ระเบิดแสวงเครื่อง อานุภาพร้ายทำลายล้าง ที่มักถูกใช้ก่อวินาศกรรม

http://hilight.kapook.com/view/125036

 

ระเบิดแสวงเครื่อง คืออะไร มีความแตกต่างจากระเบิดชนิดอื่นอย่างไร เหตุใดคนร้ายจึงนิยมนำมาใช้ก่อความไม่สงบ ไปทำความรู้จักกับอันตรายของระเบิดแสวงเครื่องกัน

จากกรณีเหตุระเบิดราชประสงค์ ในพื้นที่ใจกลางกรุงเทพมหานคร เมื่อเวลาประมาณ 19.00 น. ของวันที่ 17 สิงหาคม 2558 นำมาซึ่งความสูญเสียเป็นจำนวนมาก โดยมีชาวไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติเสียชีวิต 20 คน บาดเจ็บเกินกว่า 100 คน ขณะที่เบื้องต้นมีข้อมูลว่าคนร้ายใช้ "ระเบิดแสวงเครื่อง" ในการจุดเชื้อเพลิง โดยห่อด้วยผ้าสีขาวนำมาวางไว้บริเวณศาลพระพรหม แยกราชประสงค์ ขณะคนมาไหว้พระจำนวนมาก อันแสดงให้เห็นมีเจตนามุ่งหมายเอาชีวิตชัดเจน

เชื่อว่าหลายคนคงเกิดความสงสัยว่า ระเบิดแสวงเครื่อง คืออะไร เหตุใดจึงเป็นระเบิดที่คนร้ายนิยมนำมาใช้ก่อเหตุจนเป็นที่คุ้นหูคุ้นตาจากข่าวต่าง ๆ นัก ในวันนี้เรามีคำตอบ

ระเบิดแสวงเครื่อง คืออะไร

ระเบิดแสวงเครื่อง (Improvised Explosive Devices) หรือ IED จัดเป็นรูปแบบหนึ่งของกับระเบิด (Booby Traps) ที่สามารถประกอบขึ้นจากวัสดุทั่วไป ตามแต่ที่ผู้สร้างจะแสวงหามาได้ ทำให้ระเบิดแสวงเครื่องมีรูปแบบและลักษณะที่ไม่แน่นอน ง่ายต่อการซุกซ่อนและนำมาใช้ก่อเหตุความไม่สงบต่าง ๆ ขณะที่เป็นเรื่องยากสำหรับเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบในการตรวจค้นและเก็บกู้ ทั้งยังเป็นเรื่องยากในการควบคุมวัสดุที่นำมาประกอบระเบิด เนื่องจากเป็นวัสดุที่ใช้อย่างกว้างขวางในแวดวงเกษตรกรรม อุตสาหกรรม และคหกรรม

นอกจากนี้ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยมากขึ้น ยังทำให้การประกอบระเบิดแสวงเครื่องในปัจจุบันมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น ทำให้คนร้ายสามารถควบคุมระเบิดได้จากระยะไกล (Remote control) โดยใช้โทรศัพท์จุดชนวน ไม่จำเป็นต้องรอเวลาแบบในยุคก่อน ตัวอย่างของระเบิดแสวงเครื่องที่พบเห็นได้บ่อยและใช้กันในปัจจุบัน เช่น รถยนต์ หรือรถบรรทุกระเบิด (Car or Truck Bomb) ไปรษณีย์ระเบิด (Letter and Package Bomb) ระเบิดพลีชีพ (Suicide Bomb) ระเบิดท่อ (Pipe Bomb) กล่องระเบิด หรือกระเป๋าระเบิด เป็นต้น

ประเภทของ ระเบิดแสวงเครื่อง

ระเบิดแสวงเครื่อง สามารถแบ่งประเภทตามระบบการทำงานได้ 3 ระบบ ดังนี้

1. ระบบสารเคมี เป็นการใช้สารเคมีทำให้เกิดการทำงาน เช่นการใช้น้ำกรดกัดกร่อนภาชนะที่บรรจุสารเคมี เมื่อภาชนะรั่วทำให้สารเคมีซึ่งเป็นส่วนผสมของระเบิดผสมกัน จนเกิดปฏิกริยาต่อกันแล้วระเบิดขึ้น อย่างไรก็ตามวิธีนี้ไม่เป็นที่นิยมมากนักเพราะมีขั้นตอนการทำยุ่งยาก และไม่สามารถควบคุมเวลาที่แน่นอนได้

2. ระบบกลไก เป็นการใช้กลไกให้เกิดการทำงานของระเบิด เช่นการใช้ระบบนาฬิกาเป็นกลไก โดยเมื่อถึงเวลาที่ตั้งไว้จะปลดล็อกกระเดื่องนิรภัยให้เป็นอิสระแล้วเกิดระเบิดขึ้น ซึ่งวิธีการนี้เป็นที่นิยมนำมาใช้เพื่อข่มขู่เอาชีวิต หรือหมายชีวิตเฉพาะบุคคล

3. ระบบไฟฟ้า เป็นการใช้อุปกรณ์ทางการไฟฟ้าหรืออุปกรณ์ทางอิเล็กทรอนิกส์มาทำให้เกิดการทำงาน เช่น การใช้โทรศัพท์มือถือ รีโมทคอนโทล มาประกอบเชื้อปะทุไฟฟ้าและวัตถุระเบิด ระเบิดแสวงเครื่องแบบนี้เป็นที่นิยมกันมากในพื้นที่สี่จังหวัดชายแดนภาคใต้เนื่องจากทำได้ง่าย สามารถควบคุมการทำงานและกำหนดเวลาชัดเจน ควบคุมการทำงานได้ในระยะไกล และมีกลไกที่ซับซ้อน

