ก เอ๋ย ก ไก่ ข ไข่ในเล้า...บทท่องจำนี้คงเป็นที่คุ้นเคยกันดีของคนไทยทุกคน จะไม่ให้คุ้นได้ยังไงในเมื่อเราทั้งท่องทั้งเขียนกันมาแต่เล็กแต่เด็ก (แต่ตอนนี้จะมีผู้ใหญ่สักกี่คนที่ท่องได้จนจบ) แต่ถึงจะคุ้นเคยกันเป็นอย่างดีก็มีน้อยคนนักที่สามารถใช้ภาษาไทยทั้งการพูด อ่าน เขียนได้อย่างถูกต้องในแบบที่ควรจะเป็น ด้วยตระหนักถึงปัญหาการใช้ภาษาไทยที่นับวันจะรุนแรงมากยิ่งขึ้น จนเรียกว่าเป็นยุควิกฤตทางภาษาก็ว่าได้ ปัญหาภาษาไทยมีตั้งแต่ระดับ เสียง คำ ประโยค ซึ่งต้อลเองในฐานะที่เป็นศิลปินคนหนึ่งก็ยอมรับว่าตัวเองเป็นโรคฮิตทางภาษาที่ชื่อว่าโรค ส.เสืออักเสบ!!

 

ที่ผ่านมาต้อลมีปัญหาการใช้ภาษาไทยอย่างไรบ้าง
ผมยอมรับว่าพูดและออกเสียงภาษาไทยไม่ค่อยชัดเท่าไหร่ แต่ผมไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องการเสียง ร. เรือ ล. ลิง สักเท่าไหร่ แต่สิ่งที่เป็นปัญหาคือ โรค ส. เสืออักเสบ ครับ ผมจะออกเสียง ส. เสือ ซ. โซ่ได้ไม่ชัดเจน แต่ในระหว่างที่แข่งขันทรูอะคาเดมี่ก็ได้มีการแก้ไขตรงจุดนี้โดยครูให้ผมท่องว่าสามกำสิบ สามกำสิบแบบนี้ทั้งวันจนสามารถออกเสียง ส เสือได้ชัดเจนขึ้น แต่บางครั้งมันก็มีอักเสบบ้างนิดๆ ครับ (ยิ้ม)

อึดอัดบ้างใหม่ เราเป็นคนสาธารณะก็ต้องถูกจับตาทุกเรื่อง รวมไปถึงเรื่องการใช้ภาษาด้วย
เวลาที่ต้องพูดออกสื่อแล้วถูกคาดหวังจากบรรดาสื่อมวลชนหรือนักวิชาการทางด้านภาษาไทยว่าควรใช้ภาษาให้ถูกต้องเพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีของเยาวชน บางครั้งก็แอบอึดอัดอยู่เหมือนกัน (หัวเราะ) แต่ก็เข้าใจว่าการถูกคาดหวังนั้นเป็นเรื่องธรรมดาสำหรับศิลปิน ดารา นักร้องที่เป็นเหมือนบุคคลสาธารณะที่ต้องออกสื่อเป็นประจำ

แต่บางทีการใช้ภาษาของศิลปินคนดังก็ถูกโจมตีว่าทำให้ภาษาไทยเสียหาย
ผมเข้าใจนะว่ามันควรถูกต้องตามหลักวิชาการ แต่สำหรับพวกเราที่ทำงานตรงนี้มันคือวงการบันเทิงครับ มันเป็นสื่อบันเทิงเราจะมาจริงจังหรือว่ามีสาระตลอดก็คงไม่ได้ เพราะเราต้องให้ความบันเทิงแก่คนดู คนฟัง ถ้าเราฟังดีเจจัดรายการพูดด้วยน้ำเสียงเนิบๆ เราคงหลับแน่ เพราะมันไม่มีจุดเด่นอะไรที่สามารถดึงใจคนฟังได้ ตรงกันข้ามถ้าดีเจพูดด้วยภาษาและท่าทางที่ยียวนก็สามารถดึงคนฟังได้มากยิ่งขึ้น ยิ่งเขาใช้ภาษาแรงมากขึ้นเท่าไหร่คนฟังจะยิ่งชอบ แต่อยากให้ทุกคนที่ฟังมีวิจารณญาณครับ ฟังแล้วเราเอาไปพูดได้กับกลุ่มเพื่อนเราได้ แต่พอถึงงานที่เป็นทางการเราก็ต้องใช้คำที่ถูกต้องได้ เราต้องแบ่งให้ถูก

