กลุ่มเภสัชฯ วอน อย. ยกเลิกกฎจดชื่อผู้ซื้อยา ชี้ละเมิดสิทธิส่วนบุคคล

        กลุ่มเภสัชเพื่อมวลชน เตรียมยื่นหนังสือ ขอให้ อย. พิจารณาถอนกฎจดชื่อ-นามสกุล ผู้ซื้อยา ชี้เป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล แนะควรใช้มาตรการจัดการปัญหาให้ตรงกลุ่มเป้าหมาย

         วันที่ 16 สิงหาคม 2558 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคมที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ออกประกาศเรื่องรายการยาอันตรายที่ต้องทำบัญชีการขายยา มีใจความว่า ให้ผู้รับอนุญาตขายยาและขายส่งยา ต้องจัดทำบัญชีการขายยาตามที่ระบุในประกาศ โดยใช้แบบบัญชี ข.ย.11 ซึ่งเป็นการขายแก่บุคคลทั่วไป โดยแบบบัญชีดังกล่าวต้องระบุชื่อยา หมายเลขการผลิต จำนวนที่ขาย และชื่อ-นามสกุลผู้ซื้อ ที่มารับบริการในร้านขายยา โดยมีจุดประสงค์เพื่อเป็นเครื่องมือในการดำเนินคดีกับร้านขายยาที่ขายยาเหล่านี้ให้เยาวชน และป้องปรามเยาชนไม่ให้ซื้อยาเหล่านี้ไปใช้ในทางที่ผิด

         เกี่ยวกับเรื่องนี้ เภสัชกร สงัด อินทร์นิพัฒน์ ประธานกลุ่มเภสัชเพื่อมวลชน ระบุว่า ตามประกาศดังกล่าวมีรายการยาที่ถูกระบุไว้ อาทิ เดกซ์โตรเมเธอร์แฟน (Dextromethophan) และกลุ่มยาแอนติฮีสตามีน (Antihistamine) ซึ่งยากลุ่มดังกล่าวนั้น ทั่วโลกแนะนำให้ใช้รักษาอาการไอ แพ้ และลดน้ำมูกเป็นตัวแรก โดยทางเภสัชกรจะพิจารณาจ่ายยาเพื่อบรรเทาอาการของโรคในระยะสั้นเท่านั้น จะไม่มีการขอชื่อสกุลของผู้ป่วย เนื่องจากเป็นข้อมูลส่วนบุคคลและผู้ป่วยเองก็มีสิทธิที่จะปกปิด แม้ว่าจะถูกร้องขอก็ตาม

         เภสัชกร สงัด กล่าวว่า การให้ผู้ป่วยแจ้งชื่อ-นามสกุลนั้น ถือเป็นการละเมิดสิทธิ อีกทั้งที่ผ่านมาร้านขายยาต่าง ๆ ก็มีการทำบัญชีรายการยาอยู่แล้ว จึงไม่ต้องจดชื่อ-นามสกุล ของผู้ซื้อ ซึ่งทางกลุ่มเภสัชเพื่อมวลชน ได้รวบรวมรายชื่อเภสัชกรกว่า 100 คน เพื่อขอให้พิจารณาประกาศดังกล่าวใหม่อีกครั้ง และจะมีตัวแทนจากทางกลุ่มเดินทางไปยื่นหนังสือต่อนายกสภาเภสัชกรรม เพื่อให้เป็นตัวแทนหารือ อย. ขอให้เพิกถอน หรือกลับไปแก้ไขอีกครั้ง เพราะไม่เกิดประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ ขัดต่อหลักปฏิบัติของวิชาชีพเภสัชกรรม และละเมิดสิทธิส่วนบุคคลซึ่งขัดต่อหลักกฎหมาย

         ทั้งนี้ เภสัชกร สงัด กล่าวว่า ทาง อย. ควรใช้มาตรการจัดการปัญหาการใช้ยาในทางที่ผิดให้ตรงกลุ่มเป้าหมาย เช่น การเพิ่มมาตรการจับกุม การขยายผลการจับกุมสู่แหล่งผลิต การรณรงค์เรื่องการใช้ยาและการป้องกันการนำยาไปใช้ในทางที่ผิด เพื่อแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน

ภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อหา

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก

 

 

กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...