ยกแรก "โอ๋" น็อก "มาร์ค" เตะตัดขา"ซักฟอก" ยกสอง จับตา คู่ชก"นอกสภา"

ภายหลังกลุ่มองค์การพิทักษ์สยาม นำโดย พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ หรือ เสธ.อ้าย ผนวกรวมกับฝ่ายตรงข้าม พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จัดชุมนุมขับไล่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่สนามม้านางเลิ้ง ดูเหมือนว่า สถานการณ์การเมืองจะเริ่ม "ตึง..ตึง"

นายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. ในฐานะผู้คร่ำหวอดการชุมนุมเตือนว่า อย่าประมาท และยังเตือนรัฐบาลให้ระวัง "ข่าวดี" ที่รายงานจากฝ่ายข่าวราชการ

ขณะเดียวกัน ในแวดวง "คนเสื้อแดง" ยังมองว่า กลุ่มผู้ชุมนุมที่สนามม้านางเลิ้งประกาศเจตนารมณ์แบบไม่สนใจมวลชน เพราะเหตุผลที่บอกไปคือการ "แช่แข็งประเทศไทย" หรือการสนับสนุนให้มีการ "รัฐประหาร" นั้น

เป็นเหตุผลที่ไม่เรียกผู้ชุมนุม

แต่กลับปรากฏกลุ่มผู้มาร่วมชุมนุมจำนวนมาก เป็นสัญญาณอย่างหนึ่งให้เห็นว่า...ผิดปกติ

ขณะนี้ พล.อ.บุญเลิศ เรียกระดมพลอีกครั้ง วันที่ 24 พฤศจิกายน ใกล้เคียงกับกำหนดการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล วันที่ 25 พฤศจิกายน

ขณะที่การเมืองนอกสภากำลังดำเนินไป การเมืองในสภาก็เริ่ม "ตึง..ตึง" ขึ้นมาเช่นกัน

เมื่อพรรคประชาธิปัตย์ นำโดย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคฝ่ายค้าน ตัดสินใจยื่นเรื่องขอถอดถอน น.ส.

ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ที่โยกไปเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และ พล.ต.ท.ชัจจ์ กุลดิลก รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ที่โยกไปเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย 

พร้อมกันนั้นยังยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ประกอบด้วย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี พล.ต.ท.ชัจจ์ และ พล.อ.อ.สุกำพล 

แต่ระหว่างที่การยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจกำลังจะเกิดขึ้น คำสั่งฟ้าผ่าจาก พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมก็เปรี้ยงลงมาง

คำสั่งกลาโหม ที่1163/2555 เรื่องให้ปลดนายทหารสัญญาบัตรออกจากราชการ โดยมีเนื้อหาสรุปว่า เป็นคำสั่งปลด ร.ต.อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ออกจากราชการ เป็นนายทหารกองหนุน รับเบี้ยหวัดบำเหน็จบำนาญ สังกัด บก.จทบ. ก.ท.

อ้างเหตุที่สั่งเพราะ "ร.ต.อภิสิทธิ์ ละเมิดศีลธรรมเป็นการทุจริตประพฤติมิชอบในวงราชการ ผิดวินัยทหารอย่างร้ายแรง ไม่สมควรให้อยู่ในราชการต่อไป"

ถือเป็นคำสั่งที่ทุบเปรี้ยงลงตรงหัวใจพรรคฝ่ายค้านที่ยื่นถอดถอนนายกรัฐมนตรี และยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ เพราะนายอภิสิทธิ์ นอกจากจะเป็นกำลังสำคัญในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลแล้ว ยังเป็นผู้ที่ถูกเสนอชื่อให้เป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป หากมีการถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 

เช่นเดียวกับข่าวสารที่แพร่สะพัด

ในขณะที่พรรคร่วมฝ่ายค้านพยายามปิดลับเนื้อหาการยื่นถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ พล.อ.อ.สุกำพล และ พล.ต.ท.ชัจจ์ กลับปรากฏเนื้อหาข่าวปลด ร.ต.อภิสิทธิ์ กระหึ่มขึ้นมา ทำให้ข่าวคราวการถอดถอนและการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจสะดุด

