ย้อนคดีฉาว วอเตอร์เกท ปี 1972และ1974

WATERGATE SCANDAL

 

(เพิ่งพิมพ์รายงานเสร็จ เอามาแบ่งกันอ่าน)

เหตุการณ์ อื้อฉาว “วอเตอร์เกท”

อะไร คือวอเตอร์เกท
วอเตอร์เกท เป็นคำที่ใช้เรียกเครือข่ายที่ซับซ้อนของกรณีอื้อฉาวทางการเมือง ซึ่งเกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกาในช่วงปี 1972-74 หรือในช่วงของประธานาธิบดีนิกสัน
วอเตอร์เกท มาจากชื่อโรงแรม Watergate Complex ใน Washington D.C. ซึ่งเป็นทั้งโรงแรมและที่ตั้งสำนักงานจำนวนมาก รวมถึงสำนักงานใหญ่ของพรรคเดโมแครต (Democratic National Committee) ซึ่งมีการโจรกรรมเกิดขึ้น

ประธานาธิบดีริชาร์ด มิลเฮาส์ นิกสัน (Richard Milhous Nixon)
ประวัติทางการเมืองโดยย่อของประธานาธิบดีนิกสัน เริ่มจากการได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาคองเกรส ในปี 1947 ต่อมาปี 1952-59 ดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดีคู่กับประธานาธิบดี Dwight David Eisenhower อยู่ 2 สมัย เมื่อพ้นวาระในปี 1960 จึงลงเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีจากพรรครีพับลิกันแข่งกับ John Fitzgerald Kennedy แต่แพ้ไปด้วยคะแนนเฉียดฉิว ทำให้ปีต่อมานิกสันลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าการรัฐ California แต่ก็แพ้อีก จนกระทั่งหมดสมัยของประธานาธิบดี Lyndon Baines Johnson เขาจึงลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีอีกครั้ง
5 พฤศจิกายน 1968 นิกสันชนะการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีคนที่ 37 ของสหรัฐอเมริกา และเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการในวันที่ 21 มกราคม 1969 โดยพันธะสัญญาต่อชาวอเมริกันว่าจะเป็นผู้สิ้นสุดสงครามเวียดนาม และสี่ปีต่อมา นิกสันได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีอีกเป็นสมัยที่สองในปี 1972 แต่จากเหตุการณ์โจรกรรมที่ตึกวอเตอร์เกทและการพยายามปกปิดของนิกสัน นำไปสู่การเคลื่อนไหวเพื่อถอนถอดประธานาธิบดี จนทำให้นิกสันต้องลาออกไปเองในวันที่ 8 สิงหาคม 1974

ลำดับเวลาของเหตุการณ์อื้อฉาววอเตอร์เก ท
