สายธารแห่งอดีต ของดาวหางปัจจัยก่อเกิด ฝนดาวตกมีสกุล

 

"สายธารแห่งอดีต" ของดาวหางปัจจัยก่อเกิด “ฝนดาวตกมีสกุล” โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 17 พฤศจิกายน 2549 15:12 น. คลิกที่ภาพเพื่อดูขนาดใหญ่ขึ้น


ฝนดาวตก “ลีโอนิดส์” ที่กำลังโปรยปรายอยู่บนท้องฟ้ายามค่ำคืนในช่วงกลางเดือนพ.ย.นี้ แม้จะได้ชมกันทุกปี แต่นักดาราศาสตร์ก็เพิ่งจะทราบเพียงไม่กี่ปีมานี้ว่า "สายธารดาวหาง" ที่ตกค้างในห้วงอวกาศนับร้อยปีนี้นั้นเป็นสาเหตุหนึ่งของฝนดาวตกด้วย มิใช่เพียงฝุ่นดาวหางที่ตกค้างจากการเยือนครั้งล่าสุดเท่านั้น
       
       ปรากฎการณ์ "ฝนดาวตก" (Meteor Shower) เพิ่งเป็นที่รู้จักแก่คนไทยเมื่อไม่นานมานี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปี 2541 นับเป็นครั้งแรกที่มีการพูดถึง "ฝนดาวตกลีโอนิดส์" อันเป็นฝนดาวตกที่ชาวโลกรู้จักกันมาที่สุด และในปีนั้นสามารถสังเกตเห็นได้ในประเทศไทย และจากนั้นเราก็ได้มีโอกาสต้อนรับฝนดาวตกเรื่อยมา
       
       ฝนดาวตกมี 2 ประเภทคือ ฝนดาวตกปกติ (Normal Storm) ซึ่งมีดาวตกวินาทีละหลายดวงอันเป็นผลพวงที่โลกเคลื่อนตัวในเข้าไปฝุ่นที่ดาวหางทิ้งไว้จากการมาเยือนครั้งล่าสุด และฝนดาวตกแบบลูกไฟ (Fireball Storm) ที่เต็มไปด้วยดาวตกสว่างจ้าเป็นเวลานานนับร้อยดวง
       
       โรนัลด์ แมคอินทอช (Ronald A. McIntosh) นักหนังสือพิมพ์แห่งเมืองโอ๊กแลนด์ นิวซีแลนด์ ที่ภายหลังผันตัวเองมาเป็นนักดาราศาสตร์ได้เสนอแนวคิด เรื่องพายุของดาวดวงน้อยๆ เป็นครั้งแรกเมื่อ 50 ปีก่อน หลังจากที่เขาสังเกตพบสายธารดาวตกในเดือนมีนาคมปี 2472 จากนั้น เดวิด แอชเชอร์ และโรเบิร์ต แมคเนาชท์ (Robert McNaught) จากหอดูดาวอาร์มาช (Armagh Observatory) ในอังกฤษ ได้พยายามศึกษาถึงลักษณะของพายุดาวดวงน้อยตามคำบอกกล่าว และเห็นแย้งว่าน่าจะเป็น "สายฝน" จากฝุ่นดาวหาง
       
       "ฝนดาวตก" แสงไฟจากเศษเสี้ยวแห่งอดีต
       
       ต่อมาแอชเชอร์ ได้ร่วมงานกับมาร์ก ไบเลย์ (Mark Bailey) จากมหาวิทยาลัยเซาท์ ยูรัล (South Ural University) ประเทศรัสเซีย ศึกษาหาคำอธิบายถึงการเกิดฝนดาวตก “ลีโอนิดส์” (Leonids) เมื่อปี 2541 ที่เกิดขึ้นเร็วกว่าการคำนวณ 16 ชั่วโมง และยังเป็นปรากฏการณ์ฝนดาวตกที่สว่างไสวมากกว่าที่คาดการณ์ไว้
       
