ไทยส้มหล่นโรงงานญี่ปุ่นแห่หนีจีน อุตชิ้นส่วนย้ายตามนิสสัน-โตโยต้า

ไทยรับอานิสงส์กรณีพิพาทจีน-ญี่ปุ่น ทัพชิ้นส่วนค่ายรถยนต์หนีแดนมังกรแห่ซบไทย ค่าย "นิสสัน" ร่อนจดหมายขึ้นโรงงานประกอบแห่งที่ 2 ในไทย "เลกซัส" เปลี่ยนแผนจากจีนย้ายลงเกตเวย์ คาดดึงทัพชิ้นส่วนตามมาอีกชุดใหญ่ หลังยอดขายรถญี่ปุ่นในจีนลดฮวบกว่า 30% ขณะที่กลุ่ม "เครื่องใช้ไฟฟ้า" ลุ้นโยกเข้าไทย

ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" รายงานว่า ผลพวงจากกรณีพิพาทระหว่างจีนกับญี่ปุ่นแย่งชิงเกาะเซนกากุ หรือเตียวหยู ที่ลุกลามอย่างต่อเนื่อง ขยายวงกว้างต่ออุตสาหกรรมรถยนต์ญี่ปุ่นในประเทศจีนอย่างรุนแรง ส่งผลยอดขายรถยนต์ญี่ปุ่นในจีนลดลงแบบฮวบฮาบทุกเดือน โดยแหล่งข่าวในแวดวงอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยต่างมองว่า เป็นสัญญาณเตือนว่าหลังจากนี้ ผู้ประกอบการค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นอาจต้องย้ายฐานที่มั่นในจีน โดยขยับขยายการลงทุนออกมา และประเทศที่จะได้รับอานิสงส์เต็ม ๆ ก็มีเพียง 2 ประเทศคือ ไทย และอินโดนีเซีย

นายเคียวอิจิ ทานาดะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ถึงโอกาสและความเป็นไปได้จากปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างจีนและญี่ปุ่นว่า หากโตโยต้าไม่สามารถขยายการลงทุนในจีนต่อไปได้ ก็อาจจะต้องเปลี่ยนมายังประเทศไทยและอินโดนีเซีย ซึ่งทั้งสองประเทศมีโอกาสค่อนข้างสูงขึ้น แต่ถึงแม้ไม่มีกรณีพิพาทดังกล่าว โตโยต้าก็มีแผนขยายการลงทุนมาทั้ง 2 ประเทศอยู่แล้ว

นอกจากนี้ "นิสสัน" ถือว่าเป็นค่ายรถญี่ปุ่นอีกรายที่มีแผนชัดเจนที่จะขยายการลงทุนมาเมืองไทย โดยล่าสุดได้ส่งจดหมายแถลงข่าวแผนลงทุนโรงงานแห่งใหม่ ในวันศุกร์ที่ 2 พ.ย.นี้ โดยโรงงานใหม่จะตั้งอยู่บริเวณพื้นที่โรงงานเดิม บางนาตราด ระหว่าง กม.21-22 ซึ่งในงานดังกล่าวจะมีนายฮิโรตะ ไซกาวา รองประธานบริหาร บริษัท นิสสัน มอเตอร์ จำกัด และนายทาคายูกิ คิมูระ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้ร่วมแถลงการลงทุนเปิดโรงงานใหม่ของนิสสันครั้งนี้ สอดคล้องกับรายงานข่าวของหนังสือพิมพ์นิกเคอิในประเทศญี่ปุ่น ที่รายงานเมื่อวันที่ 24 ตุลาคมที่ผ่านมาว่า บริษัท นิสสัน มอเตอร์ ประกาศจะลงทุนมูลค่า 30,000 ล้านเยน หรือประมาณ 11,500 ล้านบาท เพื่อก่อสร้างโรงงานผลิตรถยนต์แห่งใหม่อีก 1 แห่งในประเทศไทย เพื่อรองรับการขยายตลาด และเป็นไปตามเป้าหมายของนิสสันที่ต้องการเพิ่มส่วนแบ่งตลาดในประเทศไทยเป็น 15% ในปีงบประมาณ 2560

สำหรับโรงงานแห่งนี้ ในระยะแรกจะมีกำลังผลิต 100,000 คันต่อปี และสามารถเพิ่มขึ้นเป็นระดับ 200,000 คันต่อปีได้ในภายหลัง ขณะที่ปัจจุบันโรงงานนิสสันในประเทศไทยมีกำลังการผลิตอยู่ที่ประมาณ 190,000 คันต่อปี

นางเพียงใจ แก้วสุวรรณ นายกสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า สัญญาณการเพิ่มกำลังผลิตและขยายการลงทุนในประเทศไทยของค่ายรถต่าง ๆ ช่วงนี้เริ่มชัดเจนขึ้น และเชื่อว่าภายใน 5 ปีจากนี้จะมีการลงทุนเพิ่มเติมจากผู้ประกอบการหลายราย และน่าจะเป็นการลงทุนทั้งจากค่ายรถยนต์และกลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วน เพราะเป็นธรรมเนียมปฏิบัติอยู่แล้วที่ค่ายชิ้นส่วนจะต้องขยายตัวไปตามโรงงานประกอบรถยนต์