บริบททาง ประวัติศาสตร์และการเมืองของคดีวอเตอร์เกท คือ ในปี 1971 หนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสท์ได้ตีพิมพ์เอกสารของเพ็นตากอนว่าด้วยเรื่องสงคราม เวียดนามขึ้น จากการเปิดเผยโดยเจ้าหน้าที่ในเพ็นตากอนเอง ทำให้นิกสันได้ฟ้องร้องดำเนินคดีต่อวอชิงตันโพสท์ แต่ศาลสูงสุดได้ตัดสินให้วอชิงตันโพสท์ชนะ ในช่วงนี้นิกสันได้ตั้งหน่วยงานลับของทำเนียบขาว (White House Special Investigation Unit หรือ Plumbers) ไว้คอยอุดรอยรั่วต่างๆของฝ่ายบริหารและกำจัดศัตรูทางการเมืองของ ประธานาธิบดี รวมถึงผู้เปิดเผยเอกสารลับเพ็นตากอนด้วย นอกจากนั้นนิกสันยังได้ติดตั้งเครื่องบันทึกเทปการสนทนาและโทรศัพท์หลาย เครื่องไว้ในห้องทำงานของประธานาธิบดีหรือ Oval Office
17 มิถุนายน 1972 ได้มีโจรบุกเข้าไปในสำนักงานใหญ่ของพรรคเดโมแครต เรื่องอื้อฉาววอเตอร์เกทนี้คงไม่เกิดขึ้นหากพนักงานรักษาความปลอดภัยชื่อ Frank Wills ไม่เห็นความผิดสังเกตในคืนนั้น และโทรเรียกตำรวจในเวลา 1.47 น. จนกระทั่งเวลา 2.30 น. ตำรวจได้จับกุมชาย 5 คน ด้วยข้อหาบุกรุกเคหสถานของผู้อื่นยามวิกาล และพยายามลักลอบดักฟังโทรศัพท์และการติดต่อสื่อสารอื่นๆ
ชาย 5 คนที่ถูกจับกุมนั้น ได้แก่
Bernard L. Barker นักธุรกิจจาก Miami อดีตนักสืบ CIA และเคยร่วมในเหตุการณ์ Bay of Pigs 1962
Virgillo R. Gonzelas ช่างทำกุญแจจาก Miami เคยเป็นผู้ลี้ภัยจากคิวบา ในยุคของ Castro
James W. McCord ผู้ประสานงานด้านความมั่นคงของคณะกรรมการแห่งชาติพรรครีพับลิกัน และคณะกรรมการเลือกตั้งสมัยที่สองของประธานาธิบดี เขาเป็นอดีต FBI และ CIA ซึ่งหลังจากวันที่เกิดการโจรกรรมนี้ เขาโดนปลดจากทั้ง 2 ตำแหน่งทันที
Eugenio R. Martinez มีความสัมพันธ์กับ CIA และเป็นชาวคิวบาที่ถูกเนรเทศเพราะต่อต้าน Castro
Frank A. Sturgis มีความสัมพันธ์กับนักสืบ CIA และมีส่วนร่วมในการต่อต้าน Castro
หลังจาก นั้นก็มีการสืบสวนสอบสวนตามปกติ แต่ด้วยเหตุที่ Barker และ McCord เป็นอดีต CIA และ FBI มาก่อน ทำให้นักข่าววอชิงตันโพสท์คิดว่าคดีนี้น่าจะเกี่ยวข้องกับการเมืองมากกว่า ที่จะเป็นการโจรกรรมธรรมดา จึงเริ่มให้ความสนใจและติดตามคดีนี้ โดยมีนักข่าวหัวเห็ด Bob Woodward และ Carl Bernstein เป็นผู้ทำข่าวคดีนี้
ใน ช่วงแรก อดีตอัยการสูงสุด John Mitchell หัวหน้าคณะกรรมการรณครงค์หาเสียงเพื่อการเลือกตั้งสมัยที่สองของ ประธานาธิบดี ออกมาปฏิเสธความเกี่ยวข้องในการโจรกรรม แต่ต่อมาคณะกรรมการสืบสวนพบว่ามีเช็คเงินสด 25,000 ดอลลาร์สำหรับการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งของนิกสันอยู่ในบัญชีของ Barker ( 1 ในโจร 5 คนที่บุกสำนักงานใหญ่เดโมแครต) ในที่สุดใน กันยายน 1972 คณะลูกขุนได้สั่งฟ้องโจรทั้ง 5 รวมถึงผู้ใกล้ชิดกับประธานาธิบดีอีก 2 คน ซึ่งถูกกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้อง ซึ่งได้แก่
