เรียนรู้ประวัติศาสตร์ความเชื่อ เรื่องการเดินทางข้ามเวลา จากบันทึกที่โด่งดังในอดีต

read:http://petmaya.com/history-of-time-travel

แน่นอนว่าเราทุกคนต้องเคยเรียนวิชาประวัติศาสตร์กันมาบ้างในสมัยเด็กๆ ซึ่งขอบอกว่าเป็นอะไรที่โคตรน่าเบื่อสำหรับหลายๆ คน และคงไม่มีใครเอาเรื่องที่แฟนตาซีจ๋าอย่างการเดินทางข้ามเวลามาสอนให้เด็กนักเรียนฟังกันอย่างแน่นอน

ซึ่งวันนี้เพชรมายาไม่ได้จะนำเรื่องราวการเดินทางข้ามเวลาที่เป็นทฤษฎีสมคบคิดแนวแฟนตาซีมาเล่าให้ฟัง แต่มันคือความเชื่อเกี่ยวกับการเดินทางข้ามเวลาผ่านบันทึกและนวนิยายชื่อดังเรื่องต่างๆ เป็นอีกแนวที่เพชรมายาไม่เคยนำเสนอมาก่อน

1. มหากาพย์ “มหาภารตะ” เมื่อ 900 ปีก่อนคริสตกาล

จริงๆ แล้วเรื่องราวของการเดินทางข้ามเวลาไม่ใช่เป็นเรื่องแปลกใหม่แต่อย่างใด หากย้อนกลับไปในสมัย 900 ปีก่อนคริสตกาล การเดินทางข้ามเวลาปรากฏอยู่ในความเชื่อของชาวฮินดูในมหากาพย์ “มหาภารตะ” ซึ่งโดยปกติแล้วมักเป็นการเดินทางแบบ “วันเวย์” อย่างเช่น “คนที่เผลอหลับไป และตื่นขึ้นมาในโลกอนาคต”

2. The Time Machine ของ HG Wells ในปี 1895

HG Wells หรือ เฮอร์เบิร์ต เจอร์จ เวลล์ส นักเขียนนวนิยายเชิงวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษ ถือเป็นคนแรกๆ ที่ผุดไอเดียเรื่องการเดินทางข้ามเวลาขึ้นมาให้ชาวโลกได้รู้ โดยเขาได้สร้างสรรค์วรรณกรรมที่ยิ่งใหญ่ที่ชื่อ “The Time Machine” ในปี 1895

เรื่องราวของ The Time Machine บอกเล่าถึงตัวเอกที่สร้างเครื่องไทม์แมชชีนได้สำเร็จ และได้พาเขาเดินทางไปสู่โลกในยุค ค.ศ. 802701 หรืออีก 8 แสนกว่าปีในอนาคต แน่นอนว่าสิ่งที่เขาเจอมันยากที่บรรยายออกมาเป็นคำพูดได้ ซึ่งทฤษฎีการเดินทางข้ามเวลาในวรรณกรรมของเขาไม่เคยได้รับการยอมรับว่าเป็นไปได้ จนกระทั่งทฤษฎีของไอน์สไตน์ในปี 1905

3. Time And Free Will ของ เฮนรี เบิร์กสัน ในปี 1899

วิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอกของเบิร์กสัน ถูกเผยแพร่ออกมาไม่นานหลังจากวรรณกรรมของ HG Wells โดยเบิร์กสันเองยังเป็นเพื่อนกับ มาร์แซล พรุสต์ นักเขียนชื่อดังชาวฝรั่งเศส ซึ่งได้แรงบันดาลใจจากวิทยานิพนธ์ดังกล่าว นำไปเขียนเป็นนวนิยายเรื่อง In Search of Lost Time หรือชื่อไทยคือ “ในการค้นหาเวลาที่หายไป” จนกลายเป็นผลงานชื่อดังแห่งศตวรรษที่ 20 และมีอิทธิพลต่อนวนิยายวิทยาศาสตร์สมัยใหม่อีกมากมายนับไม่ถ้วน

