ธารน้ำแข็งเซียเชน อยู่บนพื้นที่แคชเมียร์ เขตแบ่งแยกการควบคุมของอินเดียกับปากีสถาน อยู่สูงเหนือระดับน้ำทะเลเฉลี่ยกว่า 6,300 เมตร (บางแหล่งข้อมูล 6,700เมตร )ครอบคลุมพื้นที่แนวยาว 77 กม. ถูกกำหนดเป็น “เส้นควบคุม” คล้ายเขตปลอดทหาร
ปี 2527 อินเดียยึดครองพื้นที่ดังกล่าวเกือบทั้งหมด รวมทั้งจุดสูงสุดของพื้นที่ ทำให้ปากีสถานตอบโต้ด้วยการส่งกำลังทหารขึ้นยึดคืนพื้นที่ จนเกิดการยิงปะทะกันอย่างรุนแรงในปี 2530 (ข่าวบางแหล่งอ้างว่าปากีสถานแอบมายึดพื้นที่พิพาทก่อน)สถานการณ์ดุเดือดส่อเค้ากลายเป็นสงครามเต็มรูปแบบ
ทหารทั้งสองฝ่ายยังคงลาดตระเวนและยิงปะทะกันประปรายมาตลอด แต่ความสูญเสียชีวิตจากการปะทะกัน รวมทั้งหมดแล้วยังไม่เกิน 150 ศพ แต่ทั้งอินเดียและปากีสถานต้องสังเวยชีวิตทหารหาญบนสมรภูมิรบหลังคาโลกแล้วหลายพันนาย ผู้เสียชีวิตเกือบทั้งหมดเพราะแพ้ภัยธรรมชาติ ตั้งแต่ถูกหิมะกัด ถูกหิมะถล่ม และถูกพายุหิมะ ด้วยพื้นที่แถบนั้นอุณหภูมิฤดูหนาวอาจลดต่ำได้ถึง -70 องศาเซลเซียส พายุหิมะทำให้เกิดกระแสลมพัดแรงความเร็วถึง 160 กม.ต่อชั่วโมง ความแรงของกระแสลมมากเกินพอที่จะพัดกวาดผู้คนและที่พักพิงไม่แข็งแรง ให้ร่วงไหลลงสู่หุบเขาน้ำแข็งลึกเบื้องล่างตายอนาถ
ล่าสุดคือ วันเสาร์ที่ 7 เม.ย.ปีนี้ เมื่อเวลา 05.45 นเกิดเหตุหิมะถล่มทับค่ายทหารปากีสถาน ที่ธารน้ำแข็ง “เซียเชน” ในเขตกายารี บนเทือกเขาหิมาลายา ในรัฐแคชเมียร์ ทางภาคเหนือปากีสถานติดพรมแดนอินเดีย ทำให้ทหารสังกัด “กองพันทหารราบแสงเหนือ” (เอ็นแอลไอ) ถูกฝังทั้งเป็น 130 นาย
ก่อนหน้านี้ เกิดหิมะและดินถล่มในเขตภูเขาสูงของอินเดีย ปากีสถาน อัฟกานิสถาน และรัฐแคชเมียร์บ่อยครั้ง ทำให้ถนนและชุมชนถูกตัดขาด มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก รวมทั้งเหตุหิมะถล่มทับค่ายทหาร 2 ครั้งในแคชเมียร์ เมื่อเดือนก.พ.ปีนี้ ทำให้ทหารอินเดียเสียชีวิตอย่างน้อย 16 นาย