G. Gordon Liddy ที่ปรึกษาด้านการเงินของคณะกรรมการเลือกตั้งสมัยที่สองของประธานาธิบดี อดีต FBI อดีตเจ้าหน้าที่ทำเนียบขาว และอดีตเจ้าหน้าที่กระทรวงการคลัง ซึ่งระหว่างการสอบสวนเขาได้ปฏิเสธที่จะตอบคำถาม และถูกไล่ออกจากงาน
E Howard Hunt Jr. อดีตที่ปรึกษาทำเนียบขาวและเจ้าหน้าที่ CIA เขายังเคยเป็นนักเขียนนวนิยายจารกรรมและทำงานจารกรรมด้วย
ในการสืบสวน หน่วย FBI แสดงให้เห็นว่าการบุกรุกเข้าตึกวอเตอร์เกท เป็นการจารกรรมและก่อวินาศกรรมทางการเมือง ในความพยายามที่จะได้รับเลือกตั้งเป็นสมัยที่สองของนิกสัน
7 พฤศจิกายน 1972 นิกสันได้รับการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสมัยที่สองด้วยคะแนนที่เป็น ประวัติการณ์ เนื่องจาก George McGovern จากพรรคเดโมแครตถูกโจมตีให้ถอด Thomas Eagleton ผู้สมัครรับเลือกเป็นรองประธานาธิบดีคู่กันออก เนื่องจากเขาเคยมีอาการป่วยทางจิตมาก่อน ข่าวนี้ทำให้คะแนนเสียงของเดโมแครตลดลง โดย McGovern ชนะเพียงมลรัฐ Massachusetts และ Washington D.C. ในขณะที่นิกสันชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลายถึง 49 ในจำนวนทั้งหมด 50 มลรัฐ แม้จะมีคดีวอเตอร์เกทอยู่ก็ตาม
มกราคม 1973 จำเลยทั้ง 5 ยอมรับสารภาพในขั้นแรกของการสอบสวนคดี แต่คดีก็ยังไม่คลี่คลาย โดย McCord และ Liddy ต้องสงสัยว่ามีความผิดฐานสมรู้ร่วมคิด จนกระทั่ง 7 กุมภาพันธ์ 1973 สภา Senate ได้จัดตั้งคณะกรรมการสอบสวนพิเศษสำหรับคดีวอเตอร์เกทขึ้น ในระหว่างนี้ McCord ยังไม่ยอมรับสารภาพ แต่กลับเขียนจดหมายถึงผู้พิพากษาว่าจำเลยทั้ง 5 คนที่รับสารภาพไปแล้วนั้นเพราะถูกกดดัน รวมทั้งยังบอกว่ามีการให้การเท็จและมีผู้เกี่ยวข้องอื่นๆอีก
เมื่อการสอบ สวนพบว่ามีเจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวพัวพันมากขึ้น ทำให้เจ้าหน้าที่ระดับสูงบางคน อย่าง H.R. Heldeman และ John Ehrlichman รวมถึงอัยการสูงสุด Richard Kleindienst ลาออก ส่วนที่ปรึกษาทำเนียบขาว John Dean ถูกไล่ออก และเนื่องจากคดีนี้กระทบต่อการเมืองของสหรัฐอเมริกาอยู่มาก และอยู่ในความสนใจของประชาชน ในเดือน พฤษภาคม 1973 ทางคณะกรรมการสอบสวนคดีวอเตอร์เกท ของสภา Senate จึงได้มีการพิจารณาคดีผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ โดยมี Archibald Cox ได้รับแต่งตั้งเป็นอัยการพิเศษในคดีนี้
