ทฤษฎีการสูญพันธุ์ของสัตว์ดึกดำบรรพ์ทวีปออสเตรเลีย !?

 

ทฤษฎีการสูญพันธุ์ของสัตว์ดึกดำบรรพ์ทวีปออสเตรเลีย !?

มติชน

เมื่อประมาณ 12,000-15,000 ปีก่อน ซึ่งอยู่ปลายสมัยไพลสโตซีน(Pleistocene Epoch) ยุคน้ำแข็งสุดท้ายของโลกหรือ "สมัยสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมยุคน้ำแข็ง" สัตว์ยุคน้ำแข็งซึ่งได้แก่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม นกขนาดใหญ่ และสัตว์เลื้อยคลานหลายชนิด ซึ่งครอบครองดินแดนหลายส่วนของโลกได้สูญพันธ์ไปจากโลก


ที่อเมริกาเหนือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น ช้างมาสโตดอน(mastodon) และเสือเขี้ยวโง้ง(Sabre-toothed tiger)สูญพันธุ์ไปเมื่อประมาณ 10,000 ปีที่แล้ว ที่ไซบีเรียช้างแมมมอธสูญพันธุ์ไปเมื่อประมาณ 11,000 ปีก่อน แต่ที่ออสเตรเลียสัตว์ป่าขนาดใหญ่หลายชนิดสูญพันธุ์ไปก่อนหน้านี้ คือ สูญพันธุ์เมื่อประมาณ 50,000 ปีที่ผ่านมา หรือว่ากันว่าบางทีอาจจะเป็นเมื่อ 20,000 ปีก่อนก็ได้



การสูญพันธุ์ของสัตว์ยุคน้ำแข็งในอเมริกาเหนือเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น พ้องกับการย้ายถิ่นฐานของมนุษย์ไปยังบริเวณถิ่นที่อยู่ของพวกมันและความสามารถทางเทคโนโลยีของมนุษย์ในการประดิษฐ์หอกหิน 

นักโบราณคดีให้ความสนใจการสูญพันธุ์ของสัตว์ในสมัยไพลสโตซีนมาก เพราะสัตว์หลายชนิดเคยอยู่ร่วมกันกับมนุษย์ มีทฤษฎีที่อธิบายถึงการสูญพันธุ์อยู่สี่ทฤษฎี ทฤษฎีแรกเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของอากาศ ทฤษฎีที่สองเกิดจากการล่าของมนุษย์ ทฤษฎีที่สามเกิดจากเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมที่กระทำโดยมนุษย์ เช่น การเผาป่า เป็นต้น ทฤษฎีที่สี่ บอกว่ามันอาจเกิดจากทั้งสามทฤษฎีรวมกัน 


นักวิจัยส่วนใหญ่เชื่อว่าการย้ายถิ่นฐานของมนุษย์ไปยังหลายส่วนของโลก อย่างเช่น ในอเมริกาเหนือ ทำให้เกิดการล่าสัตว์ขนาดใหญ่ในท้องถิ่นซึ่งทำให้มันสูญพันธุ์ไปในที่สุด 

แต่ทฤษฎีนี้ก็ยังมีจุดอ่อน กล่าวคือ ยังไม่มีหลักฐานมาสนับสนุนให้เห็นกันอย่างชัดแจ้งว่าเป็นฝีมือมนุษย์ ปัจจุบันมีเพียงหลักฐานเฉพาะกรณีของตัวลีเมอร์ยักษ์(Lemur) ในมาดากัสกา และนกยักษ์คล้ายนกกีวีที่ชื่อว่า Moas ในนิวซีแลนด์ซึ่งสูญพันธุ์ไปเมื่อประมาณ 500 ปีก่อนเท่านั้น



ที่น่าประหลาดก็คือ การสูญพันธุ์ของสัตว์ขนาดใหญ่ในสมัยไพลสโตซีนไม่ได้เกิดขึ้นในแอฟริกา ส่วนใหญ่ของสัตว์ท้องถิ่นขนาดใหญ่ที่นั่น เช่น ช้างและแรด ยังมีชีวิตอยู่ มีข้อสมมติฐานอยู่สองข้อ ข้อแรก อาจเป็นเพราะว่ายุคน้ำแข็งยุคสุดท้ายมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของอากาศในแอฟริกาเพียงเล็กน้อย ข้อสอง อาจเป็นเพราะว่ามนุษย์และสัตว์ขนาดใหญ่ในแอฟริกามีวิวัฒนาการไปพร้อมๆ กันและค่อยๆ ปรับตัวด้วยกันจนถึงปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม สมมติฐานข้อหลังนี้ไม่สามารถจะอธิบายว่าทำไมช้างและแรดในเอเชียยังคงอยู่ในขณะที่มนุษย์เพิ่งเดินทางมาถึง 



ออสเตรเลียเป็นดินแดนที่มีสัตว์ยุคน้ำแข็งขนาดใหญ่หลายชนิด สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ทั้งหมด และสัตว์เลื้อยคลานรวมทั้งนกขนาดใหญ่บางชนิดสูญพันธุ์เมื่อ 45,000-50,000 ปี ที่ผ่านมา สัตว์เหล่านี้ เช่น 




