เปิดจุดเสี่ยงกทม. "เมืองรั่ว-ร้าว" ระดมงบฯ 500 ล้าน ซ่อม "ถนน-สะพาน-อุโมงค์"

กลาย เป็นเผือกร้อนในมือ "คุณชายหมู-ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร" ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ต้องเร่งสะสางในทันที ก่อนที่จะเป็นไฟลามทุ่ง สืบเนื่องจากการทรุดตัวของถนน 3 สายหลักย่านใจกลางเมือง เริ่มกันที่ "ถนนพระรามที่ 4" ตามต่อด้วย "ทางเท้าริมถนนพระรามที่ 3" ล่าสุดเหตุเกิดที่ "ถนนเจริญกรุง" เยื้องโรงพยาบาลประชารักษ์

สร้างความหวั่นไหวเกิดขึ้นเล็ก ๆ ในใจคนกรุง ว่าเกิดอะไรขึ้นกับเมืองหลวงมหานครกรุงเทพ...แห่งนี้

แม้ กระทั่งบัดนี้ ก็ยังไม่สามารถฟันธงชัดเจนได้ว่า...สาเหตุที่แท้จริงมาจากอะไร นอกจากจะมีการออกมาระบุว่า น่าจะมาจากมี "โพรงใต้ดิน" ทำให้เกิดรอยร้าวและทรุดตัวของถนน

ภารกิจบนหน้าตัก ทำให้ "ธีระชน มโนมัยพิบูลย์" รองผู้ว่าราชการ กทม.ฝ่ายการคลัง ที่เพิ่งพ่วง "งานสายโยธา" เข้ามาดูแลเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ต้องออกคำสั่งสำนักงานการโยธา กทม.จัดทีมภาคสนามเอกซเรย์พื้นที่ทั้ง 50 เขต สำรวจถนนเก่าแก่ที่ผ่านการใช้งานมาหลาย 10 ปีทุกสาย พร้อมขยายผลไปถึงการตรวจสอบความแข็งแรงโครงสร้าง "สะพานข้ามแยก-อุโมงค์ทางลอด" ที่สร้างมานาน

"ผมกำลังให้โยธา กทม.ตรวจสอบโครงสร้างเก่า ๆ ที่สร้างมานาน ทั้งถนน สะพานข้ามแยก อุโมงค์ทางลอด พร้อมกับจะของบฯเพิ่มเติมมาบูรณะซ่อมแซม เพราะที่ผ่านมา กทม.ได้รับงบฯส่วนนี้น้อยมาก ทำให้เกิดการขาดช่วงเรื่องการซ่อมถนน" รองผู้ว่าฯ กทม.กล่าวย้ำ

ถนนกว่า 20 สาย...เสี่ยงทรุด

จาก ผลสำรวจของสำนักการโยธา กทม.ในเบื้องต้น พบว่ามีถนนกว่า 20 สายที่เสี่ยง อาจจะเกิดการทรุดตัวได้ ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ใกล้แม่น้ำ คูคลอง แนวรถไฟฟ้า อาทิ ถนนพระรามที่ 3 ถนนนราธิวาสราชนครินทร์ ถนนสาทรใต้ ถนนเจริญกรุง ถนนอาจณรงค์ ถนนพระรามที่ 4 ถนนเพชรเกษม ถนนประชาอุทิศ ถนนกรุงธนบุรี ถนนราษฎร์บูรณะ ถนนเพชรบุรี

ถนนเพชรบุรี-ตัดใหม่ ถนนอังรีดูนังต์ ถนนพระรามที่ 6 ถนนเพลินจิต ถนนพหลโยธิน ถนนสายไหม ถนนนิมิตรใหม่ ถนนรามคำแหง 24 ถนนเสรีไทย ถนนมหาราช ถนนพระจันทร์ ถนนหน้าพระลาน ถนนราชดำเนินกลาง ถนนราชดำเนินนอก ถนนราชดำเนินใน เป็นต้น

ส่วน "สะพานข้ามแยก" ในพื้นที่ กทม.มีทั้งหมด 42 แห่งที่กำลังจะถึงคิวซ่อมใหญ่ เช่น สะพานข้ามแยกอโศก-เพชรบุรี สะพานไทย-ญี่ปุ่น สะพานมัฆวาน สะพานไทยเบลเยียม สะพานผ่านฟ้า สะพานพระรามที่ 8 เป็นต้น ขณะที่ "อุโมงค์ทางลอด" มีทั้งหมด 12 แห่ง และ "สะพานลอยคนเดินข้าม" อีก 601 แห่ง

ใช้ เครื่อง GPR สแกนเบื้องต้น จากการประมวลข้อมูลของสำนักการโยธา กทม. ถึงสาเหตุที่ทำให้ถนนทรุดตัว หากไม่นับว่ามีการใช้งานมานานหลาย 10 ปีแล้ว ยังสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุด้วยกัน ทั้งการสร้างท่อระบายน้ำ ท่อลอด ติดตั้งระบบสาธารณูปโภคต่าง ๆ เช่น ไฟฟ้า ประปา ตอม่อรถไฟฟ้าบีทีเอส อุโมงค์รถไฟฟ้าใต้ดิน เพราะโครงสร้างต่าง ๆ เหล่านี้ทำให้มีโอกาสเกิดโพรงใต้ดิน และมีสิทธิ์ที่จะยุบตัวได้ง่าย

นอก จากนี้ ยังรวมไปถึงการเกิด "น้ำท่วม" ปีที่ผ่านมา มีถนนหลายสายจมอยู่ใต้น้ำ อาจจะกระทบต่อผิวถนน และลามไปถึงใต้ถนน ทำให้เกิดการกัดเซาะ และทำให้ดินทรุดตัวได้เช่นกัน

สำหรับวิธีการบูรณะซ่อมแซม หากตรวจพบสาเหตุแล้ว โดยสำนักการโยธา กทม.ระบุว่า การซ่อมแซมนั้น จะใช้เครื่องเทคโนโลยีที่เรียกว่า "GPR" มาสแกนดูใต้ถนน เพื่อสำรวจว่ามีโพรงอยู่ใต้ดินหรือไม่ โดยจะทราบผลได้รวดเร็วภายใน

6-7 วัน

"หาก คลื่นตก แสดงว่าเกิดการยุบตัว พอพบแล้ว จากนั้นเราจะเปิดผิวถนนพิสูจน์อีกรอบ ส่วนการซ่อม แล้วแต่กรณี เช่น อาจจะปูด้วยซีเมนต์คอลัมน์ เพื่อบดอัดชั้นดิน ฯลฯ" แหล่งข่าวจากสำนักการโยธา กทม.กล่าว

ของบฯกว่า 500 ล้านซ่อมใหญ่

แหล่งข่าวจากสำนักการโยธา กทม.กล่าวอีกว่า ขณะเดียวกัน อยู่ระหว่างประเมินงบประมาณซ่อมแซมและ

รี โนเวตถนน สะพานข้ามแยก อุโมงค์ และสะพานลอยคนเดินใหม่ ในเบื้องต้นคาดว่าจะใช้งบประมาณ 500 ล้านบาท โดยจะขอจัดสรรงบประมาณกลางปี 2555 นี้ เพราะเป็นเรื่องเร่งด่วน

ส่วนวงเงินลงทุนจะมากกว่าหรือน้อยกว่า คำตอบสุดท้ายอยู่ที่ผู้บริหาร กทม.จะยอมทุ่มงบฯ เพื่อมาซ่อมใหญ่หรือไม่
 

 

17 เม.ย. 55 เวลา 17:52 1,839 2 60
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...