ในการสอบสวน คณะกรรมการวอเตอร์เกทพบบันทึกของ John Ehrlichman ซึ่งบรรยายถึงรายละเอียดแผนการโจรกรรมเอกสารของผู้เปิดเผยเอกสารลับเพ็นตากอ น ส่วน John Dean รับสารภาพว่าเขาเคยสนทนากับประธานาธิบดีถึงการปกปิดแผนการวอเตอร์เกทนี้ อย่างน้อย 35 ครั้ง และเขาสรุปว่าการจารกรรมทางการเมืองครั้งนี้อยู่ภายใต้ภารกิจของทำเนียบขาว โดยนิกสันมีส่วนร่วมเพียง 2-3 วันก่อนการโจรกรรม หลังจากนั้นอดีตเลขานุการของประธานาธิบดีนิกสัน Alexander Butterfield เปิดเผยว่า นิกสันได้บันทึกบทสนทนาและโทรศัพท์ในห้องทำงาน Oval Office ไว้ทุกครั้ง ตั้งแต่ปี 1971
กรกฎาคม-ธันวาคม 1973 นิกสันสั่งให้ถอดเทปทั้งหมดในทำเนียบขาว หลังจากนั้นคณะกรรมการสอบสวนคดีมีหมายศาลสั่งให้นิกสันส่งมอบเทปที่บันทึก ทั้งหมด แต่นิกสันปฏิเสธโดยอ้างสิทธิพิเศษของฝ่ายบริหารที่จะปกป้องความลับที่อาจส่ง ผลต่อความมั่นคงของชาติ พร้อมทั้งยังปลดอัยการพิเศษของคดีนี้ Archibald Cox ออกจากตำแหน่ง โดยแต่งตั้ง Leon Jaworski ดำรงตำแหน่งอัยการพิเศษคนใหม่แทน แต่อย่างไรก็ดีอัยการคนใหม่ก็ไม่ยอมให้นิกสันใช้อำนาจประธานาธิบดีมายับยั้ง การสอบสวนไว้ได้ ประกอบกับแรงกดดันจากประชาชน ในที่สุดนิกสันก็ยอมมอบเทปให้กับคณะกรรมการ พร้อมกับประกาศยืนยันความบริสุทธิ์ของตน
เทปที่นิกสันส่งมอบให้กับคณะ กรรมการนั้น เป็นเทปที่ถูกลบเสียงบางส่วนออกไป เป็นความยาวถึง 18 นาทีซึ่งทำเนียบขาวไม่สามารถให้คำอธิบายได้ แต่มีผู้กล่าวพาดพิงถึงผู้มีอำนาจว่าเป็นผู้ลบเสียงส่วนนั้นไป ต่อมาใน เมษายน 1974 ทำเนียบขาวได้ส่งมอบถอดเทปเป็นบันทึกที่ปรับปรุงแล้วหนากว่า 1,200 หน้า แต่คณะกรรมการสอบสวนยังยืนยันให้ส่งเทปตัวจริง
การลาออกของ ประธานาธิบดีนิกสัน
การพิจารณาคดีของคณะกรรมการสอบสวนพบว่าหลักฐานหลาย อย่างได้เปิดโปงไปถึงความเกี่ยวข้องกับประธานาธิบดีนิกสัน ในขณะนั้นการเมืองของสหรัฐอเมริกาจึงเกิดการต่อสู้ทางการเมืองและกฎหมาย ระหว่างประธานาธิบดีและสภาคองเกรส ซึ่งได้มีการเคลื่อนไหวให้ถอดถอนประธานาธิบดี
6 กุมภาพันธ์ 1974 สภาคองเกรสได้ผ่านมติที่ 803 ด้วยคะแนนเสียง 410 ต่อ 4 จากผู้แทนจากทั้งพรรคเดโมแครตและรีพับลิกัน มอบอำนาจให้กับคณะกรรมการสอบสวน ในกระบวนการพิจารณาถอดถอนนิกสัน โดยมีคำสั่งให้สอบสวนได้อย่างเต็มที่และสมบูรณ์ และคณะกรรมการจะรายงานต่อสภาผู้แทนเป็นมติ อนุมาตราในการถอดถอน หรือการเสนอแนะอย่างอื่นที่คิดว่าเหมาะสม จนกระทั่ง 27 กรกฎาคม 1974 คณะกรรมการได้ผ่านกฎหมายอนุมาตราการถอดถอนต่อสภาผู้แทนฉบับแรกในจำนวนทั้ง หมดสามฉบับ ซึ่งกล่าวหานิกสันถึงการขัดขวางกระบวนการยุติธรรม ขณะเดียวกันศาลสูงสุดก็มีคำสั่งให้นิกสันส่งมอบเทปที่บันทึกการสนทนาใน ทำเนียบขาวทั้งหมด 64 ม้วนโดยเด็ดขาด