ระเบิดแสวงเครื่อง ระบบไฟฟ้า ส่วนประกอบมีดังนี้

1. แหล่งจ่ายพลังงานไฟฟ้า ได้แก่ แบตเตอรี่

2. ระบบสวิตช์ควบคุม ได้แก่ สวิตช์ปลอดภัย สวิตช์พร้อมระเบิด

3. สวิตช์จุดระเบิด หรือ วงจรอิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ

4. ตัวจุดระเบิด ได้แก่ เชื้อปะทุทางทหาร หรือเชื้อปะทุทางพลเรือน

5. ดินระเบิดหลัก

ระเบิดแสวงเครื่อง ทำงานอย่างไร

1. ทำงานจากการกระทำของเหยื่อ เช่นการให้บุคคลหรือสิ่งแวดล้อมมากระทำให้เกิดการระเบิด เช่น การยกระเบิด การเอียงระเบิด หรือเปิดระเบิด 2. ทำงานแบบบังคับจุด เป็นระเบิดแสวงเครื่องที่สามารถควบคุมการทำงานได้จากระยะไกล (Remote Control) มีวงจรการทำงานที่ซับซ้อน สามารถสั่งงานด้วยวิทยุรับ-ส่ง หรือโทรศัพท์มือถือ 3. การทำงานแบบถ่วงเวลา เป็นระเบิดแสวงเครื่องที่ใช้อุปกรณ์ตั้งเวลา เช่น ใช้นาฬิกา หรือวงจรนับแบบอิเล็กทรอนิกส์ 4. การทำงานแบบอาศัยสภาพแวดล้อม เป็นระเบิดแสวงเครื่องที่ต้องอาศัยลักษณะของสภาพแวดล้อมเป็นตัวเริ่มทำงาน เช่น เมื่อได้รับแสงสว่าง มีเสียงดัง หรือมีความร้อน จะทำให้ระเบิดทำงาน

ระเบิดแสวงเครื่อง จะสังเกตได้อย่างไร

ระเบิดแสวงเครื่อง เป็นระเบิดที่ค่อนข้างสังเกตได้ยาก เพราะมักมีการซุกซ่อนไว้ตามวัสดุต่าง ๆ เช่น กล่อง กระเป๋า หรือแม้แต่รถยนต์ ทำให้ยากจะระบุได้ว่าเป็นระเบิดแสวงเครื่องหรือไม่ อย่างไรก็ตามหากพบเห็นวัสดุที่มีลักษณะต่อไปนี้ ก็อาจเข้าข่ายเป็นระเบิดแสวงเครื่องได้เช่นกัน

1. เป็นวัตถุที่ไม่มีเจ้าของ หรือหาเจ้าของไม่พบ 2. เป็นวัตถุที่มีภายนอกผิดปกติ หรือเพี้ยนไปจากรูปแบบเดิม เช่น กล่องมีรอยเปื้อน มีรอยยับ สีเปลี่ยน หรือปิดผนึกไม่เรียบร้อย เป็นต้น 3. เป็นวัตถุที่ไม่น่าจะวางอยู่ในสถานที่นั้น ๆ 4. เป็นวัตถุที่ไม่เคยพบเห็น ณ ที่ตรงนั้นมาก่อน

วิธีปฏิบัติเมื่อพบ ระเบิดแสวงเครื่อง หรือวัตถุต้องสงสัย

1. ห้ามจับต้องและเคลื่อนย้ายโดยเด็ดขาด 2. สอบถามหาเจ้าของวัตถุต้องสงสัย หากไม่มีผู้ใดแสดงตนเป็นเจ้าของให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าวัตถุต้องสงสัยอาจเป็นวัตถุระเบิด 3. จดจำลักษณะของวัตถุต้องสงสัยและสภาพโดยรอบเพื่อเป็นข้อมูลแก่เจ้าหน้าที่ 4. รายงานให้ผู้รับผิดชอบสถานที่นั้นทราบ และติดต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ 5. เจ้าหน้าที่ดำเนินการปิดกั้นพื้นที่ กำหนดเขตปลอดภัย โดยพิจารณาระยะปลอดภัยจากขนาดของระเบิด ดังนี้ หีบห่อขนาดเล็ก ระยะปลอดภัย 100 เมตร ได้แก่ สิ่งของที่บรรจุวัตถุระเบิดได้ไม่เกิน 2 กิโลกรัม เช่น ท่อน้ำพลาสติก กล่องพลาสติก หีบห่อขนาดกลาง ระยะปลอดภัย 200 เมตร ได้แก่ สิ่งของที่บรรจุวัตถุระเบิดได้ไม่เกิน 4.5 กิโลกรัม เช่น รถมอเตอร์ไซค์ หม้อข้าว หรือถังดับเพลิง หีบห่อขนาดใหญ่ ระยะปลอดภัย 500 เมตร ได้แก่ สิ่งของที่บรรจุวัตถุระเบิดได้ไม่เกิน 22 กิโลกรัม หรือมากกว่านั้น เช่น ถังแก๊ส 6. อพยพผู้คนออกจากระยะอันตราย

ภาพจาก http://globalsecurity.org

ข้อมูลจาก http://mre-tmac.blogspot.sg

 

 

#ระเบิดแสวงเครื่อง
THEPOco
เจ้าของบทประพันธ์
สมาชิก VIPสมาชิก VIPสมาชิก VIP
18 ส.ค. 58 เวลา 20:54 6,655 20
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...