"วลาดิเมียร์ โคมารอฟ" นักบินที่ร่วงมาจากอวกาศ…วีรบุรุษผู้ตกเป็นเหยื่อสงครามเย็น

read:http://www.wtfintheworld.com/2017/06/14/vladimir-komarov/

ในยุคสงครามเย็น 2 ชาติมหาอำนาจของโลก สหรัฐอเมริกา และ สหภาพโซเวียต ขับเคี่ยวกันในทุกด้าน โดยเฉพาะการช่วงชิงความเป็นเจ้าอวกาศ

สหภาพโซเวียตสามารถส่ง “ยูริ กาการิน” (Yuri Gagarin) มนุษย์คนแรกของโลกขึ้นไปบนอวกาศได้สำเร็จเมื่อวันที่ 12 เมษายน ค.ศ. 1961 แต่ก็ยังไม่เพียงพอที่จะแสดงความเป็นหนึ่ง เพราะเป้าหมายใหญ่จริงๆ คือ การส่งคนไปยังดวงจันทร์ ดังนั้น โครงการ Soyuz ก็ถือกำเนิดขึ้น

“ยูริ กาการิน” (Yuri Gagarin)

โครงการ Soyuz นั้น รายละเอียดต่างๆ ถูกเก็บเป็นความลับจนกระทั่งวันที่ 20 เมษายน ค.ศ. 1967 จึงได้มีการประกาศชื่อนักบิน คือ “วลาดิเมียร์ โคมารอฟ” (Vladimir Komarov) เป็นนักบินหลัก และ ยูริ กาการิน เป็นนักบินสำรอง โดยมีกำหนดการปล่อยยาน คือวันที่ 23 เมษายน ค.ศ. 1967

“วลาดิเมียร์ โคมารอฟ” (Vladimir Komarov)

ทั้ง โคมารอฟ และ กาการิน รวมถึงทุกคนในโครงการนี้ ต่างรู้ดีว่ายาน Soyuz 1 (โซยุซ 1) ไม่มีความปลอดภัย ตัวยานอวกาศยังมีข้อบกพร่องอยู่ เหล่าวิศวกรต้องทดสอบยานหลายครั้ง จนกระทั่งเบื้องบนพรรคคอมมิวนิสต์ออกมาขีดเส้นตาย และกดดันให้ โคมารอฟ ต้องขึ้นบิน

กาการิน เห็นว่าภารกิจที่ควรจะเลื่อนออกไป แต่คำถามคือใครจะเป็นคนบอกทางเบื้องบน ขณะที่ โคมารอฟ เองก็รู้ดีว่า ถ้าเขาไม่ขึ้นบิน คนที่จะถูกมาแทนในฐานะนักบินสำรองก็คือ กาการิน เพื่อนรักของเขา ซึ่งเขาไม่อาจทำเช่นนั้นกับเพื่อนรักและวีรบุรุษของชาติได้ ทางเลือกเดียวที่เหลืออยู่ก็คือ การขึ้นบินด้วยตัวเองเท่านั้น แม้จะรู้ดีว่า “นี่เป็นการตีตั๋วไปเที่ยวเดียว ไม่มีขากลับ”

และเมื่อกำหนดการปล่อยยานมาถึง เวลา 03:35 วันที่ 23 เมษายน ค.ศ. 1967 ยานโซยุซ 1 (Soyuz 1) ยานที่มีปัญหาซับซ้อนที่สุดเท่าที่เคยมีมา พร้อมกับนักบิน โคมารอฟ ก็ถูกปล่อยขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ

ทุกอย่างดูเป็นปกติ จนกระทั่งเข้าสู่วงโคจร ปัญหาก็เริ่มเกิดขึ้น เมื่อแผงโซล่าเซลล์ข้างหนึ่งไม่กางออก โคมารอฟ พยายามกางด้วยระบบ Manual แทน แต่ก็ไร้ผล จากนั้นปัญหาก็ตามมาอีกหลายระลอก ทั้งระบบนำทาง, ระบบควบคุมความสูง และระบบเครื่องยนต์ ขัดข้องตามมาเป็นลำดับ เหล่าทีมวิศวกรที่ภาคพื้นดินต่างหาวิธีแก้และคอยติดต่อกับ โคมารอฟ

กระทั่งเวลาล่วงเข้าไปอีกวัน ทีมวิศวกรเตรียมแผนที่จะพาตัว โคมารอฟ ลงมาอย่างปลอดภัยก่อนที่แบตเตอร์รีของยานจะหมด โคมารอฟ ยังคงทำตามที่ฝึกอย่างเคร่งครัด พยายามติดเครื่องจุดระเบิดไอพ่นและรักษาระดับความสูงเอาไว้ แต่แล้วตัวยานก็เริ่มหมุนควงร่วงลงมาจากอวกาศ ไม่นานนัก ภรรยาของ โคมารอฟ ก็มาถึง ทั้ง 2 ได้คุยสั่งเสียกันและบอกลาเป็นครั้งสุดท้าย

ในช่วงท้ายของการสนทนา โคมารอฟ แตกตื่นตกใจเมื่อรู้ว่าโอกาสรอดชีวิตไม่มีอีกแล้ว เขาตะโกนอย่างบ้าคลั่ง ประณามสงครามเย็น สาปแช่งผู้ที่ทำให้เขาต้องมาอยู่ในยานอวกาศลำนี้ ก่อนที่สัญญาณจะขาดหายไป

ยานโซยุซ 1 ตกกระแทกพื้นโลกด้วยความเร็วพอๆ กับอุกกาบาตพุ่งชนโลก อุปกรณ์ดับเพลิงไม่สามารถดับไฟที่ลุกท่วมยานได้ หน่วยกู้ภัยจึงใช้วิธีใช้ดินกลบ

เมื่อไฟดับหน่วยกู้ภัยจึงงัดประตูยานออก ภายในนั้นพบศพของ โคมารอฟ ที่ไหม้จนไม่เหลือเค้าโครงเดิมอยู่ตรงที่นั่งนักบินหลักกลางยาน

วันที่ 24 เมษายน ค.ศ. 1967 จึงเป็นอีกวันหนึ่งที่ต้องจารึกในประวัติศาสตร์โลก

โคมารอฟ ถูกฝังอยู่ในกำแพงเครมลิน ที่จัตุรัสแดง ที่พักสุดท้ายตลอดกาลของวีรบุรุษแห่งสหภาพโซเวียต…

ที่มา https://www.yaklai.com/lifestyle/special-article/vladimir-komarov-man-fell-from-space/

16 ต.ค. 60 เวลา 06:30 5,389
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...