เปิดตำนาน การล่มสลายระบอบกษัตริย์อิตาลี เมื่อประชาชน โหวตให้กษัตริย์สละบัลลังก์

https://www.catdumb.tv/italian-institutional-referendum-378/

เมื่อกล่าวถึงประเทศอย่างอิตาลี สิ่งแรกๆ ที่เราคิดถึงก็คงจะเป็นแฟชั่น อารยธรรม ไม่ก็สถาปัตยกรรมที่งดงามมากมายหลากหลายเป็นแน่ แต่เพื่อนๆ ทราบกันหรือไม่ว่าอิตาลีนั้น ในด้านการเมืองการปกครอง ก็มีเรื่องที่น่าสนใจมากๆ อีกเรื่องอยู่เช่นกัน 

เพราะพวกเขาคือประเทศที่ระบอบกษัตริย์ถูกล้มล้างไป ไม่ใช่ด้วยการโค่นล้มอย่างฝรั่งเศส หรือกองทัพจัดการแบบรัสเซีย แต่เป็นการโหวตลงประชามติเสียด้วย นี่มันเกิดอะไรขึ้นกัน ทำไมคนเป็นกษัตริย์ถึงถูกโหวตออกจากตำแหน่งได้!? 

ในวันนี้เราจะไปรับชมเรื่องราวของ การล่มสลายของระบอบกษัตริย์ในประเทศอิตาลีกันครับ 

สุดเริ่มต้นของการเสื่อมถอย 

เรื่องราวที่นำไปสู่การล่มสลายของระบอบกษัตริย์ในอิตาลีนั้น เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 โดยในเวลานั้น อิตาลีซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศผู้ชนะสงคราม กลับต้องเผชิญกับปัญหาทางเศรษฐกิจหลังสงคราม ซึ่งทำให้นายกรัฐมนตรีในเวลานั้น เสื่อมความนิยมลงเป็นอย่างมาก

ปัญหาที่เกิดขึ้นนำไปสู่การขึ้นสู่อำนาจของ Benito Mussolini และกลุ่มฟาสซิสต์ ซึ่งมีความต้องการจะยึดครองอำนาจในอิตาลี จึงเคลื่อนพลราวๆ 30,000 คนเข้าสู่กรุงโรม 

ในเวลานั้น กลุ่มฟาสซิสต์แม้ว่าจะมีอยู่เยอะ แต่คณะรัฐมนตรีก็เชื่อว่าพวกตนจะจัดการปัญหาที่เกิดขึ้นได้ หากมีกฎอัยการศึก ซึ่งต้องได้รับการลงนามจากกษัตริย์ Victor Emmanuel III อย่างไรก็ตาม แทนที่กษัตริย์ Victor จะฟังคำแนะนำของคณะรัฐมนตรีและปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ 

 

กษัตริย์ Victor Emmanuel III 

พระองค์กลับเลือกที่จะติดต่อไปยัง Mussolini และเชิญให้ผู้นำเผด็จการ เข้ามารับตำแหน่งผู้นำรัฐบาลเสียอย่างนั้น 

ความผิดพลาดในสงคราม 

มันมีความเป็นไปได้ว่าที่กษัตริย์ Victor เลือกเดิมพันกับ Mussolini ในเวลานั้น เพื่อป้องกันตำแหน่งและอำนาจทางการเมืองของเชื้อพระวงศ์ อย่างไรก็ตามเมื่อได้อำนาจมา Mussolini ก็ไม่ได้ภักดีหรือก้มหัวอ่อนข้อ ต่อสถาบันกษัตริย์เท่าใดนัก ทำให้ทั้งคู่มีปัญหากันอยู่บ่อยครั้ง เท่านั้นยังไม่พอเมื่อ Mussolini นำประเทศเข้าสู่สงคราม การรบของอิตาลียังเรียกได้ว่าเลวร้ายเป็นอย่างมาก 

ถึงขนาดที่ว่าในสงครามพวกเขาแทบไม่ชนะใครงเลย นอกจากประเทศอบิสซิเนียซึ่งแทบจะไม่มีกำลังรบ 

Benito Mussolini (ขวา) และ Adolf Hitler (ซ้าย) 

ปัญหาที่เกิดขึ้นทำให้ในปี 1943 เมื่อฝ่ายอักษะเริ่มมีทีท่าจะพ่ายแพ้แก่สงคราม กษัตริย์ Victor จำเป็นต้องสั่งปลด Mussolini ที่แต่งตั้งมาเองออกจากตำแหน่ง ก่อนจะแต่งตั้งนายพล Pietro Badoglio ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีแทน โดยหวังที่จะรีบสงบศึกกับฝ่ายพันธมิตร ปัญหาคือ.. ก่อนที่อิตาลีจะมีโอกาสได้ทำแบบนั้น ประเทศฝั่งเหนือของพวกเขากลับถูกบุกยึดครองโดยเยอรมนี ที่เป็นอดีตพันธมิตรเสียก่อน