ขณะที่แหล่งข่าวจากกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นที่มีฐานอยู่ในประเทศจีนและน่าเป็นห่วงมากที่สุดตอนนี้คือ นิสสัน เพราะมียอดขายและส่วนแบ่งตลาดเยอะสุดในจำนวนผู้ประกอบรถยนต์ญี่ปุ่นด้วยกัน โดยมีส่วนแบ่งการขายในประเทศจีนมากถึง 25% ของนิสสันทั่วโลก

ส่วนโตโยต้า โดยเฉพาะรถยนต์หรู "เลกซัส" ก่อนหน้านี้มีกระแสข่าวค่อนข้างชัดเจนว่า จะไปตั้งโรงงานที่จีนหลังโดนผลกระทบค่าแรงและปัญหาค่าเงินเยนแข็งตัว ทำให้มีการทบทวนนโยบาย และล่าสุดนายเคียวอิจิ ทานาดะ กรรมการผู้จัดการของโตโยต้าประเทศไทย ยืนยันความเป็นไปได้ที่จะย้ายการลงทุนมาที่ประเทศไทยและอินโดนีเซีย แต่ให้น้ำหนักประเทศไทยมากกว่า โดยน่าจะไปลงทุนตั้งโรงงานที่นิคมเกตเวย์อันเป็นฐานผลิตรถเก๋งของโตโยต้า

ขณะที่นายเอช นาคางาวะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ตรีเพชรอีซูซุเซลส์ ล่าสุดก็ประกาศเพิ่มกำลังการผลิตในไทย จากเดิมที่มีกำลังผลิตอยู่ที่ 2.1 แสนคันต่อปี ในวันจันทร์ที่ 29 ตุลาคม 2555 พร้อมเดินเครื่องกำลังการผลิตโรงงานผลิตรถยนต์อีซูซุแห่งใหม่ ณ นิคมอุตสาหกรรมเกตเวย์ซิตี้ จังหวัดฉะเชิงเทรา จำนวน 8 หมื่นคันต่อปี โดยใช้เงินลงทุนกว่า 6.5 พันล้านบาท ซึ่งจะทำให้อีซูซุมีกำลังการผลิตรวมเพิ่มเป็น 2.9 แสนคันต่อปี เพื่อให้เพียงพอกับความต้องการของตลาดในประเทศและการส่งออก โดยสัดส่วนการส่งออกอยู่ที่ 30-40% และในประเทศ 60-70%

สำหรับผลกระทบความขัดแย้งระหว่างจีนและญี่ปุ่น หนังสือพิมพ์วอลล์สตรีต เจอร์นัล รายงานว่า สินค้าสัญชาติญี่ปุ่นในจีนมีความต้องการที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ญี่ปุ่นในจีนได้รับผลกระทบรุนแรง โดยบริษัท กวางเจา ออโตโมบิล กรุ๊ป ในประเทศจีน ซึ่งเป็นพาร์ตเนอร์ของโตโยต้าและฮอนด้า เปิดเผยว่า ยอดขายรถยนต์ในเดือนกันยายนอยู่ที่ 47,000 คัน ลดลง 33% ส่วนบริษัทดองเฟง ออโตโมบิล กรุ๊ป ซึ่งเป็นผู้ร่วมทุนในจีนของนิสสัน เปิดเผยว่า ยอดขายในเดือนกันยายนที่ผ่านมาอยู่ที่ 18,608 คัน คิดเป็นสัดส่วนยอดขายที่ลดลงถึง 30% เทียบกับช่วงเดียวกันในปีที่ผ่านมา

ด้านนางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร นายกสมาคมไทย-ญี่ปุ่น และประธานกรรมการบริหาร บริษัท โตชิบา ไทยแลนด์ จำกัด กล่าวว่า ปัญหาความขัดแย้งระหว่างจีนและญี่ปุ่นที่เกิดขึ้น ส่วนตัวก็หวังลึก ๆ ว่าจะเป็นอานิสงส์เอื้อให้มีการตัดสินใจย้ายการลงทุนเข้ามาในไทย ซึ่งต้องยอมรับว่าเมืองไทยมีความโดดเด่น ไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องความขัดแย้งในลักษณะนี้ และเชื่อว่านักลงทุนเหล่านี้ต้องเริ่มมองหาฐานผลิตสำรองเอาไว้แล้ว เพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตอนนี้ถือว่าเป็นเรื่องละเอียดอ่อนมาก ถือเป็นข้อดีของเมืองไทยมีจุดแข็งเรื่องนี้ และคนไทยเวลาลงทุนเป็นพาร์ตเนอร์กับต่างชาติแล้วค่อนข้างซื่อสัตย์ ทำให้ไว้ใจได้เวลามาลงทุนในไทย

ส่วนปัญหาการเมืองและน้ำท่วมของไทย เชื่อว่าถ้าสามารถรีบเคลียร์ปัญหาได้เร็ว ทั้งในแง่ของการเดินหน้าทำงานต่อเนื่องของรัฐบาล และยุทธศาสตร์การวางระบบป้องกันน้ำท่วมที่เป็นรูปธรรม จะเป็นโอกาสของการดึงนักลงทุนใหม่ ๆ ให้เข้ามา และเมื่อเกิดการรวมตัวของเศรษฐกิจประชาคมอาเซียนก็จะเป็นโอกาสของประเทศไทยมากที่สุด ในฐานะที่อยู่ใจกลางของภูมิภาค

กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...