เปิด "ด้านมืด" ของระบอบเผด็จการโซเวียต ที่จับประชาชนมาใช้แรงงานเยี่ยงทาสกว่า 40 ล้านคน

read:http://www.wtfintheworld.com/2017/09/14/gulag/

วันนี้เราจะพาไปรู้จักความจริงอันน่าเศร้าอีก 1 เรื่อง ที่เกิดในประเทศโซเวียต (รัสเซียปัจจุบัน) นั่นคือการใช้อำนาจเผด็จการจับประชาชนมาใช้แรงงานเยี่ยงทาสกว่า 40 ล้านคน ในค่ายกักกันที่มีชื่อว่า “Gulag” เรื่องราวจะเป็นอย่างไรไปอ่านกันเลย

ค่ายกักกันคืออะไร?

มีไว้เพื่อกักขังผู้ที่ถูกจองจำโดยรัฐ ส่วนใหญ่ที่นึกถึงกันเพราะชื่อเสียงความโหดร้ายนั่นก็คงจะเป็นเหล่าค่ายกักกันชาวยิวโดยกองทัพนาซี ที่กระจายอยู่ตามประเทศใต้การปกครองในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ชาวยิวที่ถูกกักในค่ายของนาซีนั้นก็เพื่อรอกำจัดด้วยการรมแก๊ส

หรืออีกแห่งจะเป็นค่ายกักกันของเกาหลีเหนือที่สร้างขึ้นมาเพื่อลงโทษผู้ที่กระด้างกระเดื่องต่อการปกครองของท่านผู้นำแต่ละรุ่น ซึ่งจุดจบของผู้ที่เข้าไปอยู่ในค่ายกักกันแห่งนี้ส่วนใหญ่ก็ไม่พ้นการตายอยู่ข้างในเพราะถูกบังคับให้ทำงานหนักจนร่างกายรับไม่ไหว

ค่ายกักกัน Gulag (สหภาพโซเวียต)

สำหรับประเทศอย่าง “สหภาพโซเวียต” นั้นก็มีประวัติศาสตร์ที่ดำมืดเกี่ยวกับการทรมานเพื่อนร่วมชาติเช่นกัน ย้อนกลับไปในสมัยสหภาพโซเวียตนั้นเริ่มก่อตั้งในยุคสมัยของ “วลาดิเมียร์ เลนิน” ได้ทำการสร้างค่ายกักกันที่มีชื่อว่า “กู่ลัก” (Gulag) ขึ้นมาเพื่อใช้เป็นที่ควบคุมเหล่านักโทษการเมืองที่กระด้างกระเดื่องต่อการปกครอง

ค่ายกักกันมีถึง 476 แห่ง

โดยค่ายกักกันนั้นมีอยู่ทั่วประเทศ ซึ่งอีกหนึ่งเหตุผลของการเกิดขึ้นของค่ายนี้ก็คือความต้องการแรงงาน “ฟรี” เป็นจำนวนมากเพื่อช่วยในการสร้างสิ่งก่อสร้างต่างๆ ทั่วสหภาพโซเวียต

จำนวนผู้ที่ถูกส่งเข้าไปในค่ายกักกันนั้นคาดการณ์ว่ามีจำนวนถึง 40 ล้านคนจากค่ายทั้งหมด 476 แห่ง เลยทีเดียว

ทำงานเพื่อแลกกับการมีชีวิตอยู่ต่อไป

แรงงานทุกคนในค่ายนั้นจะถูกปฏิบัติด้วยมาตรฐานเดียวกันนั่นก็คือ ทุกคนจะต้องทำงานเพื่อแลกกับการมีชีวิตอยู่ต่อไป โดยงานที่ถูกส่งไปทำนั้นก็ได้แก่การสร้างอาคาร ทำเหมือง ตัดถางป่าเพื่อสร้างถนนหรือทางรถไฟ หรืองานหนักๆ อย่างการขุดคลองเชื่อมทะเล ซึ่งนักโทษไม่มีสิทธิ์ที่จะออกความเห็นใดๆ กับคำสั่งที่ได้รับมา

