อะ คิง คอลด์ "สีหนุ"หากปราศจากพระองค์...ไม่แน่นัก กัมพูชา อาจไม่หลงเหลือความเป็นชาติรัฐ

เป็นเรื่องยากเย็นอย่างยิ่งต่อการใช้ตัวหนังสือเพียงไม่กี่บรรทัดบรรยายถึงตัวตนแห่งสมเด็จพระนโรดม สีหนุ อดีตกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่แห่งกัมพูชา ยากแม้แต่การใช้หลายบรรทัดเหล่านั้นบอกเล่าถึงเรื่องราวมากมายหลากหลายเปี่ยมสีสันที่เกิดขึ้นในช่วงชีวิตของพระองค์ให้ครบถ้วนกระบวนความ

ขณะที่พระศพสถิตสงบนิ่งด้วยสันติสุดท้าย ณ โถงท้องพระโรงหลวงเบื้องหน้าราชบัลลังก์แห่งพระราชวังจัตุรมุขมงคล กรุงพนมเปญ ท่ามกลางกลิ่นธูปควันเทียนและเครื่องหอมนานาที่ประชาชนชาวกัมพูชาทยอยเดินทางมาจุดถวายสักการะไม่ขาดสายที่อุทยานภายนอก

ภาพเมื่อเก่าก่อนต่างกรรมต่างวาระของอดีต เจ้าŽ ผู้ครองราชบัลลังก์กัมพูชารายนี้เต้นเร่าอยู่ในความรู้สึกของทุกผู้คน

ครั้งหนึ่งพระองค์ถูกกล่าวขานกัน โดยเฉพาะในสื่อต่างชาติทั้งหลายว่าเป็นกษัตริย์หนุ่มผู้ฟุ้งเฟ้อเห่อเหิม นิยมความหรูหราสารพัดในระดับ เพลย์บอยŽ แต่เป็นกษัตริย์หนุ่มองค์เดียวกันนั้น ที่อาศัยเพียงวิเทโศบายทางการทูตและขันติ อดกลั้น เอาชนะเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศสได้อย่างหมดจด โดยไม่พักต้องพึ่งพาการสู้รบ ไม่ต้องสูญเสียไปกับสงครามเพื่อนำพาอิสรภาพและอธิปไตยเหนือดินแดนมาสู่กัมพูชา

นักประวัติศาสตร์ชาติตะวันตกบางราย ลงความเห็นว่า เจ้าสีหนุ มีส่วนสำคัญไม่น้อยในการปูทาง สร้างความสำคัญให้กับขบวนการปฏิวัติสุดโต่งอย่าง ขแมร์รูจŽ หรือ เขมรแดงŽ ที่มีกำลังเป็นเรือนพันให้เติบใหญ่ ขยายตัวจนสามารถยึดครองพนมเปญได้สำเร็จ แต่นักประวัติศาสตร์อีกมากคนไม่แพ้กันสามารถฟันธงได้ว่า กัมพูชา ยังคงเป็น กัมพูชา ที่มีบูรณภาพแห่งดินแดนอยู่ได้อย่างเช่นทุกวันนี้ ก็เป็นเพราะปรีชาสามารถและการเล็งเห็นการณ์ไกลของเจ้าสีหนุเช่นเดียวกัน

ในยามปลอดศึกสงคราม พระองค์พยายามวางรากฐานทันสมัยให้กับประเทศที่ น่าสงสารของฉันŽ ในยามที่รอบด้านเต็มไปด้วยศึกสงครามนองเลือด เป็นพระองค์ที่พยายามในทุกวิถีทางเพื่อปกป้องไม่ให้การสู้รบล่วงล้ำเข้ามาในประเทศเล็กๆ แห่งนี้

แม้ในยามที่กัมพูชากลายเป็นสนามประลองของประดามหาอำนาจทั้งในระดับภูมิภาคและในระดับโลก บ้านเมืองเต็มไปด้วยการสู้รบเข่นฆ่ากันนานปี สุดท้ายก็เป็นเจ้าสีหนุอีกนั่นแหละที่จัดการจนประเทศชาติสามารถหยัดยืนได้ พร้อมที่จะก้าวเดินไปข้างหน้าอีกครั้ง