 

 

บทบาทของภาษาไทยในงานต่างๆ ที่ต้อลรับ มีความแตกต่างกันอย่างไรบ้าง
อย่างการร้องเพลงนั้นเราไม่ได้เพียงแต่ร้องเท่านั้นแต่ต้องมีการพูดจากับแฟนเพลงด้วยอยู่แล้วไม่ว่าจะเวทีไหนก็ตาม และแต่ละเวทีก็มีรูปแบบสถานการณ์ที่แตกต่างกันออกไป เช่น เราไปเล่นคอนเสิร์ตแล้วที่มีมีคนดูเป็นกลุ่มวัยรุ่นที่โจ๊ะๆ หน่อย ถ้าเราไปใช้ภาษาทางการเขาคงไม่เข้าใจเราจึงต้องใช้ภาษาที่วัยรุ่นนิดหนึ่ง แต่ถ้าคนดูเป็นผู้ใหญ่หน่อยเราจะไปเล่นตลกโปกฮากับเขาก็คงไม่เหมาะ เราต้องใช้คำพูดที่เป็นพิธีการมากขึ้น เลือกใช้คำที่เบาลงกว่าการพูดกับวัยรุ่น คือเราปรับเปลี่ยนการใช้ภาษาให้เหมาะกับสถานการณ์และกลุ่มคนที่ใช้ให้เหมาะสมกันครับ สำหรับภาษาไทยที่ใช้ในละคร ภาพยนตร์หรือละครเวทีนั้น ส่วนนี้ไม่ค่อยมีปัญหาเพราะว่ามีบทที่ผ่านการคัดสรรมาเป็นอย่างดีให้เราอ่านอยู่แล้วเลยไม่ต้องห่วงเรื่องคำพูด ยิ่งละครที่เป็นแนวย้อนยุคภาษาที่พูดยิ่งต้องให้เป็นไปตามบทเพราะภาษาที่ใช้นั้นแตกต่างจากชีวิตประจำวันของเรา แต่ถ้าเป็นพวกละครซิทคอมที่เป็นวัยรุ่นหน่อย บางประโยคในบทที่เราพูดแล้วรู้สึกไม่ค่อยเข้าปากเราก็อาจขอผู้กำกับเปลี่ยนได้ เช่น วันนี้เธอดูเสียเหลือเกิน ผมคงขอเปลี่ยนเป็นวันนี้เธอดูสวยขึ้นนะแบบนี้ รวมๆ แล้วการเลือกใช้ภาษาไทยไม่ว่าจะเป็นการร้องเพลงหรือเล่นละครเราต้องเลือกให้เหมาะกับสถานการณ์นั้นๆ ครับ

ปัญหาการใช้ภาษาไทยในปัจจุบันนี้ที่น่าเป็นห่วงต้อลมองว่าเป็นเรื่องอะไร
เรื่องของการพูดและการเขียนถือเป็นปัญหาที่สำคัญ โดยเฉพาะการนำเสนอของสื่ออินเทอร์เน็ตหรือสื่อทีวีทำให้เราเห็นศิลปินนักร้องที่เราชื่นชอบจนทำให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบที่ผิดๆ อย่าง การพูดไทยคำอังกฤษคำบ้าง หรือพูดไม่ชัดบ้าง ส่วนการเขียนสำหรับบางคนที่แชทเอ็มหรือส่งบีบีที่ให้มานั่งพิมพ์ยาวๆ ให้ถูกไวยากรณ์ก็คงขี้เกียจเลยเปลี่ยนเป็นคำสั้นๆ ง่ายๆ ให้แค่อ่านแล้วเข้าใจเป็นพอ อย่างเช่น วันนี้ทำอาราย ทำอารายอยู่ ชิมิ งุงิงุงิ ซึ่งตรงนี้มันอาจไม่ผิดแต่เราพิมพ์ไปบ่อยๆ แล้วมันติดไงครับ พอถึงเวลาที่เราต้องใช้งานจริงๆ เราก็อาจลืมตัวได้ว่าควรใช้อย่างไรเนื่องจากเราใช้คำนั้นจนเกิดความเคยชินไปแล้ว

