ถ้า Apple ไม่มี สตีฟ จ๊อบส์ อะไรจะเกิดขึ้น

 

กระแสความสนใจของผู้คนกลับมาโฟกัสที่ข่าวคราวความเจ็บป่วยของ "สตีฟ จ็อบส์" ผู้ก่อตั้งอาณาจักร "แอปเปิล" ที่ขอหยุดงานไม่มีกำหนด หลังปรากฏภาพถ่าย ล่าสุดของจ็อบส์ที่ผ่ายผอมลงอย่างมาก และคาดเดากันว่านี่อาจจะเป็นอาการของผู้ป่วยระยะสุดท้าย

 

สิ่งที่เกิดขึ้นได้จุดคำถามที่ค้างคาใจผู้คนขึ้นมาอีกครั้งว่า ใครจะขึ้นมากุมบังเหียน "แอปเปิล" แทนสตีฟ จ็อบส์

 

โดยเฉพาะบรรดานักลงทุนที่กังวลกับประเด็นนี้ เพราะแอปเปิลไม่ค่อยเปิดเผยรายละเอียดความเจ็บป่วยของจ็อบส์ ทั้งยังไม่เคยพูดถึงแผนสืบทอดอำนาจอย่างจริงจัง ทำให้ผู้ถือหุ้นบางส่วนยื่นข้อเสนอให้แอปเปิลเปิดเผยนโยบาย ถ่ายโอนอำนาจเป็นประจำทุกปี เพื่อให้ ผู้ถือหุ้นได้มั่นใจกับทิศทางของบริษัทในวันข้างหน้า และข้อเรียกร้องนี้ก็ได้รับการสนับสนุนอย่างกว้างขวาง
 

 

 

"ลอสแองเจลิส ไทมส์" ระบุว่า แม้แอปเปิลจะประสบความสำเร็จในการเปิดตัวผลิตภัณฑ์สุดฮอตทั้งไอโฟนและไอแพด และสามารถขยับขึ้นมาเป็นบริษัทที่มีมูลค่าตลาดมากสุดเป็นอันดับ 2 โดยมีมูลค่าราว 3 แสนล้านดอลลาร์ แต่ในช่วงเวลาที่เปราะบางเช่นนี้ ไม่มีเรื่องอะไรสำคัญเท่ากับว่าแอปเปิลจะทำอย่างไรในวันที่ไร้เงาสตีฟ จ็อบส์

 

ปฏิเสธไม่ได้ว่าชะตากรรมของค่ายแอปเปิลผูกโยงอยู่กับเจ้าพ่อไอทีรายนี้อย่างแนบแน่น เพราะจ็อบส์ไม่เพียงแต่เป็นซีอีโอมือดี แต่ยังเป็นบุคคลที่ แอปเปิลขาดไม่ได้ เขาเป็นผู้นำของ พนักงานราว 50,000 ชีวิต เป็นผู้อยู่ เบื้องหลังการตัดสินใจสำคัญ ๆ ของบริษัท และเป็นคีย์แมนผู้บุกเบิกแอปเปิลจนเติบใหญ่ถึงวันนี้

 

หลายคนมองว่า เราต่างก็รู้ดีว่าจ็อบส์อาจไม่ได้กลับมา และในที่สุดบริษัทก็จะต้องเตรียมการเรื่องนี้อยู่ดี ขณะที่ บางฝ่ายยังเชื่อว่า ดอกผลจากผลิตภัณฑ์ยอดฮิตของแอปเปิล รวมถึงแผน เกี่ยวกับสินค้าและอนาคตที่วางไว้ ซึ่งบริษัทเก็บรักษาเป็นความลับและมีเพียงผู้บริหารระดับสูงไม่กี่รายที่รู้ รายละเอียด ยังจะส่งผลให้บริษัทเติบโต ต่อเนื่องไปได้อีกหลายปี ถึงแม้ตลาดจะแข่งขันกันอย่างหนักก็ตาม

 

