สงครามเฮสติงท์ ศึกชี้ชะตาอังกฤษ

นับตั้งแต่ชาวโรมัน ถอนกำลังจากบริเทนไปในช่วงศตวรรษที่ห้า ดินแดนส่วนที่เป็นประเทศอังกฤษก็ถูกปกครองโดยชาวแซกซอนซึ่งเป็นกลุ่มชนเชื้อ สายเยอรมันที่เข้ารุกรานอังกฤษ ในช่วงเวลาดังกล่าวอังกฤษค่อนข้างจะแยกตัวจากแผ่นดินใหญ่ของยุโรปอยู่มาก

อย่างไรก็ดี อังกฤษก็ยังมีการติดต่อสัมพันธ์ทางการทูตกับแคว้นนอมังดีทางตอนเหนือของ ฝรั่งเศสอยู่ โดยในเวลานั้นแคว้นนอมังดีอยู่ใต้อำนาจของฝรั่งเศสและรับเอาวัฒนธรรม ฝรั่งเศสมาใช้ด้วย ต่อมาในปี ค.ศ.1007 กษัตริย์อีเธลเรด (Ethelred) ก็ได้อภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงเอมม่า แห่งนอมังดี หลังการสมรสพระนางได้ย้ายมาอยู่ที่อังกฤษพร้อมกับนำเอาผู้ติดตามชาวนอร์แมน จำนวนมากมาด้วย พระนางเอมม่ามีโอรสสามพระองค์คือ อัลเฟรด, เอ็ดเวิร์ด และก็อดกิฟ ต่อมาในปี ค.ศ.1013 พวกไวกิ้งเชื้อสายเดนส์ยกทัพมาโจมตีอังกฤษ เนื่องจากสถานการณ์ในประเทศไม่น่าไว้วางใจ ดังนั้นพระนางจึงส่งพระโอรสทั้งสามมาพำนักในนอมังดีเพื่อให้ทั้งสามได้รับ การคุ้มครอง

เมื่อกษัตริย์อีเธล เรดสวรรคตในปี ค.ศ.1016 พระนางเอมม่าได้อภิเษกกับกษัตริย์คนุต ราชาของพวกเดนส์ ซึ่งปกครองอังกฤษในเวลานั้น การที่พระนางตัดสินใจยอมอภิเษกก็เพื่อที่จะรักษาความสัมพันธ์ระหว่างอังกฤษ กับนอมังดีเอาไว้ เนื่องจากในเวลานั้นพวกไวกิ้งได้สกัดกั้นชาวนอร์แมนออกจากอังกฤษ

เหตุการณ์ได้เปลี่ยน ไปเมื่อ เจ้าชายอัลเฟรดถูกฆาตกรรมในปี ค.ศ.1036 กษัตริย์ฮาเดอคานท์ (Hardecante) โอรสของกษัตริย์คนุตประกาศแสดงความเสียใจในมรณกรรมของเจ้าชายอัลเฟรดและ เรียกตัวเจ้าชายเอ็ดเวิร์ดกลับมายังอังกฤษพร้อมทั้งแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง รัชทายาทสืบราชบัลลังก์ต่อจากพระองค์

ในปี ค.ศ.1042 หลังการสวรรคตของกษัตริย์ ฮาเดอคานท์ เจ้าชายเอ็ดเวิร์ดขึ้นครองราชย์ โดยประชาชนต่างเรียกพระองค์ว่า กษัตริย์เอ็ดเวิร์ด ผู้สารภาพบาป (Edward The confessor) เช่นเดียวกับพระมารดา กษัตริย์เอ็ดเวิร์ดทรงสนับสนุนแต่งตั้งชาวนอร์แมนเป็นขุนนางและนำวิถีชีวิต แบบนอร์แมนมาเผยแพร่ในอังกฤษ ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นไม่เป็นที่พอใจของชาวอังกฤษ โดยเฉพาะเอิร์ลแห่งก็อดวินขุนนางอังกฤษที่ทรงอิทธิพลที่สุดในเวลานั้น แม้ว่า กษัตริย์อัลเฟรดจะอภิเษกกับ อีดิธ บุตรสาวของเอิร์ลแห่งก็อดวิน แต่ก็ไม่ทำให้ความขัดแย้งคลี่คลายแต่อย่างใด

