ฝรั่งแห่เรียน "มวยไทย" เปิดหลักสูตร "เข็มขัด 9 เส้น"

"มวยไทย" ถือเป็นสัญลักษณ์หนึ่งที่ทำให้คนทั่วโลกรู้จักประเทศไทยมากขึ้น ด้วยลีลาแทงเข่า ปล่อยหมัด ศอกตัด แบบหนักหน่วงฉบับ "นายขนมต้ม" ต้นตำรับมวยไทย ได้เดินทางมาสู่ยุคเฟื่องฟูด้วยฝีมือนักมวยไทย ก้าวสู่สังเวียนระดับโลก คว้าเข็มขัดแชมป์มาครองอย่าง "แสนศักดิ์ เมืองสุรินทร์" ผู้บุกเบิกหมัดตายเอาชนะคู่แข่งขัน ตามมาด้วยรุ่นน้องอย่าง "เขาทราย กาแล็คซี่" เจ้าของหมัดซ้ายทะลวงไส้ สามารถชนะน็อกติดต่อกัน 5 ครั้ง

แม้แต่เวทีกีฬาโลกอย่างโอลิมปิก นักมวยไทยก็สามารถคว้าเหรียญชัยมาครองด้วยกันหลายเหรียญ นับตั้งแต่สมรักษ์ คำสิงห์ นักชกเหรียญทองโอลิมปิกนำเหรียญเกียรติยศมาสู่ประเทศไทย และมีรุ่นน้องคว้าอีกหลายเหรียญตามหลังกันมา

แต่นักมวยดาวรุ่งคนล่าสุดอย่าง บัวขาว ป.ประมุข นักชกหมัดหนักชาวไทยที่มีชื่อเสียงโด่งดัง แต่น่าเสียดายที่ด่วนประกาศแขวนนวมไปกลางคัน เพราะเคลียร์ปัญหาระหว่างต้นสังกัดไม่ได้

เพียงเท่านี้ก็ทำให้ชื่อเสียงนักมวยไทยโด่งดังไปทั่วโลก

 

ส่งผลให้ค่ายมวยในไทยได้รับความนิยม มีนักเรียนต่างชาติสนใจมาเรียนศิลปะมวยไทยเป็นจำนวนมาก ด้วยความดังของนักมวย บวกกับรูปแบบศิลปะการต่อสู้ที่ถึงพริกถึงขิง ทำให้ชาวต่างชาติทั้งโซนตะวันตกและเอเชียต่างให้ความสนใจเรียนรู้เกี่ยวกับมวยไทย

ยกตัวอย่างค่ายมวยศิษย์สองพี่น้องของ "ทิมาธี ธรรมาชีวะ" หนุ่มลูกครึ่งไทย-ออสเตรเลีย บอกว่า เปิดสอนมากว่า 4 ปี มีชาวต่างชาติให้ความสนใจมาเรียนจำนวนมาก จากการรีวิวผ่านทางอินเทอร์เน็ตและการบอกผ่านกันปากต่อปากของนักท่องเที่ยว มีผู้เรียนเกือบ 500 คนต่อปี "ชาวออสเตรเลียสนใจมวยไทยมากกว่าศิลปะการต่อสู้แขนงอื่น แม้จะนำมวยไทยไปผสมกับการต่อสู้แบบอื่นอย่าง kick boxing

ก็ไม่ได้รับความนิยมเท่ากับมวยไทย เป็นกีฬาการต่อสู้แบบยืนพื้นจึงบูมเร็วมาก เช่น รัฐควีนส์แลนด์มีคนสนใจมวยไทยมากที่สุด ทำให้ชาวออสซี่บินมาเรียนมวยไทยเป็นจำนวนมาก"

เช่นเดียวกับค่ายมวยไทยเก่าแก่เปิดมาร่วม 50 ปี "ค่ายศศิประภายิม" มี ฐากูร ผ่องสุภา เป็นเจ้าของ ทายาทรุ่นที่ 2 เป็นอีกค่ายหนึ่งที่ชาวต่างชาติให้การยอมรับ ค่ายนี้จึงมีชาวต่างชาติที่สนใจเข้ามา