บุคลากรของแอปเปิลถูกฝึกให้คิดแบบสตีฟ จ็อบส์ แม้เขาจะไม่ได้อยู่ที่บริษัท และไอเดียดี ๆ หลายอย่างก็มาจากคนเหล่านี้ ไม่ใช่เกิดจากจ็อบส์ และแอปเปิลก็มีผู้บริหารที่มีทักษะสูง อาทิ "ทิม คุก" ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่าย ปฏิบัติการ ซึ่งรับหน้าที่แทนเมื่อจ็อบส์ ไม่อยู่ รวมถึง "โจนาธาน อีฟ" ดีไซเนอร์มากฝีมือ "รอน จอห์นสัน" ที่ดูแลร้านแอปเปิลสโตร์ 317 สาขา และ "เอ็ดดี้ คิว" รองประธานฝ่ายบริการอินเทอร์เน็ต ซึ่งอยู่เบื้องหลังความสำเร็จของไอจูนส์ และแอพพ์สโตร์
 

 

 

ทั้งที่แอปเปิลมีผู้บริหารมือดีหลายคน แต่ไม่ใช่คนเหล่านี้จะขึ้นมาแทนที่สตีฟ จ็อบส์ ได้ง่าย ๆ แม้กระทั่ง ทิม คุก ซึ่งจ็อบส์วางใจให้ดูแลงานแทนในช่วงที่เขาลาหยุดไปดูแลสุขภาพก่อนหน้านี้ ก็ยังไม่เคยตัดสินใจอะไรตามลำพังโดยไม่ผ่านความเห็นของจ็อบส์ และแอปเปิลก็ว่างเว้นจากการเปิดตัวผลิตภัณฑ์หลัก ๆ ในช่วงที่จ็อบส์เว้นวรรคไป 2 ครั้งแรก

 

นี่เป็นเพราะไม่มีผู้บริหารคนใดถูกฝึกให้จับปลาได้ทั้งสองมือเหมือนจ็อบส์ที่ เก่งทั้งงานด้านดีไซน์และปฏิบัติการ รวมถึงไม่มีใครโดดเด่นในฐานะผู้บริหารที่มีวิสัยทัศน์ด้านผลิตภัณฑ์ ซึ่งสามารถปลุกความปรารถนาของสาวกไฮเทค ขณะที่ตลอดหลายปีที่ผ่านมา การตัดสินใจสำคัญ ๆ ของแอปเปิลกระทำผ่านทีมกลยุทธ์ที่มีจ็อบส์ดูแลอย่างใกล้ชิด ขณะที่จ็อบส์เองก็ระมัดระวังกับการเปลี่ยนถ่ายอำนาจในบริษัท

 

"แดน วอล์กเกอร์" อดีตประธาน เจ้าหน้าที่ฝ่ายบุคลากรของแอปเปิล กล่าวว่า สตีฟ จ็อบส์ เป็นทั้งนักคิดและผู้นำระดับตำนาน

 

อดีตผู้บริหารของแอปเปิลรายหนึ่งบอกว่า เมื่อแอปเปิลทำอะไรสักอย่าง จ็อบส์เป็นเหมือนศูนย์กลางของความสร้างสรรค์ทั้งหมด ใครจะทำเช่นนั้นได้ ใครจะแทนที่เขา ซึ่งในความเป็นจริงคือไม่มีใครแทนที่ได้

 

น่าสนใจว่าแอปเปิลไม่ใช่บริษัทแรกที่อยู่ภายใต้การบริหารของผู้นำที่มี วิสัยทัศน์โดดเด่นมาก ดูอย่างกรณีของ "วอลต์ ดิสนีย์" "ฟอร์ด มอเตอร์" และ "วอล-มาร์ต" ล้วนเป็นตัวอย่างของ บริษัทที่ผู้ก่อตั้งเป็นสัญลักษณ์ขององค์กร

 

