พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ จาก"กบฏ เสธ.ฉลาด" สู่ปฏิบัติการ"แช่แข็ง"ประชาธิปไตย

ย้อนเวลาประเทศไทยกลับไปเมื่อปี พ.ศ.2520 ความพยายามในการยึดอำนาจรัฐบาล ธานินทร์ กรัยวิเชียร ภายใต้การนำของหัวหน้าคณะปฏิวัติ พล.อ.ฉลาด หิรัญศิริ อดีตรองผู้บัญชาการทหารบก ด้วย "ความคับแค้น" ที่ถูกปลดออกจากราชการ ทำให้การ "ช่วงชิงอำนาจ" จึงอุบัติขึ้น

คณะปฏิวัตินำกำลังทหารจากกองพลที่ 9 กาญจนบุรี และกองพลทหารราบที่ 19 กองพันที่ 1, 2 และ 3 เข้ายึด "วอร์รูม" กองทัพบก สวนรื่นฤดี และหน่วยยุทธศาสตร์สำคัญ อาทิ กองบัญชาการทหารสูงสุดส่วนหน้า สนามเสือป่า กรมประชาสัมพันธ์ และสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย พร้อมกับควบคุมตัว "แม่ทัพ-นายกอง" ได้สำเร็จ ทั้ง พล.อ.ประเสริฐ ธรรมศิริ รองผู้บัญชาการทหารบก พล.อ.ประลอง วีระปรีย์ เสนาธิการทหารบก และ พล.ต.อรุณ ทวาทศิน ผู้บัญชาการกองพล 1 ศึกแย่งชิงอำนาจจึงเริ่มเปิดฉากโดยพลัน

ขณะนั้น พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ รองผู้บัญชาการทหารสูงสุด ในฐานะเลขาธิการคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินได้เข้าเจรจากับกลุ่มผู้ก่อการจนได้ข้อยุติ รัฐบาลออกแถลงการณ์ชี้แจงเรื่องการยินยอมให้บุคคลชั้นหัวหน้าของกลุ่มผู้ก่อการ 5 คน ประกอบด้วย พล.อ.ฉลาด พ.ท.สนั่น ขจรประศาสน์ (เสธ.หนั่น) พ.ต.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ (เสธ.อ้าย) พ.ต.วิศิษฐ์ ควรประดิษฐ์ และ พ.ต.อัศวิน หิรัญศิริ ลูกชายของ พล.อ.ฉลาดให้สามารถเดินทางออกนอกประเทศได้ เพื่อแลกเปลี่ยนกับการปล่อยตัว พล.อ.ประเสริฐ กับ พล.อ.ประลอง หลังจากก่อนหน้านี้ พล.ต.อรุณ เสียชีวิตไปก่อนหน้านี้แล้ว

ปฏิบัติการ "หักหลัง" จึงเกิดขึ้นเมื่อ พล.อ.เกรียงศักดิ์ไม่ทำตามข้อตกลง ทำให้ผู้ก่อการทั้งหมดกลายเป็น "กบฏ" ในทันที

นับจากวันนั้นเป็นเวลาถึง 35 ปี ที่ พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ หรือ "เสธ.อ้าย" ห่างหายจากสารบบทางการเมือง แต่ทว่าในวันนี้ชื่อของเสธ.อ้ายได้กลับมามีบทบาททางการเมืองอีกครั้ง ในฐานะประธานองค์การพิทักษ์สยาม ที่ประกาศเสียงดังฟังชัดว่าจะเป็นแกนนำมวลชนชุมนุมใหญ่ขับไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ดีเดย์วันที่ 24 พฤศจิกายนนี้ โดยมี "ธง" นำประเทศไทยย้อนเวลาไปสู่การ "แช่แข็ง" นักการเมืองไม่ให้มายุ่งกับการปฏิรูปประเทศเป็นเวลาอย่างน้อย 2 ปี

เสธ.อ้ายเล่าถึงการได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของคณะปฏิวัติว่า ด้วยความที่ พล.อ.ฉลาด เป็น "ผู้มีพระคุณ" ตั้งแต่ "เสธ.อ้าย" รับราชการครั้งแรกเป็นหัวหน้าชุดปฏิบัติการพิเศษที่จังหวัดเชียงราย จึงทำให้ตัดสินใจกระโดดลงไปร่วมเป็น 1 ในแกนนำคณะปฏิวัติ

