ธัญสก พันสิทธิวรกุล จาก "อินดี้" สู่หนัง "การเมือง" ผู้กำกับ "นวมทอง

 

เรื่องราวของชายคนหนึ่งที่ขับรถแท็กซี่ชนรถถัง กระทั่งในที่สุดได้ผูกคอตายเพื่อเป็นสัญลักษณ์ในการต้าน "รัฐประหาร" นั้นไม่ธรรมดา

เป็นการทำ "อัตวินิบาตกรรม" ที่ผ่านการคิดไตร่ตรองมาแล้วอย่างรอบคอบ หาใช่อารมณ์เพียงชั่ววูบอย่างที่อีกฟากฝ่ายหนึ่งวิพากษ์วิจารณ์ ยืนยันได้จากหลักฐานอย่าง จดหมาย เสื้อผ้าที่สวมใส่ 

ชายคนนั้นคือ นวมทอง ไพรวัลย์ ผู้หาญกล้าออกมาต่อต้านการรัฐประหารของ "คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.)" เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 

ในขณะที่ใครต่อใครต่างชื่นชม "คณะทหาร" ยื่นดอกไม้ยินดีต้อนรับ นวมทองแสดงการคัดค้านครั้งแรกเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2549 หรืออีก 11 วันต่อมาหลังจากการรัฐประหาร ด้วยการขับรถแท็กซี่ชนรถถังที่ตรึงกำลังอยู่บริเวณ "หมุดคณะราษฎร" ทำให้เขาได้รับบาดเจ็บ ต้องเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาล 

ต่อเหตุการณ์นี้ พ.อ.อัคร ทิพโรจน์ รองโฆษก คปค. ออกมาระบุว่า "ไม่มีใครมีอุดมการณ์มากขนาดยอมพลีชีพได้"

เป็นคำสบประมาทผู้เชื่อมั่นในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอย่างหนัก ทำให้ต่อมา คืนวันที่ 31 ตุลาคม 2549 นวมทองเลือกที่จะจบชีวิตตัวเองเป็นเป็นสัญลักษณ์แห่งการต่อสู้ บริเวณถนนวิภาวดีรังสิต เยื้องกับที่ตั้งสำนักงานหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

ถึงวันนี้ ผ่านมาแล้ว 6 ปีเต็ม

โครงการหนึ่งเกี่ยวกับแท็กซี่ผู้พลีชีพเพื่อต้านเผด็จการได้เกิดขึ้น และอยู่ในขั้นตอนการดำเนินการ ที่คาดว่าอีกไม่นานหลายคนทั้งประเทศก็จะได้รับชม ในรูปแบบของภาพยนตร์ชื่อ "นวมทอง" 

โดยผู้กำกับ ธัญสก พันสิทธิวรกุล ซึ่งเคยสร้างความฮือฮากับหนังการเมืองอย่าง "ผู้ก่อการร้าย (The Terrorists)" เมื่อมีการสลายการชุมนุมใหญ่คนเสื้อแดงปี 2553

ธัญสก เกิดเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2516 ที่กรุงเทพมหานคร แต่ชีวิตวัยเด็กได้ไปเติบโตที่ ต.ปาดังเบซาร์ อ.สะเดา จ.สงขลา วิ่งเล่นอยู่ในสวนยางกระทั่งอายุ 9 ขวบ ก่อนจะย้ายกลับเข้ามากรุงเทพฯ ด้วยความที่ประสบอุบัติเหตุต้องพักรักษาตัว ทำให้เขาเข้าเรียนช้ากว่าคนอื่น กว่าจะจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน เข้า-ออกโรงเรียนต่างๆ เป็นว่าเล่น อาทิ โรงเรียนมหาวีรานุวัตร, โรงเรียนสัจจพิทยา, โรงเรียนไตรมิตรวิทยาลัย, โรงเรียนวัดมกุฏกษัตริย์

ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยก็ฉุกละหุกขลุกขลักไม่แพ้กัน 