นอกจากนี้ยังปรากฏซ้ำอีกว่า การเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ พรรคภูมิใจไทยซึ่งเป็นเพื่อนเกลอกันสมัยที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาลได้ปฏิเสธเข้าร่วมยื่นถอดถอนและไม่ยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจด้วย โดยให้เหตุผลว่า ตรวจสอบพบว่าข้อมูลของฝ่ายค้านยังไม่เพียงพอที่จะดำเนินการ 

ข่าวสารที่ออกมาจึงกลายเป็น "ข่าวร้าย" ของพรรคฝ่ายค้าน 

ข่าวสารที่ปรากฏก่อนการยื่นถอดถอนและยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจของพรรคร่วมฝ่ายค้าน จึงคล้ายกับการถูก "เตะตัดขา" เซซัดป้อแป้ก่อนวันเวลาซักฟอกจริงจะมาถึง

อย่างไรก็ตาม แม้นายอภิสิทธิ์จะถูก พล.อ.อ.สุกำพลฟาดเปรี้ยงด้วยคำสั่งปลดออกจากราชการ และพรรคร่วมฝ่ายค้านจะขาดพรรคภูมิใจไทยเข้าขบวนการอภิปรายไม่ไว้วางใจ แต่ก็ใช่ว่ารัฐบาลจะมี "ข่าวดี"

ประการแรก เพราะการอภิปรายไม่ไว้วางใจยังมาไม่ถึง ไม่มีใครรู้ว่าพรรคประชาธิปัตย์มีข้อมูลทีเด็ดอะไรในการซักฟอกรัฐบาล หากข้อมูลที่อยู่ในมือของพรรคฝ่ายค้านมีพยานหลักฐานกล่าวหาได้มีน้ำหนัก รัฐมนตรีที่ถูกอภิปรายก็ต้องกระอัก

ประการที่สอง เพราะการอภิปรายไม่ไว้วางใจอยู่ในระยะใกล้เคียงกับม็อบสนามม้านางเลิ้งที่ พล.อ.บุญเลิศ หรือ เสธ.อ้าย เป่านกหวีดเรียกระดมพลกันมาแล้ว

หากข้อมูลที่พรรคฝ่ายค้านนำเสนอมีน้ำหนัก สามารถจุดอารมณ์คนติดได้ ก็ใช่ว่ารัฐบาลจะแฮปปี้เอนดิ้ง

ประการสุดท้ายนี่สำคัญ เพราะการยื่นถอดถอนและยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจนั้น นอกจากสภาผู้แทนราษฎรจะเป็นผู้ดำเนินการซักฟอก และลงมติไว้วางใจหรือไม่ไว้วางใจแล้ว

ยังมีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เป็นผู้พิจารณาคำยื่นถอดถอนอีกด้วย

และดูเหมือนว่าพรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้มีความหวังกับผลการลงมติในญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจเท่าใดนัก หากแต่มีความหวังกับความสำเร็จที่จะได้รับจากองค์กรนอกสภาเสียมากกว่า

ดั่งคำของ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ประธานวิปฝ่ายค้าน ที่บอกว่า ....

"ลงมติเมื่อไหร่ฝ่ายค้านก็แพ้รัฐบาล ตามรัฐธรรมนูญ ปี 2550 มีข้อดี คือ หากเป็นเรื่องทุจริต ทำผิดกฎหมาย และร่ำรวยผิดปกติ จะไม่ยุติแค่ในสภา เพราะเมื่อลงมติแล้ว คดีที่ส่งต่อประธานวุฒิสภา และไปยัง ป.ป.ช.จะยังไม่สิ้นสุด"

นี่อาจจะเป็นอีกดาบที่ฝ่ายค้านเตรียมไว้ "ลากรัฐบาลสู่หลักประหาร"

ดูท่าการเมืองแม้จะปิดสภาวันที่ 29 พฤศจิกายนจะร้อนแรงยิ่งขึ้น 

เป็นความร้อนแรงที่ก่อเกิดขึ้นนอกสภา

11 พ.ย. 55 เวลา 14:41 1,001 1 20
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...