รู้แล้วต้องไม่ทำ!..หยุดยาลดความดันโลหิต ชีวิตอาจถึงตาย

องค์การเภสัชกรรมแนะนำให้ใช้ยาลดความดันโลหิตสูงอย่างต่อเนื่อง และตรงเวลาทุกวัน ระหว่างที่รักษาด้วยยาลดความดันโลหิต ควรรับประทานอาหารที่มีโซเดียมต่ำ เลี่ยงการรับประทานเค็ม งดการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ออกกำลังกายเป็นประจำ และพบแพทย์ตามนัดเป็นประจำ 
  ภาพจาก yournucara.files.wordpress.com         ภญ.วนิชา ใจสำราญ รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรมเปิดเผยว่า ยาลดความดันโลหิตเป็นยาที่ควบคุมความดันโลหิตให้อยู่ในระดับการรักษา แต่ไม่สามารถรักษาโรคให้หายขาดได้ ผู้ป่วยจึงต้องใช้ยาต่อเนื่องกันทุกวันเป็นเวลานาน การหยุดยาเองอย่างกะทันหันอาจเกิดผลเสียอย่างร้ายแรงได้ เช่น เส้นเลือดในสมองแตก อัมพฤต อัมพาต หรือเสียชีวิต
       
       “สำหรับวิธีรับประทานยาลดความดันโลหิต ควรรับประทานตามขนาดยาที่แพทย์สั่งให้ ตรงเวลาทุกวันในเวลาที่แน่นอนจึงจะได้ผลดี เช่น หลังแปรงฟันตอนเช้าหรือก่อนนอนของทุกๆ วัน ถ้าลืมรับประทานควรรับประทานทันทีที่นึกได้ แต่ถ้าใกล้ถึงเวลาของยามื้อต่อไป ให้งดมื้อที่ลืม และรับประทานมื้อปกติในขนาดปกติ ห้ามรับประทานเพิ่มเป็น 2 เท่าอย่างเด็ดขาด เพราะอาจเป็นอันตราย”
       
       “ยาลดความดันบางชนิดเป็นยาออกฤทธิ์ช้า ไม่ควรบดหรือแบ่งหรือเคี้ยวเม็ดยานั้น เพราะจะทำให้คุณสมบัติของยาเสียไป ควรกลืนทั้งเม็ดพร้อมน้ำหนึ่งแก้ว บางชนิดไม่ควรรับประทานร่วมกับอาหารไขมันสูง เช่น อาหารทอด อาหารที่มีกะทิ เป็นต้น บางชนิดอาจทำให้มึนงงง่วงซึมได้ จึงไม่ควรขับรถหรือทำงานกับเครื่องจักรที่อาจทำอันตรายได้ ผู้มีภาวะความดันโลหิตสูงควรทำตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัดในการรับประทานยาและการปฏิบัติตัว”
       
       รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม กล่าวเสริมว่า ผู้รับประทานยาลดความดันโลหิตอาจมีอาการข้างเคียง เช่น รู้สึกหน้ามืดหรือเป็นลมเวลาลุกจากเก้าอี้หรือลุกจากเตียง ควรลุกอย่างช้าๆ หากยังมีอาการข้างเคียงมาก ควรพบแพทย์หรือปรับขนาดยาหรือเปลี่ยนยาชนิดอื่น ส่วนอาการข้างเคียงที่รุนแรง เช่น ผื่นขึ้นแดงและคันมาก เจ็บคอ มีไข้ หายใจขัด หอบ มีอาการบวมในที่ต่างๆ เช่น หนังตา ริมฝีปาก ลิ้น แขน ขา ใบหน้า ให้หยุดยาและรีบไปพบแพทย์ทันทีโดยไม่ต้องรอให้ถึงวันนัด
       
       สำหรับข้อควรระวังอื่นๆ ได้แก่ ก่อนใช้ยาลดความดันโลหิต ควรแจ้งให้แพทย์ทราบว่า มีโรคประจำตัวอะไรอยู่ เช่น โรคตับ โรคไต โรคเบาหวาน หรือรับประทานยาอะไรอยู่ก่อน เช่น ยาขับปัสสาวะ ยาหรืออาหารที่มีโปแตสเซียมเสริม เป็นต้น
       
       นอกจากนี้ ไม่ควรดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ระหว่างที่รักษาด้วยยาลดความดันโลหิตและทุกครั้งที่ไปพบแพทย์โรคอื่นๆ หรือทันตแพทย์ ควรแจ้งชื่อยาลดความดันโลหิตที่ทานอยู่ ให้แพทย์ทราบด้วย ที่สำคัญ ไม่ควรนำยาลดความดันโลหิตที่ใช้อยู่ให้คนอื่นรับประทานโดยไม่ผ่านการตรวจจากแพทย์ก่อน เพราะอาจทำให้เกิดอันตรายได้ 
          ________________________________________________________
       แหล่งข้อมูล : สำนักสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...