"ผมไม่สอบเอ็นทรานซ์ เข้าเรียนที่ ม.รามคำแหง แต่เรียนได้แค่ปีครึ่งก็เลิกเพราะไกลบ้าน เลยออกมาทำงานขายเครื่องไฟฟ้าอยู่ปีหนึ่ง จากนั้นสอบเข้าเรียนศิลปกรรมที่ มศว ประสานมิตร ตอนนั้นไม่ชอบเข้าสังคม เข้ากับเพื่อนไม่ได้ เลยแอบอ่านหนังสืออยู่แต่ในห้องสมุด"

และในที่สุด ธัญสก ก็ออกจาก มศว เพื่อเอ็นทรานซ์ใหม่ ติดคณะครุศาสตร์ เอกศิลปศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้วยเหตุผลหลักคือ "ชอบผู้ชายคนหนึ่ง เขาติดที่บัญชี จุฬาฯ เราจะไปเรียนที่เดียวกับเขา"

เป็นคนที่อายุมากที่สุดในรุ่น และกว่าจะเรียนจบก็ต้องใช้เวลาถึง 8 ปี เพราะธัญสกเรียน 1 ปี ทำงาน 1 ปี เพื่อส่งตัวเองเรียน และช่วงนี้เองที่เขาทำงานหนักมาก ไม่ว่าจะเป็นบทวิจารณ์หนัง ที่เขียนให้กับนิตยสารต่างๆ รวมถึงงานที่มูลนิธิหนังไทยด้วย 

และนี่คือเรื่องราวของเขา และภาพยนตร์เรื่อง "นวมทอง" ที่กำลังอยู่ระหว่างการสร้าง

"หนังการเมือง" ที่ถูกพูดถึงกันอย่างแพร่หลายในหมู่คนเสื้อแดงเวลานี้

- เริ่มสนใจแวดวงภาพยนตร์ได้อย่างไร?

อ่านนิตยสารหนังเล่มหนึ่งชื่อ ซีนีแม็ก แล้วรู้สึกชอบมาก รู้สึกว่าเป็นหนังสือที่เปิดโลกให้เรามาก คือเมื่อก่อน ถ้าพูดถึงนิตยสารเกี่ยวกับหนังก็จะมีแค่เอ็นเตอร์เทนกับสตาร์พิก ตอนนั้นยังไม่มีอินเตอร์เน็ต จะอัพเดตข่าวสารอะไรก็ต้องจากสองเล่มที่ว่า ก็รู้สึกว่าข้อมูลที่ให้นั้นไม่เพียงพอกับความต้องการที่เรายากได้ แต่พอมาเจอซีนีแม็ก ซึ่งขณะนั้น ธิดา ผลิตผลการพิมพ์ เป็นบรรณาธิการ พบว่ามีบทความหลายๆ ชิ้นที่น่าสนใจ เช่นของ ประวิทย์ แต่งอักษร, กิตติศักดิ์ สุวรรณโภคิน, นรา 

ตอนเรียนอยู่ปี 1 เทอม 2 เลยไปขอลงเรียนวิชาที่อาจารย์ประวิทย์สอน ชื่อวิชา "วิเคราะห์และวิจารณ์ภาพยนตร์" เป็นวิชาของเด็กปี 4 คณะนิเทศศาสตร์ ซึ่งอาจารย์ก็ให้เราลงเรียน ปรากฏว่าเปิดโลกในการดูหนังอย่างมาก การได้เห็นโครงสร้างของหนังที่มันมากกว่าการดูหนัง เห็นสิ่งที่คนอื่นสังเกตไม่เห็น รู้สึกคลั่งหนังไปเลย 

พอเรียนปี 2 ก็ไปลงเรียนวิชาสัมมนาภาพยนตร์ของคณะนิเทศฯ ซึ่งเชิญคนอื่นๆ มาช่วยสอน เช่น ภานุ อารี, ชลิดา เอื้อบำรุงจิต ด้วยความที่เราสนใจหนังอยู่แล้วก็เลยเข้าไปเจ๊าะแจ๊ะ ตีสนิทกับพี่ชลิดา แล้วก็เลยขอฝึกงานที่มูลนิธิหนังไทยเลย (หัวเราะ) 

- หนังเรื่องแรกที่ทำ?