กระทั่งในปี ค.ศ.1051 กษัตริย์เอ็ดเวิร์ด ผู้สารภาพบาป (Edward The confessor) จึงได้ร้องขอความสนับสนุนจากดยุควิลเลียมแห่งนอมังดีผู้เป็นพระญาติทางฝ่าย พระมารดาของพระองค์ เพื่อคานอำนาจกับ เอิร์ลแห่งก็อดวิน (Godwin) ผู้เป็นพระสัสสุระของพระองค์ โดยกษัตริย์เอ็ดเวิร์ดได้ให้สัญญาว่า หากพระองค์ไม่มีพระโอรส ก็จะทรงให้ดยุควิลเลียมเป็นรัชทายาทของพระองค์ (อย่างไรก็ดี สัญญาดังกล่าวอาจเป็นเพียงคำกล่าวอ้างของดยุควิลเลียมเพียงข้างเดียวก็เป็น ได้ เนื่องจากในเวลานั้นการขึ้นครองบัลลังก์ของกษัตริย์อังกฤษไม่ได้ทำโดยการสืบ ต่อทายาท หากแต่สภาขุนนางจะเป็นผู้เลือก)

สำหรับดยุควิลเลียม นั้น ทรงเป็นโอรสนอกกฎหมายของ ดยุคแห่งนอมังดี พระองค์ใช้ชีวิตในช่วงหกปีแรกกับพระราชมารดา ใน ฟาลิเซ (Falaise) และเข้ารับตำแหน่งดยุคแห่งนอมังดี หลังการสิ้นพระชนม์ของพระราชบิดาในปี ค.ศ.1035 โดยมีสภาอันประกอบด้วยเหล่าขุนนางและผู้อภิบาลของวิลเลียมเป็นผู้ปกครองนอ มังดี แต่ทว่าอำนาจของผู้ปกครองในเวลานั้นเริ่มสั่นคลอนจนนำไปสู่การก่อกบฏ และทำให้พระองค์ต้องลี้ภัยออกจากนอมังดีเป็นเวลานานถึงสิบสองปี จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1047 ดยุควิลเลียม ได้กลับมาตั้งมั่นทางตะวันออกของนอมังดี และด้วยการช่วยเหลือของกษัตริย์อองรีที่หนึ่งแห่งฝรั่งเศส ดยุควิลเลียมก็สามารถเอาชนะพวกขบฏ และกลับคืนสู่อำนาจได้อีกครั้งหนึ่ง พระองค์ใช้เวลาหลายปีในการสร้างความเข้มแข็งมั่นคงให้กับนอมังดี ทั้งโดยการอภิเษก,การทูต,การทำสงคราม และการข่มขู่ จนในเวลาต่อมา นอมังดีก็สามารถหลุดพ้นจากอำนาจของฝรั่งเศสได้

ดยุควิลเลียมยินดีให้ การสนับสนุนกษัตริย์เอ็ดเวิร์ด โดยมีจุดมุ่งหวังในราชบัลลังก์อังกฤษ แต่ทว่าก่อนที่กษัตริย์เอ็ดเวิร์ดจะสวรรคตในปี ค.ศ. 1066 สภาขุนนางอังกฤษก็ลงมติให้เลือกบุตรชายของเอิร์ลแห่งก็อดวิน นามว่า ฮาโรลด์ ขึ้นครองบัลลังก์อังกฤษแทน หลังขึ้นครองราชย์กษัตริย์ฮาโรลด์มีพระบัญชาให้ปลดขุนนางเชื้อสายนอร์แมนที่ พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดเคยแต่งตั้งเอาไว้ทั้งหมด

 เมื่อดยุควิลเลียม ได้ทราบข่าวก็ทรงพิโรธและเตรียมระดมพลทันที โดยได้รวบรวมกำลังจาก แคว้นปอยตู, เบอกันดี, บริตตานี และ ฟลานเดอร์ และยังได้รับการสนับสนุนจาก เยอรมัน เดนมาร์ค และอิตาลี โดยพระองค์ ให้สัญญาว่าจะแบ่งผลประโยชน์ที่ได้จากจากอังกฤษให้เป็นการตอบแทน นอกจากนี้องค์สันตปาปา ยังทรงสนับสนุนพระองค์ในการครองบัลลังก์ด้วย

หลังจากระดมพลเสร็จ กองทัพนอมังดี ประกอบด้วย ทหารราบ 5,000 นาย และ ทหารม้าอีก 3,000 นาย ดยุควิลเลียมสั่งต่อเรือรบ 700 ลำ และเสร็จสิ้นในเดือนสิงหาคม ปี ค.ศ. 1066 แต่พระองค์ก็ยังต้องรอ กระแสลมอีกหนึ่งเดือนเพื่อเดินเรือข้ามช่องแคบอังกฤษ ในระหว่างนั้นเองก็ได้เกิดเหตุการณ์ที่เป็นประโยชน์กับฝ่ายของพระองค์มาก เหตุการณ์หนึ่ง

