การแก้ปัญหาวัยรุ่นติดยาเสพติดและแอลกอฮอล์ของ ‘ไอซ์แลนด์’ จากสูงสุดสู่ต่ำสุดในยุโรป

http://www.catdumb.com/ice-land-how-to-prevent-kids-from-drugs-119/ 

ต้องขอบอกเลยว่าปัญหาของยาเสพติด และอบายมุขต่างๆ นั้นถือเป็นเรื่องใหญ่ที่หลายประเทศต่างก็พบเจอ โดยเฉพาะเหล่าวัยรุ่นทั้งหลายที่ถูกชักจูงโดยสิ่งมอมเมาได้ง่าย ซึ่งแต่ละประเทศก็จะมีวิธีการจัดการปัญหาที่แตกต่างกันออกไป อย่างเช่นประเทศไทยเราก็ออกกฎหมายไม่ให้ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หลังเที่ยงคืน ห้ามเด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี ไปเที่ยวร้านเหล้า ทั้งหมดนี้ก็เป็นหนึ่งในวิธีการจัดการกับปัญหาดังกล่าว 

แต่สำหรับวันนี้ เราจะมาพูดถึงวิธีการจัดการกับปัญหายาเสพติด และอบายมุข ให้พ้นจากกลุ่มวัยรุ่นของประเทศไอซ์แลนด์กัน ต้องขอบอกเลยว่ามันเจ๋งและน่าสนใจมากๆ เลยล่ะ

ต้องขอบอกก่อนเลยว่าประเทศไอซ์แลนด์นั้นเป็นประเทศเล็กๆ ที่มีประชากรเพียง 335,000 คนเท่านั้น และหากย้อนกลับไปในปี 1997 ประเทศไอซ์แลนด์ถูกจัดให้เป็นประเทศที่มีจำนวนประชากรวัยรุ่นยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากที่สุดในทวีปยุโรป แต่ผ่านมา 20 ปี จนถึงตอนนี้ประเทศไอซ์แลนด์ถือเป็นประเทศที่มีประชากรวัยรุ่นยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์น้อยที่สุดในยุโรป โดยคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ของจำนวนประชากรวัยรุ่นลดจาก 42% เหลือ 5%

แล้วพวกเขาทำอย่างไร? 

แนวคิดการแก้ไขปัญหานี้มาจากชายชาวอเมริกัน ศาสตราจารย์วุฒิคุณ Harvey Milkman จากคณะจิตวิทยา มหาวิทยาลัย Metropolitan State University of Denver ที่สังเกตเห็นถึงปัญหาว่าที่เด็กวัยรุ่นในปี 1992 ติดยา และติดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กำลังพยายามค้นหาวิธีการที่จะทำให้สารเคมีในสมองเกิดการเปลี่ยนแปลง

เขาเลยคิดเล่นๆ ขึ้นมาว่าหากพวกเขาได้รับแรงกระตุ้นอย่างเป็นธรรมชาติจากกิจกรมต่างๆ อย่างเช่น การออกกำลังกาย, การเล่นดนตรี, และศิลปะ แล้วจะทำให้พวกเขามีความรู้สึกถึงความพึงพอใจได้โดยที่ไม่ต้องพึ่งพายาเสพติดได้หรือไม่ 

เขากล่าวว่า “ทำไมเราไม่ลองขับเคลื่อนสังคมด้วยความพึงพอใจทางธรรมชาติดูล่ะ? หรือจะด้วยความรู้สึกพึงพอใจโดยใช้สารเคมีที่อยู่ในสมองของตัวพวกเขาเอง? เพราะมันดูเหมือนว่าจะเป็นเรื่องที่ชัดเจนมากสำหรับผม ว่าผู้คนน่ะต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงการรับรู้ของตัวเอง โดยการไม่พึ่งพาผลของยาเสพติด” เขานำไอเดียดังกล่าวมาใช้กับประเทศไอซ์แลนด์ และรัฐบาลก็ยอมรับฟังถึงวิธีการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเฉพาะอย่างยิ่งนักวิจัยที่ชื่อว่า Inga Dóra Sigfúsdóttir