ตอนนั้นทำงานอยู่มูลนิธิหนังไทย ซึ่งทางมูลนิธิจะมีการจัดประกวดหนังสั้นทุกปี เราเป็นคนใน แต่ก็อยากลองส่งประกวด เลยลองทำเรื่อง "เรื่องส่วนตัว (Private Life)" เล่าถึงคน 2 คน นั่งทะเลาะกันบนรถ รถขับไปเรื่อยๆ วิวหน้ารถก็จะเปลี่ยนไป ทำเสร็จก็แอบส่งประกวดด้วยโดยใช้ชื่อคนอื่น ซึ่งจากงานร้อยกว่าเรื่อง คัดรอบแรกเหลือ 17 เรื่อง ก็ปรากฏว่างานเราติดอยู่ด้วย 

จากนั้นก็มีการคัดเลือกหนัง 2 เรื่อง ส่งไปเทศกาลหนังทดลอง ซึ่งตอนนั้นไม่เคยรู้เลยว่าโลกนี้มีเทศกาลหนังแบบนี้ พอส่งไปครั้งแรกก็ได้ฉายเลยที่ มีเดีย ซิตี้ อเมริกา เราอึ้งมาก เพราะมารู้ตอนหลังว่า เทศกาลนี้ไม่ใช่ว่าใครส่งไปก็จะได้ฉาย จะมีการคัดหนังเป็นร้อยๆ เรื่อง ฉายเพียง 10 เรื่องเท่านั้น และหนังที่เราทำก็ไม่เอาใจกรรมการอยู่แล้ว ถ้าไม่ชอบมากคนก็จะเกลียดมากไปเลย 

- จากนั้นก็เลยติดใจและทำหนังเยอะมาก?

เราเป็นคนบ้าพลัง วันหนึ่งจะทำอะไรหลายอย่างมาก ปีแรกทำหนังสั้น 2-3 เรื่อง จากนั้นก็ทำมาเรื่อยๆ ตอนนี้ก็ 20 กว่าเรื่องแล้วมั้ง ส่วนหนังยาวเรื่องแรกทำอยู่ตอนเรียนปี 4 ชื่อ "หัวใจต้องสาป (Voodoo Girls)" เป็นสารคดีการตามติดชีวิติเพื่อนๆ ที่เพิ่งเรียนจบ จบแล้วจะทำอะไรดี ก็ตามถ่ายไปเรื่อยๆ ก็ประสบความสำเร็จระดับหนึ่ง เลยติดใจมาทำสารคดีเรื่อง "สวรรค์สุดเอื้อม (Happy Berry)" คราวนี้ตามติดชีวิตเพื่อนที่เราเกลียด และเขาก็เกลียดเราด้วย (หัวเราะ) เป็นพวกไฮโซ แต่งตัวดี มีรสนิยม คือเป็นโจทย์ที่ตัวเองคิดว่าสนุก เพราะถ่ายไปถ้าเขาไม่อยากตบเรา เราก็คงอยากตบเขา แต่ในที่สุดก็ไม่มีอะไร ก็จบออกมาได้ด้วยดี เรื่องนี้ได้รางวัลยอดเยี่ยม "เทศกาลไทเป ด็อกคิวเมนทารี ฟิล์มเฟสติวัล" ที่ประเทศไต้หวัน ก็เลยเริ่มมีคนรู้จัก มีหนังสือพิมพ์มาขอสัมภาษณ์ 

- เป็นม้ามืดที่ได้รับรางวัลศิลปาธรปี 2550

งงมาก (ลากเสียงยาว) ไม่เคยคิดเลย และงานที่เราทำก็ไม่มีใครรู้จัก ไม่ค่อยได้ฉายในประเทศไทยตามโรงทั่วไปด้วยซ้ำ ตอนที่มีคนโทร.มาบอกว่าได้รับรางวัลนี้ ตอบเขาไปว่าไม่ขอรับ เพราะรู้สึกว่าไม่อยากยุ่งกับรางวัลต่างๆ ของประเทศนี้ แต่พอตอนหลังปรึกษาคุณ โดม สุขวงศ์ ซึ่งเรารู้ตอนหลังว่าเขาเป็นกรรมการด้วย คุณโดมก็บอกว่า รางวัลนี้ได้เงินแสนหนึ่งด้วยนะ ก็เลยรับ แล้วก็เอาเงินมาทำงานของเรา 