ทั้งๆ ที่พระองค์สามารถใช้ชีวิตในบั้นปลายอย่างสงบ มีสุขสันติเพียงลำพังได้ ณ ชายหาดริเวียราของฝรั่งเศส หรือในวิลล่าหรูที่กรุงปักกิ่ง แต่นั่นไม่ใช่วิถีแห่งกษัตริย์อย่างเจ้าสีหนุ

เพราะ ฉันคือสีหนุ ชาวกัมพูชาทุกคนคือลูกๆ หลานๆ ของฉันทั้งสิ้นŽ !



วันที่ 31 ตุลาคม 1922 คือวันพระราชสมภพของ นโรดม สีหนุ เจ้าชายในราชสกุล นโรดม ซึ่งไม่เคยถูกมองว่ามีโอกาสอย่างจริงจังมากมายเท่าใดนักที่จะขึ้นครองราชบัลลังก์ ตรงกันข้ามเจ้าชายหนุ่มได้ชื่อว่าเป็นคนอ่อนไหว สันโดษ ที่มีพรสวรรค์ทางด้านดนตรีและหลงใหลในงานภาพยนตร์อย่างยิ่งเท่านั้น

เจ้าสีหนุได้รับการถวายการศึกษาตามแบบอย่างการศึกษาชั้นสูงของฝรั่งเศส เบื้องต้นในกรุงพนมเปญ ลำดับถัดไปเป็น ลิชี่ ชาสเซอลูป-ลอบาต์

สถานศึกษาที่ดีที่สุดในดินแดนอาณานิคมอินโดจีนที่ไซง่อน ทรงมีพระชันษาเพียง 18 ชันษา เมื่อสมเด็จพระมณีวงศ์ กษัตริย์กัมพูชาในเวลานั้นเสด็จสวรรคตเมื่อปี 1941

เจ้าชายน้อยถูกเลือกให้ขึ้นสืบราชบัลลังก์ ด้วยเหตุผลเพียงเพราะเจ้าอาณานิคมเชื่อว่าสามารถบังคับควบคุมได้โดยง่าย ความคาดหวังดังกล่าวเป็นจริงได้เพียง 3 ปีเศษ ในปี 1945 เจ้าสีหนุประกาศอิสรภาพให้กับกัมพูชา ขณะที่ญี่ปุ่นกรีธาทัพเข้ามาเพื่อขับไล่ฝรั่งเศสออกไป

ที่น่าสนใจก็คือ เมื่อญี่ปุ่นพ่ายสงคราม สมเด็จพระนโรดม สีหนุ กลับต้อนรับฝรั่งเศสกลับมาดุจเดิม ไม่พูดถึงการประกาศอิสรภาพอีกเลย แต่รั้งรออย่างอดทนจนสบโอกาสเหมาะเมื่อฝรั่งเศสพ่ายสงครามชี้ขาดที่เดียนเบียนฟู ในเวียดนาม เจ้าสีหนุโน้มน้าวจนผู้ปกครองฝรั่งเศสที่กำลังอ่อนเปลี้ย ยอมมอบอิสรภาพให้กับกัมพูชาโดยดีไม่มีการเสียเลือดเนื้อในปี 1953

ในเบื้องต้นของการขึ้นครองราชย์ เจ้าสีหนุดูไม่สนใจเรื่องทางการเมือง ทรงพระสำราญอยู่กับสตรีมากหน้าหลายตาเป็นกิจวัตร ทรงมีพระสนมมากมายตามขนบประเพณี มีพระโอรสธิดาอย่างน้อย 13 พระองค์

หลังประกาศอิสรภาพ เจ้าสีหนุสร้างความประหลาดใจขึ้นอีกครั้ง ด้วยการสละราชบัลลังก์ จัดตั้งพรรค ชุมชนสังคมนิยมแห่งปวงชน (พีเพิ่ลส์ โซเชียลลิสต์ คอมมูนิตี้ ปาร์ตี้) ลงสมัครรับเลือกตั้งครั้งแรกของประเทศ กวาดที่นั่งเกือบทั้งหมด ได้จัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวครองอำนาจเบ็ดเสร็จ ทรงดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ตระเตรียมวางรากฐานสำหรับการพัฒนาประเทศไปสู่ความทันสมัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านการศึกษาซึ่งทรงอาศัยสายสัมพันธ์ที่ยังแนบแน่นกับฝรั่งเศสช่วยพัฒนา

