7 ตำนานที่อยู่ในยุคเดียวกับ Nokia 3310

https://www.mangozero.com/7-iconic-things-in-the-same-era-as-nokia-3310/

เราทราบกันดีว่าชื่อเสียงของ Nokia 3310 เป็นที่ประจักษ์แค่ไหนในแง่ของมือถือที่เป็นตำนานด้านความทึกทน โดนรถชน ตกตึก รถทับ ตกน้ำก็ยังไม่พัง จนวันที่ Nokia 3310 เวอร์ชั่นใหม่กลับมา แต่เราก็ยังคงคิดถึงความทึก และทนของ Nokia รุ่นนั้นอยู่เสมอ

 

แต่ไม่ใช่แค่ Nokia 3310 เท่านั้นที่สร้างตำนานของตัวเอง ในยุคเดียวกัน (หมายถึงมีปีเกิดใกล้เคียงกัน) กับ Nokia ก็มีอีก 7 ตำนานเกิดขึ้นและกลายเป็นสิ่งที่แม้วันเวลาจะผ่านไปแค่ไหน เราก็ยังนึกถึงอยู่ในฐานะ ‘ตำนานแห่งยุคสมัย’ เรื่องราวเหล่านั้นได้ถูกบันทึกไว้แล้ว ซึ่งเราจะเอามาเปิดเผยให้อนุชนรุ่นหลังได้ศึกษา

Tamagotchi ปีที่เกิด พ.ศ. 2539 (เข้าเมืองไทย พ.ศ. 2540)

 

เกมสัตว์เลี้ยงดิจิตอลของญี่ปุ่นที่สร้างปรากฎการณ์คนมารอซื้อเพียบ คล้ายกับต่อแถวรอซื้อไอโฟน หรือต่อแถวรอซื้อ Adidas Yeezy นั่นแหละ หลังจากญี่ปุ่นฮิตไปก่อนหน้าได้ไม่นาน ทามาก็อตจิก็ตีตลาดเมืองไทย พร้อมกับทามาก็อตจีน ที่ทำของเลียนแบบออกมา ทามาก็อตจิต้นตำหรับให้เลี้ยงสัตว์เลี้ยงที่หน้าตาประมาณนกบวกไก่เท่านั้น แต่ของจีนนี่เลี้ยงได้ตั้งแต่หมา แมว คน ไดโนเสาร์ ไปจนถึงเอเลี่ยน! ยุคนั้นทามาก็อตจิ (รวมถึงทามาก็อตจีนด้วย) กลายเป็นของต้องห้าม ใครเอาไปโรงเรียน ครูยึดนะครับ

Hotwave Music Award ปีที่เกิด พ.ศ. 2539

 

เวทีประกวดดนตรีระดับมัธยมศึกษาจัดโดยคลื่น Hotwave 91.5 FM เวทีนี้แจ้งเกิดนักร้อง และนักดนตรีดังหลายคน ปีแรกแชมป์เวทีนี้คือวง ‘ละอ่อน’ ที่ในเวลาต่อมา เรารู้จักพวกเขาในชื่อ ‘BodySlam’ นอกจากนี้ กะลา, แคลช, ลาบานูน, สล็อตแมชชีน, เรโทรสเปกต์, ลุลา หรือ แหลม ทเวนตีไฟฟ์อาเวอส์ ก็ล้วนแจ้งเกิดจากเวทีนี้เช่นกัน น่าเสียดายที่เวทีนี้ต้องยกเลิกไปพร้อมกับคลื่น Hotwave เมื่อปี 2556 ปิดตำนานเวทีประกวดหาวงดนตรีระดับมัธยมที่ยืนยาวที่สุดในประเทศไปแล้ว

นิตยสาร Katch ปีที่เกิด พฤศจิกายน 2541

 

นิตยสารวัยรุ่นที่เกิดในยุคเบเกอร์รี่ มิวสิครุ่งเรือง ภายในนิตยสารอุดมไปด้วยเรื่องของแฟชั่นยุคเซ้นเตอร์พอยท์เรืองอำนาจ (สายเดี่ยว ส้นตึก เอวลอย ยุคนี้เลย) และอัปเดทความเคลื่อนไหวของค่าย Dojo City (ค่ายลูกของเบเกอรํรี่มิวสิค) หญิงสาวที่ขึ้นปกนี้คู่แรกก็คือ โบ – จอยซ์ จากวง TK แต่หลังจากค่ายโดโจฯ ล่มสลาย นิตยสารเล่มนี้ก็ปิดตัวไปด้วย

Card Game ปีที่เกิด พ.ศ. 2541 (เข้าเมืองไทยปี 2542)

 

