนัดแรก เบื้องต้นจะมีการพิจารณาการเยียวยาให้กับช่างภาพเนชั่นด้วย  ด้าน น.ส.สุนทร  ได้ชี้แจงถึงงบประมาณที่ได้จัดสรรให้กับหน่วยพยาบาล ว่า สำนักงานเลขาธิการสภาฯ  ได้จัดงบเป็นค่าตอบแทนแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ ปีละ 2 ล้านบาท โดยหลักเกณฑ์ค่าตอบแทนแพทย์ พยาบาล และ ผู้ช่วยพยาบาล นั้นเป็นไปตามระเบียบที่กระทรวงการคลังกำหนด คือ แพทย์ ได้ค่าตอบแทนชั่วโมงละ 500 บาท , พยาบาล ได้รับค่าตอบแทนชั่วโมงละ 200 บาท และ ผู้ช่วยพยาบาล ได้ค่าตอบแทนชั่วโมงละ 100 บาท  ส่วนค่ายาเวชภัณฑ์นั้น ได้มีการเบิกจ่ายเฉลี่ยเดือนละ 1 แสนบาท
 

ทั้งนี้ กมธ. ได้มีการพูดถึงการบริการทางการแพทย์ประจำห้องพยาบาล โดยนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ได้หันไปพูดกับนายไพจิต ซึ่งนั่งใกล้กัน โดยไม่ได้มีการบันทึกในห้องประชุมว่า “การไปเบิกยาที่ห้อง เหมือนเป็นขอทาน”
 

ด้าน นายปรีชา มุสิกุล ส.ส.กำแพงเพชร พรรคประชาธิปัตย์ ฐานะรองประธานกรรมาธิการฯ ด้านสถานพยาบาลประจำรัฐสภา กล่าวว่า  ทราบว่าที่ห้องพยาบาลประจำรัฐสภา  มีอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ช่วยชีวิตยามฉุกเฉิน ซึ่งใช้งบประมาณจัดซื้อ  8 – 13 ล้านบาท ดังนั้นเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินเกิดขึ้นขอให้นำตัวผู้ป่วยไปยังห้องดังกล่าวเพื่อได้รับการรักษาพยาบาลอย่างทันท่วงที นอกจากนั้นแล้วเรื่องการเบิกจ่ายยา ทราบว่า ข้าราชการ และบุคลากร ที่ไม่ใช่ ส.ส. หรือ ส.ว. ไม่ได้รับสิทธิ์ให้เบิกจ่ายยานอกระบบ ดังนั้นขอให้พิจารณาทบทวน

กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...