เล่นอินเตอร์เน็ตแล้วเจอรหัสผ่านที่ต้องพิมพ์ตัวอักษรถึงเข้าไปได้เขาเรียกว่า..CAPTCHA

แคปช่า หรือ CAPTCHA เป็นตัวย่อมาจากภาษาอังกฤษเต็มว่า Completely Automated Public Turing test to tell Computers and Humans Apart แปลง่ายๆ คือแบบทดสอบที่แยกแยะผู้ใช้ที่เป็นมนุษย์ (User) ออกจากโปรแกรมอัตโนมัติหรือ บอท (Bot)

นิยมใช้มากในวงการคอมพิวเตอร์ เนื่องจากคอมพิวเตอร์โดยทั่วไปไม่สามารถแปลรหัสแคปช่าได้ ดังนั้นผู้เขียนเว็บไซต์หรือผู้ให้บริการใดๆ ที่ตั้งรหัสแคปช่าไว้ จึงมั่นใจได้ว่าผู้ที่ผ่านรหัสเข้ามาเป็นมนุษย์ ที่มีความสามารถ อ่านออกเขียนได้และมีความตั้งใจคลิกเข้ามา บางครั้งมีการอธิบายระบบแคปซ่าว่าเป็นการทดสอบแบบย้อนกลับ เพราะเป็นการทดสอบจากคอมพิวเตอร์ส่งไปยังมนุษย์

รหัสแคปช่าส่วนใหญ่มักเป็นภาพตัวอักษรหรือตัวเลขที่บูดเบี้ยว บางครั้งอาจเป็นเสียง เพื่อให้ผู้ใช้พิมพ์ข้อความเหล่านั้นเป็นรหัสผ่านเข้าสู่หน้าเว็บไซต์ นอกจากนี้รหัสแคปช่าสมัยใหม่อาจเป็นคำถามที่ผู้คนทั่วไปรู้กันเป็นอย่างดี เช่น "สีของท้องฟ้าเป็นสีอะไร?" หรือ "1+1=?"

แคปช่าใช้ในวงการจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ หรืออีเมล์ อย่าง Gmail, Hotmail และ Yahoo! ซึ่งช่วยป้องกันผู้ใช้จากอีเมล์ที่ไม่ต้องการ หรืออีเมล์ขยะ วงการจำหน่ายสินค้าออนไลน์ อย่าง Paypal หรืออาจเป็นกระดานความเห็นทั่วๆ ไป

หนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์รายงานว่า ไอเดียสร้างสรรค์แคปช่าเกิดขึ้นในเดือน ก.ย.2543 โดย ดร.อูดิ แมนเบอร์ (Udi Manber) หัวหน้านักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ชาวอิสราเอลของบริษัท Yahoo! ที่รู้สึกหงุดหงิดกับพวกวัยรุ่นที่ชอบเข้ามาโพสต์ข้อความซ้ำๆ ข้อความโฆษณา หรือลักลอบเจาะข้อมูลส่วนบุคคลของกระดานสนทนาบนเว็บไซต์ นอกจากนี้ ยังสมัครอีเมล์ฟรีเพื่อใช้เป็นที่อยู่ปลอมในการใช้งาน

ดังนั้น จึงปรึกษากับทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยคาร์เนกี เมลลอน สหรัฐ และนำไอเดียนี้ไปให้ ลูอิส วอน อาห์น (Luis von Ahn) มานูเอล บลัม (Manuel Blum) นิโคลัส เจ. ฮอปเปอร์ (Nicholas J. Hopper) และ จอห์น แลงฟอร์ด (John Langford) (สามคนแรกมาจากมหาวิทยาลัย ส่วนคนสุดท้ายมาจากไอบีเอ็ม) นำไปพัฒนาต่อจนเกิดเป็นแคปช่าทุกวันนี้

แต่รหัสแคปช่ายังมีข้อด้อยอยู่ เนื่องจากใช้การพิสูจน์ความเป็นมนุษย์ผ่านทางสายตา คือการอ่านตัวอักษรที่ปรากฏบนหน้าจอ ดังนั้นจึงถูกทักท้วงว่าปิดกั้นไม่ให้ผู้พิการทางสายตาเข้าถึงหน้าเว็บไซต์ได้ (ปกติคอมพิวเตอร์ของผู้พิการทางสายตาจะมีโปรแกรมอ่านออกเสียงตัวอักษรที่ปรากฏบนหน้าจอ แต่อ่านรหัสแคปช่าไม่ได้) ดังนั้น จึงมีการเพิ่มเสียงอ่านตัวอักษรขึ้นแต่ยังไม่เป็นที่แพร่หลายเพราะมีความซับซ้อนในการใช้งานและการผลิต

นอกจากนี้ บางคนยังวิจารณ์ว่ารหัสแคปช่าบิดเบี้ยวจนอ่านไม่รู้เรื่อง และเมื่อกด "รีเฟรช" (refresh) ก็เปลี่ยนรหัสที่ปรากฏไม่ได้ ซึ่งทีมงานแคปช่ากำลังพัฒนาต่อไป

ปัจจุบันแคปช่ามีเว็บไซต์อย่างเป็นทางการที่ www.captcha.net คลิกเข้าไปเพื่อดูพัฒนาการของแคปช่าหรือว่าจ้างเว็บไซต์ให้ออกแบบรหัสแคปช่าของตัวเองก็ได้นะ

กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...