ที่น่าสนใจก็คือตลอดทั้งทศวรรษ 1960 กัมพูชากลายเป็นดินแดนที่สงบสันติ กลายเป็นศูนย์กลางการเดินทางเยือนของนานาชาติ ต่างจากมหาอำนาจใกล้เคียงกันทั้งด้านตะวันออกอย่างเวียดนามและตะวันตกอย่างไทยใหญ่หลวง

ในห้วงเวลาเดียวกัน แวดวงทางการทูตกล่าวขวัญกันถึงวิถีชีวิตหรูหราของเจ้าสีหนุ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อทรงหันเข้าหาดนตรีและภาพยนตร์ที่หลงใหลมาตั้งแต่แรกเริ่ม ทรงแซกโซโฟนเพื่อสร้างความสำราญให้แขกเหรื่อในงานปาร์ตี้ ส่วนตัวŽ กระทั่งยังขึ้นครวญเพลงรักระหว่างงาน สเตท ดินเนอร์Ž อำนวยการสร้างภาพยนตร์ไม่น้อยกว่า 19 เรื่อง ซึ่งพระองค์รับหน้าที่ทั้งอำนวยการผลิต กำกับการแสดง เขียนบท ทำดนตรีประกอบ และแน่นอน ทรงรับบทบาทนำด้วยพระองค์เองอีกต่างหาก

แต่เมื่อสงครามเย็นทวีความเข้มข้นขึ้น สงครามเวียดนามยกระดับความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ เจ้าสีหนุจับมือกับบรรดาประเทศที่เพิ่งได้รับอิสรภาพใหม่หลายประเทศจัดตั้งกลุ่มประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดขึ้น หวังใช้เป็นเกราะกำบังกัมพูชาจากสงคราม

แต่ไม่ประสบผล!



ครั้งหนึ่ง เจมส์ เกอร์แรนด์ นักสร้างภาพยนตร์ชาวออสเตรเลียซึ่งคุ้นเคยสนิทสนมดียิ่งกับสมเด็จพระสีหนุและเชื้อพระวงศ์ใกล้ชิดอันเป็นผลจากการเข้าไปถ่ายทำสารคดีเชิงประวัติศาสตร์ในกัมพูชาและเข้าออกประเทศมาบ่อยครั้งก่อนหน้านั้น ตั้งคำถามเอากับพระองค์ไว้เมื่อเสด็จกลับกัมพูชาหลังระบอบพลพตถูกขับออกจากพนมเปญว่า หากสามารถย้อนอดีตกลับไปใหม่ได้ พระองค์จะทรงทำประการหนึ่งประการใดแตกต่างออกไปจากเดิมหรือไม่?

เกอร์แรนด์ให้สัมภาษณ์ต่อ เดวิด บอยล์ คอลัมนิสต์แห่งพนมเปญ โพสต์ ตีพิมพ์เผยแพร่เมื่อ 19 ตุลาคม ที่ผ่านมาว่า เจ้าสีหนุประทับนิ่ง มีเพียงสีหน้าเท่านั้นที่แสดงอารมณ์หลากหลายออกมาในชั่วพริบตามากมาย 5-6 อย่าง สุดท้าย คำตอบของคำถามดังกล่าวนั้นมีเพียงสั้นๆ ความว่า

"คุณควรไปถาม ลอน นอล นะว่า เขาจะยังรัฐประหารโค่นล้มสีหนุแล้วทำลายกัมพูชาทั้งชาติลงอีกหรือไม่Ž"

ลอน นอล นายพลทหารที่เมื่อปี 1970 ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี สมคบกับ เจ้าชาย สิริก มาทัก เชื้อพระวงศ์ที่เป็นพระญาติของเจ้าสีหนุ ภายใต้

