ซื้อ "ไอแพค-ไอโฟน-แท็บเล็ต-TV" ให้ลูกเล่น...ภัยเงียบต่อ"สมอง"อย่างที่คุณคิดไม่ถึง !!

สาวสวยมากกว่าความสามารถ “หนูดี” วนิษา เรซ ผู้เชี่ยวชาญด้านอัจฉริยภาพ ได้มาแบ่งปันประสบการณ์ และสะท้อนผลงานวิจัยในต่างประเทศมากมาย เกี่ยวกับเทคโนโลยีที่มีผลกระทบเชิงลบต่อพัฒนาการทางสมองเด็ก มีงานวิจัยจำนวนมากที่ไม่สนับสนุนให้เด็กอยู่กับเทคโนโลยีมากเกินไป อย่างน้อยในวัยที่ต่ำกว่า 15 ปี และชี้ให้เห็นอย่างน่ากลัวว่า

 

 

ตัวหนูดี ไม่ได้ต่อต้านเทคโนโลยี แต่ถ้าพูดในฐานะครู เรามีความกังวลหลาย ๆ อย่าง เช่น ที่โรงเรียนวนิษา ถ้าเป็นเด็กในชั้นอนุบาล จะคุยกับผู้ปกครองว่า ห้ามไม่ให้เด็กเล่นไอโฟน ไม่ให้เด็กเล่นไอแพด ไม่ให้เด็กมีคอมพิวเตอร์อยู่ที่บ้าน เหตุผลง่าย ๆ เพราะว่า ดวงตาของเด็ก กับดวงตาของผู้ใหญ่ เป็นอวัยวะเดียวกับสมองอยู่แล้ว การที่นำมาล็อคไว้ในที่แคบ ๆ ทำให้เกิดภาวะซึมเศร้าได้ ส่งผลให้สมองพัฒนาไม่ดีเท่าที่ควร

 

 

ถ้าเป็นเด็กประถมที่จำเป็นต้องเรียนคอมพิวเตอร์ ทางโรงเรียนจะมีการบล๊อคบางเว็บไซด์ ห้ามไม่ให้เด็กเล่นเฟสบุ๊คที่โรงเรียน ส่วนที่บ้านถ้าเด็กระดับประถมศึกษาปีที่ 4 - 6 จะเล่นเฟสบุ๊คได้หรือไม่ แล้วแต่วิจารณญาณของพ่อแม่ว่า สามารถควบคุมได้แค่ไหนที่บ้าน

 

 

นอกจากนี้ ทางโรงเรียนไม่ให้เด็กเล่นวีดีโอเกม เพราะมีงานวิจัยพบมา วีดีโอเกมบางเกม ถึงจะดูไม่เป็นอันตรายเป็นเกมสนุก ๆ เสริมสร้างพัฒนาการ แต่บางเกมมีเนื้อหาที่ถือว่าอันตราย มีความแรง ความเบาแตกต่างกันไป

 

 

การที่ห้ามเด็กที่โรงเรียนเล่นวีดีโอเกม ไม่ได้มองเนื้อหาเพียงอย่างเดียว แต่พฤติกรรมการนั่งจ้องหน้าจอเป็นเวลานาน ๆ ไม่ส่งผลดีต่อสายตาของเด็กและผู้ใหญ่ อย่างที่บอกตาถือเป็นอวัยวะเดียวกับสมอง ไม่สนับสนุนเลยไม่ว่า เนื้อหาจะส่งเสริมพัฒนาการทางด้านการศึกษาก็ตาม

 

 

รวมถึงการห้ามไม่ให้เด็กนักเรียนอนุบาลถึงประถมดูโทรทัศน์ แต่ถ้าเป็นนักเรียนในระดับมัธยมศึกษา ที่บ้านพ่อแม่ควรมีข้อจำกัดในการดู เนื่องจากมีผลงานวิจัยจำนวนมากที่พูดถึงข้อเสียของโทรทัศน์ โดยมีงานวิจัยของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในอเมริกาพบว่า เด็กนั่งจ้องโทรทัศน์วันละ 1 ชั่วโมง จะเพิ่มความเสี่ยงที่จะเป็นโรคสมาธิสั้นได้ 10% หมายความว่า ถ้าเด็กคนไหนนั่งจ้องหน้าจอโทรทัศน์วันละ 5 ชั่วโมง เด็กคนนั้นจะเพิ่มความเสี่ยงที่จะเป็นโรคสมาธิสั้นถึง 50% มีงานวิจัยจำนวนมากที่ไม่สนับสนุนให้เด็กอยู่กับเทคโนโลยีมากเกินไป อย่างน้อยในวัยที่ต่ำกว่า 15 ปี

