รถเข็น แปลงร่างเป็นรถไฟฟ้า ฉลาดคิด

รถเข็น แปลงร่างเป็นรถไฟฟ้า - ฉลาดคิด
วันพุธที่ 14 ธันวาคม 2554 เวลา 00:00 น.

ข้อจำกัดของรถเข็นสำหรับคนพิการท่อนล่างตั้งแต่เอวลงไป รวมถึงผู้สูงอายุ คือต้องมีคนช่วยเข็น ทำให้ผู้ใช้ขาดอิสระ และไม่คล่องตัวในการเคลื่อนไหว เพราะจะไหว้วานให้ใครมาช่วยบ่อย ๆ ก็ใช่ที่

จะซื้อรถเข็นไฟฟ้า ก็ราคาสูง ยามเดินทางไกลก็ต้องอาศัยรถตู้ เพราะพับใส่ท้ายรถเก๋งไม่ได้

ปัญหาเหล่านี้ ทีมนักประดิษฐ์ของไทยจากภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ประกอบด้วย ผศ.ดร.บรรยงค์ รุ่งเรืองด้วยบุญ สิทธิชัย ประสิทธิ์ผล บดินทร์ บูระวัตรเดชา ธีรพงศ์ สมุทรอัษฎงค์ และวัศพล พงษ์สุวรรณ ช่วยกันคิดวิจัย “ชุดถอดประกอบต้นกำลังสำหรับรถนั่งคนพิการ” (Power-added on for Manual Wheeler) หรืออธิบายง่าย ๆ ว่า เป็นการประดิษฐ์ล้อหน้า พร้อมคันบังคับติดมอเตอร์ไฟฟ้า และชุดต่อพ่วงที่ประกอบเชื่อมกับรถเข็นคนพิการธรรมดา ที่จะทำให้ผู้ใช้บังคับให้เคลื่อนที่ได้สะดวก ไปได้ไกลกว่าทั้งภายในและภายนอกอาคาร รวมถึงพื้นถนนขรุขระ อยากไปปากซอย จะซื้อของตลาดนัด ขับขึ้นลงทางลาดทำได้หมด

ถอดประกอบได้เองโดยคนพิการ ไม่ต้องไหว้วานใคร

ผศ.ดร.บรรยงค์ นำคันต้นแบบ และคันที่พัฒนาให้เหมาะกับการใช้งานทั่วไป มีราคาที่ต่ำกว่า มาแสดงที่สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ โดยทดลองต่อพ่วงและถอดให้เห็นว่า แค่คนพิการนั่งรถเข็นมาตรงชุดต่อพ่วง เสียบให้เข้าล็อกที่ทำไว้ ก็ทำให้รถเข็นธรรมดา กลายร่างเป็นรถเข็นไฟฟ้าทันทีโดยฉับพลัน ไม่ต่างกับการแปลงร่างรถยนต์เก่า ๆ เป็นหุ่นยนต์ทรงพลังกู้โลกในภาพยนตร์ ทรานสฟอร์เมอร์ส ที่ผู้ชมยังติดใจ

ส่วนสำคัญของสิ่งประดิษฐ์ อย่างแรกคือล้อหน้า ใช้ล้อขนาดเล็ก ลอยเหนือพื้นได้ด้วยกลไกที่ออกแบบพิเศษเพื่อวิ่งบนทางขรุขระ ติดตั้งมอเตอร์ขนาด 350 วัตต์ เพื่อมีกำลังขึ้นลงทางลาดได้ ใช้แบตเตอรี่ 12 โวลต์ 3 แพ็ก เป็นแหล่งพลังงาน อีกชิ้นเป็นส่วนต่อเชื่อม ที่ออกแบบตัวล็อกที่ใช้ง่าย แต่แน่นหนา ถอดและต่อได้เองด้วยสอง
มือ
  
ผลงานนี้คณะนักประดิษฐ์ส่งเข้าประกวดในงานแสดงสิ่งประดิษฐ์นานาชาติแห่งกรุง โซล ประเทศเกาหลี ได้รับรางวัล กรังด์ปรีซ์ (Grand Prize) เมื่อต้นเดือนธันวาคม ซึ่งมีผลงานจาก 31 ประเทศส่งมาประชันถึง 663 ชิ้น

ผศ.ดร.บรรยงค์ บอกว่า อุปกรณ์นี้ยังช่วยให้การนำคนพิการเดินทางไกล ทำได้เพียงถอดล้อหน้าและพับรถเข็นใส่ท้ายรถเก๋ง ไม่ต้องยกทั้งคันขึ้นรถตู้ให้เป็นที่เอิกเกริกเหมือนรถเข็นไฟฟ้า

ขณะนี้ รถเข็นทรานสฟอร์เมอร์ส พร้อมจะรับใช้คนพิการแล้ว ผู้สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมทางโทรศัพท์ได้จากคณะนักวิจัย ที่หมายเลข 0-2564-3001-9 ต่อ 3159 หรืออีเมล rbunyong@engr.tu.ac.th

ปัญหาของคนพิการในการเคลื่อนที่ โดยเฉพาะคนที่มือสองข้างยังใช้ได้ ได้รับการแก้ไข ด้วยฝีมือคนไทยที่ต่างชาติให้การยอมรับ ที่สำคัญต้นทุนไม่แพง.

วีระพันธ์ โตมีบุญ
veeraphanT@Gmail.com
twitter.com/vp2650

#ฉลาดคิด
THEPOco
ผู้กำกับภาพ
สมาชิก VIP
14 ธ.ค. 54 เวลา 06:18 3,229 1 10
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...