5 สิงหาคม 1974 นิกสันยอมมอบเทปที่สนทนากับ Heideman ซึ่งเปิดเผยว่า นิกสันได้สั่งให้ FBI เลิกสอบสวนคดีการโจรกรรมที่ตึกวอเตอร์เกท เพราะเกรงว่าจะเผยถึงการเกี่ยวโยงกับการเลือกตั้ง และเมื่อ8 สิงหาคม 1974 นิกสันประกาศลาออกจากตำแหน่งก่อนจะถูกถอดถอน โดย Gerald Ruldoph Ford รองประธานาธิบดีเข้ารับตำแหน่งต่อ และอีก 1 เดือนต่อมา Ford ก็ได้ประกาศอภัยโทษทั้งหมดแก่นิกสัน

ผลที่ตามมาภายหลังคดีวอเตอร์เกท
1. Richard Milhous Nixon เป็นประธานาธิบดีคนแรกในประวัติศาสตร์อเมริกาที่ลาออกจากตำแหน่ง และถูกดำเนินการเคลื่อนไหวเพื่อนำไปสู่การถอดถอน แม้จะไม่โดนถอดถอนเพราะชิงลาออกก่อนก็ตาม แต่การดำเนินการนั้นก็เป็นแบบอย่างให้กับกรณีของประธานาธิบดี William Jefferson Clinton หรือ Bill Clinton ในอีก 20 ปีต่อมา
2. Gerald Rudolph Ford ลาออกจากตำแหน่งรองประธานาธิบดี และเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีต่อจากนิกสัน
3. ความเสียหายทั้งหมด และบทลงโทษในคดีนี้ ส่งผลให้ประธานาธิบดีลาออก 1 คน และรองประธานาธิบดีลาออก 1 คน นอกจากนั้นแล้วยังมีข้าราชการอีก 40 คนถูกฟ้องร้อง ดำเนินคดี หรือติดคุก โดยส่วนใหญ่เป็นข้าราชการระดับสูงในทำเนียบขาว ส่วนผู้ใต้บังคับบัญชาของอดีตประธานาธิบดีนิกสัน ถ้าไม่ติดคุก ก็หันไปเขียนหนังสือ หรือพึ่งศาสนา
4. ผลกระทบต่อสังคมอเมริกันคือ อเมริกาในฐานะต้นแบบและผู้นำประชาธิปไตยแห่งโลกเสรีเกิดความสั่นคลอนทันที เกิดผลเสียต่อภาพลักษณ์ของอเมริกา อย่างน้อยด้านหนึ่งก็คือทำให้เห็นว่าระบอบประชาธิปไตยของโลกเสรีไม่ได้ทำให้ ได้ผู้นำที่ดีมาปกครองประเทศ
5. ผลเสียหายจากคดีนี้ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านอื่นตามมา เช่น การปฏิรูปการสนับสนุนด้านการเงินให้การรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง หรือสื่อมีทัศนคติที่ก้าวร้าวและมั่นใจมากขึ้น ทำให้เกิดการพัฒนาทีมนักข่าวสืบสวนของหนังสือพิมพ์ทั่วโลก
6. คำว่า วอเตอร์เกท ได้กลายเป็นศัพท์ที่หมายถึงการทำผิดกฎหมาย และการคอรัปชั่น ได้แก่ การโจรกรรมทางการเมือง การติดสันบน การบีบบังคับ กรรโชก การดักฟังทางโทรศัพท์ การสมรู้ร่วมคิด การขัดขวางกระบวนการยุติธรรม การทำลายหลักฐาน การปลอมแปลงภาษี การใช้หน่วยงานของรัฐในทางที่ผิดกฎหมาย เช่น CIA และ FBI การสนับสนุนการหาเสียงเลือกตั้งอย่างผิดกฎหมาย และการใช้เงินสาธารณะเพื่อวัตถุประสงค์ส่วนตน
