จุฬาฯ เปิดตัวหอยชนิดใหม่ของโลก-พระราชทานชื่อ "หอยบุษราคัม"

หอยบุษราคัม

 

หอยนกเหลืองแม่สอด

         คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ แถลงข่าวเปิดตัวหอย 2 ชนิดใหม่ โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานชื่อ หอยบุษราคัม และหอยนกเหลืองแม่สอด

         วันที่ 9 กันยายน 2558 คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับสำนักกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพสธ.) แถลงข่าวค้นพบหอยต้นไม้ชนิดใหม่ของโลก

 

         ศ.ดร.สมศักดิ์ ปัญหา อาจารย์ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ในฐานะหัวหน้าหน่วยปฏิบัติการวิจัยซิสเทมาติกส์ของสัตว์คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ เปิดเผยว่า ตนและทีมวิจัยได้ค้นพบหอยต้นไม้สวยงามชนิดใหม่ของโลก 2 ชนิด ซึ่งได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิทยาศาสตร์นานาชาติเรียบร้อยแล้ว คือ

 

ศ.ดร.สมศักดิ์ ปัญหา

       1. หอยบุษราคัม ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Amphidromus principalisSutcharit & Panha, 2015 (แอมฟิโดรมัสพรินซิพาลิส) พบที่เกาะกระ จ.นครศรีธรรมราช ถูกค้นพบภายใต้โครงการของ อพสธ. ร่วมกับ กองทัพเรือและกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืชกระทรวงทรัพยากรธรรมติและสิ่งแวดล้อม

       โดยชื่อ หอยบุษราคัม เป็นชื่อที่ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานชื่อให้ มาจากลักษณะของเปลือกหอยที่มีสีเหลืองแวววาวเหมือนกับพลอยบุษราคัม และเปลือกเวียนทางด้านซ้ายทุกตัว ลำตัวสีขาวนวล มักอาศัยอยู่บนต้นไม้ในป่าดิบชื้นตามเกาะในอ่าวไทย อาหารคือ สาหร่ายและไลเคนบนผิวต้นไม้ โดยหอยชนิดนี้จะดำรงชีวิตบนต้นไม้ตลอดชีวิต ศัตรูธรรมชาติ ได้แก่ นกและหนู มีการผลิตเมือกจากเท้าและแมนเทิลที่ทำสีขาวใสช่วยเคลือบผิวลำตัวให้ขาวมันแวววาว มีสารที่เป็นประโยชน์ต่อการบำรุงผิวพรรณที่ละเอียดอ่อนมีศักยภาพไปสู่อุตสาหกรรมเวชสำอางได้อีกด้วย

 

หอยบุษราคัม

       2. หอยนกเหลืองแม่สอด หรือ หอยนกขมิ้นขอบวงน้ำตาล ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Amphidromusglobonevilli Sutcharit & Panha,2015 (แอมฟิโดรมัสโกลโบเนวิลไล) พบใน อ.แม่สอด จ.ตาก มักมีแหล่งอาศัยเฉพาะถิ่น อยู่บนต้นไม้ตลอดชีวิต เปลือกมีสีเหลืองมีแถบสีน้ำตาลอยู่ตามรอยเวียนของเปลือกรองสุดท้ายและวงสุดท้าย ลำตัวมีสีน้ำตาลอ่อน

        ศ.ดร. สมศักดิ์ กล่าวอีกว่า หอยทั้งสองชนิดนี้ถือเป็นทรัพยากรชีวภาพที่แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ของป่าไม้ จึงควรช่วยกันอนุรักษ์หมู่เกาะในท้องทะเลไทย รวมทั้งให้ความรู้เกี่ยวกับหอยที่ค้นพบในประเทศไทยกว่า 600 ชนิด ซึ่งทางทีมวิจัยและบริษัท สยาม สเนล จะนำงานวิจัยดังกล่าวไปต่อยอดเชิงพาณิชย์และจะมีการจัดตั้งฟาร์มหอยครบวงจรขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย โดยนำหอยที่พบในประเทศไทยกว่า 100 สายพันธุ์มาเลี้ยงเพื่อให้เยาวชนรวมถึงผู้สนใจเข้าชม

ภาพจาก เฟซบุ๊ก สกว.

อ่านรายละเอียดเเพิ่มเติมจาก

 

กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...