ช่วยฝากทิ้งท้ายเรื่องอนุรักษ์ภาษาไทยนิดหนึ่งค่ะ
ภาษาไทยเป็นภาษาของคนไทยอยู่แล้ว เป็นภาษาที่เราสืบทอดกันมายาวนานมากๆ ช่วงหลังๆ เกิดการเปลี่ยนแปลงไปอาจจะถูกอิทธิพลของภาษาตะวันตกกลืนเข้ามาบ้าง แต่อยากให้พวกเราช่วยกันอนุรักษ์กันเอาไว้ดีกว่า ให้รุ่นหลาน เหลนของเราได้ใช้ภาษาไทยที่ถูกต้องต่อไป ภาษาไทยมีมายาวนานอย่าให้มาเสียที่รุ่นเราเลยครับ ช่วยกันกันคนละไม้คนละมือ ถ้าทุกคนช่วยกันเราทำได้ครับ

หลังจากฟังมุมมองของศิลปินไปแล้ว ลองมาฟังมุมมองของอาจารย์ภาษาไทยกันบ้าง กับการสัมภาษณ์อาจารย์อรวี บุนนาคและอาจารย์ฐิติภา คูประเสริฐ อาจารย์ประจำสาขาวิชาภาษาไทย คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในประเด็น ภาษาคนดัง : สีสันหรือเสียหาย

 

อาจารย์อรวี : การใช้ภาษาของพิธีกรและนักแสดงชื่อดังที่มีเสียงเป็นเอกลักษณ์ ถือเป็นจุดขายส่งผลในอยู่ในกระแสนิยม หรือการสรรคำขึ้นใช้ตามสมัยนิยม เมื่อใช้ผ่านสื่อก็ทำให้เกิดการเลียนแบบและใช้กันอย่างแพร่หลาย ประเด็นดังกล่าวนี้จัดเป็นสีสันในวงการบันเทิง อย่างไรก็ตามปัจจุบันพบว่า คนดังในวงการบันเทิงบางคนใช้ภาษาผิดพลาดทำให้เกิดความเสียหายได้ ทั้งระดับของเสียง เช่น การออกเสียง ร. โดยไม่รัวลิ้น แต่ออกเสียงโดยใช้ลิ้นแตะปุ่มเหงือก หรือออกเสียง ร. แบบห่อปาก นอกจากนี้ยังออกเสียงคำผิด โดยไม่ทราบความหมายที่แท้จริง เช่น พิธีกรรายการสารคดีชื่อดัง คำว่า กลิ่นอาย ออกเสียงผิดเป็น กลิ่นไอ ซึ่งทำให้ความหมายผิดเพี้ยนไปอย่างสิ้นเชิงค่ะ คำว่า อาย เป็นภาษาถิ่นอีสาน แปลว่า กลิ่น ดังนั้น กลิ่นอาย จึงเป็นคำซ้อนความหมาย เป็นคำ 2 คำที่ความหมายเหมือนกัน ต้องใช้ให้ถูกต้อง
อาจารย์ฐิติภา : การใช้ภาษาไทยของนักจัดรายการวิทยุสังเกตได้ว่ามักใช้คำทับศัพท์ภาษาต่างประเทศแทนคำภาษาไทย คำสแลง คำไม่สุภาพ คำที่มีความหมายรุนแรง คำสองแง่สามง่าม เบี่ยงไปทางด้านเรื่องเพศ เพื่อให้ผู้ฟังตลก และสร้างสีสันให้กับการดำเนินรายการ เป็นลีลาเฉพาะตัวที่ทำให้ผู้ฟังจดจำนักจัดรายการวิทยุหรือรายการได้ แต่การใช้ภาษาดังกล่าวอาจเกิดการเลียนแบบการใช้ภาษาที่ไม่ถูกต้องในหมู่เยาวชนได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้ภาษาหยาบคาย ไม่รื่นหู ส่วนปัญหาการออกเสียงภาษาไทยของนักร้อง เช่น ออกเสียง ฉ. ช. จ. ธ. แบบห่อปากห่อลิ้น หรือออกเสียงตัวสะกด ก.ซึ่งเป็น เสียงกัก แต่กลับออกเป็นเสียงระเบิด ล้วนแต่ได้รับอิทธิพลจากเสียงภาษาอังกฤษทั้งสิ้นค่ะ

ภาษาไทย เป็นมรดกสำคัญของชาติ ไม่ใช่หน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่งที่จะต้องอนุรักษ์ แต่คนไทยทุกคนควรตระหนัก ควรร่วมมือกันใช้ภาษาไทยให้ถูกต้องและเหมาะสมตามสถานการณ์ค่ะ