หลังจากนั้นเมื่อเกิดกรณี อื้อฉาวทางการเมือง ก็จะถูกตั้งชื่อให้ลงท้ายด้วยคำว่า “เกท” เช่น สมัยประธานาธิบดีบุชผู้พ่อ มีกรณี Iraq-Gate เป็นกรณีที่มีการโกงเงินกู้การเกษตรของอิรัก แต่แทนที่ประธานาธิบดีจะให้มีการสอบสวน กลับไม่ใส่ใจและโอนเงินไปเพิ่มอีกพันล้านเหรียญ, สมัยของประธานาธิบดีบุช คนปัจจุบัน ก็มีกรณี Taiwan-Gate ที่กล่าวหาว่าบุชรับเงินสินบน 4 หมื่นล้านจากไต้หวันเพื่อค้าอาวุธให้, เรียกการโกงภายในบริษัทรถยนต์ Volkswagen ว่า VW-Gate, หรือแม้กระทั่งปัจจุบันนี้ก็มีกรณี Leak-Gate หรือ Spy-Gate ที่กำลังอยู่ในชั้นศาล เป็นต้น
7. นอกจากนั้นก็มีหนังสือ และภาพยนตร์เกิดขึ้นบนเรื่องราวของจากคดีนี้เป็นจำนวนมาก

สิ่งที่สะท้อนความเป็นอเมริกัน
ค่านิยมด้านการเมือง
1. สถาบันรัฐธรรมนูญและสถาบันอื่นๆที่เกิดจากรัฐธรรมนูญ
1.1) ความเชื่อว่าประธานาธิบดีมีอำนาจสูงสุดได้เปลี่ยนไป เพราะประธานาธิบดีเองก็ยังทำผิดเช่นเดียวกับประชาชนทั่วไป ทำให้ภาคประชาชนและสื่อมวลชนต้องตรวจสอบมากขึ้น สิทธิพิเศษของการเป็นผู้บริหารประเทศได้ลดลง และถึงแม้ประชาชนจะเทคะแนนเสียงให้ประธานาธิบดีคนใดเยอะก็ตาม ประธานาธิบดีก็ยังสามารถออกจากตำแหน่งได้โดยง่าย ถ้าประพฤติตัวไม่เหมาะสมกับตำแหน่งหน้าที่ประมุขของประเทศ
1.2) คนอเมริกันจะปกป้องสถาบันรัฐธรรมนูญเป็นอย่างมาก และรักษากรอบกฎหมายของรัฐธรรมนูญ
- การให้สถาบันตุลาการศาลอยู่สูงที่สุด เพราะเป็นสถาบันที่คอยตรวจสอบและถ่วงดุล ไม่ให้มีการปฏิบัตินอกกรอบรัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุด เห็นได้จากเมื่อนิกสันอ้างสิทธิพิเศษเพื่อจะไม่ส่งมอบเทป แต่ศาลก็ยังยืนยันคำสั่ง ทำให้ต้องส่งมอบในที่สุด
- สถาบันผู้พิพากษา ยึดหลักความยุติธรรม ดูตามความผิด-ถูก ไม่มีระบบอุปถัมภ์ เห็นได้จากเมื่อนิกสันถอดอัยการ Cox ออกจากตำแหน่งและแต่งตั้ง Jaworski แทน แต่อัยการคนใหม่ก็ไม่ยอมให้ประธานาธิบดีใช้อภิสิทธิ์ใดๆได้ แล้วยังเสนออนุมาตราเพื่อถอดถอนนิกสันด้วย
- สภาคองเกรส มีอิสระและมีอำนาจมาก เพราะเป็นได้รับคะแนนเสียงโดยตรงจากประชาชน ในการไต่สวนคดีและการรับรองอนุมาตราถอดถอนโดยคณะตุลาการนั้น ก็ได้รับการลงคะแนนจากทั้งพรรคเดโมแครตและพรรครีพับลิกันของประธานาธิบดีเอง
1.3) หลักความรับผิดชอบ นิกสันแม้อยู่ในอำนาจของประธานาธิบดี เมื่อทำผิด ก็ต้องรับผิดชอบต่อสภาผู้แทน ซึ่งเป็นที่ประชุมที่สะท้อนความคิดเห็นของประชาชนโดยตรงอย่างมากที่สุด