ไดโพรโตดอน อ๊อพทาทัม ไดโพรโตดอน อ๊อพทาทัม(Diprotodon optatum) 
เป็นสัตว์ที่เด่นที่สุดเพราะเป็นสัตว์ตระกูลจิงโจ้(Marsupial )ที่มีขนาดใหญ่ที่สุด มีขนาดเท่าแรดและรูปร่างหน้าตาก็คล้ายแรดแต่ไม่มีนอ ลำตัวยาว 3 เมตร สูง 1.7 เมตร ตัวผู้มีน้ำหนัก 2,000-2,500 กิโลกรัม ส่วนตัวเมียหนัก 1,000 กิโลกรัม ไดโพรโตดอน อ๊อพทาทัม อยู่รวมกันเป็นฝูงเล็กๆ กินใบไม้เป็นอาหาร สูญพันธุ์ไปเมื่อประมาณ 45,000-25,000 ปีที่ผ่านมา

 



สิงโตไทลาโคลีโอ คาร์นิเฟ็ก(Thylacoleo carnifex) 
หรือมาร์ซูเพียลไลออน นักล่าที่ดุร้ายมีน้ำหนัก 120 กิโลกรัม ใหญ่ที่สุดในบรรดาสัตว์นักล่าที่เลี้ยงลูกด้วยนม

 


สิงโตไทลาโคลีโอ คาร์นิเฟ็ก

 


เมกะลาเนีย พริสคา(Megalania prisca ) 
สัตว์เลื้อยคลานขนาดยักษ์คล้ายจระเข้ มันคือนักล่าที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ยาว 5.5 เมตร และหนักถึง 600 กิโลกรัม ใหญ่กว่าญาติที่ใกล้ชิดที่สุดของพวกมันคือมังกรโคโมโด บนเกาะโคโมโด ในอินโดนีเซียสองเท่า

 


เมกะลาเนีย พริสคา

 


นกยักษ์ที่ชาวอะบอริจินเรียกว่า มิฮิรัง(Mihirung) 
คือ เจนยอร์นิส นิวโตนี(Genyornis newtoni) สูง 1.8 เมตร และนกยักษ์

 


มิฮิรัง(Mihirung)

 



โดรมอร์นิส สเตอร์โตนิ(Dromornis stirtoni)
สูง 3 เมตร หนักถึง 500 กิโลกรัม

 


โดรมอร์นิส สเตอร์โตนิ(Dromornis stirtoni)

 


ความหลากหลายของสัตว์โบราณในออสเตรเลียโดยเฉพาะสัตว์ตระกูลมาสซูเพียล(Marsupial) หรือสัตว์ตระกูลจิงโจ้ขนาดใหญ่ซึ่งเรียกกันว่าเมกะฟอนา(Megafauna) เป็นสัตว์ที่แตกต่างจากสัตว์ในส่วนอื่นๆ ของโลก ทำให้การศึกษาเรื่องราวการสูญพันธุ์ของสัตว์โบราณในออสเตรเลียมีความน่าสนใจที่สุดในโลกก็ว่าได้ 



นักล่ากำลังเผชิญหน้ากับเมกะลาเนีย พริสคา หลักฐานการมีอยู่ของเมกะฟอนา คือ คำบอกเล่าของชาวเผ่าอะบอริจินซึ่งอพยพไปอยู่ในดินแดนออสเตรเลียเมื่อประมาณ 60,000 ปีก่อน หรือก่อนหน้านั้น แต่หลักฐานที่เป็นรูปธรรมก็คือฟอสซิลของพวกมัน ฟอสซิลชิ้นแรกถูกค้นพบในถ้ำเวลลิงตัน ทางตะวันตกของซิดนีย์ โดยนักบุกเบิกจากยุโรป และถูกส่งไปยังอังกฤษให้ผู้เชี่ยวชาญ คือ เวอร์ ริชาร์ด โอเวน ทำการศึกษาในปี ค.ศ.1831 

 




ทฤษฎีที่อธิบายการสูญพันธุ์ของเมกะฟอนาในออสเตรเลียมีชื่อว่า "ทฤษฎีการสูญพันธุ์แบบสายฟ้าแลบ" ทฤษฎีนี้อธิบายว่ามันเกิดจากการล่าของมนุษย์และการสูญพันธุ์ก็เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วมากคือภายในช่วงเวลาเพียงไม่ถึง 1,000 ปีเท่านั้นเอง 

ปี ค.ศ.2001 รายงานวิจัยชิ้นหนึ่งซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Journal Science เผยผลการศึกษาอายุฟอสซิลของสัตว์ยุคน้ำแข็งในดินตะกอน 28 แห่งทั่วออสเตรเลีย และปาปัวนิวกินี รายงานนี้สรุปว่าสัตว์ป่าขนาดใหญ่ในออสเตรเลียสูญพันธุ์ไปเมื่อประมาณ 46,000 ปีก่อน ซึ่งเป็นช่วงเวลาก่อนเกิดการเปลี่ยนแปลงของอากาศ และอยู่ในช่วงเวลาที่มีมนุษย์อยู่ที่นั่นแล้ว ผลการศึกษานี้สนับสนุนทฤษฎีการสูญพันธุ์แบบสายฟ้าแลบ