       ฝนดาวตกลีโอนิดส์เมื่อปี 2541 เป็นแบบลูกไฟ ซึ่งลักษณะดาวตกทำให้คาดการณ์กันว่าโลกน่าจะผ่านเข้าไปบริเวณที่มีฝุ่นดาวหางหนาแน่นมาก คล้ายสายธารของฝุ่นดาวหางขนาดใหญ่ที่ไล่ขนาดไปถึงหลายเซนติเมตร จากลักษณะวงโคจรดาวหางที่มีความแตกต่าง แสดงว่าการโคจรแต่ละครั้งของเทหวัตถุในท้องฟ้า ไม่ว่าจะเป็นดาวเคราะห์น้อยหรือดาวหางต่างทิ้งฝุ่นและสะเก็ดดาวค้างไว้ในอวกาศนานนับร้อยๆ ปี แต่นักดาราศาสตร์ก็เกิดข้อสงสัยว่าสะเก็ดเหล่านั้นคงค้างอยู่ในอวกาศโดยไม่กระจัดกระจายได้อย่างไร
       
       แอชเชอร์และไบเลย์ได้คำนวณสะเก็ดดาวที่ปล่อยมาจากดาวหาง 55พี หรือ เทมเพล-ทัตเทิล (55P/Tempel-Tuttle) ต้นกำเนิดลีโอนิดส์ซึ่งมีคาบการโคจร 33 ปี โดยศึกษาย้อนไปจากการโคจรรอบดวงอาทิตย์ 42 ครั้ง โดยเลือกจุดที่อยู่ใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุด พบว่าสิ่งที่ทำให้สะเก็ดดาวจับเป็นกลุ่มก้อนเป็นผลมาจากแรงทางกลศาสตร์ที่เรียกว่า “เรโซแนนซ์” (resonance) โดยฝุ่นของดาวหางถูกแรงดึงดูดจากดาวพฤหัสบดีซึ่งเป็นดาวก๊าซยักษ์ในระบบสุริยะ ทำให้มีผลคล้ายกับลักษณะของวงแหวนดาวเสาร์ ทั้งนี้เมื่อติดตามศึกษาการเกิดฝนดาวตกในปี 2542, 2543 และ 2544 ที่สุดก็เป็นที่ยอมรับว่าทฤษฏีดังกล่าวใช้ได้
       
       น.ส.ประพีร์ วิราพร เลขาธิการสมาคมดาราศาสตร์ไทย กล่าวว่า ลีโอนิดส์เป็นฝนดาวตกที่คนทั้งโลกรู้จักมากที่สุดเนื่องจากมีประวัติศาสตร์มายาวนานและมีการบันทึกทั้งในสหรัฐและจีน และการบันทึกข้อมูลฝนดาวตกก็มีมาก่อนที่คนเราจะรู้จักดาวหางเทมเพล-ทัตเทิล ที่เป็นต้นกำเนิดของฝนดาวตกชุดนี้ ซึ่งเป็น “ดาวตกแบบมีสกุล” คือมีเบื้องหลังชัดเจน หากลากเส้นจากดาวตกขึ้นไปตัดกันก็จะได้เบื้องหลังเป็นกลุ่มดาว สำหรับลีโอนิดส์ก็มีกลุ่มดาวสิงโตอยู่เบื้องหลัง
       
       ส่วนปรากฏการณ์ฝนดาวตกครั้งนี้ น.ส.ประพีร์ แนะนำว่าให้ชมในสถานที่ที่แต่ละคนสะดวก จะดูที่บ้านก็ได้ โดยเฉพาะคนที่อยู่ตามชนบทสามารถเห็นได้ชัดเจนเป็นที่น่าอิจฉา แต่ยกเว้นภาคใต้เพราะมีฝนตก ส่วนเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ คงเห็นได้ลำบาก หากจะดูคงต้องออกไปที่ชานเมือง ทั้งนี้ทางสมาคมฯ ไม่ได้จัดกิจกรรมอะไรเพราะเห็นว่าประชาชนสามารถดูได้ด้วยตาเปล่าอยู่แล้ว หากเป็นปรากฏการณ์ที่ต้องอาศัยกล้องโทรทัศน์ ทางสมาคมฯ ก็จะมาให้บริการ
       
       “ช่วง 5 วันนี้มีประชาชนโทรศัพท์เข้ามาถามเยอะ บางคนก็โทรมาจากศรีษะเกษ เชียงใหม่ ปัตตานี ว่าจะเห็นไหม เห็นเวลาไหน ทิศไหน หากไปจีนจะเห็นไหม ก็ขอตอบว่าเห็น แต่ก็ขึ้นอยู่กับช่วงเวลาด้วย อย่างเมืองไทยก็เห็น 30 ดวงต่อชั่วโมง แต่ช่วงพีค (ดาวตกหนาแน่นที่สุด) เราไม่ได้เห็นเพราะเป็นช่วงเที่ยง แต่ทางฝั่งยุโรปจะเป็นช่วงใกล้เช้ามืดประมาณตี 4 ก็จะเห็นประมาณ 80 ดวงชั่วโมง แต่ครั้งนี้ก็จะไม่ได้เห็นมากเหมือนปี 2544 เพราะปีนั้นโลกเข้าไปในสายธารดาวหาง 4-5 สายธาร แต่ปีนี้โลกเราเข้าไปในสายธารเดียวคือปี 2475” น.ส.ประพีร์อธิบาย
       