พอปีต่อมา เขาก็ชวนไปเป็นกรรมการรางวัลนี้ จำได้ว่าเข้าประชุมแค่ครั้งเดียวก็ไม่เอาแล้ว เพราะรับไม่ได้ที่มีคนที่เป็นคนแบนหนังเรื่อง "แสงศตวรรษ" ของพี่เจ้ย (อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล) ร่วมเป็นกรรมการด้วย

- จากคนทำหนังอาร์ตมาสนใจทำหนังการเมืองตอนไหน?

เมษายน ปี 2552 ขณะนั้นเป็นอาจารย์อยู่ที่ ม.กรุงเทพ ก็มีเหตุการณ์ชุมนุมของคนเสื้อแดงที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ มีไฟไหม้ เกิดเหตุชุลมุนวุ่นวาย เปิดทีวีดูและก็เข้าไปดูข่าวด้วยทางเฟซบุ๊ก ก็รู้สึกว่าในเฟซบุ๊กกับข่าวที่รายงานทางทีวีนั้นคนละเรื่องเลย คือในเฟซบุ๊กมีคลิปเหตุการณ์เต็มไปหมดที่ไม่เหมือนกับคนส่วนใหญ่เห็น และด้วยความที่เราทำหนังมานาน เรามั่นใจว่าสามารถแยกออกว่าอันไหนจริง อันไหนตัดต่อ อย่างคลิปที่ผู้หญิงคนหนึ่งถูกกระชากผม เห็นแล้วตกใจมาก 

จากนั้นก็พยายามหาข้อมูลเรื่องนี้เรื่อยมา มีการตั้งกลุ่มกันขึ้นทางอินเตอร์เน็ต จนปี 2553 ตอนนั้นกำลังถ่ายหนังอยู่ที่ จ.นครศรีธรรมราช มีคนโทร.มาบอกว่าเกิดเหตุการณ์สลายชุมนุม 10 เมษายน มีคนตายที่แยกคอกวัว เลยรีบกลับมา แล้วก็ไปร่วมงานรำลึกอีกวันหนึ่ง ต่อมาน้องที่รู้จักคนหนึ่งก็ถูกยิงเสียชีวิตที่ซอยรางน้ำ ยิ่งทำให้เราอยากทำหนังเกี่ยวกับเหตุการณ์นี้

- เลยเป็นหนังเรื่อง "ผู้ก่อการร้าย"?

ใช่ ตอนนั้นขอเปลี่ยนโปรเจ็กต์กับอย่างกะทันหันเลย แล้วก็ลงไปในพื้นที่ที่คนเสื้อแดงชุมนุมทุกวันตั้งแต่นั้น ซอยรางน้ำ บ่อนไก่ ราชประสงค์ ที่เป็นเขตใช้กระสุนจริง ก็ไปถ่ายคนเดียว ไม่กล้าชวนใครไปด้วย

คือเมื่อก่อนไม่รู้เรื่องการเมืองอะไรเลย ติดตามข่าวสารเหมือนกับคนส่วนใหญ่ จนกระทั่งเหตุการณ์มาเกิดกับคนใกล้ตัว และพบว่าข้อมูลข่าวสารที่เราไปเจอกับที่ถูกนำเสนออกมาในสื่อนั้นมันคนละเรื่อง เลยทำให้ต้องไปหาความจริงอีกช่องทางหนึ่งคือจากอินเตอร์เน็ต จากกลุ่มต่างๆ รู้สึกว่าที่ผ่านมาเราถูกหลอก เหมือนอยู่ในโลกเมทริกซ์มาตลอด ทีนี้พอได้ออกมาเห็นความจริงก็พบว่าเราไม่อาจกลับไปเป็นอย่างเดิมได้อีกแล้ว 

สำหรับเรา ช่วงปีสองปีนี้เป็นช่วงที่รู้เรื่องบ้านเมืองเยอะมาก บ้าพลังมาก ตามทั้งในเฟซบุ๊ก ค้นหาทุกอย่าง คุยกับผู้คน อ่านหนังสือประวัติศาสตร์การเมือง เสพสื่อที่ไม่ใช่กระแสหลัก

- โครงการหนังเรื่อง "นวมทอง" เกิดขึ้นได้อย่างไร?