 


โครงกระดูกเมกะลาเนีย ในพิพิธภัณฑสถานเมลเบิร์น

 



ทว่า เมื่อไม่นานมานี้เอง งานวิจัยใหม่สองชิ้นกลับชี้ว่าทฤษฎีการสูญพันธุ์แบบสายฟ้าแลบไม่ถูกต้อง การสูญพันธุ์ของสัตว์ขนาดใหญ่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของอากาศต่างหาก 

งานวิจัยชิ้นแรกเป็นผลงานการศึกษาอายุฟอสซิลที่ "Cuddie Springs" ในรัฐนิวเซาต์เวลส์ ของคลิฟ ทรูแมน จากมหาวิทยาลัย พอร์ตเมาธ์ สหราชอาณาจักรและทีมงาน งานวิจัยนี้สรุปว่ามนุษย์และสัตว์ป่าขนาดใหญ่เคยอยู่ร่วมกันที่นั่นอย่างน้อยเมื่อ 10-12,000 ปีก่อน



ทีมวิจัยบอกว่า ที่เชื่อกันว่ามนุษย์เป็นต้นเหตุให้สัตว์ขนาดใหญ่สูญพันธุ์โดยการล่าหรือการเปลี่ยนแปลงพื้นที่โดยการเผาป่านั้นฟังขึ้นแต่การเปลี่ยนแปลงของอากาศอย่างใหญ่หลวงต่างหากที่เป็นสาเหตุหลักที่ทำใหเมกะฟอนาสูญพันธุ์ 

ดร.สตีเฟน โร หนึ่งในทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยซิดนีย์ อธิบายเหตุผลว่า ทำไมไม่ใช่ฝีมือมนุษย์ เขาบอกว่ายังไม่มีหอกหินในออสเตรเลียเลย จนกระทั่งเมื่อราว 15,000 ปีที่ผ่านมานี้เอง ซึ่งเป็นเวลาที่ใครๆ ก็คิดว่าเมกะฟอนาได้สูญพันธุ์ไปเรียบร้อยแล้ว



"ผมไม่สงสัยหรอกว่าชาวพื้นเมืองพวกแรกๆ ได้ล่าเมกะฟอนา แต่มีข้อโต้แย้งว่าการล่าของพวกเขาจะมีประสิทธิภาพขนาดทำให้เกิดการใกล้สูญพันธุ์ในพริบตานั้นคงไม่ใช่แน่ เชื่อสิ"เขาบอก 

ทีมวิจัยพบว่าอุณหภูมิได้ดิ่งลงและพื้นที่ที่เขียวชะอุ่มกลับแห้งแล้งมาตั้งแต่เมื่อราว 30-35,000 ปีที่แล้ว และการสูญพันธุ์ก็เป็นกระบวนการที่ค่อยเป็นค่อยไป



งานวิจัยอีกชิ้นเป็นของกิลเบิร์ต ไพรซ์ จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีแห่งควีนส์แลนด์ ซึ่งทำการศึกษาฟอสซิลที่บริเวณดาร์ลิง ดาวน์ ทางตะวันออกเฉียงใต้ของรัฐควีนส์แลนด์ ไพรซ์พบว่าการเปลี่ยนแปลงของฟอสซิลที่อยู่ลึก 10 เมตรนั้น เป็นสิ่งบ่งบอกว่าเคยเกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมจากป่าไม้มาเป็นทุ่งหญ้า 

การตรวจสอบอายุตะกอนดินที่ฝังฟอสซิลพบว่ามีอายุราว 32-35,000 ปี ซึ่งเป็นเวลาก่อนที่มนุษย์คนแรกได้ย่างกรายเข้ามาในดาร์ลิง ดาวน์และฟอสซิลที่ศึกษาบอกว่าไม่เพียงแต่สัตว์ขนาดใหญ่เท่านั้นที่สูญพันธุ์แต่ยังมีสัตว์ที่เล็กกว่าด้วย



ไพรซ์เชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงของอากาศซึ่งทำให้เกิดความหนาวเย็นและแห้งแล้งเป็นตัวการทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงชนิดของสัตว์ที่สามารถอยู่รอดได้ในดินแดนของออสเตรเลีย 

อย่างไรก็ตาม งานวิจัยทั้งสองชิ้นคงจะยังไม่ใช่ข้อสรุปสุดท้าย เพราะทุกวันนี้ก็ยังมีการขุดค้นฟอสซิลเพื่อศึกษากันอยู่ในเกือบทุกรัฐ ข้อค้นพบจากงานวิจัยใหม่ๆ ที่จะตามมาอาจจะสนับสนุนหรือโต้แย้งงานวิจัยสองครั้งหลังสุดนี้ก็ได้ หรืออาจจะฉีกแนวไปเลยก็เป็นไปได้เช่นกัน 

 

 

#...
mon2543
นักแสดงรับเชิญ
6 ก.ค. 53 เวลา 16:18 3,237 2 38
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...