4. แคปซูลกาลเวลา ในทศวรรษที่ 1930

ไอเดีย “แคปซูลกาลเวลา” ได้เกิดขึ้นในช่วงทศวรรษที่ 1930 ซึ่งแพร่หลายในทางวิทยาศาสตร์อเมริกัน “มันเป็นรูปแบบหนึ่งของการเดินทางข้ามเวลา ด้วยการส่งบางสิ่งไปสู่โลกอนาคตด้วยอัตรานาทีต่อนาที”

ในความเป็นจริง แคปซูลกาลเวลากลายเป็นวัฒนธรรมการละเล่นรูปแบบหนึ่ง ด้วยการใส่สิ่งของลองไปในวัตถุๆ หนึ่ง และฝังมันไว้ใต้ดินเพื่อรอวันที่จะมาเปิดมันอีกครั้ง โดยใครที่ชมภาพยนตร์เรื่อง Knowing จะได้เห็นฉากที่เด็กนักเรียน นำภาพวาดของตัวเองเก็บไว้ในแคปซูลของโรงเรียน และมาเปิดมันในอีกหลายสิบปีต่อมา

5. By His Bootstraps ของ โรเบิร์ต เอ. ไฮน์ไลน์ ในปี 1941

By His Bootstraps หรือมีชื่อไทยว่า “วัฏจักรเวลา” เป็นนวนิยาวแนววิทยาศาสตร์ของ โรเบิร์ต เอ. ไฮน์ไลน์ นักเขียนชาวอเมริกัน เป็นการพูดถึงตัวละครเอกของเรื่อง ที่ปรากฏตัวอยู่ในหลายๆ ช่วงเวลา เขาพบว่าตัวเองอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งของเวลา (Time Paradox) โดยเป็นนวนิยายที่พูดถึงการเดินทางข้ามเวลาอีกรูปแบบหนึ่งที่แปลกใหม่ในสมัยนั้น

6. โดราเอมอน ของ ฟุจิโกะ ฟุจิโอะ ในปี 1969

สิ่งที่ทำให้คนชาติตะวันออก รวมถึงคนไทยส่วนใหญ่รู้จักกับการเดินทางข้ามเวลา คงหนีไม่พ้นการ์ตูนเรื่องโดราเอมอน โดยหนังสือการ์ตูนเล่มแรกถูกตีพิมพ์ในเดือนธันวาคมปี 1969 ซึ่ง ณ ขณะนั้น การเดินทางด้วยไทม์แมชชีน กลายเป็นจินตนาการของเด็กๆ ทุกคน ที่อยากจะเดินทางไปในอนาคตหรืออดีต และคิดว่าสักวันหนึ่งจะมีโดราเอมอนออกมาจากลิ้นชักที่บ้านตัวเองอีกด้วย

7. The Peripheral ของ วิลเลียม กิบสัน ในปี 2014

ในปัจจุบัน แนวคิดเรื่องการเดินทางข้ามเวลาได้แตกแขนงออกมามากมายหลายแบบ อย่างเช่นนวนิยายเรื่อง The Peripheral ของ วิลเลียม กิบสัน ไม่ได้พูดถึงเรื่องการส่งคนเดินทางข้ามเวลาได้ แต่จะเป็นอย่างไรล่ะ ถ้าเราเกิดส่งข้อมูลบางอย่างกลับไปหาตัวเองในอดีตได้ ? แน่นอนว่า ความคิดแว่บแรกของคนไทยเราคือ “กูจะส่งเลขลอตเตอรี่รางวัลที่ 1 กลับไป”

จริงๆ แล้ว เรื่องราวของการเดินทางข้ามเวลา กลายเป็นจินตนาการที่คนทั่วโลกหวังว่าจะเป็นจริงในสักวัน เพราะถ้ามันเป็นไปได้ล่ะก็ เราจะสามารถเรียนรู้โลกของเราในอดีตได้อย่างชัดเจน รวมถึงการสื่อสารกับโลกในอนาคตได้ แต่ในทางกลับกัน หากการเดินทางข้ามเวลาถูกนำมาใช้ในทางชั่วร้าย มันอาจนำพาให้โลกใบนี้ถึงจุดจบก็เป็นได้

ที่มา http://www.wired.co.uk/article/a-brief-history-of-time-travel

28 ก.พ. 60 เวลา 03:42 2,130
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...