"ครั้งนั้นท่าน (พล.อ.ฉลาด) เป็น พล.ต.ดูแลกรมยุทธการ ท่านชวนผมไปอยู่กรุงเทพฯ และถือว่ามีบุญคุณ ต่อมาได้ไปร่วมสงครามกับสหรัฐอเมริกาที่เวียดนามด้วยกัน ท่านเป็น ผบ.ของกองกำลังไทยในเวียดนาม ยิ่งทำให้สนิทกันมากขึ้น ในวันแต่งงานของผมท่านเป็นเจ้าภาพแต่งงานให้ นี่ก็คือที่มาที่เราต้องรับใช้ ซึ่งพอเขาชวนให้มาปฏิวัติได้ไหม ผมบอกว่าได้ ก็มาเลย เพราะขณะนั้นเป็นผู้บังคับกองพันอยู่และทำการแทน 2 กองพันในเวลาเดียวกัน คือ กองพลทหารราบที่ 19 กองพันที่ 2 และ 3 เป็นกองกำลังหลักในการปฏิวัติ เลยเหิมเกริม แต่ก็แพ้และต้องมาเป็นกบฏไปในที่สุด" เสธ.อ้ายเล่าถึงสาเหตุในการร่วมวงปฏิวัติ

ย้อนกลับไปก่อนหน้าที่จะร่วมวงกับคณะปฏิวัติกับ พล.อ.ฉลาด "เสธ.อ้าย" จบจากโรงเรียนเตรียมทหารรุ่น 1 (ตท.1) รุ่นเดียวกับ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี พล.อ.สำเภา ชูศรี อดีต ผบ.สส. พล.อ.ธวัช เกษอังกูร อดีตปลัดกระทรวงกลาโหม พล.ร.อ.ทวีศักดิ์ โสมาภา อดีตผบ.ทร.

"ผมเป็นประธานเตรียมทหารรุ่น 1 ตั้งแต่ปี 2548 ครั้งแรกโดยวิธีการสรรหา ท่าน (พล.อ.สำเภา) เห็นว่าผมอยู่ที่นี่ มีที่จอดรถ มีอาหาร เพื่อนจะไปมาหาสู่ก็แวะได้ กินข้าวได้ เผื่อใครเดือดร้อน เพราะผมเริ่มมีสตางค์นิดหน่อยจากเงินเดือนสนามม้า ใครทุกข์ร้อนอย่างไรจัดการปัดเป่าให้ พล.อ.สำเภาบอกว่าไปสรรหาหน่อยว่าใครเหมาะ ในที่สุดคณะกรรมการสรรหาก็ชี้มาที่บุญเลิศนี่แหละ สมาชิกโอเค ได้ดำรงตำแหน่งวาระละ 2 ปี พอจบปีที่ 2 ก็โหวตกันใหม่ทั่วทั้งรุ่น เขาให้เป็นต่อ และเป็นมาถึงวันนี้และควบตำแหน่งประธานมูลนิธิศิษย์เก่าโรงเรียนเตรียมทหารอีกตำแหน่งด้วย น้องๆ บอกว่าเอาพี่อ้าย เพราะว่าเป็นรุ่น 1 ก็เท่านั้นเอง ไม่ได้มีความวิเศษอะไร"

"เสธ.อ้าย" ยังยอมรับแบบไม่ไว้ลายประธาน ตท.1 ว่า "ผมเรียนไม่ค่อยเก่งเท่าไร แต่ส่วนมากที่ได้ตำแหน่งเพราะว่ามีคนมาขอให้เป็น เขาอาจจะเห็นว่าเราเป็นคนพูดจริง ทำจริง และพูดง่าย ไม่มีเล่ห์เหลี่ยม บอกอยู่ อยู่ บอกออก ออก บอกไป ไป บางคนบอกโง่ บางคนบอกว่าพูดง่าย แต่สิ่งสำคัญที่ผมยึดถือมาตลอดคือ ต้องรู้ ผิดถูก จะต้องรู้ผิด ชอบ ชั่ว ดี ต้องรู้จัก"

นอกจากนั้น พล.อ.บุญเลิศยังดำรงตำแหน่งเลขาธิการกิตติมศักดิ์และประธานอำนวยการแข่งม้าราชตฤณมัยสมาคม หรือสนามม้านางเลิ้ง จากการชักชวนของ พล.ต.สนั่น "เพราะเคยติดคุกมาด้วยกันสมัยเป็นกบฏ 8 เดือน กับอีก 8 วัน และตอนนั้นไม่มีที่ไป ตอนที่รับราชการอยู่ก็มาเล่นกอล์ฟบ้าง พอเกษียณอายุราชการแล้วท่านบอกว่าให้มาอยู่ที่นี่ จนกระทั่งมาเป็นกรรมการอำนวยการถึงปัจจุบัน"

