ผลเลือด′บอสกระทิงแดง′ มีสารเสพติด เช็กเจอโคเคน-กาเฟอีน ตร.รุดสอบหมอหาที่มา !!

 

เผยผลตรวจรามาฯพบสารเสพติด′โคเคน-ยาเสียตัว′ในร่างกายทายาทกระทิงแดง

กรณีนายวรยุทธ หรือบอส อยู่วิทยา บุตรชายนายเฉลิม อยู่วิทยา ประธานบริษัท เรดบูล คอมปานี ลิมิเต็ด เจ้าของเครื่องดื่ม "กระทิงแดง" ขับรถเก๋งเฟอร์รารีชน ด.ต.วิเชียร กลั่นประเสริฐ ผู้บังคับหมู่งานป้องกันและปราบปราม สน.ทองหล่อ เสียชีวิต เหตุเกิดที่ปากซอยสุขุมวิท 47 ต่อเนื่องปากซอยสุขุมวิท 49 ก่อนหลบหนีเข้าไปในบ้านพักเลขที่ 9 ซอยสุขุมวิท 53 เหตุเกิดเมื่อวันที่ 3 กันยายน และต่อมา พ.ต.ท.ปัณณ์ณภณ นามเมือง สวป.สน.ทองหล่อ นำตัวนายสุเวศ หอมอุบล อายุ 45 ปี พ่อบ้านหลังดังกล่าวมามอบตัว แต่พบว่าเป็นตัวปลอม และ พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) มีคำสั่งให้ พ.ต.ท.ปัณณ์ณภณ ออกจากราชการไว้ก่อนนั้น 

เมื่อวันที่ 16 กันยายน พ.ต.อ.ชุมพล พุ่มพวง ผกก.สน.ทองหล่อ เปิดเผยความคืบหนาของคดีว่า ในส่วนของสำนวนคดียังรอผลการตรวจสอบหลักฐานอื่นๆ จากกองพิสูจน์หลักฐานกลาง (พฐก.) ที่ผ่านมามีการตรวจพบว่ามีแอลกอฮอล์เกินกำหนดขณะขับรถเท่านั้น ส่วนเรื่องความเร็วและอื่นๆ ยังไม่ออกมา พนักงานสอบสวนได้ประสานให้เจ้าหน้าที่เร่งตรวจสอบแล้ว ส่วนเรื่องการแจ้งข้อหาเมาแล้วขับเพิ่มเติมนั้น ครั้งก่อนนายวรยุทธได้ขอเลื่อนเข้ามอบตัวไป ขณะนี้ยังไม่ได้นัดหมายว่าจะมาพบพนักงานสอบสวนเมื่อใด แต่พนักงานสอบสวนตั้งใจว่าจะรอผลการตรวจจาก พฐก.ให้ครบก่อน หากพบว่ามีความผิดอื่นๆ หรือหลักฐานอื่นๆ ก็จะนำมาประกอบในสำนวนด้วยเลย 

เมื่อถามว่า มีการพบสารเสพติดในตัวนายวรยุทธหรือไม่ พ.ต.อ.ชุมพลกล่าวว่า ที่พบเป็น เพียงผลแอลกอฮอล์ ส่วนด้านอื่นต้องรอตรวจ สอบให้แน่ชัด รวมทั้งต้องสอบแพทย์ที่ตรวจนาย วรยุทธด้วย 

เมื่อถามกรณีที่ พ.ต.ท.ปัณณ์ณภณ ยังไม่มาพบ พ.ต.อ.สุนทร เขมะประภา รอง ผบก.น.5 ในฐานะคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรง พ.ต.อ.ชุมพลกล่าวว่า หลัง พล.ต.ท.คำรณวิทย์มีคำสั่งให้ออก จากราชการไว้ก่อน ก็เห็นว่าเจ้าตัวมีอาการเครียดและความดันขึ้น ส่วนคณะกรรมการจะนัดให้ไปพบอีกเมื่อใดนั้น ไม่ทราบ เพราะขณะนี้ พ.ต.ท. ปัณณ์ณภณไม่ได้เดินทางมาทำงานแล้ว แต่หากคณะกรรมการไม่สามารถติดต่อได้ ก็อาจต้องส่งหลักฐานต่างๆ ไปตามที่อยู่ทางไปรษณีย์

รายงานข่าวแจ้งว่า แพทย์โรงพยาบาลรามาธิบดีออกรายงานผลตรวจเลือดของนายวรยุทธว่า นอกจากพบปริมาณแอลกอฮอล์ในร่างกาย 64 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ซึ่งเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดแล้ว ยังพบสารอื่นๆ ที่เป็นส่วนประกอบในยาเสพติดและยานอนหลับ อีกอย่างน้อย 3 ชนิด คือ โคเคน, กาเฟอีน และอัลปราโซแลม (ยาในกลุ่มเบนโซดายเซปไปน์) อย่างไรก็ตามตำรวจยังไม่ปักใจเชื่อ