นอกจากดยุควิลเลียม แล้ว ยังมีอีกผู้หนึ่งที่หมายปองราชบัลลังก์อังกฤษเช่นกัน นั่นคือ กษัตริย์ ชาวไวกิ้งนาม ฮาราลด์ ฮาดราดา (Harald Hardrada) แห่งนอร์เวย์ พระองค์อ้างสิทธิในราชบัลลังก์จากข้อตกลงที่กษัตริย์คนุตเคยทำไว้กับราชาแมก นุส พระบิดาของพระองค์ อีกทั้งเนื่องจากในเวลานั้นอังกฤษมีชนเชื้อสายไวกิ้งจำนวนมากตั้งถิ่นฐาน อยู่ กษัตริย์ฮาดราดาจึงคาดหวังว่าจะได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มชนเหล่านั้น อย่างไรก็ดีกษัตริย์ ฮาดราดา ก็ยังรีรอที่จะเข้าโจมตีจนกระทั่ง เทสติก (Testig) น้องชายของฮาโรลด์เกิดความขัดแย้งกับพี่ชาย และเข้าร่วมกับพระองค์ กษัตริย์ ฮาดราดา ระดมพลชาวไวกิ้ง รวมกับทหารของเทสติกที่ประกอบด้วยชาวสก็อต, เฟลมมิช และอังกฤษ ได้กำลังพลราวหกพันนายพร้อมเรือรบห้าร้อยลำและเคลื่อนกองเรือมุ่งมาถึง อังกฤษ ในเดือนกันยายน ปี.ค.ศ.1066

เวลานั้นฝ่ายอังกฤษ ได้เตรียม กองทัพซึ่งประกอบด้วยพลขวานที่แข็งแกร่งที่สุดและทหารราบ หลายพันนาย ตั้งมั่นทางใต้เพื่อรอการมาถึงของทัพนอร์แมน ทว่าเมื่อทราบข่าวทัพไวกิ้งบุกมาทางเหนือ กษัตริย์ฮาโรลด์ จึงนำทัพขึ้นเหนือปะทะกับ ทัพไวกิ้ง ที่สแตมฟอร์ด บริดจ์ (Stamford Bridge) ในวันที่ 25 กันยายน ปี ค.ศ. 1066

กองทัพอังกฤษได้รับ ชัยชนะเหนือพวกไวกิ้ง ทั้ง กษัตริย์ ฮาดราดา และเทสติก ถูกสังหารในที่รบ ทว่าหลังจากการรบที่สะพานสแตมฟอร์ด เพียงสองวัน พระองค์ก็ได้ข่าวว่า กองทัพนอร์แมนยกพลขึ้นบกที่อ่าวพีเวนเซร์ (Pevensey) พระองค์ตัดสินใจนำทัพมุ่งลงใต้เพื่อโจมตีไม่ให้ข้าศึกตั้งตัว โดยไม่รอกำลังหนุนจากเมอร์เซีย และ นอร์ททัมเบรีย ที่ยังมาไม่ถึง ผลจากการเร่งรีบเดินทัพทำให้ฝ่ายอังกฤษต้องอ่อนกำลังลง

ในวันที่ 14 เดือนตุลาคม ปี 1066 นั้นเอง ทัพทั้งสองก็พบกันที่เฮสติงท์ (HASTING) กองทัพอังกฤษประกอบด้วยพลขวาน 2,500 นาย ที่ถือขวานศึกกับโล่ห์เป็นอาวุธ และกองทัพทหารราบอีกเจ็ดพันคน การรบเริ่มขึ้นในเวลา 9.00 น. เมื่อพลธนูนอร์แมนเปิดฉากยิงใส่ฝ่ายอังกฤษที่ตั้งอยู่บนเนิน ทหารขวานอังกฤษที่ตั้งแถวอยู่หน้าสุดใช้โล่ห์ขนาดใหญ่ของพวกเขากันลูกธนู พวกนอร์แมนจึงตัดสินใจบุกขึ้นเนิน พวกอังกฤษสามารถตั้งรับอย่างแข็งแกร่งจนทหารราบข้าศึกต้องล่าถอยลงมา ฝ่ายทหารราบอังกฤษเห็นดังนั้นจึงไล่ตามลงจากเนิน ดยุควิลเลียมจึงสั่งให้กองทหารม้าเข้าโจมตีข้าศึกที่ตามมา ทำให้ไพร่ราบอังกฤษล้มตายมากมายและต้องล่าถอยกลับขึ้นเนิน การรบดำเนินไปจนถึงเวลาเที่ยงวัน ทั้งสองฝ่ายต่างพักรบเป็นเวลาหนึ่งชั่วโมงเพื่อเคลื่อนย้ายคนเจ็บและศพออกไป ก่อนจะเริ่มการรบอีกในช่วงบ่าย วิลเลียมสั่งให้พลธนูยิงเป็นวิถีโค้งทำให้ฝ่ายอังกฤษตั้งรับไม่ถูก จากนั้นจึงสั่งกองทหารม้าเข้าโจมตี