ฝึกซ้อม ปัจจุบันมีคนเรียนอยู่ประมาณ 20 คน แต่เมื่อเทียบกับคนไทยแล้วมีไม่ถึง 10 คน ดังนั้นรายได้หลักของทางค่ายจึงมาจากการสอนชาวต่างชาติ

เจ้าของค่ายมวยเล่าถึงสภาพปัจจุบันของค่ายมวยว่า "เราประสบปัญหาขาดทุนในเรื่องมวยไทย นักมวยไทยขึ้นชกเราจะขาดทุน เราก็ได้ฝรั่งมาช่วยก็เฉลี่ยกันไป ส่วนมากรายได้หลักมาจากฝรั่ง อย่างเด็ก ๆ มาหัดมวยไทยต้องกินข้าวหลายกระสอบกว่าจะเก่ง แต่นักชกต่างชาติที่เข้ามาเรียน จะเรียนแบบจริงจัง ไม่ใช่แค่นักท่องเที่ยว เพราะบางคนเป็นนักกีฬามวยไทยที่อยู่ต่างประเทศก็มี"

จากเสียงสะท้อนเจ้าของค่ายมวยทั้ง 2 เห็นตรงกันว่า หากจะให้ค่ายมวยมีการพัฒนาเป็นโรงเรียนสอนศิลปะการต่อสู้แบบไทยให้สากลยอมรับ และสามารถรองรับนักเรียนต่างชาติได้นั้น ทางเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะกระทรวง

การต่างประเทศ จะต้องเข้ามาดูแลเรื่องวีซ่าของนักเรียนมวยไทย เพราะการอนุญาตแค่ 3 เดือนไม่เพียงพอ อย่างน้อยต้องฝึกถึง 6 เดือน

จากปรากฏการณ์มวยไทยฟีเวอร์นี้เอง ทำให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา หันมาให้ความสนใจในการดูแลนักเรียนต่างชาติและส่งเสริมให้ค่ายมวยมีมาตรฐานสากลมากขึ้น เพื่อขยายกลุ่มลูกค้าและอำนวยความสะดวกให้กับนักเรียนต่างชาติ โดยจะนำเรื่องนี้ไปหารือกับกระทรวงการต่างประเทศ เพราะจากผลสำรวจพบว่า มีค่ายมวยไทยในต่างแดนมากกว่า 3,869 แห่งจาก 36 ประเทศ และมีแนวโน้มที่มีเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ

ทางกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบโดยตรง จึงเตรียมดำเนินการสร้างเกณฑ์มาตรฐานมวยไทยในต่างแดน และค่ายมวยไทยในประเทศ

โดยมอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจ

การท่องเที่ยวและกีฬา มีหน้าที่ประเมินรายได้เกี่ยวกับตัวเลขการกีฬาบางอย่าง เช่น เงินหมุนเวียนของมวยไทยทั้งในและต่างประเทศ การพัฒนาและจำนวนชาวต่างชาติที่เข้ามาเรียนมวยไทย

ธนิฏฐา เศวตศิลา มณีโชติ รองปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ย้ำว่า ต่อไปนี้ค่ายมวยไทยที่จะตั้งขึ้นทั้งในและต่างประเทศจะต้องมีมาตรฐาน โดยกรมพลศึกษาจะรับผิดชอบค่ายมวยในประเทศ สำหรับค่ายในต่างประเทศ คณะกรรมการจะร่วมกันระหว่างกรมพลศึกษา การกีฬาแห่งประเทศไทย สถาบันพลศึกษาในฐานะที่เป็นผู้สอน

โดยจัดทำหลักสูตรเรียนมวยไทยออกมาเป็นเข็มขัด 9 เส้น และผลักดันให้คนไทยเรียนมวยไทยมากขึ้น ฝึกฝนการป้องกันตัวและการออกกำลังกาย เพื่อเป็นการพัฒนาค่ายมวยให้มีรายได้มากขึ้น โดยไม่ใช่รายได้ที่มาจากการฝึกซ้อมจากชาวต่างชาติอย่างเดียว

14 มิ.ย. 55 เวลา 12:11 5,012 5 50
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...