 

 

Q ช่วยขยายความที่ว่า การอยู่กับเทคโนโลยีมากทำให้เกิดภาวะซึมเศร้าได้

 

 

การเก็บสายตาให้ล็อคไว้ในที่แคบ ๆ เช่น จอของแท็บเล็ต หน้าจอของมือถือ ไอโฟน หรือหน้าจอของโทรทัศน์ คอมพิวเตอร์ เป็นพื้นที่ที่แคบเกินไปสำหรับการใช้ตาของมนุษย์ ซึ่งในระยะยาว ส่งผลถึงการผิดปกติต่าง ๆ ของสมอง ภาวะซึมเศร้าก็เป็นหนึ่งในนั้น

 

 

โรคซึมเศร้าเป็นภาวะทางสมอง บางคนอาจบอกไม่ใช่เรื่อง แต่หนูดีมองว่า โรคซึมเศร้าเป็นภาวะที่รุนแรงมากในตัวคนที่เป็น คนที่เป็นโรคซึมเศร้าไม่ได้ทำความเดือดร้อนให้สังคม แต่ถ้าทำร้ายตัวเอง เช่น ฆ่าตัวตาย หรีอไม่สามารถเป็นประชากรที่มีคุณภาพของสังคมได้ หรือทำสิ่งที่ดี ๆ ให้กับสังคมได้ สังคมก็เสียหาย ไม่นับถึงคนใกล้ชิดที่เสียใจเมื่อเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้น

 

 

Qถ้าเด็กที่ให้โตมากับTV –วีดีโอเกมก้าวร้าว รุนแรง จะช่วยเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมได้อย่างไร

 

มีอาจารย์ของหนูดี และรุ่นพี่ที่ทำงานทางด้านยุติธรรมมีโอกาสเข้าไปทำงานกับนักโทษอุกฉกรรจ์ในคุกที่อเมริกา มีหลายกรณีที่นักโทษมาเปิดใจ ร้องไห้ เสียใจ ไม่เคยมีใครกอด ไม่เคยมีใครให้ความสนใจ ถ้าอยู่ในภาวะนั้น สามารถเยียวยาได้ มีน้อยคนในโลกที่เยียวยาไม่ได้ อย่างกรณีของเด็กนักเรียนอาชีวะ บางทีตีกัน อาจจะมีลูกหลง โดนคนที่ไม่เกี่ยวข้องเสียชีวิต ก็อยากจะมองว่า เราสามารถเยียวยาบำบัด ฟื้นฟูได้

 

Qรัฐบาลมีนโยบายแจกแท็บเล็ต แต่ในทางตรงกันข้ามส่งผลต่อพัฒนาการทางสมองของเด็ก

 

 

แท็บเล็ตต้องดูว่า รัฐบาลใช้งานวิจัยใดมายืนยันในการให้แท็บเล็ต เพื่อให้เด็กมีการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยี งานใหญ่ระดับประเทศคงไม่ได้ทำลวก ๆ แต่ต้องดูว่า โปรแกรมที่โหลดให้เด็กใช้เป็นโปรแกรมอะไร มีใครควบคุมสอดส่องดูแล การที่โรงเรียนวนิษาไม่ให้มีการใช้แท็บเล็ต เพราะห่วงเรื่องการควบคุม หนูดีบอกพ่อแม่ให้แท็บเล็ตลูกก็ได้ ถ้าคิดว่าควบคุมได้ แต่ประเด็นคือ พ่อแม่ก็ไม่กล้ากลัวควบคุมไม่ได้ เด็กกลุ่มที่ได้พ่อแม่อาจจะควบคุมได้ เพราะฉะนั้นน่าจะใช้ประโยชน์จากมันได้ ไม่มีถูก ไม่มีผิด ขึ้นกับใช้ประโยชน์จากตรงนี้อย่างไร


 

Qสังคมเกิดความขัดแย้งแบ่งสีแบ่งฝ่ายกัน แนะนำให้มองโลกแง่บวกอย่างไรให้ใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข

 

 