เธอคิดว่าแนวคิดนี้มีความเป็นไปได้ที่ทำให้ประชากรวัยรุ่นเลิกเสพยาได้ จึงได้ลองนำมาประยุกต์ใช้ดู พวกเขาเริ่มต้นจากการให้ประชากรวัยรุ่นทั้งหมดทำแบบสอบถามที่มีชื่อว่า Youth in Iceland ซึ่งการทำแบบนี้ช่วยให้พวกเขาทราบถึงปัญหาที่เกิดขึ้น ว่ามันสำคัญแค่ไหน และพื้นที่ไหนที่มีปัญหา 

จากนั้นก็จัดการเปลี่ยนกฎหมาย เพื่อทำให้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์และยาสูบนั้นมีความสำคัญลดน้อยลงไป กำหนดเคอร์ฟิวไม่ให้เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 16 ปี ออกบ้านหลัง 4 ทุ่ม และให้พ่อแม่เด็กทำข้อตกลงว่าจะต้องใช้เวลากับครอบครัวและเด็กๆ ให้มากขึ้น นอกจากนี้เด็กๆ ยังได้รับเงินสนุบสนุนมูลค่ามากกว่า 11,000 บาท เพื่อใช้งานในกิจกรรมต่างๆ ที่โรงเรียน ทั้งด้านดนตรี, กีฬา, หรืออะไรก็แล้วแต่ ทำให้เกิดผลดีตามมามากมาย 

เท่านั้นยังไม่พอ ในทุกๆ ปีจะมีการทำแบบสอบถามอย่างต่อเนื่อง เพื่อเก็บข้อมูล และตรวจสอบว่าโปรเจกต์ดำเนินไปได้ด้วยดีหรือไม่

ใน 5 ปี แรกพบว่ามีเด็กๆ หันมาเล่นกีฬามากกว่า 4 วันต่อสัปดาห์เพิ่มมากขึ้นเป็น 2 เท่า เด็กๆ ใช้เวลากับครอบครัวมากขึ้นเป็น 2 เท่า และที่สำคัญที่สุดคือจำนวนของเด็กๆ ที่ดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ และ เล่นยา ลดลงอย่างเห็นได้ชัด Sigfúsdóttir กล่าวว่า “เราเรียนรู้ผ่านการศึกษาดังกล่าวว่าเราจะต้องสร้างสภาพแวดล้อมที่เด็กๆ จะมีชีวิตและสุขภาพที่ดี และพวกเขาไม่ต้องพึ่งพายาเสพติดอีกต่อไป นั่นก็เพราะว่าชีวิตมันสนุกจะตาย แถมมีอะไรอีกมากมายให้เราทำ นอกจากนี้ก็ได้รับการสนับสนุนจากพ่อแม่อีกด้วย ซึ่งพวกเขาก็จะอยู่ข้างๆ เด็กไม่ห่างไปไหน”

แม้จะเอามาเทียบกับบ้านเราแล้วอาจจะดูเป็นไปได้ยาก เพราะจำนวนประชากรของไอซ์แลนด์กับประเทศไทยนั้นแตกต่างกันถึง 20 เท่า แต่ก็ถือว่าเป็นไอเดียที่น่าสนใจไม่เบา อาจจะนำเอามาลองปรับใช้โดยเริ่มต้นจากหน่วยเล็กๆ อย่างอำเภอ หรือจังหวัดก่อน ก็ถือเป็นเรื่องที่ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้เลยเสียทีเดียว 

 

How Iceland Saved Its Teenagers - BBC News

แล้วเพื่อนๆ ล่ะมีความคิดเห็นอย่างไรกับเรื่องนี้บ้าง คิดว่าวิธีการแก้ปัญหาของประเทศไอซ์แลนด์นั้นมีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหนกับการนำมาปรับใช้กับสังคมบ้านเรา ก็ลองมาพูดคุยกันได้นะจ๊ะ 

ที่มา https://www.theatlantic.com/health/archive/2017/01/teens-drugs-iceland/513668/