การสนับสนุนของสหรัฐอเมริกา ก่อรัฐประหารยึดอำนาจรัฐจากสมเด็จพระสีหนุ ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีในเวลานั้น ขณะอยู่ระหว่างการเสด็จฯเยือนฝรั่งเศส จนต้องลี้ภัยไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีน เปิดทางให้กองทัพสหรัฐอเมริกาหลั่งไหลเข้ามาจากชายแดนด้านตะวันออก (จากเวียดนามใต้ในเวลานั้น) เข้าสู่พนมเปญ ยึด โฮจิมินห์เทรลŽ เส้นทางลำเลียงอาวุธอันเลื่องลือของกองกำลังคอมมิวนิสต์เวียดนามสำหรับใช้เปิดฉากรุกครั้งใหญ่ต่อเวียดนามใต้ ที่เรียกกันว่า เท็ต ออฟเฟนซีฟŽ และกวาดล้างฐานที่มั่นของเวียดกงตามแนวชายแดนด้านนั้นจนหมด

การรัฐประหารครั้งนั้นชักนำสงครามเข้าสู่กัมพูชา แต่นั่นยังไม่สำคัญเท่ากับการผลักดันให้เกิดการจับมือกันขึ้นระหว่าง เจ้าสีหนุ กับ โสลัธ ซาร์ แกนนำพรรคคอมมิวนิสต์กัมพูชาที่หลบหนีไปอาศัยอยู่ในจีนก่อนหน้านั้น เพื่อให้รอดพ้นการไล่ล่าของรัฐบาลภายใต้การนำของเจ้าสีหนุเองก่อนหน้านี้

เป็น โสลัธ ซาร์ คนที่ต่อมาโด่งดังไปทั่วโลกในนาม พลพตŽ นั่นเอง

โจเอล บริงก์ลีย์ นักประวัติศาสตร์อเมริกัน เจ้าของหนังสือ แคมโบเดียเคิร์สŽ เขียนเอาไว้ในหนังสือเล่มนั้นว่า

"ด้วยการจับมือเป็นพันธมิตรกับเขมรแดง และเรียกร้องให้ประชาชนร่วมชาติของพระองค์เข้าร่วมขบวนการต่อต้าน (รัฐบาลลอน นอล)เท่ากับว่า เจ้าสีหนุทำให้ประชาชนของพระองค์เองตกอยู่ในคำสาปแช่งŽ"

เอลิซาเบธ เบ็คเกอร์ และ เซธ มายแดนส์ แห่ง นิวยอร์ก ไทม์ส สรุปความเอาไว้เมื่อวันที่ 15 ตุลาคมที่ผ่านมาว่า

"ถึงที่สุดแล้ว เจ้าสีหนุนั่นเองที่ช่วยนำพลพตขึ้นสู่อำนาจŽ"

เขมรแดง ได้อำนาจในกัมพูชาเมื่อปี 1975 ภายในเวลาอีกไม่กี่วันหลังชัยชนะ ผู้คน 3 ล้านคนถูกกวาดต้อนออกจากตัวเมืองมุ่งหน้าสู่ชนบท ใช้แรงงานหนักตามค่ายและไร่นา กัมพูชาถูกตัดขาดจากโลกภายนอก สังคมถูกทำลายลงโดยสิ้นเชิง ศาสนาและงานอาชีพต่างๆ กลายเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ปัญญาชน พระสงฆ์ และใครก็ตามที่ถูกคาดหมายว่าจะเป็นศัตรูทางการเมืองถูกกำจัด

สุดท้ายประเมินกันว่า ผู้คน 1.7 ล้านคนเสียชีวิตไปในเหตุการณ์ครั้งนั้น หากไม่ถูกสังหารเพราะต่อต้าน ขัดขืนหรือหลบหนี ก็ล้มป่วยเสียชีวิต หรือไม่ก็ทำงานหนักและอดตาย