การที่สังคมของเราแตกแยกออกเป็นกลุ่มต่าง ๆ เป็นสีเสื้อต่าง ๆ หนูดีมองว่า ทุกคนมีจุดยุติธรรมที่อยากจะเรียกร้อง หนูดีเองมีโอกาสได้ฟังทั้งสองฝ่าย คิดว่า ทุกคนมีที่มาที่ไป เขาอยากได้อะไร เขาต่อสู้เพื่ออะไร

 

 

จริง ๆ เมืองไทยเป็นเมืองน่ารักมาก ๆ ไม่เคยมีฝรั่งคนไหนที่ไม่อยากมาเมืองไทย แม้กระทั่งเกิดเหตุการณ์เผาบ้านเมืองกัน ฝรั่งก็ยังอยากมา คนไทยเป็นคนที่ยิ้มเก่งที่สุดในโลก เรามีต้นทุนดี ๆ ในตัว อะไรที่ตกลงกันได้ รีบตกลง เรื่องสีเสื้อจะให้อยู่ถึงรุ่นลูกของเราเลยหรือ ในจุดหนึ่งเราคงตกลงอะไรกันได้สักอย่างหนึ่ง แล้วพยายามหาอะไรที่ทุกคนมีความสุขให้ได้เร็วที่สุด

 

 

Q เกิดอะไรขึ้นกับสมองของคนยุคปัจจุบัน ทำให้ถูกชักจูงโน้มน้าวใช้จิตวิทยาได้ง่ายต่างกับในอดีต

 

ในมหาวิทยาลัยมีการสอนในเรื่องของการโน้มน้าวการเจรจาต่อรอง เป็นสิ่งที่ดีที่ใช้ในธุรกิจ แต่พอนำมาโน้มน้าวในปัจจุบันแล้ว บางครั้งระหว่างการโน้มน้าวแล้วไปทำร้ายอีกฝ่าย อาจจะทำให้เกิดความแตกแยกได้มากขึ้น

คนไทยส่วนใหญ่ใจดีมาก ๆ ตั้งแต่เกิดมาก็ไม่เคยเห็นพฤติกรรมที่ดูน่ากลัว รุนแรง จริง ๆ คนไทยเป็นคนพุทธ กลัวบาป กลัวกรรมที่สุด ไม่อยากทำอะไรใคร เดี๋ยวชาติหน้าต้องไปใช้คืน ยังไม่เคยเห็นคนชาติไหนเป็นอย่างนี้ ถ้าไปอยู่อเมริกา ถ้าใครมาทำอะไรเรา ฟ้องร้องกัน แต่คนไทยจะมองเป็นเรื่องเวรกรรมว่า เราคงทำเขาไว้ชาติที่แล้ว เขามาเอาคืน ให้เลิกแล้วต่อกัน ไป

 

 

หนูดีว่ามันเป็นประเด็นที่ เราคนไทยแต่ละคนน่าจะลุกขึ้นมาถามตัวเองว่า เกิดอะไรขึ้นในสังคมของเรา มันถึงได้เป็นไปขนาดนี้ หนูดีว่า จริง ๆ แล้วคนที่บอกว่า ตัวเองเป็นกลาง จริง ๆ คือ ขี้เกียจหรือเปล่า หรือไม่อยากเข้ามาวุ่นวายหรือเปล่า หนูดีมองว่า ถ้าทุก ๆ คนช่วยกันคิดว่า ทำอะไรยังไงที่จะให้เกิดผลสรุปที่มันดี มันน่าจะมีพลังได้มากขึ้น พูดแล้วเห็นใจถึงแม้เราจะไม่ใช่คอการเมือง แต่ถ้ามีโอกาสได้ฟังทั้งสองฝ่าย จะไม่อยากว่า ใครผิด เพราะว่า ทุกข้อเรียกร้องฟังแล้ว มันมีที่มาที่ไปมาก ๆ เลย

 

 

Qจะเลี้ยงเด็กให้มีพัฒนาการสมองที่ดีได้อย่างไรในสภาพสังคมครอบครัวที่มีการแบ่งสีแตกแยก

 

 