เกมการ์ดที่เข้ามาเจาะตลาดเด็กไทยเป็นวงกว้าง ผ่านการ์ตูนเรื่อง ‘ยูกิ : เกมกลคนอัจฉริยะ’ ในช่วงแรกการ์ดเกมยูกิ เป็นของที่แถมกับขนมมโอเดงย่า เด็กในยุคนั้นจะซื้อขนมโอเยงย่า เพื่อเอาการ์ดเกม ส่วนขนมจะทิ้งไป ภายหลังก็มีการนำเข้าการ์ดยูกิของแท้ที่ Konami เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์มาขาย การ์ดยูกิของแท้ถือว่าโคตรแพง เป็นของเล่นไฮโซ บางใบนี่ระดับหลักพันบาทเลย หลังจากยูกิ มาสร้างตำนานการ์ดเกมในเมืองไทย ในเวลาต่อมาเด็กไทยก็เริ่มรู้จักการ์ดเกมอื่นๆ เพิ่มขึ้นด้วยทั้ง Magic The Gathering (ต้นแบบของการ์ดยูกิ) หรือการ์ดเกมไทย Summoner Master

PCT ปีที่เกิด พฤศจิกายน พ.ศ. 2542

 

โทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ผูกกับเบอร์โทรศัพท์บ้าน ใช้เฉพาะแค่ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลเท่านั้น ต่างจังหวัดที่ไม่ได้ใช้เบอร์ 02 หมดสิทธิ์ เอกลักษณ์ของ PCT ที่ผู้ใช้ทุกคนเจอคือสัญญาญกากมาก ขนาดที่ว่าหมาเห่าก็อาจตัดได้ (บ้านใครสัญญาณพีซีที เลิศนี่มีบุญสุดๆ) แต่ความที่ PCT โทรหากันฟรี วัยรุ่นยุคนั้นก็เลยใช้เยอะ แต่บางคนก็พกทั้งมือถือและ PCT ประมาณว่ามือถือเอาไว้รับ PCT เอาไว้โทร เวรี่ไฮโซมากๆ PCT ออกโปรดัคมาทั้งสิ้น 12 รุ่น แต่ละรุ่นมีรหัสว่า X เช่น PCT X1 PCT X2 ฯลฯ ปัจจุบัน PCT ยกเลิกการให้บริการแล้วโดยผู้ให้บริการค่อยๆ เริ่มกระบวนการยุติการให้บริการตั้งแต่ปี 2553 เริ่มจากยกเลิกโปรโทรไม่อั้น ปิดตำนาน PCT โทรศัพท์ที่โทรฟรีตลอด 24 ชั่วโมง (ถ้ามีคลื่น) อย่างถาวร

Counter Strike ปีที่เกิด พฤศจิกายน พ.ศ. 2543

 

เกมคอมพิวเตอร์ที่เกิดในปีเดียวกับตำนานมือถือ Nokia 3310 เคาท์เตอร์ฯ เป็นเกมคอมพิวเตอร์เกมแรกที่ทำให้เกิดวัฒนธรรม ร้านเกมคอมพิวเตอร์ในเมืองไทย เนื่องจากเกมนี้เป็นเกมแนวยิงต่อสู้กับอีกฝ่าย ต้องเล่นผ่านระบบเลนถึงจะมัน ดังนั้นถ้าร้านไหนมีคอมเยอะ ก็แปลว่าเราจะได้ซัดกับคนเยอะๆ ในร้าน คนที่จะเล่นเคาท์เตอร์ฯ จึงต้องไปเล่นที่ร้านเกมเท่านั้น ไม่อย่างนั้นไม่มัน สำหรับกรุงเทพฯ แหล่งที่ร้านเกมเยอะที่สุดก็คือตลาดอมรพันธ์ สี่แยก ม. เกษตร นั่นแหละ ต้นกำเนิดของวัฒนธรรม ‘internet Cafe’ ตัวจริงในเวลาไม่นาน

Ragnarok Online ปีที่เกิด ตุลาคม พ.ศ. 2544 ( แต่เข้าไทยในปี 2545)

 

เกมออนไลน์ระดับตำนาน ที่ทำให้เด็กไทยในยุคนั้น (ป่านนี้น่าจะอายุทะลุ 30 กันไปหลายคนแล้ว) รู้จักกับสังคมออนไลน์อย่างแท้จริง หลังจากที่รู้จักกับการเล่นเกมแค่กับคนในร้านเดียวกัน ความที่เป็นเกมออนไลน์ ทำให้รูปแบบการเล่นน่าตื่นตามากขึ้น และเอื้อให้เกิดการสื่อสารกันระหว่างผู้เล่นคนอื่นโดยที่บางคนไม่เคยเห็นหน้ากันด้วยซ้ำ แต่ก็ยังสนิทกัน เช่นการรวมกลุ่มล่าบอส รวมกิลล์กันทำสงครามตีบ้าน จีบกันผ่านเกม (อร๊างงง) วัฒนธรรมที่สืบทอดมาจากยุคแร็คฯ ครองเมืองก็คือวัฒนธรรม ‘เกรียนคีย์บอร์ด’ ที่ทุกวันนี้ก็ยังเห็นได้อยู่

ที่มา แมงโก ออนไลน์

9 มี.ค. 60 เวลา 11:23 4,787
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...