นักโทษมีอายุเฉลี่ยไม่เกิน 3 ปี

แน่นอนว่าสภาพความเป็นอยู่นั้นคงไม่ได้ดีเหมือนอยู่ข้างนอก นักโทษภายในค่ายกักกันจะมีชีวิตเฉลี่ยคนละไม่เกิน 3 ปีเพียงเท่านั้น ส่วนใหญ่จะเสียชีวิตด้วยภาวะการขาดสารอาหารจนทำให้ร่างกายอ่อนแอ

นอกนั้นก็จะเป็นการประหารโดยผู้คุมในข้อหาหมั่นไส้ก็มีไม่ใช่น้อย ว่ากันว่าภายในค่ายแห่งนี้อดอยากกันถึงขนาดนักโทษต้องแอบผู้คุมไปขุดศพที่ถูกฝังเพื่อนำเนื้อของนักโทษด้วยกันมากินเป็นอาหาร

ตัวอย่างของโครงการสุดโหดและไร้ประโยชน์

ด้านการทำงานของนักโทษที่ถูกกักขังใน Gulag ก็ไม่ใช่งานสบายๆ มีหลายๆ โครงการที่ถูกสร้างขึ้นอย่างไร้ประโยชน์และสังเวยชีวิตคนงานไปมาก เช่น การขุดคลองเชื่อมระหว่างทะเลสาบ Onega และทะเลบอลติก

ซึ่งมีระยะทางกว่า 227 กม. ในปี 1931 ซึ่งโครงการนี้ถือว่าเป็นโครงการที่ใหญ่มากในขณะนั้น แต่ทว่านักโทษที่ถูกเกณฑ์ให้มาทำงานกลับมีเครื่องมีเพียงแค่ พลั่วไว้ขุดกับรถสาลี่ไว้ขนดินไปทิ้งเพียงเท่านั้น

การขุดนั้นใช้เวลากว่า 2 ปีถึงจะเสร็จสิ้นซึ่งล้วนแต่เป็นแรงงานมนุษย์เพียงอย่างเดียว มีผู้คาดการณ์ว่าในการขุดคลองเชื่อมแห่งนี้นั้นสังเวยชีวิตมนุษย์ไปกว่า 1 แสนคน แต่ที่น่าสลดที่สุดก็คือเมื่อมีการเปิดใช้นั้นกลับหาประโยชน์อะไรไม่ได้เลยแม้แต่น้อย

ด้วยความที่ใช้แต่แรงงานมนุษย์และเครื่องมือบ้านๆ ทำให้การขุดนั้นทำได้เพียงแค่ตื้นๆ ไม่เกิน 3 เมตร ซึ่งเรือที่สามารถแล่นผ่านก็เป็นเพียงแค่เรือขนาดเล็ก แต่เรือสินค้าหรือเรือรบนั้นไม่สามารถแล่นผ่านได้ ซึ่งก็ถือว่าเป็นคลองไร้ประโยชน์ที่ต้องแลกมาด้วยชีวิตมนุษย์กว่าแสนคนเลยทีเดียว

ปี 1950

ค่ายกักกันแต่ละแห่งนั้นถูกยกเลิกไปในช่วงทศวรรษ 1950 หลังจากที่ท่านผู้นำ “สตาลิน” เสียชีวิตลง นักโทษทั้งหมดถูกปลดปล่อย ปัจจุบันยังมี Gulag ที่ถูกปล่อยให้ทิ้งร้างเป็นจำนวนมากเหมือนกับว่าประจานความโหดร้ายของผู้นำที่ทำกับเพื่อนร่วมชาติด้วยกันได้ลงคอ

Gulag: History, Camps, Conditions, Economy, Effect, Facts, Quotes (2003)

ที่มา https://www.spokedark.tv/posts/gulag/

 

 

15 ก.ย. 60 เวลา 06:12 2,532 10
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...