       "ฝนดาวตก" คำใหม่ความรู้ใหม่แห่งวงการ
       
       อ.นิพนธ์ ทรายเพชร ราชบัณฑิตดาราศาสตร์ อธิบายว่า เราเพิ่งมีความรู้เกี่ยวกับฝนดาวตกว่าเกิดจากดาวหางได้ไม่เกินร้อยปีเท่านั้น และปรากฏการณ์ฝนดาวตกในอดีตต่างจากปัจจุบัน เพราะเมื่อก่อนฝุ่นน้อย ไม่มีแสงไฟรบกวนเหมือนปัจจุบัน จึงเห็นฝนดาวตกได้ชัดเจนและน่าตื่นตากว่าในปัจจุบัน
       
       ในส่วนความเชื่อของคนสมัยก่อนนั้นเชื่อว่า หากเห็นดาวตกและห้ามทักหรือชี้นิ้วเพราะจะทำให้ดวงวิญญาณของเทวดาที่จุติลงไปเกิดในท้องสุนัข ซึ่ง อ.นิพนธ์ ได้ให้ความเห็นต่อความเชื่อดังกล่าวว่า อาจจะเป็นกุศโลบายของคนโบราณที่อยากให้เราระมัดระวังเพราะอาจจะชี้นิ้วไปทิ่มตาคนอื่นได้ นอกจากนี้ยังมีความเชื่ออีกว่าดาวตกคือ “ไต้” (คบไฟ) ที่ผีพุ่งลงมาจากฟากฟ้า ดาวตกจึงมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “ผีพุ่งไต้” ขณะที่บางคนคิดว่าดาวบนฟ้าตกลงมาจึงเรียกว่า “ดาวตก”
       
       อย่างไรก็ดี อ.นิพนธ์ก็เพิ่งเคยเห็นฝนดาวตกครั้งเดียวเมื่อปี 2544 และแม้ปีนี้จะเห็นดาวตกน้อยกว่าเมื่อปี 2544 แต่ก็อยากให้ชมเพราะช่วงที่กลุ่มดาวสิงโตขึ้นนั้นจะได้เห็นกลุ่มดาวฤดูหนาวที่มีความงดงาม เพราะกลุ่มดาวสิงโตเป็นศูนย์กลางฤดูหนาว ซึ่งจะได้เห็นกลุ่มดาวเต่า ดาวไถสุนัขใหญ่ สุนัขเล็ก กลุ่มดาวคนคู่ และมีดาวเด่นๆ ที่มีความสว่างมากประมาณ 20 ดวง และล้วนเป็นกลุ่มดาวที่ปรากฏในบทกลอนของท่านสุนทรภู่
       
       นอกจากนี้ อ.นิพนธ์ยังกล่าวอีกว่า ปีนี้ยังความพิเศษที่ดาวเสาร์จะอยู่ใกล้ดาวสิงโตซึ่งเป็นศูนย์กลางฝนตกครั้งนี้ด้วย และดาวเสาร์จะมีความสว่างกว่าดาวหัวใจสิงห์ในกลุ่มดาวสิงโต และจะมีโอกาสได้เห็นดาวเสาร์ในกลุ่มดาวสิงโตอีกต้องรออีกกว่า 30 ปี ดาวเสาร์จึงจะเวียนมาครบรอบอีกครั้ง เพราะดาวเสาร์จะเคลื่อนตัวผ่านกลุ่มดาวจักรราศีปีละ 1 จักรราศี
       
       สำหรับประโยชน์ของการศึกษาฝนดาวตกนั้น น.ส.ประพีร์ชี้แจงว่า ช่วยให้เรารู้ความเป็นไปของระบบสุริยะเนื่องจากดาวหางและดาวเคราะห์น้อยต่างเป็นสมาชิกของระบบสุริยะที่มีวิวัฒนาการตั้งแต่เกิดระบบสุริยะน้อยมาก ต่างจากโลกที่มีวิวัฒนาการเป็นดาวเคราะห์
       