แถม Mussolini ที่ถูกปลดจากตำแหน่งไป ยังกลายมาเป็นผู้ปกครองประเทศอิตาลีในฝั่งเหนืออีกด้วย และแม้ว่าการตัดสินใจนี้จะไม่ถือว่าผิดพลาดโดยตรง แต่มันก็ทำให้ความไว้วางใจในตัวกษัตริย์ Victor ลดลงไปจากที่เคยมากอยู่ดี 

ความพยายามกู้สถานการณ์ 

เมื่อเวลาดำเนินมาถึงช่วงกลางปี 1944 เกิดความเปลี่ยนแปลงสำคัญในอิตาลี กรุงโรมของพวกเขาถูกปลดปล่อยโดยฝ่ายสัมพันธมิตร ต่อมาเมื่ออิตาลีแพ้สงคราม Mussolini ก็สิ้นอำนาจลงโดยสิ้นเชิง พร้อมกับการถูกสังหารและประจาน ในฐานะอาชญากรคนหนึ่ง

Umberto II กษัตริย์องค์สุดท้ายของอิตาลี 

อย่างไรก็ตามในเวลานั้น กษัตริย์ Victor ก็รู้ตัวเป็นอย่างดีว่าชื่อเสียงของตัวเขาเองก็ไม่ได้อยู่ในจุดที่ดีนัก เนื่องจากตัวเองมักถูกโทษว่าเป็นต้นเหตุที่ทำให้อิตาลีเข้าสู่หายนะ เพราะการยอมรับ Mussolini อย่างที่กล่าวไปตอนแรก ดังนั้นกษัตริย์ Victor จึงตัดสินใจสละอำนาจให้กับมกุฎราชกุมาร Umberto II ไปทีละน้อย เพื่อหวังจะใช้การเปลี่ยนกษัตริย์ กู้ภาพลักษณ์ของเชื้อพระวงศ์ในประเทศแม้สักนิดก็ยังดี 

แต่.. การเปลี่ยนกษัตริย์ ก็ไม่ได้ช่วยกอบกู้ภาพลักษณ์ราชวงศ์แต่อย่างใด 

การลงประชามติ 

ต่อมาในช่วงปี 1946 ประชาชนของอิตาลีซึ่งทุกทรมาน กับสภาพประเทศหลังสงครามก็เริ่มที่จะเรียกร้องให้มีการทำประชามติเลือกการปกครอง เนื่องจากพวกเขาไม่ไว้ใจการปกครองภายใต้ระบอบกษัตริย์อีกแล้ว เรื่องที่เกิดขึ้นทำให้กษัตริย์ Victor ต้องรีบสละสละราชสมบัติอย่างเต็มตัว เพื่อให้ Umberto II ขึ้นเป็นกษัตริย์โดยสมบูรณ์ เพื่อคะแนนเสียงที่ดีขึ้น 

แต่ปัญหาคือการตัดสินใจนี้ดูจะช้าเกินไปเสียแล้ว 

นั่นเพราะหลังจากที่ Umberto II ขึ้นเป็นกษัตริย์ได้ไม่ถึงเดือน ในวันที่ 2 มิถุนายน 1946 ผลการลงประชามติ ก็ออกมาว่าคนในประเทศต้องการจะเลือกระบอบสาธารณรัฐ ด้วยคะแนนเสียงราว 54% ต่อ 46% ซึ่งคะแนนการล้มระบบกษัตริย์นั้น โดยมากแล้วจะมาจากประชากรในทางเหนือ ซึ่งเคยถูกชาติอื่นยึดครองในช่วงสงคราม และทุกข์ทนกับความเจ็บปวดแสนสาหัส

 

ในขณะที่ประชากรฝั่งใต้ แม้โดยมากจะลงคะแนนสนับสนุนกษัตริย์ แต่พวกเขาก็มีประชากรน้อยกว่าอีกฝ่ายเป็นอย่างมาก ผลการลงประชามติ แม้จะสูสีกัน แต่ฝ่ายแพ้ก็ต้องยอมรับคะแนน เปลี่ยนประเทศสู่ระบอบสาธารณรัฐ 

Voting statistics by region

 

ในท้ายที่สุด พลังจากประชามติก็ทำให้ทั้งกษัตริย์ Umberto II กษัตริย์ Victor และราชวงศ์อื่นๆ ต้องลี้ภัยไปยังต่างประเทศหลังจากนั้น ปิดฉากระบอบกษัตริย์ในอิตาลีไปโดยสมบูรณ์ไปด้วยประการฉะนี้ 

 

Ballot

 

ที่มา. https://destinorepublicano.wordpress.com/2012/12/15/referendum-of-the-monarchy-in-italy-1946/

 

 

 

20 ส.ค. 63 เวลา 13:20 658
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...