"จากรายงานนี้ ทำให้พนักงานสอบสวนต้องไปสอบปากคำแพทย์ผู้ออกรายงาน ถึงรายละเอียดของสารที่พบดังกล่าวถึงการออกฤทธิ์ คุณสมบัติ และความเป็นไปได้ในการใช้สารว่านำเข้าร่างกายช่วงเวลาใด ก่อนหรือหลังเกิดเหตุ รวมทั้งต้องสอบสวนด้วยว่าสารดังกล่าวอาจเป็นส่วนผสมในยาชนิดใดชนิดหนึ่งหรือไม่ ซึ่งเป็นไปได้ว่านายวรยุทธอาจกินยาเข้าไป ซึ่งไม่ใช่ลักษณะของการเสพเข้าร่างกายในรูปแบบของการใช้ยาเสพติด" รายงานข่าวระบุ

ข่าวแจ้งว่า ช่วงเย็นวันที่ 16 กันยายน พนักงานสอบสวนเข้าสอบปากคำแพทย์ผู้ออกรายงานดังกล่าวแล้ว และจะต้องสอบปากคำนายวรยุทธในประเด็นการใช้ยาดังกล่าวอีกครั้งด้วย 

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวได้ตรวจสอบข้อมูลของสาร ดังกล่าวในเว็บไซต์ของกองควบคุมวัตถุเสพติด สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) http://narcotic.fda.moph.go.th พบข้อมูลว่ายาอัลปราโซแลม (Alprazolam) เป็นยากลุ่มเบนโซดายเซปไปน์ (Benzodiazepine) ออกฤทธิ์สั้นหรือนานปานกลาง มีชื่อทางการค้า เช่น Zolam, Xanax เป็นต้น ใช้สำหรับรักษาอาการวิตกกังวล สงบ ระงับ และช่วยให้นอนหลับ มีการดูดซึมยาภายใน 1-2 ชั่วโมง จับกับโปรตีนในพลาสมาได้ 67-72% และมีค่าครึ่งชีวิต 11.1-19 ชั่วโมง ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาอื่นๆ ที่พบ เช่น คลายกล้ามเนื้อลาย ต้านอาการชัก ทำให้สูญเสียความทรงจำชั่วขณะ ความสามารถในการเรียนรู้ และความจำลดลง สมรรถภาพในการทำงานที่ต้องใช้ความชำนาญ หรือการตัดสินใจฉับพลันเสื่อมลง เนื่องจากยานี้มีผลต่อระบบประสาทส่วนกลางจึงมีผู้ที่นำยานี้มาใช้ประโยชน์ในทางที่ผิด เช่นที่ปรากฏตามสื่อต่างๆ เรียกยาเสียตัว เป็นต้น การใช้ยากลุ่มเบนโซดาย เซปไปน์ ในขนาดสูงติดต่อกันเป็นเวลานาน จะทำให้เกิดการติดยาทั้งทางร่างกายและจิตใจ ถ้าหยุดยาทันทีจะเกิดอาการขาดยาหรือถอนยา เช่น คลื่นไส้ นอนไม่หลับ มือสั่น หัวใจเต้นเร็ว ซึมเศร้า เป็นโรคจิต หรืออาจถึงกับชักได้

ทั้งนี้ ในเว็บไซต์ดังกล่าวยังระบุ คำเตือนหรือข้อควรระวังไว้ด้วยว่า 1.อาจทำให้ง่วงซึมไม่ควรขับขี่ยานพาหนะ หรือทำงานที่เกี่ยวกับเครื่องจักรกลหรือในที่สูง 2.ห้ามดื่มสุราหรือสิ่งที่มีแอลกอฮอล์ผสมอยู่ 3.อาจเกิดผลตรงข้ามกับฤทธิ์ของยาที่ให้ (Paradoxical reaction) 4.อาจทำให้เกิดความผิดปกติของเม็ดเลือด ตับ หรือไตได้ 5.สตรีมีครรภ์ สตรีระยะให้นมบุตร โรคต้อหิน โรคไมแอส ตีเนียแกรวีส (Myasthenia gravis) โรคพอร์ไฟเรีย (Porphyria) หรือโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ ควรใช้ด้วยความระมัดระวังเป็นพิเศษ 6.ไม่ควร ใช้ยานี้ติดต่อกันเป็นเวลานาน นอกจากแพทย์ สั่ง 7.หากใช้ร่วมกับยาอื่น เช่น ยากดหรือกระตุ้นประสาท ยาคุมกำเนิด ยาต้านฮิสตามีน รวมทั้ง Cimetidine ควรปรึกษาแพทย์ 8.หากมีอาการนอนไม่หลับ ประสาทหลอน พฤติกรรมผิดปกติ กล้ามเนื้อเปลี้ย หรือมีไข้ ควรหยุดใช้ยาทันทีและรีบปรึกษาแพทย์ 

ทั้งนี้ ยานี้จัดเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภทที่ 4 ตาม พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 การขายต้องมีใบสั่งแพทย์ โดยมีเภสัชกรควบคุมการจำหน่าย ผู้ผลิต ขาย นำเข้า หรือส่งออกโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท ขายโดยไม่มีใบสั่งแพทย์ มีโทษปรับตั้งแต่ 10,000-50,000 บาท เภสัชกรไม่อยู่ควบคุมการขาย มีโทษปรับตั้งแต่ 10,000-50,000 บาท สำหรับโคเคนนั้น ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ เป็นยาเสพติดประเภท 2 ให้โทษทั่วไป ในกลุ่มเดียวกับมอร์ฟีน

 

(ที่มา:หน้า1:มติชนรายวัน 17 ก.ย.2555

กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...