       การศึกษาฝนดาวตกที่เป็นส่วนหนึ่งของเทหวัตถุเหล่านั้นทำให้เราได้ถอยกลับไปดูข้อมูลเริ่มต้นของระบบสุริยะเพราะมีข้อมูลของอดีตอยู่ และสำหรับเมืองไทยนั้นไม่มีการศึกษาทางด้านนี้โดยตรง เนื่องจากนักดาราศาสตร์ไทยมีอยู่น้อยและไม่ได้ศึกษาเฉพาะทาง และส่วนมากจะอาศัยข้อมูลจากต่างประเทศที่มีการศึกษา
       
       ที่จริงแล้ว "ฝนดาวตก" มีเกือบตลอดปี
       
       นอกจากลีโอนิดส์ฝนดาวตกประจำปีแล้ว ตารางปรากฏการณ์บนฟากฟ้ายังมีฝนดาวตกอื่นๆ ที่มีช่วงเวลาเกิดปรากฏการณ์ค่อนข้างแน่นอนอีกเกือบ 20 ชุด อาทิ ฝนดาวตกคนแบกหม้อน้ำหรือ “ควอดรานติดส์” (Quadratids Meteors) ฝนดาวตกเปอร์เซอิด (Perseid Meteors) ฝนดาวตกคนคู่หรือ “เจมินิดส์” (Geminids Meteors) ฝนดาวตกแพะทะเล (Alpha Capricornids Meteors) เป็นต้น
       
       แต่มีฝนดาวตกเพียงไม่กี่ชุดที่เป็นที่รู้จักของคนทั่วไป เนื่องจากบางชุดมีจำนวนเฉลี่ยต่อชั่วโมงน้อยเกินไป นอกจากนี้โอกาสเห็นฝนดาวตกยังขึ้นอยู่กับแต่ละพื้นที่ด้วย ส่วนฝนดาวตกที่สังเกตได้และเป็นที่รู้จักมี 14 กลุ่มดังต่อไปนี้
ฝนดาวตก ช่วงเวลา ดาวหางต้นกำเนิด ควอดรานติดส์ (Quadrantids) ต้นมกราคม 96P/Machholz aka 1994o ไลริดส์ (Lyrids) ปลายเมษายน Thatcher พาย พิวพิดส์ (Pi Puppids) ปลายเมษายน 26P/Grigg-Skjellerup เอตา อควาริดส์ (Eta Aquarids) ต้นพฤษภาคม 1P/Halley จูน บูติดส์ (June Bootids) ปลายมิถุนายน 7P/Pons-Winnecke เซาธ์ เดลต้า อควาริดส์ (South Delta Aquarids) ปลายกรกฎาคม 96P/Machholz aka1994o? (ยังไม่แน่ใจ) เปอร์เซอิด (Perseids) กลางสิงหาคม 109P/Swift-Tuttle ดราโคนิดส์ (Draconids) ต้นตุลาคม 21P/Giacobini-Zinner โอไรออนิดส์ (Orionids) ปลายตุลาคม 1P/Halley เซาเธิร์น ทอริดส์ (Southern Taurids) ต้นพฤศจิกายน 2P/Encke นอร์ทเธิร์น ทอริดส์ (Northern Taurids) กลางพฤศจิกายน 2P/Encke ลีโอนิดส์ (Leonids) กลางพฤศจิกายน 55P/Tempel-Tuttle เจมินิดส์ (Geminids) กลางธันวาคม ดาวเคราะห์น้อย Asteroid 3200 Phaethon เออร์ซิดส์ (Ursids) ปลายธันวาคม 8P/Tuttle
ส่วนฝนดาวตกลีโอนิดส์ในคาบปีนี้เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 14-21 พ.ย. และมีช่วงตกสูงสุดในเวลา 11.45 น.ของวันที่ 19 พ.ย.ตามเวลาประเทศไทย แม้จะไม่ได้เห็นในช่วงพีค แต่ในส่วนของประเทศไทยสามารถสังเกตได้ตั้งแต่คืนวันศุกร์ที่ 17 และเสาร์ที่ 18 พ.ย. โดยหลังเที่ยงคืนวันเสาร์หากท้องฟ้าปลอดโปร่งไร้แสงไฟรบกวนจะสังเกตได้ชัดเจนจากทุกแห่งทั่วประเทศ
 
23 ต.ค. 53 เวลา 04:09 2,765 1 20
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...