ส่วนอีกผลงานที่ถือว่าเข้าตา คือยุคที่ "เสธ.อ้าย" กุมบังเหียนสมาคมมวยสากลสมัครเล่นฯ ด้วยการปลุกปั้นให้ แก้ว พงษ์ประยูร ได้เป็นนักชกเหรียญเงินโอลิมปิกคนล่าสุด "ลอนดอนเกมส์ 2012" ที่ประเทศอังกฤษ หลังจากแพ้นักชกจากประเทศจีนแบบค้านสายตาเป็นเหตุให้เขาต้องประกาศลาออกจากการเป็นนายกสมาคมมวยสากลฯในที่สุด

ส่วนการเคลื่อนไหวทางการเมืองในการนัดชุมนุมใหญ่ขับไล่รัฐบาลวันที่ 24 พฤศจิกายน น่าจะเป็นอีกหนึ่งจุดเปลี่ยนในชีวิตครั้งสำคัญของ "เสธ.อ้าย" ที่อาจจะเป็นการบันทึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์อีกครั้ง

"ตลอดเวลาที่ผ่านมาเพิ่งจะมาปลุกคนให้ออกมาชุมนุมก็ครั้งนี้แหละ ที่ตัดสินใจออกมา เพราะว่ามันมีที่มาที่ไป เริ่มจากเมื่อเดือนพฤษภาคมมีองค์กรต่างๆ เช่น สยามไทย และสยามสามัคคี ของหมอตุลย์ (นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์) และอีกหลายคนมาเชิญขอให้มาเป็นประธานองค์การพิทักษ์สยามได้ไหม ผมถามกลับไปว่า ผมมีบารมีมากพอไหม ถามในที่ประชุม ผมมีบารมีที่จะเป็นหัวหน้าหรือไม่ มีประโยชน์ไหม มีขีดความสามารถไหม ที่จะมาเป็นผู้นำ เขาตอบมาว่าผมมีทั้ง 3 อย่าง ผมจึงบอกว่า เอา"

หลังจาก "โยนหินถามทาง" จัดงานทำบุญประเทศทั่วประเทศ (กรุงเทพฯและ 60 จังหวัด) ปรากฏว่ามีผู้ให้การตอบรับประมาณ 5-6 พันคน จากนั้นจึงคิดต่อว่าจะทำอย่างไรต่อไปและมาได้บทสรุปด้วยเหตุผล 3 ข้อ ในการขับไล่รัฐบาล คือ 1.รัฐบาลมีการปล่อยให้มีการจาบจ้วง ล่วงละเมิดพระเจ้าแผ่นดิน และดูเหมือนว่าจะยุยงด้วยซ้ำ 2.เป็นรัฐบาลหุ่นเชิดของ พ.ต.ท.ทักษิณ เพราะว่าจะเอาใครออก ใครเข้า ต้องไปดูไบ หรือว่าไปฮ่องกง ไม่มีประสิทธิภาพในการทำงาน และ 3.มีการทุจริตคอร์รัปชั่น

"ผมไม่เคยเห็นว่าระบอบประชาธิปไตยจะดีตรงไหนมาตั้งแต่เด็กๆ แล้ว เช่น ถ้าคุณเป็นคนดีของจังหวัด แต่ไม่มีเงิน ลงสมัคร ส.ส.ก็ไม่ได้รับเลือก แล้วมันจะเป็นประชาธิปไตยอย่างไร ลองอธิบายหน่อย พอรูปแบบเป็นอย่างนี้ก็คิดฉ้อฉลเอาเงินงบประมาณไปใช้กันอย่างไม่โปร่งใส ออกนโยบายเพื่อประโยชน์เพื่อคนชอบ แต่ว่าบ้านเมืองเสียหายเท่าไรไม่รู้ ไม่สน ขอให้ตัวเองชนะ" เสธ.อ้ายเผยความคิดส่วนลึกทิ้งท้ายที่จะเลือกอยู่ตรงข้ามกับระบอบประชาธิปไตยโดยไม่สะทกสะท้านกับกระแสอันเชี่ยวกรากในโลกโลกาภิวัตน์

สุดท้ายปฏิบัติการ "แช่แข็ง" ของเสธ.อ้าย จะสำเร็จหรือไม่ ประชาชนคนไทยทั้งประเทศจะเป็นผู้กำหนด


 

 

(ที่มาคอลัมน์จุดเปลี่ยน : มติชนรายวัน 18 พ.ย.2555)


 

กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...