1.4) ความเป็นสหรัฐอเมริกา คือ ชาวอเมริกันจะเห็นแก่ภาพลักษณ์ของประเทศมาก เห็นจากการที่นิกสันที่เป็นผู้ประกาศว่าต่อต้านคอมมิวนิสต์มาโดยตลอด ชิงลาออกก่อนที่จะถูกถอดถอน ด้วนความที่อยู่ในฐานะของผู้นำโลกเสรี ก็ไม่อยากทำผิดกติกาเสียเอง หรือตอนที่ฟอร์ดประกาศอภัยโทษให้แก่นิกสัน ก็เพื่อให้หยุดการวิพากษ์วิจารณ์และรักษาภาพลักษณ์ของประเทศ
2. ค่านิยมที่สะท้อนจากสื่อมวลชน
2.1) เสรีภาพของสื่อมวลชน
- สื่อมวลชนจะมีอิสระมาก ไม่อยู่ภายใต้การครอบงำของฝ่ายการเมือง แม้จะถูกกดดันอย่างหนักจากฝ่ายการเมืองก็ตาม จากกรณีที่บรรณาธิการบริหารของวอชิงตันโพสท์ถูกข่มขู่ว่าจะเอาเข้าคุก แต่ก็ยังสนับสนุนให้นักข่าวตีพิมพ์เอกสารของเพ็นตากอน และคดีวอเตอร์เกทอย่างเต็มที่
- สื่อ เป็นตัวแสดงหลักที่คุ้ยข่าวคดีนี้ และเป็นผู้สร้างกระแสให้ภาคประชาชนเห็นความจริง จนกดดันให้นิกสันต้องลาออกจากตำแหน่ง
- ประชาชนไว้ใจสื่อมากกว่ารัฐบาล เหตุนี้สื่อจึงมีอิทธิพลต่อการเมืองค่อนข้างมาก คืออยู่เหนือการเมือง
- ให้ความสำคัญกับระบบตรวจสอบโดยสื่อมาก โดยเฉพาะสิ่งที่เป็นผลเสียหายต่อประเทศแล้ว สื่อจะติดตามไม่ปล่อย
2.2) นักข่าววอชิงตันโพสท์ที่ทำข่าวคดีนี้ Bob Woodward และ Carl Bernstein
- จรรยาบรรณนักข่าวที่นำเสนอแต่ความจริง ทำให้คนเชื่อถือสื่อมากกว่ารัฐบาล มีความละเอียดถี่ถ้วน มีหลักฐานและความรู้อย่างดีในเรื่องที่นำเสนอ นอกจากนั้นยังสามารถปกปิดชื่อแหล่งข่าวได้เป็นเวลาถึง 30 ปีจนกระทั่งแหล่งข่าวออกมาเปิดเผยตัวเอง
- มีอิสระสูงมากในการทำข่าว ไม่เกรงอำนาจใคร มีความก้าวร้าวและมั่นใจ ส่งผลให้แต่เดิมที่สื่อมองประธานาธิบดีแต่ด้านดี ไม่ค่อยโต้แย้ง ก็ทำให้มีการวิพากษ์วิจารณ์ผู้นำเช่นเดียวกับคนทั่วไป และด้วยบุคลิกการทำข่าวของทั้งคู่ ส่งผลให้เกิดการพัฒนาทีมนักข่าวสืบสวนของหนังสือพิมพ์ทั่วโลก
3. ภาพสะท้อนความเป็นอเมริกัน จากตัวละครที่เป็นแหล่งข่าวนิรนาม ในฉายา Deep Throat
- กล้าเปิดเผยความจริง ทั้งๆที่ตนอยู่ในตำแหน่งที่สูงในตอนนั้น คือเป็นหมายเลข 2 ของ FBI แต่ก็ยังกล้ามาเปิดเผยให้กับนักข่าววอชิงตันโพสท์ เพราะเป็นว่าฝ่ายการเมืองมีความผิด โดยไม่ได้คำนึงว่าอีกผ่ายเป็นประธานาธิบดี ที่มีอำนาจสูงสุดของประเทศและอยู่เหนือตน
- สะท้อนนิยมแห่งความถูกต้อง แม้ปัจจุบันออกมาเปิดเผยตัวแล้ว แต่ Mark Felt ก็ยังสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ ไม่โดนอำนาจมืดทำร้าย ไม่ถูกข่มขู่หรือสั่งเก็บ ตรงกันข้ามกลับเป็นที่ชื่นชมของชาวอเมริกัน
16 ธ.ค. 54 เวลา 06:38 4,674 2 10
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...