โดยดิสนีย์เผชิญกับช่วงขาลงนานถึง 2 ทศวรรษ หลัง "วอลต์ ดิสนีย์" ผู้ก่อตั้งบริษัทอำลาโลกไป ก่อนที่ "ไมเคิล ไอส์เนอร์" จะเข้ามาพลิกฟื้นสถานการณ์ ส่วนฟอร์ดก็ใช้เวลานานนับ 10 ปีกว่าจะขึ้นมาอยู่ระดับสุดยอด หลังจาก "เฮนรี ฟอร์ด" เสียชีวิต แต่วอล-มาร์ตยังคงขยายกิจการต่อเนื่อง หลังจาก "แซม วอลตัน" ผู้สร้างอาณาจักรเสียชีวิตในปี 2535

 

"เจฟฟรีย์ เฟฟเฟอร์" ศาสตราจารย์ประจำบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัย สแตนฟอร์ด มองว่า ผู้ก่อตั้งบริษัทส่วนใหญ่ชอบคิดว่าตัวเองจะเป็นอมตะ ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วไม่ใช่เลย ดังนั้นบอร์ดบริหารส่วนใหญ่จึงมักกังวลเมื่อ ผู้ก่อตั้งเหล่านี้ไม่ยอมผลักดันใครขึ้นมา

 

ขณะที่อีกหลายบริษัทก็กำลังมีปัญหาที่เรียกว่า "สตีฟ จ็อบส์ เอฟเฟ็กต์" หรือการส่งต่ออำนาจ โดยจากการสำรวจของสมาคมบริหารจัดการแห่งอเมริกา (เอเอ็มเอ) ที่สอบถามความเห็นแบบ ออนไลน์จากผู้บริหารระดับอาวุโสเกือบ 1,100 คน ในสหรัฐและแคนาดา พบว่ามีบริษัทเพียง 14% ที่บอกว่ามีการเตรียมความพร้อมอย่างดีในเรื่องนี้ ขณะที่ 61% ตอบว่าตระเตรียมไว้บ้าง ส่วนอีก 22% ยอมรับว่าไม่ได้เตรียมการไว้เลย และ ที่เหลืออีก 3% ตอบว่าไม่รู้เรื่องนี้เลย

 

"แซนดี้ เอ็ดเวิร์ดส" รองประธานอาวุโสฝ่ายคอร์ปอเรต เลิร์นนิ่ง โซลูชั่น ของเอเอ็มเอ กล่าวว่า สิ่งที่พบสะท้อนถึงปัญหาการบริหารจัดการเรื่องทายาทธุรกิจที่เพิ่มขึ้นในบริษัทในอเมริกาเหนือ มีบริษัทเพียงส่วนน้อยที่พร้อมสำหรับแผนส่งมอบอำนาจผู้บริหารระดับสูงในกรณีเร่งด่วน ซึ่งหมายความว่าบริษัทส่วนใหญ่กำลังมีความเสี่ยงอย่างมากในเรื่องนี้

 

เอ็ดเวิร์ดสกล่าวด้วยว่า 2 ปีที่ผ่านมา ผู้บริหารมัวแต่โฟกัสกับการลดต้นทุนและความอยู่รอด แต่ตอนนี้ถึงเวลาของการลงทุนเพื่อความยั่งยืนและความได้เปรียบด้านการแข่งขันที่มีพื้นฐานจากบุคลากรที่มีความสามารถ การที่บริษัทมี พนักงานที่มีศักยภาพมากพอที่จะเป็นผู้นำเป็นสิ่งสำคัญสำหรับอนาคต และบทเรียนที่สำคัญจากกรณีสตีฟ จ็อบส์ คือบริษัทต้องเตรียมพร้อมกับปัจจัยที่ว่า "ถ้าจะเป็นอย่างนั้น" ซึ่งจะทำให้บริษัทอยู่รอดและเติบโตได้ท่ามกลางอนาคตที่ไม่แน่นอน

25 ส.ค. 54 เวลา 13:07 4,315 2 10
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...