เด็ก ๆ ที่เติบโตในยุคนี้ หนูดีว่า ไม่แตกต่างจากเด็กในอเมริกาที่มีสองพรรคการเมืองใหญ่ที่ตีกันตลอดเวลา หนูดีว่า ถ้าพ่อแม่มีความยุติธรรม และไม่ลุกขึ้นไปเป็นฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และโจมตีอีกฝ่ายให้เด็กเห็น ควรจะสอนให้เด็กวิเคราะห์แยกแยะเห็นถึงวิธีการเรียกร้อง การโน้มน้าวของแต่ละฝ่าย แล้วก็ให้เด็กทำความเข้าใจ หนูดีว่า เด็กสามารถเติบโตขึ้นมา และมีความยุติธรรมในหัวใจได้ เพราะทันทีที่เราชี้นิ้วว่า อีกฝ่ายหนึ่งเป็นฝ่ายผิด มันเสี่ยงมาก


 

Qถ้าครอบครัวมีการแบ่งสีแบ่งฝ่าย ไม่มีการสอนให้แยกแยะ เท่ากับทำร้ายลูกหลานของตัวเอง

 

 

ใช่ พ่อแม่ หรือครูต้องรู้จักแยกแยะเหตุผลให้ฟัง อย่างหนูดีสังเกตเด็กเล็กในโรงเรียนวนิษาเอง ไม่ค่อยกระทบกระเทือน ที่กระทบน่าจะเป็นเด็กวัยรุ่น เด็กในมหาวิทยาลัยอาจจะเริ่มหัวรุนแรง ถ้าครูอาจารย์ในมหาวิทยาลัยไม่คำแนะนำที่ดี ในที่สุดเด็กจะไปเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ไม่สามารถยืนอยู่ตรงจุดหนึ่งของเขา แล้วค่อย ๆ วิเคราะห์ทั้งสองฝ่าย หนูดีว่า ถ้าเด็กที่วิเคราะห์ได้น่าจะเป็นเด็กรุ่นต่อไป และสามารถสมานความต้องการของทั้งสองฝ่ายได้ด้วยซ้ำไป

 

Qอยากฝากอะไรถึงคุณพ่อคุณแม่ในยุคปัจจุบัน

 

 

ถ้าเป็นพ่อแม่รุ่นใหม่ สำหรับหนูดีเอง สิ่งที่มีค่ามากที่สุด ไม่ใช่ของเล่น หรือของใช้ที่ให้ลูกได้ สิ่งที่ดีที่สุด หนูดีคิดว่า คือ ตัวของเรา หรือเวลาของเรา หนูดีมองว่า อุปกรณ์เทคโนโลยีต่าง ๆ ถ้าเป็นเด็กเล็กยังไม่จำเป็นขนาดนั้น แต่พี่วัยรุ่นอาจจะจำเป็นในการใช้เทคโนโลยีในการทำรายงาน หาข้อมูล มีโทรศัพท์มือถือ 1 เครื่องไว้ติดต่อกับพ่อแม่ หนูดีมองว่า เทคโนโลยีเหล่านี้ต้องมีการข้อจำกัดในการใช้ และต้องระมัดระวัง

 

 

อย่าว่า แต่เด็กวัยรุ่นเลย ตัวหนูดีเอง ถ้าเกิดไม่ระวัง อาจจะอยู่กับเฟสบุ๊คในตอนเย็น ทำให้นอนดึก อาจจะไปตามยูทูปไปตามข้อมูลตรงนั้น ตรงนี้ ทำให้นอนดึกตี 1 ตี 2 ซึ่งเอาเข้าจริง ๆ แล้วเนื้อหาที่ไปดูก็ไม่ได้สร้างสรรค์กับชีวิต ไม่ใช่เรื่องจำเป็น เพราะฉะนั้นหนูดีมองว่า ในเรื่องพวกนี้ไม่ว่าจะใช้คอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต หรือโทรศัพท์มือถือ สมาร์ทโฟนต่าง ๆ ถามว่า ตัวเราเองควบคุมไหวหรือไม่ ถ้าตัวเราเองยังควบคุมไม่ได้ แล้วลูกของเรา สมองของมนุษย์ที่กำลังจะพัฒนาเต็มวัย เมื่ออายุ 25 ปี เด็กที่จบปริญญาตรีสมองส่วนที่คิดยังไม่ได้พัฒนาเต็มที่เหมือนกัน แล้วเขาจะมีความสามารถควบคุมตัวเองได้เท่าเราหรือไม่ อันนี้เป็นประเด็นที่น่าคิด ก่อนที่มอบความสามารถในการเข้าถึงเทคโนโลยีให้กับเด็ก ๆ ในแต่ละช่วงอายุ

 

 

