เจดีย์ภูเขาทองของกรุงเทพนั้น มีประวัติที่น่าสนใจมาก อยากให้ทราบประดับความรู้

      พระเจดีย์ภูเขาทององค์นี้สร้างขึ้นตามพระราชดำริของรัชกาลที่ ๓ ทรงมีพระราชประสงค์จะสร้างพระเจดีย์เหมือนวัดภูเขาทองกรุงศรีอยุธยา มีคลองมหานาคล้อมรอบวัด และเป็นที่ชาวพระนครจัดเป็นที่ชุมนุมรื่นเริงลอยเรือเล่นสักวากันอย่างการละเล่นของชาวกรุงศรีอยุธยา จึงโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบรมมหาพิชัยญาติ (ทัด บุนนาค) เป็นแม่กองในการสร้าง

       แรกสร้างพระเจดีย์ภูเขาทองนั้นรูปแบบเป็นปรางค์องค์ใหญ่ ฐานสี่เหลี่ยมแบบย่อไม้สิบสองอันเป็นพุทธสถาปัตยกรรมที่นิยมสร้างในสมัยปลายกรุงศรีอยุธยาและต้นกรุงรัตนโกสินทร์ โดยขุดรากลึกลงไปในดินวางท่อนซุงเรียงเป็นแพอัดแน่น อันเป็นวิธีการสร้างฐานรากเหมือนตอกเสาเข็ม แล้วถมดินและหิน ศิลาแลงจากนั้นก่ออิฐถือปูนไว้ชั้นนอก ปรากฏว่า ส่วนฐานล่างองค์เจดีย์รับน้ำหนักดินหินศิลาแลง ที่ทับถมไม่ได้ ส่วนบนเจดีย์จึงทรุดลงจนไม่สามรถแก้ไขได้และมิได้สร้างต่อให้แล้วเสร็จ

 

       ครั้นถึงรัชกาลที่ ๔ โปรดเกล้าฯ ซ่อมสร้างเจดีย์ทองที่ทิ้งค้างไว้ในรัชกาลก่อนต่อ โดยซ่อมแซมแปลงแก้ไขปรางค์องค์ใหญ่ ทำบันใดเวียนสองข้างจนถึงยอด ครั้นเดือนพฤษภาคม พ.ศ.๒๔๐๘ รัชกาลที่ ๔ โปรดเกล้าฯ ให้ก่อพระเจดีย์ทรงระฆังคว่ำไว้บนยอดเขาองค์หนึ่ง เมื่อเสร็จแล้วพระราชทานนามใหม่ว่า บรมบรรพต

       ปัจจุบันมีขนาดสูงจากฐานถึงยอด ๖๓.๖ เมตร ฐานโดยรอบมีเส้นผ่านศูนย์กลางกว้าง ๑๕๐ เมตร ฐานโดยรอบยาว ๓๓๐ เมตร มีบันไดทอดขึ้นเป็นบันไดเวียน ๓๓๔ ขั้น

       ภาพนี้จะเห็นการก่อสร้างยังไม่แล้วเสร็จ จะเห็นโคร่งนั่งร้านอยู่ บันไดเวียนขึ้นลงมีการก่อสร้างแล้ว รวมทั้งบันไดที่พระสงฆ์ลงมารับบาตรจากผู้คนข้างล่างในเทศกาลตักบาตรเทโว (ได้มีการรื้อออกไปในรัชกาลต่อมา)

       คลองตรงหน้าภูเขาทองจุดที่ทอมสันถ่ายคือ คลองมหานาค ที่รัชกาลที่ ๑ โปรดเกล้าฯ ให้ขุดเมื่อ พ.ศ.๒๓๒๖ ที่ให้เป็นคลองที่แยกจากคลองคูเมืองหรือคลองรอบกรุงทิศด้านเหนือของวัดสระเกศ ออกไปทางทิศตะวันออกของพระนครแล้ว พระราชทานนามตามคลองเก่าในกรุงศรีอยุธยาว่า คลองมหานาค คลองนี้เป็นทางสัญจรทางน้ำอันสำคัญของผู้คนในสมัยก่อน เพราะสามารถเชื่อมต่อจากคลองรอบรอบกรุงไปออกแม่น้ำเจ้าพระยาทั้งสองฝั่ง หรือเชื่อมคลองแสนแสบที่ขุดต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๓ ไปได้ไกลถึงแม่น้ำบางปะกง

       บริเวณนี้จึงกลายเป็นจุดค้าขายสินค้าโดยเฉพาะสินค้าเกษตรแหล่งใหญ่ เรียกว่า ตลาดมหานาค ดังจะเห็นแม่ค้าคนนี้ที่นั่งบนแพไม้ไผ่ไว้ผมทรงดอกกระทุ่มนุ่งกระโจมอกที่ในเรืออีกลำจะเต็มไปด้วยผลไม้นานาชนิด เช่น สัปปะรด กล้วย มะม่วง รวมทั้งทุเรียนพันธุ์ก้านยาวอยู่ในเรืออีกลำด้วย 

 

       นอกจากนี้ ทอมสันยังได้เดินในวัดสระเกศด้วย ซึ่งสมัยนั้นเป็นที่เผาศพนอกกำแพงพระนคร มีการส่งศพมาที่นี่มากที่สุด ทำให้ฝูงแรงที่จ้องเข้ามารุมทึ้งซากศพอย่างหิว “แร้งวัดสระเกศ” จึงน่าสยดสยอง เป็นที่กล่าวขวัญกัน

 

       ภูเขาทองเมื่อสร้างเสร็จใหม่ ๆ ตอนต้นรัชกาลที่ ๕ (อ้างอิงข้อมูลจาก หนังสือ สยามผ่านมุมกล้อง จอห์น ทอมสัน,รวบรวมค้นคว้าโดย ไพศาลย์ เปี่ยมเมตตาวัฒน์,)

 

       ภูเขาทองในรัชกาลที่ ๕ แสดงให้เห็นถึงคลองคูเมืองและคลองมหานาค (อ้างอิงข้อมูลจาก หนังสือ สยามผ่านมุมกล้อง จอห์น ทอมสัน,รวบรวมค้นคว้าโดย ไพศาลย์ เปี่ยมเมตตาวัฒน์,)

 

นิราศภูเขาทอง ของท่านสุนทรภู่เองก็ประพันธ์เกี่ยวกับภูเขาทองไว้น่าสนใจมาก

*รายละเอียดทั้งหมดหวังว่าจะเป็นประโยชน์แก่ผู้ศึกษานะครับ

___________________

*อนุญาตให้แฟนเพจภาพอดีตแชร์ภาพได้ เป็นไปเพื่อการศึกษาเท่านั้น (ห้ามนำภาพไปเพื่อประกอบการใด ๆ )

อ้างอิงข้อมูลจาก หนังสือ สยามผ่านมุมกล้อง จอห์น ทอมสัน,รวบรวมค้นคว้าโดย ไพศาลย์ เปี่ยมเมตตาวัฒน์, Siam น อติวิชัย เปรียญฯ ค้นคว้า/พิมพ์/เผยแผ่/ (สแกนภาพ)

ที่มา: https://www.facebook.com/1433459853562013/photos/a.1434200413487957.1073741828.1433459853562013/1645597549014908/?type=3&theater

กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...