ฝ่ายอังกฤษเสีย หายอย่างหนัก พระอนุชาสองพระองค์ของกษัตริย์ฮาโรลด์สิ้นพระชนม์ในที่รบ แต่พวกอังกฤษก็ยังตีโต้พวกนอร์แมนลงมาได้อีก จากตอนเริ่มการรบมาถึงเวลานี้ ดยุควิลเลียมเสียทหารม้าไปมากกว่าแปดร้อยคนแล้ว จึงตัดสินใจเปลี่ยนยุทธวิธี พระองค์ให้ทหารม้าลงจากม้าศึกและบุกเข้าตีพร้อมทหารราบ และสั่งให้พลธนูยิงนำทางทำลายแนวรบข้าศึก แม้ฝ่ายอังกฤษจะต้านทานมาได้หลายครั้งแต่ก็เสียไพร่พลไปมากและเริ่มอ่อน กำลังลง โดยเฉพาะพลขวานที่แทบจะไม่เหลือแล้ว

(การรบที่เฮสติงท์)

จนในเวลาสี่โมงเย็น วันนั้นเอง ท่ามกลางความชุลมุน กษัตริย์ฮาโรลด์ก็ต้องลูกธนูที่พระเศียรและสวรรคตทันที ทำให้กองทัพของพระองค์เสียขวัญและแตกพ่ายในที่สุด แต่ทว่าฝ่ายนอร์แมนก็ไม่ได้ไล่ตามเนื่องจากกลัวถูกศัตรูซุ่มโจมตี อีกทั้งบรรดาไพร่พลก็ต่างอ่อนล้าจากการรบที่ดำเนินมาตลอดทั้งวัน

ในวันรุ่งขึ้นพระราช มารดาของฮาโรลด์ส่งสาสน์มาขอไถ่พระศพโดยแลกกับทองคำหนักเท่าตัวกษัตริย์ แต่ดยุควิลเลียมไม่ตกลง พระองค์สั่งให้ฝังพระศพฮาโรลด์ไว้ใกล้กับสนามรบ จากนั้นไม่นานทัพนอร์แมนก็เคลื่อนเข้าลอนดอน แม้ว่าในระยะแรกบรรดาขุนนางอังกฤษจะไม่ยอมรับดยุควิลเลียม แต่ในวันที่ 24 ธันวาคม ปี ค.ศ. 1066 ดยุควิลเลียมก็ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์พระนามว่า วิลเลียม ผู้พิชิต (William the conqueror)

แม้การรบที่เฮสติ้ง จะจบลงแล้ว แต่การต่อต้านของพวกแองโกลแซกซอน ก็ยังคงมีอยู่ มีการลอบทำร้ายชาวนอร์แมนตามพื้นที่ในชนบทบ่อยครั้ง รวมทั้งมีการลุกฮือโดยขุนนางและประชาชนท้องถิ่นในหลายพื้นที่ กษัตริย์วิลเลียมปราบปรามผู้ต่อต้านอย่างเหี้ยมโหด อีกทั้งมีพระบัญชาให้ทำการริบที่ดินและทรัพย์สินของขุนนางแซกซอนที่ต่อต้าน มาประทานให้กับขุนนางนอร์แมน อันเป็นการเริ่มต้นของระบบฟิวดัลหรือระบบศักดินาในอังกฤษ

ชัยชนะของพวกนอร์แมน สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้เกาะอังกฤษ โดยเป็นการส่งผ่านวัฒนธรรมและขนบประเพณีต่าง ๆ รวมทั้งเรื่องของศาสนาและความเชื่อของแผ่นดินใหญ่สู่อังกฤษ และยังเป็นการเริ่มระบบศักดินาขึ้นในอังกฤษ นอกจากนี้ด้วยสิทธิของดยุคแห่งนอมังดีผู้ก่อตั้งราชวงศ์นอมังดี จึงทำให้กษัตริย์อังกฤษในยุคต่อมา ได้สิทธิในการครอบครองดินแดนในฝรั่งเศส อีกด้วย

ศึกเฮสติงท์ได้พลิก โฉมหน้าประวัติศาสตร์ของอังกฤษทำให้อังกฤษเข้ามาเป็นหนึ่งเดียวกับยุโรป และกลายเป็นก้าวแรกที่สำคัญของการพัฒนาสู่ความเป็นชาติมหาอำนาจในยุคหลัง

(พลขวานของแซกซอนต่อสู้กับพลดาบของนอร์แมน)

1 ม.ค. 57 เวลา 09:46 1,657
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...