Qผลงานวิจัยหนึ่งมองว่า เด็กไทยปัจจุบันไอคิวต่ำ มาจากผลกระทบจากเทคโนโลยีหรือไม่

จริง ๆ แล้วงานวิจัยเรื่องไอคิวของ มีการซุ่มตัวอย่างมา แล้วพบว่า กลุ่มที่ซุ่มมาไอคิวของเด็กไทยลดต่ำลงต่อเนื่องกันหลายปี แต่ปีล่าสุดยังไม่ได้ไปดู แต่ถ้าถามหนูดีมีความเชื่อมั่นในตัวเด็กมาก หลังจากได้เห็นเด็กข้างนอกที่ไปบรรยาย เด็กที่ได้มีโอกาสไปร่วมทำกิจกรรมด้วยทั้งระดับประถม มัธยม มหาวิทยาลัย หนูดีคิดว่าเด็กรุ่นนี้เก่งเอาตัวรอดได้ หนูดีไม่ห่วงเลย ไอคิวคนเฉลี่ยอยู่ประมาณ 90-100 การที่ไอคิวจะพุ่งขึ้นไปถึง 180 น้อยมาก ต่ำมาก ๆ ก็ไม่ได้มีมาก

 

 

หนูดีไม่ได้กังวลเรื่องไอคิว หนูดีกังวลเรื่องการใช้สมองให้คุ้มค่ามากกว่า เพราะว่า ไอคิวคนมีช่วงห่างกันนิดเดียว ถ้ามีโอกาสได้พัฒนาตัวเองมากก็สามารถตามกันได้ทัน ปัจจุบันมีกิจกรรมดี ๆ มาก ๆ ให้วัยรุ่นเลือก วัยรุ่นในระดับมหาวิทยาลัยปัจจุบัน ถ้าถามใจหนูดีคิดว่า ไม่น่าห่วงเท่าไหร่

 

 

แต่หนูดีห่วงผู้ใหญ่มากกว่าว่า เรากำลังทำอะไรกันอยู่ เรากำลังสร้างสังคม อย่างที่อยากให้ลูกหลานของเราเติบโตมาหรือไม่ มีผู้ใหญ่สักกี่คนในเมืองไทย ที่เริ่มคิดแล้วว่า ไม่อยากมีลูก เพราะไม่กล้าให้ลูกเติบโตในสังคมนี้ ไม่ใช่เพียงประเทศเรา แต่โลกของเรากำลังมาถึงยุคที่มนุษย์รุ่นนี้ไม่กล้ามีลูกหลานแล้วหรือ คือ มันแย่ขนาดนั้นแล้วหรือ แล้วถ้ามันแย่ขนาดนั้น


 

เราเป็นประชากรคนหนึ่ง เราได้ทำอะไรที่ได้ช่วยโลกแล้วหรือยัง หรือวัน ๆ เอาแต่กลัว ที่พูดอย่างนี้เพราะหนูดีก็กลัวที่จะมีลูกแล้วเหมือนกัน แล้วจากการพูดคุยกับคนรอบข้าง คุยกับน้อง คุยกับเพื่อนเกินกว่าครึ่งทุกคนที่หนูดีรู้จักในชีวิตไม่กล้ามีลูก มีการคุยกันว่า ปีนี้มันน่ากลัวขนาดนี้ อีก 10 ปี 20 ปีกว่าลูกเราจะโต โลกเราจะถึงขั้นไหน

บางครั้งหนูดีก็มีความคิดอย่างนี้เหมือนกัน....แล้วก็คิดว่า เราคิดอย่างนี้ไม่ได้ เราต้องทำให้มันดีสิ !ไม่ว่าเราจะมีลูกหรือไม่มีลูก นักเรียนของเรา ลูกของเพื่อนเรา เขาต้องเติบโตไป เราอาจจะอยู่ถึง 90-100 ปี มันเป็นที่ทีเราต้องแบ่งปันกัน หนูดีว่า เป็นอะไรที่ต้องช่วยกันคิด และต้องช่วยกันทำ ให้มันดี ให้มันกระเตื้องเร็วที่สุด ไม่ใช่เฉพาะในประเทศไทย แต่ทั้งโลก

 

 

หากใครฟังแล้วยังติดใจหรือมีข้อสงสัย อยากสอบถาม"หนูดี" วนิษาเพิ่มเติม ไปดักพบกันได้ที่งาน"มติชน เฮลท์แคร์ 2012" ระหว่างวันที่ 21-24 มิถุนายนนี้ที่เพลนารีฮอล์ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...