กัมพูชา ที่เคยเป็นดินแดนแห่งสันติแห่งอินโดจีน กลายเป็น ทุ่งสังหารŽ ไปโดยสมบูรณ์

เจ้านโรดม สีหนุ เดินทางกลับกัมพูชา รับตำแหน่งประธานาธิบดี

ที่เป็นเพียงประมุขแต่ในนาม ก่อนที่จะลาออกในปีถัดมา แล้วถูกกักบริเวณให้อยู่แต่เฉพาะในพระตำหนัก ทรงเปิดเผยในเวลาต่อมาว่า ระหว่างนั้นรับฟัง

ข่าวคราวแต่จากวิทยุต่างประเทศ

และมีหลายครั้งที่ทรงคิดถึงการกระทำอัตวินิบาตกรรม



ประวัติศาสตร์ร่วมสมัยที่เป็นผลพวงสืบเนื่องจากยุคทุ่งสังหารนั้นเป็นที่รับรู้กันดีว่า อีก 12 ปีหลังจากที่เขมรแดงถูกโค่นเมื่อปี 1979 กัมพูชายังคงเต็มไปด้วยการสู้รบ แบ่งแยกฝักฝ่ายเข่นฆ่ากันเอง จนเมื่อสิ้นสุดสงครามเย็นและกัมพูชาหมดประโยชน์ในฐานะเป็นสนามประลองของเหล่ามหาอำนาจแล้วเท่านั้น สหประชาชาติถึงได้ยื่นมือเข้ามาจัดการเจรจาเพื่อยุติสงครามในปี 1991

ผลการเลือกตั้งซึ่งมีขึ้นในอีก 2 ปีต่อมากลายเป็นปมเงื่อนของความขัดแย้งอีกครั้งเมื่อไม่มีพรรคใดได้เสียงข้างมากเด็ดขาด ถึงที่สุดเป็นสมเด็จพระนโรดม สีหนุ อีกนั่นแหละที่ต้องรอมชอมหาทางออกให้ด้วยการให้มีนายกรัฐมนตรีร่วมเป็นครั้งแรกระหว่าง เจ้านโรดม รณฤทธิ์ และ ฮุน เซน

เจ้าสีหนุได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นกษัตริย์กัมพูชาอีกครั้ง ก่อนที่จะสละราชบัลลังก์ในปี 2004 ด้วยเหตุผลด้านพระพลานามัย จนต้องเดินทางไปรักษาพระอาการในจีนอยู่บ่อยครั้ง และสิ้นพระชนม์ลงที่นั่นในที่สุด

เนิ่นนานกว่า 6 ทศวรรษ ที่สมเด็จพระนโรดม สีหนุ ไม่เคยละวางบทบาททางการเมืองทรงเปิดเผยไว้ในการให้สัมภาษณ์ครั้งหนึ่งว่า สิ่งที่น่ากลัวที่สุดสำหรับพระองค์คือการต้องเร้นกายไปอยู่เพียงลำพัง ตัดขาดจากการเมืองภายในประเทศ ดุจเดียวกับ เบ๋า ได๋ จักรพรรดิองค์สุดท้ายแห่งเวียดนาม

ในห้วงเวลาดังกล่าวทรงแบกรับเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากมาย โดย

เฉพาะลักษณาการ ทำนายไม่ได้ คาดเดาไม่ถูกŽ ของพระองค์ เจ้าสีหนุไม่เคยปฏิเสธ หากแต่ยืนยันว่า การเมืองแบบเดียวที่พระองค์ เล่นŽ ก็คือ 

"การปกป้องเอกราช บูรณภาพแห่งดินแดน และเกียรติภูมิของประเทศของฉัน ของประชาชนของฉันŽ"

เนท เทเยอร์ ผู้สื่อข่าวคร่ำหวอดชาวอเมริกันที่รายงานข่าวจากกัมพูชาอยู่เนิ่นนาน เชื่อเช่นกันว่า บทบาททางการเมืองของเจ้าสีหนุในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไม่มีใครเหมือนและไม่มีใครทาบได้Ž เขาบอกกับนิวยอร์ก ไทม์สเอาไว้ว่า หากปราศจากพระองค์...

ไม่แน่นัก กัมพูชา อาจไม่หลงเหลือความเป็นชาติรัฐอย่างเช่นในปัจจุบันก็เป็น"ได้

กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...