มีคนติดต่อมาว่าอยากหาผู้กำกับหนัง ตอนแรกเขาอยากได้พี่เจ้ย (อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล) แต่แกไม่ว่าง ก็เลยขอนัดเราคุย คุยรายละเอียดเยอะพอสมควร ในที่สุดก็ตัดสินใจทำ ในโปรเจ็กต์นี้ถูกดึงมาหลายคน วัฒน์ วรรลยางกูร กับทองขาว ทวีปรังษีนุกูล ช่วยกันทำบท ซึ่งตอนนี้เสร็จแล้วแต่ยังไม่สมบรูณ์ ปรับกันอยู่อีกหน่อย แต่เป็นตามโครงที่คุยกันไว้ตอนแรก สิ่งที่ต้องทำต่อคือเรื่องโลเกชั่น จัดการกองถ่าย หาทีมงานแบ่งว่าใครจะรับผิดชอบอะไรบ้าง 

เรื่องนี้เป็นหนังแฟนตาซีเหนือจริง เปรียบเทียบการเมือง เอาเรื่องแบบชาวบ้านๆ มาปรับให้ดูก้าวหน้า ไม่ได้เกี่ยวกับลุงนวมทอง ไพรวัลย์ คนเดียว แต่ใช้ตัวละครอย่างนวมทองเดินเรื่อง เป็นเรื่องจินตนาการ ตามความเชื่อแบบไทยๆ มีผีประชาธิปไตย คือคนที่ที่ตายจากการเรียกร้องประชาธิปไตยทั้งหลายมาเกี่ยวข้อง 

หนังเหมือนการเสิร์ชกูเกิล เรื่องที่เคยได้ยินมา เราเชื่อมโยงไม่ถึง เรื่องถูกบิดเบือนกลายเป็นอย่างอื่น บุคคลที่อยู่เบื้องหลัง จะถูกเปิดเผยด้วยตัวละครเหล่านี้ เชื่อมโยงกันอย่างไร หลักๆ ก็คือการต้านเผด็จการ 

โดยความตั้งใจ เป็นหนังที่ต้องการให้คนส่วนใหญ่ดู ดูแล้วอาจจะเถียง คัดค้าน แต่นี่คือข้อมูลส่วนหนึ่ง ผมว่าบ้านเราประหลาด ที่คนไม่อาจถกเถียงความจริงกับได้ รู้สึกว่าอย่าไปลบหลู่ อย่างเรื่อง การเมือง ศาสนา พูดไม่ได้ เราเลยเป็นแบบนี้ ด้านหนึ่งน่ากลัว แต่อีกด้านก็ทำให้คนขุดคุ้ยหาข้อมูลบางอย่างอะไร (หัวเราะ)

- ต่อกรณีของ "นวมทอง ไพรวัลย์"?

เป็นคนที่ยึดมั่นในการปกครองระบอบประชาธิปไตย ต่อต้านเผด็จการ เราว่าแกรู้เรื่องดีเกี่ยวกับการรัฐประหารตอนนั้น แต่อาจยังไม่ตาสว่างเหมือนกับคนเสื้อแดงตอนนี้ เชื่อว่าถ้าลุงนวมทองยังอยู่ แกจะเป็นคนเสื้อแดงที่ก้าวหน้ามาก จะตาสว่างมากกว่านี้ 

เราไม่เห็นด้วยกับการฆ่าตัวตาย เชื่อว่าถ้ามีชีวิตอยู่จะทำอะไรได้มากกว่านี้ แต่แน่ล่ะ การตายก็เป็นสัญลักษณ์หนึ่งทำให้คนฉุกคิดขึ้นมาได้ 

- มองวงการหนังบ้านเราทุกวันนี้อย่างไร?

ด้านหนึ่ง เราทำได้แค่นี้จริงๆ เพราะประเทศชาติเป็นแบบนี้ ถ้าเทียบกับเกาหลีใต้ เมื่อก่อนไม่มีใครรู้จัก เพราะว่าเกาหลีใต้ 18 ปีที่แล้ว อยู่ภายใต้รัฐบาลเผด็จการ กระทั่งมีการเลือกตั้ง รัฐบาลมาจากการเลือกตั้ง เขาฟังคนทำหนัง ฟังคนจากหลากหลายสาขาอาชีพ ตอนนี้เขาก็เลยกลายเป็นฮับของทุกอย่าง สำหรับบ้านเรา อย่าพูดเรื่องการพัฒนาวงการศิลปะเลยถ้าไม่พัฒนาการเมือง

วันนี้เรายังก้าวไม่ข้ามเผด็จการ ยังมีการประนีประนอมโดยการไม่สู้อยู่อย่างนี้ต่อไป วงการหนังบ้านเราก็จะไม่มีการเปลี่ยนแปลง ไม่เติบโต เป็นแบบนี้ต่อไป มีหนังผีแบบเดิมๆ หนังรักแบบเดิมๆ ละครที่เล่าซ้ำไปซ้ำมาไม่รู้กี่เวอร์ชั่น หรือที่พยายามจะโป๊บ้างแบบจันดาราก็ดันดักดาน ล้าหลังอีก แทนที่จะก้าวหน้ากลับล้าหลัง แล้วคนก็ไม่คิดวิเคราะห์ว่าทำไมเราล้าหลังแบบนั้น 

- หนังที่เกี่ยวกับประเด็นการเมืองบ้านเรามีน้อย?

บ้านเราเป็นประเทศเดียวที่มีการกดขี่มาอย่างยาวนาน แต่หนังพูดถึงประเด็นนี้มีน้อยมาก ประเทศจีน เขามีการห้าม มีการแบน ต้องส่งบทหนังให้ตรวจก่อน แต่จีนก็มีหนังที่พูดเรื่องการกดขี่เยอะมาก และส่งไปตามเทศกาลต่างๆ เยอะ แต่ประเทศเราไม่มี ศิลปินบ้านเราไม่ได้สนใจเรื่องการเมืองจริงๆ เราก็ยอมรับว่าเป็นคนหนึ่ง แต่วันนี้ก็พยามเรียนรู้ให้มากขึ้น

ที่ผ่านมาเราไม่เคยตั้งคำถาม เราไปประเทศอื่น มีสินค้าให้เลือกมากกว่าเซเว่น ของหลากหลายยี่ห้อแข่งขันกันลด แลก แจก แถม เต็มไปหมด มากกว่าบ้านเราที่มีอยู่แค่เจ้าเดียว นี่เป็นเรื่องการเมือง ทุกอย่างเชื่อมโยงกันหมด

- การเมืองอยู่กับทุกอย่างในชีวิต?

เมื่อก่อนเรามองว่าไม่เกี่ยวกัน แต่มันเกี่ยวกันอย่างมาก การเมืองคือชีวิต คนจะมองว่าการเมืองเป็นเรื่องของมีรัฐปกครองประชาชน เปล่า การเมืองคือเรื่องคนสองคน แฟนกินข้าว แฟนชอบไข่เจียว เราชอบไข่ดาวก็ต้องตกลงกันแล้ว หรือจะมีเซ็กซ์กันท่าไหน นี่ก็ต้องพูด การเมืองคือชีวิต คือข้อตกลงระหว่างกัน ถ้าไม่มีการเมือง ก็ต้องไปอยู่ป่าสิ ถือสันโดษ ซึ่งก็เป็นการเมืองอย่างหนึ่งที่เราเลือกจะออกจากสังคม

เป็นเรื่องที่เราต้องคิด จะบริหารทรัพยากรกันอย่างไร 

หรือเราจะอยู่ด้วยกันอย่างไร 

 

กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...